หากมองถึงศักยภาพของกลุ่มประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่จะประสานความร่วมมือกันอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2558 นี้ อาจกล่าวได้ว่า ไทยมีศักยภาพสูงเป็นอันดับต้นๆ ในการเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ของอาเซียน ด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์ที่ได้เปรียบโดยอยู่ตรงศูนย์กลางของภูมิภาค และมีพรมแดนเชื่อมต่อกับประเทศเศรษฐกิจสำคัญทั้งสิงคโปร์ มาเลเซีย จีน และเวียดนาม ทั้งยังเป็นประตูสู่ประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว อาทิ พม่า ลาว กัมพูชา นอกจากนี้ ไทยยังมีโครงสร้างพื้นฐานที่ครบครันซึ่งเอื้อแก่การขนส่งทั้งทางบกและทางอากาศ รวมไปถึงมีทรัพยากรบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์ระดับคุณภาพเป็นจำนวนมาก
รูปแบบการขนส่งสินค้าในประเทศเป็นการขนส่งทางถนนเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากไทยมีโครงการตัดถนนเพิ่มอย่างต่อเนื่องและสามารถเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างสะดวกสบาย อีกทั้งการขนส่งทางบกยังมีข้อได้เปรียบทั้งในเรื่องความคุ้มค่าและต้นทุนที่ถูกกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการขนส่งด้วยเครื่องบิน และยังรวดเร็วกว่าการขนส่งทางเรือมาก สิ่งนี้ทำให้ผู้ให้บริการขนส่งต่างพากันลงทุนสร้างเครือข่ายการขนส่งทางบกของตนเองให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เมื่อผนวกกับความได้เปรียบประเทศเพื่อนบ้านทั้งในด้านเทคโนโลยี วัสดุอุปกรณ์ ตลอดจนแรงงานในภาคการขนส่งของเมืองไทยที่ยังคงมีต้นทุนที่คุ้มค่ากว่าเมื่อเปรียบเทียบกับแรงงานในตลาดเพื่อนบ้านที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว จึงยิ่งเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงศักยภาพและความพร้อมของเมืองไทยในการเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งสินค้าทางบก ที่จะสามารถช่วยให้ผู้ผลิตสินค้าสามารถลดต้นทุนการขนส่งและส่งผลต่อราคาสินค้าที่ถูกลงเพื่อเพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขัน ตัวชี้วัดในเชิงพาณิชย์ยังระบุว่า ธุรกิจการนำเข้าและส่งออกสินค้าส่วนใหญ่ของโลกเกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ ซึ่งผู้ประกอบการในอาเซียนล้วนเป็นทั้งลูกค้าและผู้จัดหาสินค้ารายใหญ่ของตลาดไทย และเมื่อเปิด AEC ในปี 2558 สมาชิกทั้ง 10 ประเทศ จะต้องร่วมกันทลายกำแพงภาษีทั้งการนำเข้าและส่งออกเพื่อสนับสนุนภาคการลงทุน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการหมุนเวียนของสินค้า บริการ การลงทุน เม็ดเงิน ตลอดจนแรงงานในภูมิภาคอาเซียนอย่างเสรีมากกว่าเดิม เมื่อเร็วๆ นี้ รัฐบาลไทยประกาศแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง เพื่อช่วยลดต้นทุนการขนส่งของบรรดาผู้ผลิต ผู้ดำเนินธุรกิจนำเข้าและส่งออก ตลอดจนเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางการค้าของผู้ประกอบการในเมืองไทยกับนานาประเทศ ซึ่งเป็นที่คาดการณ์กันว่าแผนพัฒนานี้จะช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจและธุรกิจการพาณิชย์ของไทยได้ในช่วงสองทศวรรษข้างหน้า นอกจากนี้ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนยังอนุมัติแผนกระตุ้นการลงทุนสำหรับโครงการขนส่งอีกหลายโครงการทั้งประเภทที่ต้องเสียภาษีและปลอดภาษี โดยโครงการที่เข้าเกณฑ์ของแผนงานดังกล่าวมีทั้งโครงการก่อสร้างเขตอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ศูนย์กระจายสินค้า สัมปทานการสร้างถนน ระบบการขนส่งสินค้าปริมาณมาก บริษัทการพาณิชย์ระหว่างประเทศ และสำนักงานสนับสนุนการค้าและการลงทุน ปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งที่ดีเยี่ยม และสภาพภูมิศาสตร์ที่เป็นศูนย์กลางของตลาดในเอเชียดังกล่าว ล้วนทำให้เมืองไทยอยู่ในสถานะแถวหน้าในหมู่ประเทศผู้ผลิตและผู้ส่งออก และเมื่อพิจารณาไปถึงกำลังการผลิตภายในประเทศแล้ว เมืองไทยก็ยังถือเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกในสินค้าหลายประเภท