ปี 2562 เปิดศักราชแห่ง “Everyday AI” - Forbes Thailand

ปี 2562 เปิดศักราชแห่ง “Everyday AI”

FORBES THAILAND / ADMIN
18 Apr 2019 | 09:34 AM
READ 6709

ช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ผมเชื่อว่าผู้อ่านแทบทุกคนคงจะผ่านตามาบ้างกับบทความหรือคำทำนายที่ชี้แนวทางว่าตลอดปี 2562 นี้ เราจะได้เจอกับอะไร และมีเทรนด์ไหนที่น่าจะร้อนแรงกว่าใครบ้าง ซึ่งในแต่ละวงการก็น่าจะมีคำตอบที่แตกต่างกันไปตามมุมมองและสถานการณ์ แต่สำหรับผมมองว่า แทบทุกวงการจะมีคำตอบเหมือนกันว่าปีนี้จะเป็นปีแห่ง AI

เมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว สถาบันวิจัยแมคคินซีย์ ได้รายงานว่า ภายในปี 2573 กว่า 70% ของธุรกิจทั่วโลกจะเลือกใช้งานระบบ AI อย่างน้อยหนึ่งระบบ ขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่อาจใช้ AI สนับสนุนการทำงานในแทบทุกขั้นตอน จนเป็นผลให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้นถึง 13 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งทางแมคคินซีย์เปรียบเทียบไว้ว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ไม่ต่างจากครั้งที่มนุษย์เริ่มนำเครื่องจักรไอน้ำมาใช้งานเป็นครั้งแรก จนปูทางไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมอย่างเต็มรูปแบบ

คำถามต่อไปที่เราต้องตอบให้ได้ คือเราสามารถนำ AI มาใช้ทำอะไรได้บ้าง

ในฐานะที่ไมโครซอฟท์เป็นผู้นำระดับโลกด้าน AI ที่มีประสบการณ์การออกแบบและวางรากฐานของเทคโนโลยีนี้มานานกว่า 25 ปี ผมขอตอบคำถามนี้ว่าแล้วแต่คุณจะจินตนาการครับ

ผมเลือกตอบแบบนี้เพราะว่า AI เป็นเทคโนโลยีที่มีศักยภาพหลากหลายในแทบทุกมิติ และนำไปปรับใช้งานได้แทบทุกด้านของทุกอุตสาหกรรมและชีวิตประจำวัน โดยหากสังเกตจากความเคลื่อนไหวด้าน AI ของไมโครซอฟท์ระยะหลัง จะเห็นได้ว่าความสามารถของ AI ในหลายๆ ด้านเริ่มทัดเทียมหรือสูงกว่ามนุษย์แล้วด้วยซ้ำ

ตัวอย่างเช่น การแยกแยะวัตถุที่มองเห็น ที่ทำได้เทียบเท่ากับมนุษย์ตั้งแต่ปี 2559 การฟังและรับรู้คำพูดที่ทำได้เทียบเท่ามนุษย์เมื่อปี 2560 หรือการแปลภาษาและอ่านจับใจความที่สำเร็จไปในปี 2561 ที่ผ่านมา

 

AI ในชีวิตประจำวัน

ผมพูดได้ว่าปี 2562 นี้จะเป็นปีแห่ง “Everyday AI” หากยกตัวอย่างง่ายๆ ผมขอให้มองไปที่การทำงานแต่ละวันในแอพพลิเคชั่นของ Office 365 ครับ ถ้าคุณกำลังทำสไลด์ใน PowerPoint แค่วางรูปลงไปสัก 1-2 รูป ตัวแอพฯ ก็จะเสนอไอเดียการออกแบบหน้าตาสไลด์ให้คุณเลือกใช้ได้ในคลิกเดียว เช่นเดียวกับใน Excel ที่ AI สามารถอ่านข้อมูลในตารางที่คุณไฮไลต์ไว้แล้วนำมาสร้างเป็นกราฟที่มีการวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้นมาเสร็จสรรพแล้ว

