Jay Y. Lee ทายาท Samsung ถูกตัดสินจำคุก 2.5 ปี ฐานติดสินบน - Forbes Thailand

Jay Y. Lee ทายาท Samsung ถูกตัดสินจำคุก 2.5 ปี ฐานติดสินบน

FORBES THAILAND / ADMIN
19 Jan 2021 | 06:30 PM
READ 4523

Jay Y. Lee วัย 52 ปี รองประธาน Samsung กลุ่มธุรกิจรายใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้ ถูกศาลฎีกากรุงโซลตัดสินโทษจำคุก 2 ปีครึ่ง จากคดีติดสินบนคนสนิทอดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้ Park Geun Hye

Jay Y. Lee
Jay Y. Lee รองประธาน Samsung Electronics ขณะเดินทางออกจากศาลฎีกากรุงโซลในปี 2019
ในปี 2017 Jay Y. Lee ถูกอัยการเกาหลีใต้ยื่นต่อศาลขอหมายจับข้อหาติดสินบน 3 หมื่นล้านวอนให้กับ Choi Soon Sil คนสนิทของ Park Geun Hye ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ เพื่อกดดันให้เจ้าหน้าที่ของกองทุนลงเสียงสนับสนุนการควบรวมบริษัท Cheil Industries Inc. และ Samsung C&T Corp ในปี 2015 แม้ว่าจะมีนักลงทุนจำนวนหนึ่งไม่เห็นด้วยก็ตาม  โดยในครั้งนั้น ศาลตัดสินโทษจำคุกเป็นเวลา 5 ปี แต่ Lee ปฏิเสธการกระทำผิดในศาลชั้นอุทธรณ์ จึงถูกตัดสินให้ลดโทษ และได้รับการปล่อยตัวหลังจากรับโทษเป็นระยะเวลา 1 ปี ในปี 2020 ศาลกรุงโซลและอัยการที่เข้ามาดูแลคดีนี้ก็ยื่นคำฟ้องใหม่ ด้วยโทษจำคุก 9 ปี ก่อนที่ล่าสุดศาลจะตัดสินจำคุกเป็นเวลา 2 ปีครึ่ง ซึ่งนับเป็นการสิ้นสุดของคดีดังกล่าว สำหรับประเด็นนี้  ได้สะท้อนให้เห็นว่า Samsung เป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจรายใหญ่ของเกาหลีใต้ที่บริหารโดยตระกูลใดตระกูลหนึ่ง หรือที่เรียกว่า “แชโบล” (Chaebol) ซึ่งมีอิทธิพลต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก ส่งผลให้ต้องเข้าไปพัวพันในกิจกรรมทางการเมืองอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ทั้งนี้ หลังจากกรณีที่อดีตประธานาธิบดีเปิดโอกาสให้เพื่อนสนิทเข้ามาแทรกแซงกิจการสำคัญของบ้านเมือง รวมถึงก่อทุจริตคอร์รัปชันถูกเปิดโปงในเดือนพฤศจิกายน 2016 ชาวเกาหลีใต้จำนวนมากก็ได้ออกมาประท้วงเป็นระยะเวลาหลายเดือน จนในที่สุดศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้เธอพ้นจากตำแหน่ง และถูกตัดสินจำคุก 17 ปี ขณะที่คำตัดสินของศาลในครั้งนี้ ทำให้การมีส่วนร่วมของ Lee ในการบริหารธุรกิจสมาร์ทโฟนและชิปรายใหญ่ที่สุดของโลกเป็นอันต้องชะงักลง โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันที่บริษัทกำลังอยู่ระหว่างการฟื้นฟูสถานะทางเศรษฐกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และความตึงเครียดระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ไม่เพียงเท่านี้ นอกจากคดีการติดสินบนในการควบรวบบริษัทลูกดังที่ได้กล่าวไปในข้างต้น  Lee และ คณะผู้บริหาร Samsung ยังเคยโดนข้อกล่าวหาในคดีละเมิดกฎหมายทุนนิยมและกฎหมายการตรวจสอบ ตลอดจนการหลีกเลี่ยงภาษี แต่ทางทนายความก็ได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อย โดยข้อกล่าวหาข้างต้นนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากการตรวจสอบและหาหลักฐานในคดีควบรวมกิจการ ซึ่งมองว่าเป็นการเบิกทางสู่การขยายอำนาจของ Lee ในการดูแลอาณาจักร Samsung ที่ต้องแลกมาด้วยการเสียสละผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นรายย่อย อย่างไรก็ดี Lee ได้ออกมาแสดงความเสียใจต่อสาธารณชนในเดือนพฤษภาคม 2020 ที่ไม่เคารพยึดถือหลักกฎหมายและมาตรฐานทางศีลธรรม พร้อมกับระบุว่าจะไม่ให้บุตรของตนสืบทอดอำนาจในการบริหาร Samsung เช่นกัน กลุ่มธุรกิจรายใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้แห่งนี้ ก่อตั้งโดย Lee Byung-chull ผู้เป็นปู่ของ Lee ก่อนที่ Lee Kun-hee ผู้เป็นพ่อจะเข้ามารับตำแหน่งซีอีโอ ในฐานะทายาทรุ่นที่ 2 ปัจจุบัน Lee มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 9.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ครองตำแหน่งมหาเศรษฐีอันดับที่ 4 ของเกาหลีใต้จากการจัดอันดับโดย Forbes  เขาดำรงตำแหน่งรองประธานของบริษัทตั้งแต่ปี 2012 และได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้รักษาการซีอีโอของ Samsung Electonics ตั้งแต่ที่ผู้เป็นพ่อเข้ารับการรักษาตัวจากภาวะหัวใจวายเฉียบพลันในโรงพยาบาลตั้งแต่ปี 2014 ก่อนที่จะเสียชีวิตเมื่อเดือนตุลาคม 2020 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน ทาง Samsung ยังไม่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่าใครจะเข้ามารับตำแหน่งผู้นำคนต่อไป แปลและเรียบเรียงโดย ชญาน์นัทช์ ธนินท์พงศ์ภัค จากบทความ Samsung Billionaire Heir Jay Y. Lee Sentenced To 2.5 Years In Prison For Bribery เผยแพร่บน Forbes.com อ่านเพิ่มเติม: Google ไม่ใช้ AI สร้างอาวุธ แต่กลับเลือกลงทุนในสตาร์ทอัพด้านสงคราม