จากพนักงานออฟฟิศธรรมดาๆ ที่ไม่ได้มาจากทายาทตระกูลดัง แต่ด้วยเลือดนักสู้ทำให้ พีระพงศ์ จรูญเอก ก้าวจากประสบการณ์เด็กวิ่งส่งอาหารในแดนจิงโจ้ ผงาดขึ้นสู่การเป็นนักธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เลือดใหม่ กลายเป็นบริษัทมหาชนที่มียอดขายเกือบ 3 หมื่นล้านบาท
Forbes Thailand นัดสัมภาษณ์ พีระพงศ์ จรูญเอก ซีอีโอ บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) วัย 43 ปีในออฟฟิศ ออริจิ้นฯ ที่ภิรัชทาวเวอร์ แอท ไบเทค บางนา สัมผัสแรกที่ก้าวสู่พื้นที่สำนักงานแห่งนี้ รับรู้ได้ถึงความมีชีวิตชีวาและกลิ่นอายความแอ็กทีฟของคนรุ่นใหม่ ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจเพราะพนักงานที่นี่อายุเฉลี่ย 28 ปีเท่านั้น
“ผมเริ่มทำงานตอนอายุ 21 หลังจบวิศวกรรมโยธาจากมข. (ม.ขอนแก่น) เรียนเร็วจบ 3 ปีครึ่ง ตอนนั้นวิกฤตเศรษฐกิจปี 40 แต่โชคดีได้งานเป็นวิศวกรคุมงานก่อสร้างในบริษัทรับเหมาแห่งหนึ่ง ทำอยู่ 5 ปี” พีระพงศ์ปูพื้นความเป็นมาบนเส้นทางธุรกิจ
ครอบครัวของเขามีร้านชำเล็กๆ ในชุมชนที่มีทุนแค่พอส่งให้เรียนระดับปริญญาตรี หลังจากนั้นพีระพงศ์ก็สร้างโอกาสให้ตัวเองด้วยงานในสายก่อสร้าง เขาก้าวหน้าอย่างรวดเร็วจากวิศวกรคุมงานก่อสร้างขึ้นมาเป็นผู้จัดการโครงการดูแลงานก่อสร้างอาคารมูลค่า 300-400 ล้านบาทภายในเวลา 2-3 ปี ไต่เต้าเร็วกว่าคนอื่นที่อาจต้องใช้เวลา 7-8 ปี จนกระทั่งเกิดจุดเปลี่ยนในชีวิต
“มันเป็นช่วงชีวิตตอนอายุ 26 ผมไม่เคยคิดจะไปเรียนเมืองนอก แต่ตอนนั้นแฟนได้ทุนไปเรียนต่อปริญญาโทด้านการเงินที่ออสเตรเลีย ทำให้ผมตัดสินใจแต่งงานและบินไปออสเตรเลียพร้อมกับแฟนเพื่อหาโอกาสเรียนต่อโดยขอยืมเงินจากคุณอา 2 แสนบาทเป็นทุน” พีระพงศ์ย้อนอดีต
ชีวิตในต่างแดนของคนที่ไม่มีทุนสนับสนุน ทำให้พีระพงศ์ต้องต่อสู้ดิ้นรน ทั้งการเรียนและการทำงานที่เขาบอกว่า “หนักที่สุดในชีวิต” เพราะเงิน 2 แสนบาทที่ขอยืมมา ช่วยได้แค่ค่าเรียนภาษา
เขาต้องทำงานในร้านอาหารตำแหน่งต่ำสุดคือ runner หรือเด็กวิ่งส่งอาหารจากชั้น 1 ขึ้น-ลงชั้น 3 ได้ค่าจ้างชั่วโมงละ 10 เหรียญออสเตรเลีย ทำวันละ 8 ชั่วโมงทุกวันตลอดปีครึ่ง และเรียนไปด้วย แต่สุดท้ายก็ได้ปริญญาโทวิศวกรรมก่อสร้างจากออสเตรเลีย (Master Degree of Engineering, University of New South Wales) กลับมาพร้อมเงิน 2 แสนบาทมาใช้หนี้
หลังจบปริญญาโทด้านวิศวกรรมก่อสร้าง พีระพงศ์เริ่มกลับมาทำงานบริษัทอีกครั้ง ในฐานะวิศวกรที่ปรึกษา (Consulting Engineer) จากนั้นไม่นานก็มาถึงจุดเปลี่ยน ซึ่งเขาเล่าว่า “เพราะความซนและอยากมีอสังหาฯ เป็นของตัวเอง ผมได้ไปวางมัดจำที่ดินแปลงหนึ่งแถวนอร์ธปาร์คเนื้อที่ 150 ตารางวา ตอนนั้นราคา 6 ล้านบาท มัดจำไป 6 แสนบาท คิดจะทำอะพาร์ตเมนต์” ซึ่งต่อมาต้องกู้ยืมธนาคารและญาติเพิ่มเพื่อทำให้โครงการได้ก่อสร้าง
ด้วยค่าเช่าเดือนละ 4-5 พันบาทต่อห้องของโครงการทำให้รายได้ยังไม่พอผ่อนแบงก์ เขาจึงศึกษาตลาดหาข้อมูลจนพบว่า “เซอร์วิสอะพาร์ตเมนต์” ในย่านนอร์ธปาร์คยังไม่มี จึงปรับปรุงห้องและเพิ่มบริการแบบโรงแรมเข้าไป และเปิดให้จองห้องผ่านอาโกด้า ทำให้ปรับค่าเช่าเป็นห้องละ 1 หมื่นบาท/เดือนได้ ทั้งต้องประหยัดค่าใช้จ่ายกระทั่งบางครั้งต้องไปช่วยปูเตียงเอง จากโครงการที่ขาดทุนจึงเริ่มมีกำไร
จุดเริ่มต้น “ซีอีโอ” บริหารบ้านจัดสรร
พีระพงศ์มาถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้งเมื่อสมัครเป็นซีอีโอ บริษัท อีสเทิร์น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ในวัยเพียง 28 ปี ช่วงแรกพีระพงศ์ไม่ได้รับความไว้วางใจนักเพราะอายุยังน้อย แต่หลังจากเข้ามาบริหารโครงการทาวน์เฮ้าส์ซึ่งเดิมขายได้ช้ามาก 3 ไตรมาสขายได้ 1 หลัง เขาเข้ามาและเจาะตลาดใหม่ เน้นนักลงทุนซื้อไปปล่อยเช่า ทำให้ขายดี เพียงเดือนเดียวขายได้ถึง 30 หลัง
หลังจากเป็นซีอีโอรับจ้างอยู่ 5 ปี พีระพงศ์นำทุนเริ่มต้นที่มาจากเซอร์วิสอะพาร์ตเมนต์ที่นอร์ธปาร์คซึ่งมีรายได้ดีขึ้น เขาทำแผนไปขอรีไฟแนนซ์ ได้เงินส่วนเกิน 10 ล้านบาท จึงนำไปวางมัดจำที่ดินแปลงแรก เนื้อที่ 360 ตารางวาในซอยสุขุมวิท 109 ใกล้สถานีรถไฟฟ้าแบริ่งนำมาพัฒนาคอนโดฯ
คอนโดฯ โครงการแรก “เซ้นส์ ออฟ ลอนดอน” เริ่มต้นในปี 2553 ขายหมดภายใน 4 เดือน เมื่อคอนโดฯ แรกขายดี หลังที่สอง “เคนซิงตัน” ก็ตามมา และขายหมดใน 4 เดือนเช่นกัน
สาเหตุที่ขายดีเพราะตอนนั้นออริจิ้นฯ เป็นรายแรกๆ ที่พัฒนาคอนโดฯ ตลาดระดับกลางในทำเลย่านบางนา-แบริ่ง ซึ่งผู้ประกอบการรายใหญ่ยังไม่เข้ามา ออริจิ้นฯ แทรกช่องว่างของตลาดด้วยการเจาะกลุ่ม Affordable Premium ราคาไม่แพง (1.4 ล้านบาท) ซึ่งเขาได้ไอเดียมาจากธุรกิจสายการบินซึ่งมีชั้น Premium Economy
เพียงปีแรกออริจิ้นฯ พัฒนาคอนโดฯ ออกขาย 4 โครงการ รวมมูลค่า 2 พันล้านบาท เมื่อโอนหมดก็จะได้กำไรราว 500 ล้านบาท เขาเริ่มคิดว่าน่าจะพอแล้ว เพราะกำไร 500 ล้านน่าจะอยู่ได้สบายไปถึงรุ่นลูก
“ผมเริ่มคิดว่าจะหยุดหรือไปต่อดี เพราะเงินขนาดนี้สำหรับเรามันมากพอที่จะอยู่ได้อย่างสบายๆ ตอนนั้นเลยหยุดและไปเที่ยวต่างประเทศ...แต่ผ่านไปเดือนเดียวแทบขาดใจ” พีระพงศ์ค้นพบว่าการไม่ทำงานทำให้ชีวิตดูล่องลอยไร้หลัก ในที่สุดเขาก็กลับมาลุยงานต่อ
นำร่องเจาะตลาด “นักลงทุน”
ก้าวสู่ปีที่ 2 ออริจิ้นฯ ทำอีก 6 โครงการมูลค่ารวม 4 พันล้านบาทในปี 2554 ขณะนั้น เกิดน้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพฯ โซนเหนือ แต่กลายเป็นผลบวกกับออริจิ้นฯ ที่ทำคอนโดฯ อยู่ในโซนทิศใต้ซึ่งน้ำไม่ท่วม ทำให้ขายดีเป็น 2 เท่า เขาเริ่มขยายไปสถานีใกล้เคียง เช่น ปุณณวิถี และสมุทรปราการ
ช่วงนี้เองที่เป็นฐานสำคัญในการเติบโตของออริจิ้นฯ เพราะสามารถขายโครงการได้ดีไม่เฉพาะในประเทศ แต่ยังเดินสายออกไปขายที่ญี่ปุ่นถึง 14 ครั้ง
ธุรกิจเติบโตมาได้ต่อเนื่อง พีระพงศ์จึงเริ่มมองเรื่องการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อระดมทุน ในที่สุดออริจิ้นฯ เปิดขายหุ้นไอพีโอเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2558 แม้ราคาที่เปิดขายวันแรกจะต่ำกว่าราคาจอง แต่หลังจากเข้าตลาดฯ แล้ว ออริจิ้นฯ ก็ขยายการลงทุนต่อเนื่อง จากสินทรัพย์ 3 พันล้านบาท กำไรสุทธิ 380 ล้านบาท มาร์เก็ตแคป 5 พันล้านบาท ผ่านมา 3 ปีครึ่งธุรกิจเติบโต 10 เท่า สินทรัพย์เพิ่มเป็นเกือบ 3 หมื่นล้านบาท กำไรสุทธิ 3.3 พันล้านบาท และมาร์เก็ตแคป 2 หมื่นล้านบาท มีสินทรัพย์และยอดขายมากเป็นอันดับ 7 ของบริษัทพัฒนาอสังหาฯ ในตลาดหลักทรัพย์ฯ
สยายปีกโรงแรมจ่อขึ้นท็อป 5
ในปี 2560 มีจุดเปลี่ยนสำคัญ 2 เรื่องในการสร้างความเติบโตของออริจิ้นฯ จุดเปลี่ยนแรกคือการเจาะตลาดลักชัวรีด้วยการเข้าเทกโอเวอร์ บริษัท พราวด์ เรสซิเดนซ์ จำกัด ทำให้ได้กำเนิดแบรนด์ “พาร์ค ออริจิ้น” ก้าวเข้าสู่ตลาดคอนโดฯ ลักชัวรี
อีกจุดเปลี่ยนคือการร่วมทุนญี่ปุ่น และกระจายความเสี่ยงธุรกิจด้วยการลงทุนพัฒนาโรงแรมควบคู่ หลังจากที่ได้ กลุ่มโนมูระ (Nomura Real Estate Development) จากญี่ปุ่นเข้ามาเป็นผู้ร่วมทุนทั้งพัฒนาคอนโดมิเนียมและโรงแรม
- ‘ออริจิ้น’ เทงบลงทุนสู่ TOP 5 กลุ่มธุรกิจโรงแรม กางแผน 5 ปี ระดมเปิด 15 แห่ง
- “พราว เรียล เอสเตท” ลุยต่ออสังหาฯ วางเป้า 5 ปีพัฒนาโครงการหมื่นล้าน
โดยโรงแรมทั้งที่ลงทุนร่วมกับญี่ปุ่นและที่ลงทุนเองจะส่งให้อีก 2 ปีข้างหน้า ออริจิ้นฯ จะมีโรงแรมทั้งในกรุงเทพฯ ชลบุรี และระยอง รวม 10 แห่ง มีห้องพักทั้งสิ้น 3 พันห้อง ขึ้นเป็นท็อป 5 ธุรกิจโรงแรมในไทยรองจาก ทีซีซี, เอราวัณ, เซ็นทารา และ ไมเนอร์ กรุ๊ป
View this post on Instagram
เรื่อง: อรวรรณ หอยจันทร์ ภาพ: กิตติเดช เจริญพร, บมจ.ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้
คลิกอ่านบทความฉบับเต็มของ "พีระพงศ์ จรูญเอก ทศวรรษ "ออริจิ้นฯ" จัมพ์เอาท์เจ้าโปรเจกต์" ในนิตยสาร Forbes Thailand ฉบับ มิถุนายน 2562 ในรูปแบบ e-magazine