ถ้ามองให้ไกลตัวขึ้นมาอีกนิด เราจะสังเกตได้ว่าการนำ AI มาทำแชทบอตตอบคำถามเบื้องต้นของลูกค้าก็เริ่มจะกลายเป็นเรื่องปกติแล้ว ขณะที่ระบบงานบริการมากมายรอบตัวเราก็มี AI เป็นพลังขับเคลื่อนอยู่เบื้องหลัง หรือหากเรามองไปที่การใช้ AI จดจำหรือตรวจจับใบหน้า (facial recognition) เราก็จะเห็นแนวทางการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีมากมาย

อย่างในเคสของ พีทีที โกลบอล เคมิคอล หรือ จีซี ที่นำ AI มาเสริมความปลอดภัยบนท้องถนนด้วยการเฝ้าสังเกตใบหน้าของคนขับรถตู้รับส่งพนักงานบนเส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง ว่ามีสัญญาณของความเหนื่อยล้า หลับใน หรือเสียสมาธิหรือไม่

เทคโนโลยี AI ที่ใช้ตรวจจับใบหน้าคนขับรถตู้รับส่งพนักงานของ พีทีที โกลบอล เคมิคอล หรือ จีซี (PHOTO CREDIT: droidsans.com)

ขณะที่บางองค์กรก็นำเทคโนโลยีเดียวกันมาใช้แทนบัตรผ่านประตูเข้าอาคารสำนักงาน ให้กล้องและ AI จดจำใบหน้าและตัวตนของพนักงานก่อนจะเปิดประตูให้ผ่านได้ทันที

ทีมวิจัยของไมโครซอฟท์เองก็ได้สร้างแอพฯ มือถือที่ช่วยให้ผู้พิการทางสายตารับรู้ได้ว่าคนที่อยู่ตรงหน้ากำลังแสดงอารมณ์และสีหน้าอะไรออกมา หรือมีอายุประมาณเท่าไร

 

เทรนด์ AI อนาคตแห่งปี 2562

ปี 2562 น่าจะเป็นปีแรกที่เราจะได้เห็นวงการโทรคมนาคมนำเทคโนโลยี 5G มาใช้งานกัน ซึ่งแน่นอนว่าจะทำให้ความเร็วของเครือข่ายบรอดแบนด์ไร้สายยิ่งเพิ่มสูงขึ้นไปอีก ประสิทธิภาพของเครือข่ายที่สูงขึ้นนี้ จะมีส่วนผลักดันให้ AI และระบบวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ถูกนำมาใช้งานกันแพร่หลายและลึกซึ้งมากขึ้น

หนึ่งในรูปแบบการใช้งาน AI ที่น่าจับตามองที่สุดในปีนี้คือ Digital Twins ซึ่งเป็นการผสมผสาน AI และ IoT (Internet of Things) เข้าด้วยกันเพื่อเก็บข้อมูลจากสถานที่หรือระบบที่ซับซ้อนมาสร้างเป็นแบบจำลองที่มีความละเอียด แม่นยำ และอัปเดตข้อมูลได้แบบเรียลไทม์

(PHOTO CREDIT: semiengineering.com)

Digital Twins นี้จะทำให้การบริหารจัดการอาคารสำนักงานและสถานที่สาธารณะต่างๆ เป็นไปได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น และเป็นการผสาน AI เข้ากับชีวิตประจำวันนอกบ้านได้อย่างลงตัว จนทำให้แนวคิด “Smart Building” หรืออาคารอัจฉริยะกลายเป็นความจริงขึ้นมา

ส่วนในเชิงโครงสร้าง เราจะได้เห็น AI เติบโตด้วยแนวคิด “Intelligent Edge” ที่ปลดปล่อยศักยภาพในการประมวลผลจากเดิมที่ต้องพึ่งพาศูนย์กลางระบบแห่งใดแห่งหนึ่ง ให้กระจายตัวออกมาที่อุปกรณ์ปลายทาง ไม่ว่าจะเป็นกล้อง โดรน หรือแม้แต่เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ซึ่งจะช่วยให้ AI สามารถรับรู้และตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลง

