ประเทศไทยกับปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ - Forbes Thailand

ประเทศไทยกับปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ

ในช่วงที่ผ่านมาทิศทางการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ซึ่งตลาดก็ได้ปรับประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้นมา อย่างไรก็ตาม ถึงแม้เศรษฐกิจโลกจะดีขึ้นแต่อัตราเงินเฟ้อของโลกกลับยังคงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ โดยตลาดเองก็ได้มีการปรับประมาณการของอัตราเงินเฟ้อโลกลงมาที่ 3.0% จากเดิมที่ 3.2% ในปี 2017 ทั้งนี้ สาเหตุหลักที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อโลกชะลอลง มาจากเรื่องของราคาน้ำมันโลกเป็นหลัก โดยราคาน้ำมันไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นมากเท่ากับที่หลายฝ่ายคาดการณ์ เนื่องจากการผลิตน้ำมันยังมีมากกว่าความต้องการ ทำให้ยังคงมีอุปทานน้ำมันส่วนเกินอยู่โดยเฉพาะจากการผลิตจากกลุ่ม non-OPEC อย่างสหรัฐฯ ที่เริ่มมีการผลิต shale oil มากขึ้น

รูปที่ 1. ประมาณการเศรษฐกิจโลก Source: Bloomberg, CEIC, Reuters Eikon, KBan รูปที่ 2. ประมาณการเงินเฟ้อโลก Source: Bloomberg, CEIC, Reuters Eikon, KBank ด้านแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของไทยปีนี้ก็ดูเหมือนว่าจะโน้มไปทางด้านต่ำมากขึ้นเช่นกัน อัตราเงินเฟ้อของไทยหดตัวลงติดต่อกันสองเดือนนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม โดยล่าสุดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมิถุนายนติดลบที่ 0.05% จากเดือนพฤษภาคมที่ติดลบ 0.04% ซึ่งการปรับตัวลดลงของอัตราเงินเฟ้อเป็นผลจากฐานเปรียบเทียบที่สูงซึ่งภาวะภัยแล้งในปีก่อนผลักดันให้ราคาอาหารสดปรับตัวสูงขึ้น ขณะเดียวกันเงินเฟ้อพลังงานก็ชะลอลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่สะท้อนอุปสงค์ในประเทศยังค่อนข้างทรงตัวเฉลี่ยที่ 0.5-0.6% ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการส่งผ่านต้นทุนจากราคาพลังงานที่ปรับขึ้นในช่วงต้นปีมีอย่างจำกัด ในขณะที่ความต้องการใช้จ่ายในประเทศยังไม่มีแรงส่งพอที่กระตุ้นเงินเฟ้อได้ ทั้งนี้ ปัจจัยดังกล่าวได้ส่งผลให้หลายฝ่ายมีการปรับประมาณการเงินเฟ้อไทยลงมา โดยทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยปีนี้จะอยู่ที่ 0.8% ลดลงจาก 1.2% ที่คาดไว้ก่อนหน้า ซึ่งจะส่งผลให้เงินเฟ้อของไทยไม่เข้าสู่กรอบเป้าหมายของทาง ธปท. ที่วางไว้ที่ 1-4% เป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน รูปที่ 3. อัตราเงินเฟ้อของไทยเทียบกับหลายกลุ่มประเทศ Source: Bloomberg, CEIC, Reuters Eikon, KBank   รูปที่ 4. ประชากรและดัชนีราคาผู้ผลิตของญี่ปุ่น Source: Bloomberg, CEIC, Reuters Eikon, KBank ภาวะอัตราเงินเฟ้อของไทยที่อยู่ในระดับต่ำส่งสัญญาณน่ากังวลมากขึ้น เพราะหากดูในรูป 3 อัตราเงินเฟ้อของไทยอยู่ต่ำกว่ากลุ่มประเทศเกิดใหม่ในเอเซียอยู่มากและอยู่ต่ำกว่ามาเป็นระยะหนึ่งแล้ว อีกทั้งเงินเฟ้อของไทยก็ได้ปรับตัวลดลงมาอยู่ต่ำกว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอีกด้วย โดยหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อไทยอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องมาจากอุปสงค์ในประเทศที่ยังคงซบเซา ซึ่งหากยังไม่มีการกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศ ประเทศไทยอาจจะต้องเจอกับปัญหาอัตราเงินเฟ้อต่ำในระยะยาวแบบญี่ปุ่นก็เป็นได้ เนื่องจากที่ไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้างประชากรที่เริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยจำนวนประชากรของไทยจะเข้าใกล้ระดับสูงสุดในอีก 12 ปีก่อนที่จะเริ่มลดลง โดยในรูปที่ 4 แสดงให้เห็นว่าจำนวนประชากรของญี่ปุ่นมาอยู่ในระดับสูงสุดในปี 2008 เช่นเดียวกับดัชนีราคาผู้บริโภคซึ่งใช้วัดอัตราเงินเฟ้อ  โดยเมื่อจำนวนประชากรของญี่ปุ่นลดลง ดัชนีราคาผู้บริโภคของญี่ปุ่นก็ปรับตัวลดลงตามเช่นกัน สาเหตุหลักก็เป็นเพราะว่าไม่มีผู้บริโภคในประเทศเพียงพอที่จะมาช่วยเพิ่มอุปสงค์ในประเทศและเป็นแรงส่งต่อเงินเฟ้อได้ นอกจากนี้ ประชากรส่วนมากของญี่ปุ่นยังเป็นผู้สูงอายุ ทำให้พฤติกรรมการใช้จ่ายแตกต่างออกไปโดยเน้นที่การออมมากกว่าการใช้จ่าย รูปที่ 5. ค่ากลางอายุของคนในประเทศเอเซีย Source: Bloomberg, CEIC, Reuters Eikon, KBank    รูปที่ 6. จีดีพีต่อหัวของประเทศเอเซีย Source: Bloomberg, CEIC, Reuters Eikon, KBank อย่างไรก็ตามประเทศไทยอาจไม่เป็นเหมือนญี่ปุ่นหมดทุกอย่าง เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแต่มีรายได้ต่อหัวสูง ผิดกับไทยที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแต่รายได้ต่อหัวยังคงอยู่ในระดับต่ำ ปัจจุบันอายุเฉลี่ยของประชากรไทยอยู่ที่ 38 ปี ขณะที่จีดีพีต่อคนอยู่ที่ 210,488 บาท เมื่อเทียบกับสิงคโปร์แล้ว ประชากรสิงคโปร์มีอายุมากกว่าเรา 2 ปี แต่มีรายได้ต่อหัวสูงกว่าถึง 8.5 เท่า ขณะที่เมื่อเทียบกับมาเลเซีย ประชากรของมาเลเซียมีอายุน้อยกว่าไทย 9 ปีแต่มีรายได้ต่อหัวมากกว่าเรา 1.5 เท่า ทำให้ไทยอาจกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยกดดันการใช้จ่ายในประเทศให้ยังคงซบเซาต่อไป รูปที่ 7. ประชากรไทยจะมาอยู่ในระดับสูงสุดในอีก 12 ปี Source: Bloomberg, CEIC, Reuters Eikon, KBank    รูปที่ 8. โดยจะมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 43 ปี Source: Bloomberg, CEIC, Reuters Eikon, KBank ดังนั้นนโยบายเรื่อง Eastern Economic Corridor (EEC) และ Thailand 4.0 ควรจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้จริงเพื่อเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจและอุปสงค์ในประเทศของไทยต่อไปในระยะยาว รูป 7 และ 8 สะท้อนให้เห็นว่าประชากรไทยจะปรับขึ้นมาอยู่ที่ระดับสูงสุดภายใน 12 ปี และค่าเฉลี่ยของอายุประชากรจะขึ้นมาอยู่ที่ 43 ปี สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยมีเวลาน้อยสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจ