โอกาสผลิตภัณฑ์สุขภาพของไทยในตลาดโลก - Forbes Thailand

โอกาสผลิตภัณฑ์สุขภาพของไทยในตลาดโลก

FORBES THAILAND / ADMIN
17 Apr 2023 | 08:30 AM
READ 13850

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้สร้างร่องรอยและความบอบชำทางเศรษฐกิจให้กับทั่วโลกอย่างหนักทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม การเมือง รวมถึงวิถีชีวิตของผู้คน แต่สิ่งที่เห็นชัดเจนหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 คือ ผู้คนหันมาเริ่มตระหนักและให้ความสำคัญต่อการดูแลสุขภาพมากขึ้น ทำให้ค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

    ซึ่งหนึ่งในเทรนด์ธุรกิจที่มาแรงหลังยุคโควิด-19 ได้แก่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพ อุตสาหกรรมยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและอาหารเพื่อสุขภาพที่เรียกว่าอยู่ในช่วงขาขึ้นชัดเจน เพราะผู้บริโภคหันมาดูแลใส่ใจสุขภาพในเชิงป้องกันและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกายมากขึ้น ต่างจากในช่วงก่อนหน้าก่อนเกิดสถานการณ์แพร่ระบาด

    Euromonitor International บริษัทสำรวจข้อมูลชั้นนำคาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับสุขภาพ (ยาที่จำหน่ายหน้าเคาน์เตอร์ อาหารเสริมผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรหรือยาแผนโบราณผลิตภัณฑ์ดูแลน้ำหนักโภชนาการทางการกีฬา) ทั่วโลกในปี 2564-2568 จะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 5.7% ต่อปี เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่มีมูลค่า 2.72 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งการเติบโตส่วนใหญ่จะมาจากภูมิภาคเอเชีย (ไม่รวมจีน ญี่ปุ่น และอินเดีย) และยุโรปตะวันออก โดยเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์

    สำหรับแนวโน้มในอนาคตนับจากปี 2564-2568 ประเมินว่า ตลาดผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพของไทยจะเติบโตในอัตราเฉลี่ย (CAGR) 5.2% ใกล้เคียงกับการเติบโตของตลาดผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพของโลก และคาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพของไทยในปี 2568 จะมีจำนวน 1.33 แสนล้านบาท

    โดยตลาดวิตามินและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (vitamins and dietary supplements) เป็นตลาดที่คาดว่าจะเติบโตอย่างรวดเร็วและชัดเจนที่สุด ด้วยการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) 8.4% เพราะวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปตามการขยายตัวของสังคมเมือง (urbanization) การใช้ชีวิตที่เร่งรีบและเวลาในการทำอาหารทานเองน้อยลงทำให้ต้องสรรหาวิตามินและอาหารเสริมมาทานมากขึ้น เพื่อให้ร่างกายยังคงได้รับสารอาหารครบ 5 หมู่

    นอกจากนั้น ในปัจจุบันผู้บริโภคสามารถหาซื้อวิตามินและผลิตภัณฑ์อาหารเสริมได้สะดวกมากขึ้นจากหลากหลายช่องทาง อาทิ ร้านสะดวกซื้อ ร้านขายยา ตัวแทนขายตรง รวมถึงช่องทางออนไลน์ ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ล้วนส่งผลให้ภาพรวมของตลาดวิตามินและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในประเทศมีแนวโน้มขยายตัว

    อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับวิตามินและผลิตภัณฑ์อาหารเสริมของไทยต้องเผชิญการแข่งขันกับสินค้านำเข้าจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ที่ยังคงได้รับความนิยมมากขึ้นและได้รับความเชื่อมั่นด้านคุณภาพ อีกทั้งยังมีจุดขายที่โดดเด่นคือบรรจุภัณฑ์ที่สวยงามเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภค รวมถึงการขยายตัวของธุรกิจค้าปลีกกลุ่ม specialty stores ในหมวดสุขภาพและความงามที่มีการนำเข้าสินค้าหรือแบรนด์ใหม่ๆ จากญี่ปุ่นหรือเกาหลีใต้มาวางจำหน่ายในพื้นที่ค้าปลีกมากขึ้นก็มีผลต่อการแข่งขันกับผู้ประกอบการไทยเพิ่มขึ้น


กุญแจความสำเร็จที่ยั่งยืน


    อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์บำรุงผิว อาหารเสริมและเครื่องสำอางเป็นอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันค่อนข้างสูงทั้งด้านราคาและคุณภาพจากบริษัทที่จดทะเบียนและไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการแต่ละรายก็ต่างมีขอบเขตธุรกิจและการให้บริการ รวมถึงประเภทของผลิตภัณฑ์ที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งอาจมีความทับซ้อนกับบริษัทที่เน้นในกลุ่มการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพียงบางส่วนเท่านั้น

