ล้มแล้วลุกขึ้นวิ่งได้ด้วย “Resilience” - Forbes Thailand

ล้มแล้วลุกขึ้นวิ่งได้ด้วย “Resilience”

FORBES THAILAND / ADMIN
02 Sep 2021 | 11:04 AM
READ 2606

เคยแปลกใจไหมว่า ในขณะที่เราทุกคนอาจกำลังตกอยู่ภายใต้วิกฤตหรือสถานการณ์เดียวกัน แต่ทำไมปฏิกิริยาหรือการตอบสนองต่อเหตุการณ์นั้นๆ ของแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน และผลลัพธ์ที่ต่อเนื่องจากเหตุการณ์เหล่านั้นก็ไม่เหมือนกัน อะไรคือเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการตอบสนองและผลลัพธ์ที่แตกต่างกันแล้ว resilience คืออะไร?

ในบทความนี้ ดิฉันจึงอยากจะขอคุยกับท่านผู้อ่านถึงหนึ่งในคำยอดฮิตแห่งยุคสมัย “resilience” ซึ่งได้กลายเป็นคุณสมบัติสำคัญที่หลายองค์กรกำลังมองหา ท่ามกลางวิกฤตหรือดิสรัปชันที่เกิดอย่างบ่อยครั้งขึ้น รุนแรงขึ้น และคาดการณ์ยากขึ้น ซึ่งความหมายของคำๆ นี้คือความสามารถในการล้มแล้วสามารถกลับลุกขึ้นมาใหม่ได้อย่างรวดเร็ว จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนกำลังมองหา อีกหนึ่งคำที่กำลังร้อนแรงไม่แพ้กัน คือ adaptability หรือความสามารถปรับตัวได้ตามสถานการณ์หรือสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้ง resilience และ adaptability ถูกจัดว่าเป็น “ซอฟต์สกิล” หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า “Power Skills” ที่องค์กรชั้นนำทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ในการเตรียมพร้อมสร้างทักษะแห่งอนาคตให้กับทีมงานในทุกระดับตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูงไปจนถึง ผู้นำและพนักงานในด่านหน้าที่อยู่ใกล้ชิดกับลูกค้าหรือในหน่วยปฏิบัติการต่างๆ (frontline leaders & staff)

วิธีการสร้าง “กล้ามเนื้อ” แห่ง Resilience & Adaptability

การจะสร้างกล้ามเนื้อ (muscle) ใหม่ให้องค์กรมีความ “fit & firm” พอที่จะรับมือได้กับโลกในปัจจุบันและอนาคตได้นั้นต้องมีการพัฒนาคุณลักษณะเฉพาะ 7 ข้อให้กับคนในองค์กรดังนี้ 1.มีทัศนคติเป็นบวก มีความรู้เท่าทันตนเอง (self-awareness) ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากรอบด้าน โฟกัสในสิ่งที่สามารถมีอิทธิพลควบคุมได้ มีความรับผิดชอบในการกระทำและการตัดสินใจของตนเอง โดยไม่โทษสิ่งแวดล้อมหรือปัจจัยภายนอก 2.มีเป้าหมายที่ชัดเจนและวิสัยทัศน์ในการดำเนินชีวิต จึงทำให้มีความหวังและคอมมิทเมนท์ในการเดินต่อไปข้างหน้า โดยไม่หวั่นไหวต่ออุปสรรคหรือความยากลำบากที่เผชิญ 3.มีวินัยสูง รู้ว่าอะไรคือลำดับความสำคัญ และคอมมิทเมนท์ในการทำสิ่งที่สำคัญก่อน ใช้เวลาอย่างคุ้มค่าและทำทุกวันให้ดีที่สุด 4.เป็นคนใจกว้าง มีความสุขในการเป็นผู้ให้ และใส่ใจในความต้องการและความท้าทายของผู้อื่น โดยให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ในระยะยาว (ซึ่งทำให้เรามีเพื่อนมาก และในยามลำบากเราก็จะมีคนคอยช่วยเหลือ เกื้อหนุน) 5.กระหายใคร่รู้ (curiosity) ไม่ยึดติดกับความคิดตัวเอง ยอมรับว่าตัวเราไม่ได้รู้ไปทุกเรื่อง ชอบรับฟัง และเรียนรู้จากคนรอบตัวและสิ่งใหม่ จึงทำให้สามารถปรับตัวได้ดี 6.ให้คุณค่าต่อความแตกต่างและหลากหลาย มีคุณสมบัติของการเป็นพลเมืองโลก (Global Citizen) ที่เปิดกว้างและยอมรับความแตกต่าง (inclusiveness & diversity) ไม่รังเกียจหรือมีอคติกับคนที่ไม่เหมือนตัวเอง สามารถทำงานและใช้ชีวิตร่วมกับคนต่างวัฒนธรรม ต่างความคิดได้ 7.ไม่หยุดนิ่งหรือยืนอยู่ที่เดิม แต่จะพัฒนาและทำให้ตัวเองดีขึ้น เก่งขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น และแข็งแกร่งขึ้นในทุกๆ ด้านอยู่เสมอ ไม่หยุดเรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆ สามารถสร้างคุณค่าและได้รับการยอมรับจากสังคมหรือองค์กรที่สังกัด แม้ว่าสภาพแวดล้อมหรือสถานการณ์ต่างๆ จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว หลายท่านอาจจะรู้สึกว่าคุณสมบัติเหล่านี้ช่างดีและเลิศเลอเสียเหลือเกิน องค์กรไหนถ้ามีคนแบบนี้ก็จะต้องไปได้ไกลกว่าคู่แข่งแน่ๆ แต่คุณสมบัติเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราสามารถสร้างได้จริงหรือ? จริงอยู่ที่อาจมีบางคนที่โชคดีเกิดมาพร้อมกับคุณสมบัติพิเศษเหล่านี้ หรือได้ถูกพัฒนาขึ้นตั้งแต่ตอนวัยเยาว์ แต่สำหรับคนส่วนใหญ่นั้น ก็สามารถพัฒนาคุณสมบัติเหล่านี้เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้วได้เช่นกัน แม้ว่าทั้งสองสิ่งจะไม่ใช่เรื่องที่สามารถทำสำเร็จได้ในชั่วข้ามคืน แต่มีองค์กรหลายแห่งที่ได้ทำเรื่องนี้ใด้ดี เพราะได้ค้นพบสูตรลับและพลังอำนาจของหลักการไร้กาลเวลาที่เรียกว่า “7 อุปนิสัยของผู้มีประสิทธิผลสูง” (7 Habits) และสามารถนำไปประยุกต์ใช้สร้างคนและวัฒนธรรมองค์กรที่มีความแข็งแกร่ง อึด ทน ล้มแล้วลุกได้ในทุกสภาวะแวดล้อม ด้วยกระบวนการและเครื่องมือที่ถูกต้อง เราสามารถสร้าง resilience และ adaptability ให้กับคนของเราได้อย่างแน่นอน บทความโดย พรทิพย์ อัยยิมาพันธ์ ผู้ก่อตั้งและประธานบริหาร PacRim Group
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine