Manabu Yoshitomi ฝ่าบททดสอบชีวิต ปลุกปั้น Ichiran Ramen เติบโตหมื่นล้านเยน - Forbes Thailand

Manabu Yoshitomi ฝ่าบททดสอบชีวิต ปลุกปั้น Ichiran Ramen เติบโตหมื่นล้านเยน

เมื่อกล่าวถึงทงคตสึราเมงต้นตำรับจากญี่ปุ่น หลายคนคงนึกถึง Ichiran Ramen หรือ “ราเมงข้อสอบ” ที่นอกจากจะโดดเด่นด้วยซอสพริกแดงสูตรลับแล้ว ยังมีเอกลักษณ์ในการสั่งที่ต้องเขียนลงในกระดาษคำตอบแบบข้อสอบ จนโด่งดังมีสาขาในนานาประเทศทั่วโลก (รวมถึงมีร้านป๊อปอัพในไทย) จนกวาดรายได้หลักหมื่นล้านเยน


    แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ Manabu Yoshitomi ผู้ก่อตั้ง Ichiran Ramen ต้องเผชิญบททดสอบมาหลายครั้งหลายคราเช่นกัน

    Manabu Yoshitomi เปิดร้านราเมงขึ้นครั้งแรกในปี 1960 ที่เมืองฟุคุโอกะ จังหวัดฟุคุโอกะ ซึ่งมีอาหารขึ้นชื่อคือราเมงน้ำซุปกระดูกหมู หรือ ทงคตสึราเมง โดยร้านของเขา ณ เวลานั้นเป็นเพียงร้านเล็กๆ ชื่อ Futaba Ramen ที่ซื้อต่อมาจากตายายคู่หนึ่ง ก่อนเปลี่ยนมาใช้ชื่อ Ichiran Ramen ในปี 1966

    Yoshitomi ทำการบ้านอย่างดี พัฒนาสูตรอาหาร ศึกษาการตลาด จนร้านค่อยๆ เติบโตกลายเป็น Ichiran Ramen ในปัจจุบัน


ซอสพริกแดงสูตรเฉพาะของ Ichiran


    แต่หากจะให้ลงลึกในรายละเอียด คงต้องย้อนเล่าถึงประวัติของผู้ก่อตั้งราเมงข้อสอบผู้นี้ด้วย เขาเกิดวันที่ 5 ธันวาคม 1964 ในเมืองคิตะคิวชู จังหวัดฟุคุโอกะ ในครอบครัวแสนธรรมดาหาเช้ากินค่ำ พ่อเป็นพนักงานออฟฟิศ ส่วนแม่เป็นแม่บ้าน

    กระทั่งอายุได้ 19 ปี Yoshitomi เพิ่งเข้าเรียนมหาวิทยาลัยปี 1 เสาหลักของครอบครัวอย่างพ่อก็ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งและต้องเริ่มต่อสู้กับโรคร้าย ผลักให้เขาต้องทำงานพาร์ทไทม์เพื่อหาเงินจ่ายค่าเทอมด้วยตัวเอง

    เด็กหนุ่มสมัครเข้าทำงานในร้านอาหารเปิดใหม่เล็กๆ ที่มีเพียงเจ้าของร้าน เชฟ และตัวเขาเอง ซึ่งเชฟก็มักหายไปเล่นปาจิงโกะ ทำให้เขาต้องคอยดูแลงานทุกอย่างในร้าน กระทั่งขอให้เจ้าของร้านสอนสูตรอาหารต่างๆ เพื่อทำมาเสิร์ฟลูกค้า

    Yoshitomi มองเป็นเรื่องโชคดี ถือว่าได้สะสมประสบการณ์ทำร้านอาหารตั้งแต่เพิ่งเปิดไปจนงานในครัว แม้ภายหลังกิจการนี้จะต้องปิดตัวลงก็ตาม ซึ่งเขาวิเคราะห์สาเหตุว่ามาจากที่ร้านไม่มีเมนูพิเศษและการบริหารจัดการที่ล้มเหลว

    “ผมตระหนักว่าในโลกธุรกิจ คุณไม่สามารถทำทุกอย่างได้ และจำเป็นต้องมีความเชี่ยวชาญเฉพาะ” เขาเผยสิ่งที่ได้เรียนรู้ ทว่านั่นยังไม่ใช่จุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาคิดก่อตั้งกิจการของตัวเอง


ชายผู้เกิดมาเพื่อทำธุรกิจ

    พ่อ คือผู้จุดประกายให้เขาก้าวเข้าสู่โลกธุรกิจ

    “แกเหมาะจะเป็นนักธุรกิจ ไปทำธุรกิจเสีย” พ่อบอกกับเขาก่อนจากไปอย่างไม่มีวันกลับ “เราไม่มีเงิน ที่ดิน หรือเส้นสาย แต่แกฉลาด แกเป็นคนมีไอเดียเยอะแยะมาตั้งแต่เด็กแล้ว แกทำได้แน่นอน”

    หลังจากนั้น Yoshitomi ก็มักพกสมุดกับปากกาไปไหนมาไหนเสมอ คอยจดเวลาบังเกิดความคิดดีๆ เข้ามาในหัว

    นอกจากนี้ เสมือนว่าความมั่นใจคือมรดกที่พ่อทิ้งไว้ ชุบชูจิตใจให้เขาริเริ่มทำธุรกิจของตัวเองหลังเรียนจบทันที เริ่มจากขายเครื่องเกม Famicom ต่อด้วยก่อตั้งบริษัทด้านทรัพยากรบุคคล และยังทำงานอื่นๆ อีกหลายงาน จนมาตัดสินใจซื้อร้านราเมงจากตายายคู่หนึ่ง

    “เราไม่มีทายาท แต่อยากส่งต่อร้านนี้แก่คนรุ่นถัดไป” สองผู้อาวุโสบอกกับเขา

    Yoshitomi จึงได้นำเอาประสบการณ์สมัยทำพาร์ทไทม์ร้านอาหารมาใช้ กลยุทธ์แรกเลยคือการขายสินค้าเพียงอย่างเดียวแต่ต้องมีความเชี่ยวชาญ ในที่นี้คือทงคตสึราเมง เขาพัฒนาสูตรซอสพริกแดงเฉพาะของตน ศึกษากรรมวิธีทำเส้นหมี่แบบโฮมเมด จนเกิดเป็นทงคตสึราเมงสุดพิเศษ

    ต่อมาคือการตั้งราคา ปกติแล้วราเมงจะมีราคาราว 250-300 เยน แต่เขาเลือกตั้งราคาที่ 650 เยน จากมุมมองที่ว่านี่คือราเมงที่เขาทุ่มเทแรงกาย แรงใจ และเวลาบรรจงปรุงออกมาอย่างพิถีพิถัน

การออกแบบตกแต่งภายในร้านให้ทุกคนทานราเมงได้อย่างสบายใจ


    Yoshitani ยังสังเกตว่าผู้หญิงไม่ค่อยเข้าร้านราเมงกันนัก เพราะขนบค่านิยมทางเพศของญี่ปุ่นที่ทำให้ผู้หญิงกังวลเรื่องการแสดงออก การทานราเมงอาจทำให้เกิดภาพไม่งามนัก เขาจึงออกแบบร้านโดยมีฉากกั้นแต่ละที่นั่ง ลูกค้าแต่ละคนจะได้มีความเป็นส่วนตัวในการรับประทานราเมง

    นอกจากนี้ยังวางระบบการสั่งอาหารที่ไม่เหมือนใคร โดยให้ลูกค้าเลือกส่วนผสมของราเมงตามต้องการ และระบบ “คาเอะดามะ (Kaedama)” ที่แพร่หลายในฟุคุโอกะมานานแล้ว คือเมื่อทานราเมงหมดเหลือแต่น้ำซุป จะสามารถขอเติมเส้นหมี่เพิ่มได้

    กิจการร้านราเมงเติบโตด้วยดี ขยับขยายเปิดสาขาหลายแห่งทั่วเมือง มีจำนวนพนักงานประจำร้านราว 60-70 คนกับพนักงานที่สำนักงานใหญ่อีกจำนวนหนึ่ง พ่อของเขาพูดถูก เขามีหัวด้านธุรกิจ และสามารถทำมันได้จริงๆ


เริ่มต้นใหม่ด้วยความเข้าใจ

    แต่บททดสอบของชีวิตกลับมาถึงโดยไม่ทันตั้งตัว ในปี 2006 หลังจ่ายโบนัสหนึ่งวัน เจ้าหน้าที่ระดับบริหารคนหนึ่งก็หักหลังเขาอย่างร้ายกาจด้วยการลาออกพร้อมพนักงานอีก 30 คน เขาแทบไม่อยากเชื่อในสิ่งที่เกิดขึ้น มันเจ็บปวดมากเสียจนเขาคิดจบชีวิตของตัวเองลง

    Yoshitomi วัย 39 ปี เขียนพินัยกรรมถึงครอบครัวและขึ้นชินคังเซนไปเกียวโต ภาพทุกอย่างที่เขาเห็นเป็นสีเทา ขณะเดินหมดอาลัยตายอยากไร้จุดหมาย ไม่รู้กระทั่งว่าจะจบชีวิตที่ไหน จนเหนื่อยล้าจึงหาที่นั่งพัก และได้ยินสองตายายคุยกันเสียงดัง