ทั้งยางพาราจากธรรมชาติ อุปกรณ์ฮาร์ดดิสก์ สับปะรดบรรจุกระป๋อง น้ำสับปะรด เนื้อไก่แปรรูป ข้าว อาหารทะเลบรรจุกระป๋องและแช่แข็ง เนื้อกุ้งแปรรูป และเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่อันดับสองของโลกอีกด้วย นอกจากนี้ เมืองไทยยังเป็นศูนย์รวมของอุตสาหกรรมการประกอบชิ้นส่วนวงจรและอุปกรณ์กึ่งตัวนำที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยิ่งไปกว่านั้น อุตสาหกรรมยานยนต์ที่กำลังเติบโตของเมืองไทยกำลังถูกจับตามองว่าจะสามารถไต่ขึ้นถึงอันดับ1 ใน 10 ของโลกได้ในปี 2558 เมื่อประเทศไทยมีศักยภาพและการตื่นตัวสูงในอุตสาหกรรมการผลิต โอกาสการลงทุนด้านธุรกิจการขนส่งภายในประเทศจึงเกิดขึ้นเป็นเงาตามตัว ซึ่งผู้เชี่ยวชาญหลายรายระบุว่า ธุรกิจคลังสินค้าถือเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่น่าสนใจ เนื่องจากการผลิตสินค้าที่เพิ่มขึ้นย่อมต้องการพื้นที่คลังสินค้าสำหรับการจัดเก็บและกระจายสินค้ามากขึ้นเช่นกัน ทว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ ที่ผ่านมาประเทศไทยเสียเวลาและโอกาสไปอย่างมากจากปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศ ดังนั้น เพื่อให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนไปได้ รัฐบาลควรเร่งส่งเสริมการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนอย่างจริงจัง รวมไปถึงการกำหนดนโยบายที่สร้างแรงจูงใจในภาคการส่งออกมากขึ้น ตลอดจนควรมีการจัดงานสัมมนาเพื่อร่วมกันกำหนดโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อส่งเสริมการค้าและการส่งออกอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ทั้งผู้ประกอบการในประเทศและนักลงทุนจากต่างประเทศ อีกหนึ่งประเด็นใหญ่ในธุรกิจโลจิสติกส์ของประเทศไทยคือต้นทุนซึ่งมีสัดส่วนที่สูงกว่าประเทศใกล้เคียง ทั้งมาเลเซีย และสิงคโปร์ โดยปัจจุบันประเทศไทยมีต้นทุนด้านโลจิสติกส์อยู่ที่ 18% ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด ขณะที่มาเลเซียและสิงคโปร์อยู่ที่ต่ำกว่า 10% ดังนั้นหากรัฐบาลต้องการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ในภูมิภาคและดึงดูดใจนักลงทุนต่างชาติ นอกจากภาคเอกชนจะบริหารจัดการต้นทุนกระบวนการภายในให้ถูกลง และสามารถส่งสินค้าและบริการถึงมือผู้บริโภคได้เร็วขึ้น อาทิ การติดต่อประสานงานกับกรมศุลกากรล่วงหน้าก่อนการขนส่ง หรือการศึกษามาตรการขนส่งของแต่ละประเทศให้เป็นอย่างดีและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด จะช่วยร่นระยะเวลาในการจัดการด้านเอกสารและการประสานงานตลอดเส้นทางของการขนส่ง และยังทำให้ขนส่งสินค้าถึงผู้บริโภคได้ตรงตามเวลาที่กำหนด ในขณะเดียวกัน ภาครัฐบาลจำเป็นต้องเข้ามาช่วยภาคเอกชนในการปรับต้นทุนโลจิสติกส์ให้ต่ำลงเพื่อให้สามารถแข่งขันกับประเทศใกล้เคียงได้ อาทิ ปัจจัยการขนส่งในด้านราคาน้ำมันโดยเฉพาะน้ำมันดีเซล และ LPG ที่นำมาใช้ในการขนส่งสินค้าเป็นหลัก และมีบทบาทอย่างมากในการเปลี่ยนแปลงของต้นทุนโลจิสติกส์ และเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศ นอกจากนี้ รัฐบาลควรมีนโยบายที่เด่นชัดในการพัฒนาศักยภาพทางด้านภาษา เนื่องจากปัจจุบันนี้ ประชากรหลายประเทศในทวีปเอเชียต่างมีความเชี่ยวชาญในการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการทำธุรกิจ ในขณะที่ประเทศไทยยังคงมีข้อจำกัดด้านทักษะการสื่อสารค่อนข้างมาก และนี่เป็นอีกจุดอ่อนของทรัพยากรบุคคลของไทยที่ต้องได้รับการแก้ไขและพัฒนาอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้ หากภาครัฐบาลและภาคเอกชนร่วมมือกันสร้างแผนการนำพาประเทศสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ที่ชัดเจน และเปลี่ยน “คำพูดที่สวยหรู” สู่ “การปฏิบัติจริง” เชื่อว่าการก้าวไปสู่แถวหน้าในการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ในภูมิภาคของประเทศไทยคงไม่ไกลเกินฝันแน่จรัสพรรณ แจ่มใส ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด บริษัท ทีเอ็นที เอ็กซเพรส เวิลด์ไวด์ (ประเทศไทย) จำกัด