Suntory ยักษ์ใหญ่แห่งธุรกิจเครื่องดื่มญี่ปุ่น วางเป้าหมายรักษาอำนาจควบคุมให้อยู่ในครอบครัว พร้อมๆ กับการขยายกิจการไปยังต่างประเทศเนื่องจากเผชิญหน้ากับตลาดในบ้านที่หดตัว
ตระกูลผู้มีอำนาจควบคุม Suntory Holdings ของญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการเดินทางไกลด้วยความเร็วที่ตนเองถนัด ซึ่งก็ต้องเป็นเช่นนี้อยู่แล้ว อย่างไรเสียผลิตภัณฑ์หลักและผลิตภัณฑ์ทำเงินรายการสำคัญที่สุดย่อมหนีไม่พ้นวิสกี้ระดับชนะรางวัลและมีชื่อเสียงระดับโลกซึ่งต้องใช้เวลาบ่มนับสิบๆ ปี
ในปีนี้บริษัทเอกชนอย่าง Suntory เตรียมฉลองครบรอบ 100 ปีแห่งการผลิตวิสกี้ หลังจากปีที่แล้วทำรายได้ 2.7 ล้านล้านเยน (1.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ) Suntory ครองตลาดเหล้าสปิริต เบียร์ และน้ำอัดลมในญี่ปุ่น ซึ่งมีลักษณะกระจายตัวและแบกรับความเสี่ยงครั้งใหญ่จากการขยายกิจการสู่ต่างประเทศ
ในปี 2014 Suntory ทำข้อตกลงธุรกิจมูลค่า 1.6 หมื่นล้านเหรียญเพื่อซื้อบริษัทผลิตเหล้าเบอร์เบิน Beam ซึ่งเป็นผู้ผลิตแบรนด์ขายดีอันดับ 1 อย่าง Jim Beam นับเป็นการซื้อกิจการในต่างประเทศครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของบริษัทจากญี่ปุ่นเลยทีเดียว ส่งให้ Suntory ทะยานเกาะกลุ่มยักษ์ใหญ่ทันที
แต่ถึงอย่างนั้น ในตลาดญี่ปุ่นเอง Suntory ยังคงต้องเผชิญความท้าทายจากทั้งสองทาง ไม่ว่าจะเป็นจำนวนประชากรที่ลดลงและมีจำนวนประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้น และความนิยมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีแนวโน้มลดลง
ขณะเดียวกัน Suntory กำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งผู้นำกลับสู่สมาชิกครอบครัวผู้ก่อตั้งอย่างที่รอคอยกันมานาน
Takeshi Niinami อดีตผู้บริหารร้านค้าปลีกยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น ครองตำแหน่งซีอีโอและกรรมการผู้จัดการใหญ่มาตั้งแต่ปี 2014 และเป็นคนนอกครอบครัวคนแรกที่ได้รับหน้าที่บริหาร Suntory นับตั้งแต่กิจการก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1899
อย่างไรก็ตาม มีการส่งสัญญาณมาหลายปีแล้วว่าผู้นำบริษัทคนต่อไปจะเป็น Nobuhiro Torii รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ ซึ่งเป็นหลานชายของ Nobutada Saji ประธานกรรมการวัย 77 ปี และยังเป็นเหลนของ Shinjiro Torii ผู้ก่อตั้ง Suntory ด้วย (ทายาทของตระกูลใช้ทั้งนามสกุล Torii และ Saji)
การให้การสัมภาษณ์ต่างวาระของ Niinami และ Torii ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมใดๆ ว่าการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดจะมีขึ้นเมื่อใด
Niinami วัย 64 ปีบอกว่า เขาจะได้เป็นซีอีโออีกนานแค่ไหนนั้น “ขึ้นอยู่กับคุณ Saji และสมาชิกครอบครัวผู้ก่อตั้ง”
ขณะที่ Torii แสดงความเห็นเพียงกว้างๆ ว่า ตนอยากทำอะไรเมื่อได้เป็นซีอีโอ Torii วัย 57 ปี ย้ำว่า ในการจะนำบริษัทไปสู่จุดที่ต้องการได้นั้นต้องมีการเปลี่ยนแปลง “การดำเนินธุรกิจตามหน้าที่ไม่สามารถทำให้เราบรรลุเป้าหมายได้ เราต้องเพิ่มความคิดเชิงนวัตกรรมและคิดนอกกรอบให้มากขึ้น”
นอกจากวิสกี้ สุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดีแล้ว เป้าหมายที่มีเป็นเพียงเป้าหมายกว้างๆ ไม่ได้เฉพาะเจาะจงอะไร ขณะที่ Niinami บอกว่า ในปี 2023 Suntory ตั้งเป้าหมายรายได้ (ไม่รวมภาษีแอลกอฮอล์) ไว้ที่ 3 ล้านล้านเยน สูงกว่าตัวเลขในปีที่แล้ว 11%
สิ่งหนึ่งที่ก้าวนำหน้าไปแล้วคือ การก้าวสู่ตลาดโลก ในทศวรรษที่ผ่านมาจนถึงปี 2022 Suntory กระจายการลงทุนไปยังต่างประเทศเพื่อเพิ่มยอดขายในต่างประเทศให้ได้เท่าตัว ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้
โดยรายได้จากแอลกอฮอล์มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 28% เป็น 35% เป้าหมายต่อไปคือ การเพิ่มการลงทุนในธุรกิจเตกิลา จากปัจจุบันที่มีเตกิลาอยู่แล้ว 5 แบรนด์ในส่วนธุรกิจ Beam Suntory นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสที่จะขยายธุรกิจเพิ่มเติมในอินเดียผ่านการเข้าซื้อกิจการ
ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา Saji ประธานคณะกรรมการคอยเตรียมความพร้อมให้กับ Torii สำหรับตำแหน่งผู้บริหารสูงสุด เสมือนการบ่มวิสกี้ เขามอบหมายบทบาทสำคัญให้กับ Torii เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าหลายครั้งเขาจะแสดงความเข้มงวดต่อหลานชายออกสื่อ
“Nobuhiro พยายามอย่างหนัก แต่เขายังอายุน้อยและต้องแสดงผลงานให้มากกว่านี้ เราอาจจะต้องหวดให้หนัก” Saji ให้สัมภาษณ์กับนิตยสารรายสัปดาห์ของญี่ปุ่นฉบับหนึ่งเมื่อเดือนมกราคม ปี 2013
หลังจากนั้นเพียงปีเดียว Saji ประกาศแผนการเปลี่ยนตำแหน่ง หลังความสัมพันธ์อันหวานชื่นมาเป็นเวลา 5 ปี Niinami ตกลงอำลาตำแหน่งซีอีโอที่ Lawson กิจการร้านค้าปลีกรายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของญี่ปุ่นเพื่อย้ายมาร่วมงานกับ Suntory และเป็นผู้นำการบูรณาการ Beam รวมถึงการขยายกิจการในต่างประเทศ
ขณะที่ Torii ก็เหมือนกับคุณลุง Saji และ Niinami เขาจบการศึกษาจาก Keio University สถาบันชั้นนำแห่งหนึ่งของญี่ปุ่นที่ปั้นซีอีโอมาหลายต่อหลายราย นอกจากนี้ ยังจบการศึกษาระดับปริญญาโทด้านการเงินและเศรษฐกิจระหว่างประเทศจาก Brandeis University ที่เมือง Boston ในปี 1991 และร่วมงานกับ Industrial Bank of Japan (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ Mizuho Financial Group) เป็นเวลา 6 ปี ก่อนจะย้ายมาร่วมงานกับ Suntory ในปี 1997
บทบาทสำคัญแรกๆ ที่ Torii ได้รับจาก Suntory คือการบริหารธุรกิจเบียร์พรีเมียมมาตั้งแต่ปี 2006 แม้ว่า Sapporo Holdings คู่แข่งจาก Tokyo จะเป็นผู้บุกเบิกตลาดดังกล่าวด้วยแบรนด์ Ebisu ในยุค 1990 แต่ก็โดน Torii โค่นลงจากตำแหน่งผู้นำด้านยอดขายในปี 2008 ด้วยแบรนด์ Premium Malt ของ Suntory
Satoru Abe อดีตผู้บริหาร Suntory ที่เคยทำงานให้บริษัทมาเกือบ 40 ปี และเคยร่วมงานกับ Torii ด้วยนั้น บอกว่า Torii รู้จักใช้ความรู้ทางการเงินให้เป็นประโยชน์เมื่อตอนที่เขาเป็นผู้นำการเฟ้นหาเป้าหมายสำหรับซื้อกิจการให้กับ Suntory