    “ตั้งแต่พรุ่งนี้ เรากลับไปเริ่มต้นกันใหม่เถอะ”

    อันที่จริงบทสนทนานั้นหมายถึงเบียร์ ชายชราดื่มเบียร์มาหลายแบรนด์แล้ว และกำลังคิดจะกลับไปดื่มแบรนด์เดิม ทว่าประโยคดังกล่าวคล้ายกระตุ้นความทรงจำวัยเยาว์ของเขา ภาพตอนที่พ่อของเขาดื่มเบียร์ฉายชัดในห้วงสำนึก

    “ห้ามตาย แค่หวนคืนสู่รากเหง้าของแก” พ่ออาจกำลังพยายามบอกเขาแบบนั้นจากบนสวรรค์

    Yoshitomi บอกว่ารากเหง้าของเขาคือคนยากจน แค่กลับไปเริ่มต้นใหม่จากตรงนั้นก็พอ เขาจึงนั่งชินคังเซนกลับบ้าน ระหว่างทางก็ทบทวนเรื่องการทำธุรกิจไปด้วย จากนั้นเขาก็หมั่นเพียรศึกษาอย่างหนักเพื่อวางกลยุทธ์ต่อสู้อีกครั้ง

ทงคตสึราเมงของ Ichiran


    เขาอ่านหนังสือจำนวนมากตั้งแต่ปรัชญาไปจนจิตวิทยา ด้วยต้องการทำความเข้าใจมนุษย์ ค้นหาวิธีการบริหารคนอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ก่อนตกตะกอนที่ “การให้คุณค่ากับหัวใจของพนักงานและยกระดับความเป็นมนุษย์” ทั้งยังยกให้เป็นปรัชญาประจำองค์กร

    หากเข้าทำงานที่ Ichiran Ramen ทุกคนจะต้องได้เรียนรู้ค่านิยมเหล่านี้ซึ่ง Yoshitomi เขียนไว้เป็นตำราปรัชญา 108 ข้อ โดยเน้นย้ำความสำคัญในการทำความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ทั้งพนักงานประจำและพาร์ทไทม์ไม่ว่าจะตำแหน่งใดก็ตาม

    “บางที หากผมบริหารบริษัทโดยให้คุณค่ากับหัวใจของพนักงานตั้งแต่ต้น บริษัทอาจใหญ่โตกว่านี้ไปแล้วก็ได้”


ธุรกิจคือความปรารถนาดีที่มีต่อผู้บริโภค

    นอกจากนี้ เขาย้ำจุดยืนของ Ichiran Ramen ว่าเป็นร้านราเมงที่กำเนิดมาเพื่อส่งต่อความอร่อยแก่ผู้บริโภค ทำให้พวกเขามีความสุขกับอาหารสุดพิเศษ ผลกำไรเป็นเรื่องรองลงมา เพราะธุรกิจคือสิ่งที่จะทำเงินก็ต่อเมื่อได้เติมเต็มโลกใบนี้ และเป็นที่ยอมรับจากผู้บริโภค

    หากผู้นำบริษัทเห็นแก่ตัวและเต็มไปด้วยความโลภก็อาจประสบความสำเร็จเป็นการชั่วคราว แต่จะไม่ได้รับการสนับสนุนจากทุกคนบนโลก และท้ายสุดก็ไม่อาจเติบโตได้

    Yoshitomi ถึงขนาดเคยปฏิเสธดีลจากบริษัทข้ามชาติระดับโลกที่เสนอว่า “หากร่วมมือกัน เราจะสร้างยอดขายได้ถึง 100 ล้านเยนภายใน 10 ปี”

    เขาเชื่อว่าแทนที่จะดำเนินธุรกิจด้วยเป้าหมายคือเงิน Ichiran Ramen ให้ความสำคัญกับหัวใจของผู้คน หยั่งรากให้มั่นคง และเติบโตอย่างช้าๆ แต่มั่นใจว่าจะยิ่งใหญ่อย่างแน่นอน

    ยอดขายของ Ichiran Ramen ทะลุ 1.74 หมื่นล้านเยนในปี 2016 ซึ่งเป็นตัวเลขรวมจากทั่วโลก

    ปัจจุบัน Manabu Yoshitomi ดำรงตำแหน่งประธานบริษัท Ichiran Ramen ที่มีสาขาในนานาประเทศ ทั้งไต้หวัน ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา และล่าสุดยังมาเปิดร้านป๊อปอัพที่ไทยอีกด้วย



ที่มา: ICHIRAN, ICHIRAN USA, INOUZ Times, tsunagu Japan และ LIVE JAPAN


เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : เจาะเบื้องหลังความสำเร็จ The 1 ขับเคลื่อนกลุ่มเซ็นทรัลด้วย AI และ Big Data

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine