“ความเร็วและความเท่าเทียม” กลยุทธ์ขับเคลื่อนธุรกิจยุคดิจิทัลหลังโควิด-19 - Forbes Thailand

“ความเร็วและความเท่าเทียม” กลยุทธ์ขับเคลื่อนธุรกิจยุคดิจิทัลหลังโควิด-19

FORBES THAILAND / ADMIN
15 May 2022 | 08:10 PM
READ 2040

การดำเนินงานของแสนสิริในรอบ 2 ปีที่ผ่านมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และพัฒนาการของเทคโนโลยี เราใช้ “speed of marketing” เพิ่มความเร็วในการขาย สร้างโอกาสใหม่ทางธุรกิจ ขยายการลงทุนอย่างหลากหลาย โดยมีเป้าหมายเพื่อลดความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสทางธุรกิจแต่จุดยืนของเรายังคงเดิม

นั่นคือ “แสนสิริ” เป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัยที่เติบโตอย่างต่อเนื่องแม้ในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563-2564 มียอดขายเพิ่มขึ้น ด้วยกลยุทธ์ speed of marketing ที่ขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กับ speed of economy และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป แนวคิดในการทำธุรกิจของผมในช่วงวิกฤตโควิด-19 คือ ต้องเก็บเงินสดให้ได้มากที่สุด เพราะเราไม่รู้ว่าสถานการณ์จะบานปลายหรือไปจบที่ตรงไหน เรารู้ว่าคนยังมีกำลังซื้อ แต่ก็ยังไม่มีความแน่ใจในอนาคตเราต้องตัดสินใจออกแคมเปญที่ทำให้คนตัดสินใจซื้อได้เร็วและง่ายขึ้น เช่น ไม่ต้องผ่อนบ้านนาน 2 ปี เราอาจจะลดกำไรลง แต่เพิ่มกระแสเงินสดให้กับบริษัท เพื่อพร้อมรับกับสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูง การเกิดวิกฤตโควิด-19 ทำให้ต้องเปลี่ยนวิธีคิดในการทำธุรกิจ เพิ่มอัตราความเร็วในการทำการตลาด และทำให้ต้องปรับกระบวนการทำงานกระจายการตัดสินใจให้กับทีมงาน เพื่อเพิ่มอัตราเร่งในการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เปิดโอกาสให้ทีมงานมีส่วนร่วมในการนำเสนอแนวคิดใหม่ๆ และนำมาใช้ ทำให้ 2 ปีที่ผ่านมาเราสามารถเพิ่มยอดขาย เปิดโครงการใหม่ และลงทุนธุรกิจใหม่ๆ ได้ตามเป้าหมาย ตลอดระยะเวลากว่า 2 ทศวรรษ แสนสิริผ่านวิกฤตมาหลายรอบ ทำให้มุมมองและวิธีคิดในการทำธุรกิจเปลี่ยนไป แต่ประสบการณ์ที่สั่งสมมาในเชิงธุรกิจอสังหาฯ ยังคงเป็นเรื่องการสร้างที่อยู่อาศัยเป็นหลัก แต่สิ่งที่เปลี่ยนตลอดเวลาคือรูปแบบและวิธีคิดในการทำธุรกิจที่ต้องปรับให้สอดคล้องกับยุคสมัย และบุคลากรคือกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร ปัจจุบันแสนสิริมีคนหลายเจเนอเรชั่น เราเรียนรู้แนวคิดและกระบวนการทำงานที่ต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับความสามารถของคนรุ่นใหม่ๆ ที่เข้ามามีส่วนในการขับเคลื่อนองค์กร จากเดิมการทำงานเราอาจจะสั่งการจากผู้บริหาร แต่ปัจจุบันเรากระจายอำนาจในการตัดสินใจ เพิ่มความคล่องตัวในการทำงาน เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้แสดงความคิดเห็นและผลักดันแนวคิดของตัวเองออกมาปฏิบัติได้อย่างแคมเปญที่ฮือฮามากปีที่แล้วคือ อยู่ฟรี 2 ปี แสนสิริผ่อนให้ อันนี้ก็เป็นแนวคิดของทีมงานรุ่นใหม่ ซึ่งประสบความสำเร็จในปี 2563  