จากการให้สัมภาษณ์เห็นได้ชัดว่าสิ่งหนึ่งที่ไม่ได้อยู่ในแผนคือ การนำบริษัทโฮลดิ้งเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งทั้งซีอีโอและซีโอโอต่างปัดแนวคิดดังกล่าว Torii เป็นคนพูดจานุ่มนวล ตรงกันข้ามกับ Niinami ที่ชอบเข้าสังคม
แต่เมื่อพูดถึงเหตุผลที่ Suntory Holdings ควรรักษาสถานะบริษัทเอกชนไว้นั้น Torii ดูมีชีวิตชีวาขึ้นมาทันที “มีเหตุผลเพียง 3 ข้อเท่านั้นที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์คือ ต้องการเงินทุน ต้องการคน หรือไม่ก็ต้องการเกียรติยศ
“ทุกวันนี้แม้ Suntory จะมีหนี้สินแต่ก็ไม่ได้ต้องการเงินทุนเพิ่ม การดึงดูดบุคลากรก็ไม่ใช่ประเด็น ความต้องการเกียรติยศรวมถึงผลกำไรให้กับครอบครัวผู้ก่อตั้งก็ไม่ใช่ประเด็น เราจึงไม่จำเป็นต้องเข้าตลาดหลักทรัพย์” Torii กล่าว
Toshio Goto ประธานกรรมการสถาบัน 100-Year Family Business Research Institute จาก Tokyo กล่าวว่า ตระกูล Saji และ Torii มีคุณสมบัติดังกล่าวครบถ้วน Suntory ยังคงรักษาไว้ทั้งความเป็นอิสระและวัฒนธรรมองค์กร มีโครงสร้างแบบผสมผสานระหว่างความเป็นเอกชนและมหาชน โดยมี Suntory Holdings ที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ถือหุ้นเกือบ 60% ใน Suntory Beverage ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
ด้าน Moody’s เขียนไว้ในรายงานเมื่อเดือนมิถุนายนว่า Suntory Holdings มีตำแหน่งทางการตลาดที่มั่นคง ทั้งในส่วนธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ในญี่ปุ่น ประกอบขึ้นเป็นสายผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลาย มีแบรนด์ที่แข็งแกร่ง มีความหลากหลายทางภูมิศาสตร์เพิ่มขึ้น แต่อัตรากำไรของ Suntory ยังคงตามหลังบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั่วโลก เนื่องจากอัตรากำไรของน้ำอัดลมที่ต่ำกว่าดึงอัตรากำไรรวมลดลง
Torii บอกว่า เขามีเป้าหมายระยะยาวกว่านั้น ซึ่งเป้าหมาย 2 ประการนั้นคือ การขยายธุรกิจด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งเวลานี้เป็นเพียงสัดส่วนเล็กๆ ของรายได้ของ Suntory Holding โดยครอบคลุมเครื่องดื่ม อาหาร และอาหารเสริม และอีกประการหนึ่งคือ การพัฒนาวิสกี้ของ Suntory ให้เป็นแบรนด์ที่ขายดีที่สุดในโลก “ไม่ว่าจะด้วยผลิตภัณฑ์หรือการบริการที่เพิ่มมูลค่าบางอย่าง ซึ่งไม่แน่ใจว่าเราจะทำได้หรือเปล่า เช่น การบริการในรูปแบบการสมัครสมาชิก สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีเป็นสาขาที่กว้างมากสำหรับการต่อยอดพัฒนา”
สำหรับ Niinami นั้น เขาอยากจะพา Suntory ก้าวสู่โลกกว้างให้สำเร็จ และจะยังคงทำงานให้กับฝ่ายบริหารไม่ว่าจะในรูปแบบใด ต่อให้ไม่ได้เป็นซีอีโอก็ตาม เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา Niinami เข้ารับตำแหน่งหัวหน้าสมาคมผู้บริหารองค์กรของญี่ปุ่น (Keizai Doyukai) ซึ่งเป็นกลุ่มล็อบบี้ทางธุรกิจ 1 ใน 3 กลุ่มหลักของประเทศ
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : Manabu Yoshitomi ฝ่าบททดสอบชีวิต ปลุกปั้น Ichiran Ramen เติบโตหมื่นล้านเยน