ธุรกิจเทรดดิ้งสินค้านำเข้าจากอิตาลีคือจุดเริ่มต้นของ “อิตาเลเซีย” บริษัทตัวแทนจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชื่อดัง จากตัวแทนขายเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านขยับสู่ธุรกิจนำเข้าไวน์ สุราจากอิตาลี ล่าสุดได้พอร์ตสุราจากญี่ปุ่นมาเสริมทัพยิ่งขยายโอกาสทางการตลาดมากขึ้น
ครอบครัว “เบเนเดทตี้” (Benedetti) ผู้ก่อตั้งและขับเคลื่อนกิจการค้าขายสินค้านำเข้าจากอิตาลีในนาม “อิตาเลเซีย” มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมากว่า 60 ปี จากรุ่นบุกเบิกส่งต่อสู่ทายาทรุ่น 2 มาถึงรุ่น 3 ในปัจจุบัน จักรกฤต เบเนเดทตี้ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิตาเลเซีย เทรดดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด คือ ทายาทธุรกิจที่คร่ำหวอดในธุรกิจของครอบครัวมาไม่น้อยกว่า 20 ปี
ธุรกิจของครอบครัวเบเนเดทตี้ที่เริ่มต้นโดยคุณปู่ซึ่งเป็นชาวอิตาลี (Othello Benedetti) สมรสกับคุณย่าชาวไทยและลงหลักปักฐานทำธุรกิจในไทยอย่างจริงจัง
ในช่วงเริ่มต้นคุณปู่ของเขาเปิดบริษัท อิตาเลเซีย เทรดดิ้ง ขึ้นมาเพื่อจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้านำเข้าจากอิตาลีเป็นรายแรกในไทย “แบรนด์ที่นำมาขายคือ Zoppas Zanussi มีเครื่องดูดฝุ่น เครื่องซักผ้า ตู้เย็น ก่อนที่เครื่องใช้ไฟฟ้าญี่ปุ่นจะตีตลาด
หลังจากนั้นเป็นยุคที่ 2 บิดาของเขา (Adolfo Benedetti) รับช่วงกิจการมาทำได้ไม่นาน พออายุ 50 ก็ได้เสียชีวิตลงในช่วงปลายปี 2542 ทำให้จักรกฤตต้องรับช่วงบริหารธุรกิจต่อ ขณะนั้นเขาอายุเพียง 24 ปี สำเร็จการศึกษาจาก Thunderbird School of Global Management ด้านการบริหารธุรกิจ
จักรกฤตเริ่มต้นบริหารจากปี 2542 จนกระทั่งปัจจุบันสร้างความเติบโตให้อิตาเลเซียสามารถยืนหยัดเป็นผู้นำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งไวน์และวิสกี้ติดท็อป 3 ของตลาดในไทย ด้วยยอดขายในปี 2565 ทำได้กว่า 2.2 พันล้านบาท เติบโตต่อเนื่องแม้ในช่วงโควิด-19 ที่ได้รับผลกระทบหนัก
ยืนหยัดสู้วิกฤต
“เราผ่านช่วงวิกฤตโควิดมาได้ มันค่อนข้างหนักแต่ก็สามารถประคองกิจการมาได้ ไม่ได้เลิกจ้างหรือปรับลดเงินเดือนพนักงานเกือบ 400 คน” จักรกฤตบอกว่า สิ่งที่ทำในช่วง 3 ปีท่ามกลางโควิดคือ ทุกคนช่วยกันปรับลดค่าใช้จ่าย และพยายามหาช่องทางใหม่ในการขาย เปิดพื้นที่ใหม่ๆ ให้สินค้าไปถึงผู้บริโภค ปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์
ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นภาพการปรับตัวชัดเจนคือ การตัดสินใจไปเปิดสาขาใหม่ในภาคอีสานที่นครราชสีมา ขอนแก่น และบุรีรัมย์ ช่วงนั้นเนื่องจากธุรกิจโรงแรมหยุดชะงัก พนักงานโรงแรมส่วนใหญ่กลับภูมิลำเนารวมถึงเหล่าเชฟ พ่อครัวต่างๆ กลับบ้านและเริ่มต้นทำร้านของตัวเอง จึงมีร้านอาหารเครื่องดื่มที่ต้องการซื้อเครื่องดื่มเพื่อจำหน่าย
อิตาเลเซียเห็นโอกาสนี้ ประกอบกับยังไม่มีร้านสาขาในภาคอีสาน เขาจึงตัดสินใจไปเปิดสาขาใน 3 จังหวัดดังกล่าว ซึ่งได้การตอบรับดีมาก ผู้บริหารระดับท้องถิ่นต่างยินดีที่ร้านไปเปิด ซึ่งขณะนั้นยังอยู่ในช่วงสถานการณ์โควิด ถือเป็นการคว้าโอกาสในจังหวะที่เหมาะสม
“ตอนนั้นทุกคนช่วยกัน พนักงานพยายามช่วยนำสินค้าออกไปขาย เราเปลี่ยนสต็อกมาเป็นรายได้จ่ายเงินเดือนพนักงานโดยไม่ลดเงิน ไม่เลิกจ้าง แต่ปรับค่าใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น” เป็นบทเรียนจากวิกฤตมีส่วนทำให้อิตาเลเซียได้ขยายตลาดไปยังพื้นที่ใหม่ๆ จากเดิมที่นอกจากกรุงเทพฯ จะมีสาขาตามเมืองท่องเที่ยวหลักเท่านั้น