    สำหรับหนึ่งในอาวุธสำคัญที่ธุรกิจผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสุขภาพ อาหารเสริม และเครื่องสำอางของไทยสามารถใช้สร้างความได้เปรียบในการแข่งขันอยู่ที่การคิดค้น วิจัยสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งและตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคให้ได้มากที่สุดและรวดเร็วที่สุด โดยอาศัยจุดแข็งในการรวบรวมหรือคัดสรรสินค้าที่ค่อนข้างหลากหลายและเป็นที่ต้องการของลูกค้ามานำเสนออย่างรวดเร็ว

    เนื่องจากในปัจจุบันมีผู้ประกอบการหน้าใหม่มากมายเข้ามาในตลาดธุรกิจนี้ได้ง่าย แต่การจะยืนหยัดพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพดีและเป็นแบรนด์ที่ผู้บริโภคเชื่อมั่นและยอมรับนั้นยากกว่า เพราะผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีความรู้ ความเข้าใจ ความเชี่ยวชาญ และติดตามการพัฒนาของวัตถุดิบและส่วนประกอบที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพชนิดใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องให้ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค และต้องปฏิบัติตามมาตรฐานต่างๆ กฎระเบียบที่กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดเพื่อการดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมนี้อย่างยั่งยืน

    ดังนั้น กลยุทธ์สำคัญในการเป็นผู้นำผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงามในประเทศไทยจึงต้องมุ่งเน้นการวิจัยสร้างสรรค์นวัตกรรมด้วยความใส่ใจในทุกขั้นตอนโดยคำนึงถึงคุณภาพผลิตภัณฑ์และผู้บริโภคเป็นสำคัญ ตลอดจนคัดสรรวัตถุดิบธรรมชาติจากทั่วโลกเพื่อให้ได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวและเครื่องสำอางคุณภาพสูงที่มีเอกสิทธิ์เฉพาะ เพื่อให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจในคุณภาพ ประสิทธิผล และความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์

    บริษัทที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของผู้บริหารในธุรกิจมากว่า 12 ปีในการดำเนินธุรกิจพัฒนา จ้างผลิต และจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เชิงนวัตกรรมในกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผลิตภัณฑ์กลุ่มบำรุงสุขภาพผลิตภัณฑ์บำรุงผิว เครื่องสำอาง และสินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงเป็นแบรนด์คอลลาเจนที่สามารถครองใจผู้บริโภค

    ขณะเดียวกันผลิตภัณฑ์เสริมอาหารใช้รับประทานซึ่งส่งผลต่อผู้บริโภคแต่ละรายแตกต่างกันและมีข้อจำกัดสำหรับผู้บริโภคบางกลุ่มไม่ควรรับประทาน เช่น เด็กและสตรีมีครรภ์ เป็นต้น ทำให้ต้องมีคำเตือนการบริโภคแสดงไว้บนฉลากอย่างชัดเจน

    รวมทั้งบริษัทควรระมัดระวังในเรื่องความสะอาด ความปลอดภัยของกรรมวิธีการผลิตสูตรการผลิต และการเลือกวัตถุดิบ สารสกัดหรือส่วนประกอบที่ใช้ในการผลิตเช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์ดูแลผิวและผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ใช้โดยตรงกับผิวหน้าและผิวกาย

    บริษัทควรมีแผนก QC เพื่อควบคุมและตรวจสอบคุณภาพของสินค้าอย่างเข้มงวดเพื่อให้อยู่ในเกณฑ์และมาตรฐานที่ดีในทุกขั้นตอนการผลิตตั้งแต่การคิดค้นและทดสอบผลิตภัณฑ์ การเลือกใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพและคุณสมบัติที่น่าเชื่อถือ รวมถึงการตรวจรับวัตถุดิบ การควบคุมคุณภาพของวัตถุดิบและกรรมวิธีการผลิตอย่างเข้มงวดเพื่อให้ได้มาตรฐานการผลิตและผลิตภัณฑ์ที่ดี ปลอดภัย และไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค

    นอกจากนี้ แบรนด์ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงามของไทยยังสามารถเพิ่มความแข็งแกร่งทางด้านเงินทุนได้ผ่านการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อสร้างการเติบโตในประเทศ และเดินหน้าแผนธุรกิจสร้างการเติบโตในกลุ่มประเทศ CLMV ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม เนื่องจากเป็นกลุ่มประเทศที่มีอัตราการเติบโตสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจ โครงสร้างประชากรและความร่วมมือระหว่างรัฐ

    นับเป็นสัญญาณที่ดีที่จะทำให้กลุ่มประเทศ CLMV เป็นศูนย์กลางห่วงโซ่คุณค่ายุคใหม่แห่งเอเชียและของโลกได้ไม่ยาก



นันท์ฐณิชา ศิริปรีดาวัชร์
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
บริษัท ชาเม่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)



คลิกอ่านบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมีนาคม 2566 ในรูปแบบ e-magazine