- “สิ่งแวดล้อม-ความยั่งยืน” เป็นสิ่งที่ต้องทำ -

นอกจากเรื่องของธุรกิจแล้ว สิ่งที่แสนสิริให้ความสำคัญตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีในการทำธุรกิจคือ การให้ความสำคัญกับเรื่องของสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน (green & sustainable) ซึ่งเป็นปรัชญาและทิศทางการทำธุรกิจของบริษัททั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต การออกแบบที่อยู่อาศัยที่ประหยัดพลังงานและพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในโครงการให้รองรับกับเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การติดตั้งระบบชาร์จไฟสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า การออกแบบโครงการให้มี solar cell เพื่อประหยัดพลังงาน บริษัทได้วางเป้าหมายให้ทุกโครงการต้องใช้พลังงานสะอาด โดยในปี 2565 เป็นต้นไปส่วนกลางของทุกโครงการใหม่จะเป็น solar roof และบ้านของแสนสิริที่เปิดตัวใหม่จะเป็น solar roof กว่า 50% และ 100% ในปี 2573 รวมทั้งไฟถนนในโครงการแสนสิริทุกโครงการใหม่จะใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในปี 2573 มีการติดตั้ง EV charger ในทุกโครงการในปี 2568 และติดตั้งในบ้านทุกหลังภายในปี 2573 แสนสิริ ถัดมาคือ การใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในการก่อสร้างที่อยู่อาศัย แสนสิริจะเริ่มใช้ในสัดส่วน 50% ในปี 2565 และเพิ่มเป็น 70% ในปี 2568 และมุ่งสู่การพัฒนาบ้านประหยัดพลังงานในปี 2568 บ้านโครงการใหม่ของบริษัท 50% จะเป็นบ้านเย็นและประหยัดพลังงาน (cooliving designed home) และเพิ่มเป็น 70% ในปี 2573 ขณะเดียวกันในกระบวนการก่อสร้างทุกโครงการต้องลดขยะอย่างมีประสิทธิภาพ โดยนำขยะจากการก่อสร้างมา recycle และ reuse ได้ 70% ในปี 2568 พร้อมลดปริมาณขยะจากโรงงานพรีคาสต์ให้มีไม่เกิน 2% ภายในปี 2565 ถึงแม้แสนสิริจะเป็นองค์กรเล็กๆ เมื่อเทียบกับหลายองค์กรในระดับโลก แต่การที่เราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้แล้วทำอย่างจริงจังผ่านพนักงานเรากว่า 4,000 คน ลูกค้าที่เป็นลูกบ้านของแสนสิริอีกหลายหมื่นครอบครัว รวมทั้งซัพพลายเชนอีกมากกว่า 200,000 ราย ทำให้เราเป็นบริษัทอสังหาฯ รายแรกในเมืองไทยที่กล้าตั้งเป้าสู่การเป็น Net Zero องค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์อย่างเต็มรูปแบบและยั่งยืนในอนาคตอันใกล้  

- องค์กรแห่งความเท่าเทียม -

ขณะเดียวกันแสนสิริยังให้ความสำคัญกับเรื่องของ “ความเท่าเทียม” ซึ่งหลายคนรู้ว่าผมสนใจเรื่องกีฬาโดยเฉพาะฟุตบอลแต่ขณะเดียวกันผมก็สนใจเรื่องของสังคม โดยเฉพาะเรื่องของความเท่าเทียม ผมให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เพราะเชื่อว่าทุกมิติของชีวิต คือเรื่องความเท่าเทียม และเราต้องผลักดันนโยบายให้เป็นรูปธรรมในองค์กร แสนสิริมีนโยบายในการเปิดรับพนักงานเข้ามาทำงานทุกเพศทุกวัย เปิดโอกาสให้พนักงานที่สมรสกับเพศเดียวกันในกลุ่ม LGBTQ+ สามารถลาหยุดได้ 7 วันเหมือนกับพนักงานชายหญิงทั่วไป นอกจากนี้แสนสิริยังได้ร่วมกับธนาคารไทยพาณิชย์เปิดกว้างให้ทุกคู่ชีวิตเป็นเจ้าของบ้านแสนสิริได้ครอบคลุม LGBTQ+ นอกจากนี้เรายังเป็นบริษัทเอกชนรายแรกและรายเดียวในไทยที่ได้ร่วมลงนาม UN Global Standards of Conduct for Business สนับสนุนความหลากหลายและความเท่าเทียมในองค์กรมา 2 ปีติดต่อกัน ในด้านการศึกษา แสนสิริได้ออกหุ้นกู้ที่สนับสนุนเรื่องความเสมอภาคทางการศึกษาวงเงิน 100 ล้านบาท เพื่อบริจาคให้แก่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาภายใต้โครงการ Zero Dropout อายุ 3 ปี โดยกองทุนดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนให้เด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาได้เข้าศึกษาต่อ เพื่อให้เด็กหลุดระบบการศึกษาเป็น “ศูนย์” โดยนำร่องโครงการที่จังหวัดราชบุรีซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีเด็กเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษาอยู่ประมาณ 10,000 คน เราหวังว่าแนวคิดนี้จะสามารถนำไปสู่การขับเคลื่อนในองค์กรอื่นๆ เมื่อเราลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และการสาธารณสุข ก็จะสามารถขับเคลื่อนประเทศไปในทิศทางที่ยั่งยืนได้ เพียงแค่เริ่มต้นทำ แม้โควิด-19 จะเป็นวิกฤตสำหรับหลายๆ องค์กร แต่สำหรับ “ผม” คือโอกาสในการปฏิรูปและขับเคลื่อนองค์กรให้ก้าวไปสู่องค์กรแห่งความเท่าเทียมอย่างยั่งยืน   เศรษฐา ทวีสิน เศรษฐา ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน)   อ่านเพิ่มเติม:
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนเมษายน 2565 ในรูปแบบ e-magazine