“Devin Finzer” และ “Alex Atallah” 2 หนุ่มน้อยในฟองสบู่ NFT ผู้ก่อตั้ง ‘OpenSea’ เตรียมขึ้นแท่นเศรษฐีพันล้าน - Forbes Thailand

“Devin Finzer” และ “Alex Atallah” 2 หนุ่มน้อยในฟองสบู่ NFT ผู้ก่อตั้ง ‘OpenSea’ เตรียมขึ้นแท่นเศรษฐีพันล้าน

FORBES THAILAND / ADMIN
10 May 2022 | 08:00 PM
READ 1731

ธุรกิจสตาร์ทอัพควรจะเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน แต่ผู้ก่อตั้ง OpenSea กลับประสบความสำเร็จด้วยการสร้างตลาดแบบเปิดเพื่อสร้างและซื้อขาย NFT ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะงานศิลปะ ดนตรี หรือเกม ณ ตอนนี้พวกเขาเป็นเศรษฐีร้อยล้านไปแล้วและเตรียมขึ้นแท่นเศรษฐีพันล้าน แต่กระนั้นก็มีเรื่องอื่นให้กังวลอีก นั่นก็คือ คู่แข่ง มิจฉาชีพ และการล้มครืนของคริปโตครั้งต่อไป

เดือนมีนาคม ปี 2020 ช่วงที่โควิด-19 เริ่มระบาด Devin Finzer และ Alex Atallah ผู้ก่อตั้ง OpenSea โทรคุยกันว่าจะเอาอย่างไรต่อธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีกัน 5 คนได้สร้างแพลตฟอร์มให้ผู้ใช้สามารถสร้าง ซื้อ และขายเหรียญที่ไม่สามารถทดแทนกันได้ (NFT) ทุกประเภท ซึ่งเป็นไฟล์คอมพิวเตอร์ที่ใช้สำหรับการสืบค้นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในสินทรัพย์ดิจิทัลเฉพาะตัว เช่น งานศิลปะและงานเพลง บนเทคโนโลยีการเก็บข้อมูลที่รู้จักกันดีอย่างบล็อกเชน อย่างไรก็ดี หลังเริ่มใช้งานได้ 26 เดือน พวกเขามีผู้ใช้งานประจำแค่ 4,000 คน โดยมีธุรกรรมต่อเดือน 1.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งคิดเป็น (OpenSea ได้ค่าคอมมิชชั่น 2.5% จากยอดขาย) รายได้อันน้อยนิด 28,000 เหรียญต่อเดือน Atallah ซีทีโอ ผู้ซึ่งปฏิบัติงานในฝั่งตัวเองจากห้องใต้ดินในบ้านพ่อแม่ที่ Colorado ที่เขาไปอาศัยทำงานช่วงที่ New York ประกาศล็อกดาวน์ได้เล่าว่า ตลาด NFT ตอนนั้นดู “ร่อแร่” ลางไม่ดีอีกอย่างคือ Rare Bits คู่แข่งโดยตรงที่มีเงินทุนหนากว่าเพิ่งประกาศว่ากำลังจะถอย ทั้งคู่ตั้งเป้าแบบดับเครื่องชนว่าธุรกิจจะต้องโตเป็นเท่าตัวภายในสิ้นปี 2021 แล้วก็ทำสำเร็จในเดือนกันยายน ในที่สุดในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2021 ตลาด NFT ก็ตื่นจากสภาพจำศีลและกลับมาคึกคักเป็นบ้าเป็นหลัง และในเดือนกรกฎาคม OpenSea ช่วยดำเนินการธุรกรรมซื้อขาย NFT มูลค่ารวม 350 ล้านเหรียญ และได้เงินร่วมลงทุนมาอีก 100 ล้านเหรียญในเดือนเดียวกัน ซึ่งรอบนี้นำโดย Andreessen Horowitz ขณะที่บริษัทมีมูลค่าประเมินอยู่ที่ 1.5 พันล้านเหรียญ ในเดือนสิงหาคมช่วงที่กระแสเห่อ NFT (และความกลัวตกเทรนด์) พุ่งสูงสุด ปริมาณซื้อขายทะยานขึ้นไปสิบเท่าถึง 3.4 พันล้านเหรียญ ค่าคอมมิชชั่น 85 ล้านเหรียญลอยเข้ากระเป๋าของ OpenSea ในเดือนเดียวโดยที่เสียค่าใช้จ่ายไม่ถึง 5 ล้านเหรียญ จากนั้นแม้มูลค่าธุรกรรมจะลดลงเหลือราว 2 พันล้านเหรียญต่อเดือน แต่แพลตฟอร์มมีผู้ใช้งานประจำ 1.8 ล้านคนและมีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด ทำให้บริษัทที่มีพนักงานราว 70 คน กำลังมองหาอีกหลายสิบคนเข้ามาช่วย รวมทั้งเจ้าหน้าที่ลูกค้าสัมพันธ์ที่บริษัทต้องการตัวอย่างมาก  