“ท่องเที่ยวเอาคืน” ฟื้นตลาด
หลังจากนั้นเมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลาย การท่องเที่ยวกลับมา เริ่มมีกระแสท่องเที่ยวแบบเอาคืน (revenge tourism) ซึ่งผู้คนออกมาเดินทางท่องเที่ยวกันอย่างเต็มที่ จนทำให้การฟื้นตัวของโรงแรมให้บริการไม่ทัน เกิดปัญหาซัพพลายเชนสะดุด
“ตอนนั้นไวน์กลับมาขายดี เพราะส่วนใหญ่คนไม่ได้สต็อกไว้ ไม่ว่าจะเป็นการบินไทยหรือโรงแรมต่างๆ” เป็นสถานการณ์ที่พลิกผันขึ้นมาอย่างไม่ทันตั้งตัว โชคดีอิตาเลเซียมีการสต็อกสินค้าไว้จำนวนหนึ่งทำให้ขายดีเพราะลูกค้ารายใหญ่ๆ หลายรายกลับมา เช่น การบินไทย เลาจน์ต่างๆ รวมถึงร้านค้ากลุ่มยี่ปั๊ว ซาปั๊ว ทุกคนต่างต้องการสินค้า
ด้วยเหตุนี้ทำให้ยอดขายในปี 2565 ปรับตัวขึ้นไปสูงกว่า 2.2 พันล้านบาท แต่มาในเดือนเมษายนปีนี้สถานการณ์เริ่มเบาบาง revenge tourism ลดลง สินค้าราคาแพงขึ้น ค่าน้ำมันแพง ตั๋วเครื่องบินแพง ทุกอย่างแพงหมด คนเริ่มชะลอการเดินทาง รอดูทิศทางราคา ประจวบเหมาะกับไทยมีประเด็นเรื่องการเมืองเปลี่ยนรัฐบาล สถานการณ์จึงกลับมาชะลออีกครั้ง
แม้จะมองว่าตลาดเริ่มชะลอตัวหลังกระแสการท่องเที่ยวเอาคืนซาลง แต่จักรกฤตยังมั่นใจว่าอิตาเลเซียจะสามารถทำยอดขายที่เติบโตได้ เนื่องจากเมื่อต้นปี 2566 อิตาเลเซียได้สิทธิ์เป็นผู้แทนจำหน่ายสินค้าให้กับ บริษัท บีม ซันโทรี่ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งมีสินค้ากลุ่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่กว้างทุกระดับราคา
ตลาดใหม่อาเซียน
“ปีนี้คิดว่าการเติบโตคงน้อยลง แต่เราน่าจะทำรายได้ใกล้ 3 พันล้านด้วยพอร์ตใหม่ๆ ถ้าในอนาคตมีสาขาที่เป็นโลเกชั่นใหม่และเริ่มทำโมเดลแฟรนไชส์ อยากให้มีถึง 50 สาขา ตอนนี้มีแฟรนไชส์แล้ว 3 สาขา” เป็นอีกหนึ่งแผนขยายตลาดที่จักรกฤตมองไว้
นอกจากนี้ จักรกฤตยังมองเห็นโอกาสตลาดใหม่ๆ และช่องทางใหม่สำหรับการทำตลาดต่างประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยนำร่องด้วยการตั้งซัพเอเย่นต์ในลาว กัมพูชา พม่า ซึ่งเจ้าของสินค้าทำสัญญาให้เราเข้าไปดูแลตลาดประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมามีบริษัทสุราบางรายที่ครอบคลุมดูแลประเทศเหล่านี้ในลักษณะตั้งซัพเอเย่นต์กระจายสินค้าต่ออยู่แล้ว ตลาดที่น่าสนใจ เช่น กัมพูชา ลาว สามารถส่งสินค้าทางบกเข้าประเทศเหล่านี้ได้เลย และวิธีที่ง่ายที่สุดคือ การเข้าไปตั้งซัพเอเย่นต์ และหากอนาคตดีก็อาจเข้าไปในลักษณะการร่วมทุน
นอกจากภารกิจในฐานะนักธุรกิจเจ้าของกิจการทั้งการนำเข้าและจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และอุปกรณ์เครื่องครัว ตลอดจนสินค้าอื่นๆ เช่น กาแฟ น้ำหวาน และน้ำแร่แล้ว จักรกฤตยังรับบทบาทกรรมการหอการค้าไทย-อิตาลี โดยรับต่อเนื่องมาแล้วถึง 22 ปี
และในปี 2565 ที่ผ่านมาเขาได้รับเลือกให้เป็น “Keepers of the Quaich” หรือผู้รักษาวัฒนธรรมสินค้า ประเทศสกอตแลนด์ และก่อนหน้านั้นในปี 2564 ได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์คุณธรรมแห่งสาธารณรัฐอิตาลี Knighthood in the order of Merit of the Italian Republic 2021 (Cavaliere Ordine al Merito della Repubblica Italiana)
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : สันติพล เจนวัฒนไพศาล JPARK ลานจอดรถเงินล้าน