 

AI มาแทนตำแหน่งงานเดิมแต่ก่อให้เกิดตำแหน่งงานใหม่ด้วย

เมื่อ AI ขึ้นมามีบทบาทในชีวิตของเรามากขนาดนี้ แน่นอนว่าจะต้องเกิดความเปลี่ยนแปลงในด้านอื่นๆ ตามมาอย่างมหาศาล โดยด้านหนึ่งที่เราจะมองข้ามไปไม่ได้เลยก็คือเรื่องของ ทักษะ

ผลสำรวจที่ทางไมโครซอฟท์จัดทำขึ้นร่วมกับไอดีซีเมื่อปีที่ผ่านมา คาดการณ์ว่าตลาดแรงงานในยุค AI จะขับเคลื่อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในเนื้องานที่มนุษย์รับมือเองโดยตรง โดยจะมีตำแหน่งงานถึง 35% ที่ถูกแทนที่ด้วย AI แต่ขณะเดียวกันจะมีตำแหน่งงานใหม่อีก 35% ที่เพิ่มเข้ามารองรับ

หมายความว่าคนทำงานจะต้องมุ่งเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ในเชิงดิจิทัลเพื่อปรับตัวและคว้าโอกาสที่จะเกิดขึ้นนี้ ไม่ว่าจะด้วยหลักสูตรการศึกษาที่กำลังปรับเปลี่ยนทิศทางให้สอดคล้องกับอนาคต หรือการเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านทรัพยากรและข้อมูลที่มีให้เลือกใช้มากมาย นับตั้งแต่ความรู้เชิงธุรกิจจากแพลตฟอร์มอย่าง LinkedIn Learning หรือ Skilllane ไปจนถึงหลักสูตรการเขียนโค้ดสำหรับเยาวชนจากโครงการ Coding Thailand เป็นต้น

นอกเหนือจากนี้ไป เราอาจจะได้เห็นการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้กันอย่างเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นบนแพลตฟอร์มคลาวด์ โดยที่ไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในวงการสกุลเงินคริปโตเท่านั้น แต่ยังรวมถึงกรณีอย่างการทำสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) ซึ่งผูกมัดผู้ลงนามในสัญญาทุกฝ่ายด้วยการอนุมัติเฉพาะการทำธุรกรรมที่เป็นไปตามเงื่อนไขข้อตกลงทุกประการเท่านั้นโดยอัตโนมัติ และไม่จำเป็นต้องมีคนกลางหรือเจ้าหน้าที่มาเฝ้าลงมือตรวจสอบเอง

หลักการของสัญญาอัจฉริยะนี้สามารถนำไปใช้งานได้ในหลายกรณี นับตั้งแต่การยืนยันตัวตนผู้ใช้ การซื้อขายหุ้น บริหารจัดการเอกสาร หรือแม้แต่งานวิจัยทางการแพทย์

ไม่ว่าเทรนด์ทั้งหมดนี้จะพาโลกของเราให้มุ่งหน้าไปในทิศทางไหน สิ่งหนึ่งที่แน่นอนก็คือเราทุกคน ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือผู้บริหารในองค์กรใหญ่ ต้องเตรียมตัวให้พร้อมด้วยแนวคิดในการทำงานแบบ Growth Mindset กล้าลอง กล้าล้มเหลว และพร้อมที่จะเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ถ้าไม่คิดแบบนี้ แล้วเราจะก้าวไปเป็นผู้นำเทรนด์ได้อย่างไร จริงไหมครับ

 

ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด

 
ติดตามอ่านบทความที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับ มีนาคม 2562 หรือคลิกอ่านในรูปแบบ e-Magazine