- หรือนี่จะเป็นกลยุทธ์ของ Finzer และ Atallah -

เมื่อปีที่แล้วยังได้มีการพูดคุยเกี่ยวกับการระดมเงินจากนักร่วมลงทุนอีกรอบ ซึ่งมูลค่าประเมินบริษัทอาจสูงถึง 1 หมื่นล้านเหรียญ จากหุ้นที่ถือคนละ 19% ทำให้ Finzer ซีอีโอวัย 31 และ Atallah (ผู้ได้รับเกียรติให้เข้าทำเนียบ Under 30 ของ Forbes ปี 2022) วัย 29 เป็นเศรษฐีร้อยล้านที่กำลังจะก้าวขึ้นแท่นเป็นเศรษฐีพันล้านคนใหม่ล่าสุดของวงการคริปโต ถึงกระนั้น Atallah ถ่อมตัวมากระหว่างที่เราพูดคุยกันเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ณ ร้านอาหารแห่งหนึ่งใน Margaritaville Resort Times Square ใน New York ซึ่งได้มีการตกแต่งใหม่ในรูปแบบที่ไม่น่าดูสักเท่าไร เรานั่งอยู่ใกล้ๆ รูปปั้นจำลองเทพีเสรีภาพขนาด 32 ฟุตที่ชูค็อกเทลแทนคบเพลิง เขาไปที่นั่นเพื่อร่วมงาน NFT.NYC ประจำปีครั้งที่ 3 ซึ่งมีผู้ลงทะเบียน 5,500 คน และมีอีก 3,000 คน อยู่ในรายชื่อรอเข้า บรรดาคนหนุ่มสาวเดินด้อมๆ มองๆ ในโรงแรมไปมาโดยสวมสเวตเชิ้ตของ Bored Ape Yacht Club ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันความนิยมของคอลเล็กชั่น 10,000 Simian NFT โดยเจ้าของมองว่า มันได้กลายเป็นสโมสรพอๆ กับเป็นของสะสมหรือการลงทุน คุณอาจกล่าวได้ว่า ความอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นหัวใจของความสำเร็จด้านกลยุทธ์ของ Finzer และ Atallah ทั้งนี้ที่ปรึกษาบางคนรบเร้าให้พวกเขามาเอาดีในตลาด NFT เฉพาะทางอย่างงานศิลปะ เกม หรือดนตรี แต่พวกเขากลับเลือกสร้างแพลตฟอร์มที่ไม่มีหมวดหมู่แน่ชัดเพราะไม่คิดว่าตัวเองจะรู้ล่วงหน้าพอที่จะทำนายว่า NFT ประเภทไหนที่ควรจะไล่คว้า
“Devin Finzer” และ “Alex Atallah” ผู้ก่อตั้ง ‘OpenSea’
Finzer เล่าว่า นอกจากจะเหวี่ยงแหลองทำทุกอย่างแล้ว OpenSea ยังสร้างการเติบโตอย่างเรียบง่ายจาก “การอยู่ถูกที่ถูกเวลา” และรับฟังว่าผู้ใช้ต้องการอะไร แพลตฟอร์มนี้จะติดตาม NFT บนอีเธอเรียมและบล็อกเชนอื่นๆ และการซื้อทั้งหมดจะจ่ายด้วยเงินคริปโต ผู้ขายจะเลือกราคาคงที่หรือใช้วิธีประมูลก็ได้ ศิลปินจะได้เปอร์เซ็นต์จากราคาเมื่อมีการขายใหม่แต่ละครั้ง ในที่สุด Finzer ก็เห็นว่าโมเดลการยืนยันตัวตนเจ้าของ NFT ใช้ได้กับทุกอย่างตั้งแต่บัตรคอนเสิร์ตยันอสังหาริมทรัพย์ แต่แค่ไม่มั่นใจว่าจะประสบความสำเร็จได้เมื่อไร เขาบอกว่า “ภาพของอนาคตในมุมมองของผมมักจะเป็นสีเทาๆ เสมอ” แม้จะประสบความสำเร็จอย่างกะทันหัน แต่ OpenSea ก็เผชิญหน้ากับความเสี่ยงหลากหลายและความเสี่ยงนั้นยังมีขนาดใหญ่ตั้งแต่การฉ้อโกง ตลาดทรุดตัวรอบใหม่ ไปจนถึงการแข่งขันใหม่ๆ ในเดือนตุลาคม Coinbase บริษัทซื้อขายคริปโตที่ใหญ่ที่สุดของประเทศและนักลงทุนรุ่นแรกใน OpenSea ประกาศว่า จะเปิดตัวตลาด NFT แบบ P2P ของตัวเอง ในเวลาไม่กี่สัปดาห์ Coinbase มีรายชื่อคนรอลงทะเบียน 2.5 ล้านคน และ Brian Armstrong ซีอีโอคาดการณ์ว่า ธุรกิจใหม่ “อาจจะใหญ่หรือใหญ่กว่า” ธุรกิจหลักซึ่งเป็นธุรกิจซื้อขายคริปโตด้วย  

- ตลาดแบบเปิดของ OpenSea -

การใช้ตลาดแบบเปิดของ OpenSea เพิ่มความเสี่ยงจากการปลอมแปลง การต้มตุ๋น และการฉ้อโกง ลองถาม Amazon หรือ eBay ดูได้ ยกตัวอย่างเช่น นักต้มตุ๋นอาจคัดลอกงานศิลปะของคนอื่นและขายเป็น NFT บน OpenSea ซึ่ง Finzer กล่าวว่า เว็บไซต์กำลังสร้างวิธีตรวจจับของปลอมแบบอัตโนมัติและจะมีผู้ดูแลคอยตรวจสอบการเสนอขายที่น่าสงสัยถึงกระนั้นผู้คนก็สร้างปัญหาได้เช่นกัน ในเดือนกันยายน Finzer บอกให้หัวหน้าฝ่ายผลิตภัณฑ์ของ OpenSea ลาออก หลังจากที่ผู้ใช้ทวิตเตอร์พบว่า กระเป๋าเงินคริปโตที่เชื่อมกับผู้บริหารรายนั้นกำลังเข้าซื้อ NFT ไม่นานก่อนที่ NFT พวกนั้นจะปรากฏบนโฮมเพจ OpenSea ที่ราคาของมันกำลังเคลื่อนไหว กล่าวอีกนัยหนึ่งเขาถูกกล่าวหาว่า พยายามลงทุนตัดหน้าก่อนการตัดสินใจของนายจ้างของเขา ถึงแม้จะดูเป็นคนถ่อมตัว แต่ความทะเยอทะยานของผู้ก่อตั้ง OpenSea นั้นไม่ได้น้อยตามไปด้วย Finzer เติบโตมาในย่าน Bay Area มีมารดาเป็นหมอและบิดาเป็นวิศวกรซอฟต์แวร์ เขาเล่าว่า เขารู้สึก “เสียศูนย์” มาก เมื่อถูกปฏิเสธจาก Harvard, Stanford, Princeton และ Yale (เขาได้เรียนที่ Brown) หลังจากทำงานเป็นวิศวกรซอฟต์แวร์ของ Pinterest ได้ไม่นาน เขาร่วมก่อตั้งธุรกิจสตาร์ทอัพแห่งแรกชื่อ Claimdog ในปี 2015 และขายให้ Credit Karma 1 ปีต่อมา ตอนเป็นเด็ก Atallah ลูกของผู้อพยพชาวอิหร่านที่เกิดใน Colorado จะสร้างตารางเพื่อเปรียบเทียบคุณสมบัติของทุกอย่างตั้งแต่นกยันเบราว์เซอร์ หลังเรียนจบจาก Stanford เขาเริ่มทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์ก่อนที่จะมาร่วมมือกับ Finzer ในเดือนมกราคม ปี 2018 พวกเขาเข้าร่วมโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพชื่อ Y Combinator โดยมีไอเดียจ่ายเงินให้ผู้ใช้เป็นเงินคริปโต เวลาที่พวกเขาแชร์ฮอตสปอตไวไฟ แต่ ณ ตอนนั้น CryptoKitties ตัวการ์ตูนแมวในโลกเสมือน ซึ่งความเป็นเจ้าของของมันจะถูกบันทึกในโลกดิจิทัลบนอีเธอเรียมได้กระตุกจินตนาการให้คนพากันสนใจ “เป็นครั้งแรกที่คนที่ไม่คิดจะสนใจคริปโตจู่ๆ ก็หันมาสนใจด้วยเหตุผลอื่นนอกเหนือจากการเล่นเหรียญดิจิทัล ผมว่ามันมีอิทธิพลมาก” Atallah กล่าว พวกเขาหันไปทุ่มกับ OpenSea อย่างทันด่วน และย้ายบริษัทไปที่ New York City ในเวลาต่อมา CryptoKitties ค่อนข้างเหมือน Beanie Babies ตุ๊กตุ่นตุ๊กตาที่เข้าวงการมาก่อนหน้าคือ ไม่ประสบความสำเร็จในการเป็นของสะสมระดับการลงทุน เพราะอุปทานมีมากเกินไปเลยทำให้สินค้าส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีมูลค่า หลังจากที่ความนิยมพุ่งขึ้นในช่วงต้นปี 2018 ความสนใจในทั้งคริปโตและ NFT ก็เข้าสู่ภาวะจำศีล สิ่งที่ปลุกตลาดได้เมื่อต้นปี 2021 ไม่ใช่ผลงานของ OpenSea แต่เป็นแพลตฟอร์มอย่าง Nifty Gateway ของฝาแฝดเศรษฐีพันล้าน Winklevoss ซึ่งดึงความสนใจด้วยงานศิลปะคุณภาพสูงที่คัดมาอย่างดี เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา Christie ประกาศประมูล NFT งานศิลปะที่ชื่อ “Everydays: The First 5000 Days” ของศิลปินแนวดิจิทัลชื่อ Beeple’s ด้วยราคา 69 ล้านเหรียญ ซึ่งสูงเป็นอันดับ 3 เท่าที่เคยจ่ายมาให้กับงานของศิลปินที่ยังมีชีวิตอยู่ เนื่องจาก NFT เรียกราคาที่ตาแทบถลนได้ คนทั่วไปจำนวนมากขึ้นจึงตัดสินใจว่าอยากมาเป็นนักสร้างสรรค์นักสะสม หรือนักเก็งกำไรบ้าง แล้วก็หันมาหา OpenSea ซึ่งถือหลักการว่า ใครก็เป็นศิลปินได้ และมีตลาดรองแบบพร้อมใช้และโหมดใช้งานที่มีประโยชน์ อย่างเช่น เว็บไซต์จะมีระบบคัดกรองทันสมัยเพื่อให้ผู้ใช้ค้นหา NFT ที่มีคุณสมบัติหายากที่สุดและแน่นอนว่ามีมูลค่ามากที่สุดด้วย (มี Bored Apes 46 ตัวเท่านั้นที่มีขนสีทอง ซึ่งมาพร้อมราคาพรีเมียมที่แพงมาก) ตอนที่ NFT ใหม่ถูกสร้างและบันทึกในอีเธอเรียม เว็บไซต์จะสร้างหน้าเพจที่โชว์รูปนั้นโดยอัตโนมัติ เป็นโหมดที่เจ๋งมากเนื่องจาก NFT กลายเป็นสัญลักษณ์แสดงสถานะไปแล้ว ผู้คนพากันแชร์หน้าเพจ OpenSea ของตัวเองและเปลี่ยนรูปโปรไฟล์ใน Twitter เป็นรูป NFT ที่พวกเขาครอบครอง “มันกลายเป็นวงจรที่วนไปวนมาซึ่งขับเคลื่อนด้วยความอิจฉาและความอยากได้บ้าง และ OpenSea ก็จับตลาดนั้นแบบอยู่หมัด” Richard Chen หุ้นส่วนในบริษัทร่วมทุน 1Confirmation และนักลงทุนรุ่นแรกของ OpenSea ตั้งข้อสังเกต Dani วัย 27 อดีตนักออกแบบเสื้อผ้าซึ่งอยู่ในรัฐ Georgia ได้เปลี่ยนเงิน 17,000 เหรียญที่ลงทุนใน NFT ของ World of Women ให้กลายเป็นพอร์ตมูลค่า 715,000 เหรียญ ขณะที่ AJ อดีตซีอีโอบริษัทเกมวัย 37 จากรัฐ North Carolina ลงเงินไปกับ NFT ไม่ถึง 10,000 เหรียญ และตอนนี้สินทรัพย์ดิจิทัลของเขามีมูลค่าอยู่ที่ 1.3 ล้านเหรียญ เร็วๆ นี้เขาได้โน้มน้าวน้องชายที่เป็นแพทย์ระบบทางเดินอาหารให้เริ่มซื้อ NFT แล้ว มันฟังดูเหมือนภาวะฟองสบู่ แน่นอนว่ามีการตั้งคำถามว่า OpenSea จะอยู่รอดไหมถ้าฟองสบู่แตกขึ้นมา Finzer ตอบว่า “เราเตรียมอะไรรองรับไว้มากพอดูกรณีที่ต้องรับมือกับหน้าหนาว”   เรื่อง: Jeff Kauflin เรียบเรียง: พินน์นรา วงศ์วิริยะ ภาพ: Sasha Maslov อ่านเพิ่มเติม:
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนเมษายน 2565 ในรูปแบบ e-magazine