สันติพล เจนวัฒนไพศาล JPARK ลานจอดรถเงินล้าน - Forbes Thailand

สันติพล เจนวัฒนไพศาล JPARK ลานจอดรถเงินล้าน

สันติพล เจนวัฒนไพศาล กับธุรกิจ JPARK ลานจอดรถเงินล้าน จากอดีตที่เคยเก็บค่าจอดรถชั่วโมงละ 10 บาท โดยภายในระยะเวลา 10 ปีธุรกิจของเขาสร้างรายได้หลัก 100 ล้าน และปีที่ผ่านมามีรายได้มากกว่า 400 ล้านบาท สร้างงานให้กับพนักงานเกือบ 700 ตำแหน่ง


    ลานจอดรถในบริเวณสนามบินที่มีพื้นที่กว้างขวาง แต่ผู้ใช้บริการกลับไม่สะดวกนัก เนื่องจากมีรถยนต์ให้เช่าจอดเรียงรายเต็มไปหมด ทำให้วิศวกรหนุ่มมองเห็นโอกาสทำธุรกิจจากการจัดระเบียบและเก็บค่าเช่าที่จอดรถ

    แม้ความตั้งใจครั้งแรกจะไม่บรรลุผล ทว่าเมื่อนำโมเดลธุรกิจนี้ไปใช้กับตลาดสดได้คำตอบว่าเขาคิดไม่ผิด จากการเก็บค่าจอดรถชั่วโมงละ 10 บาท ภายใน 10 ปีสร้างรายได้หลัก 100 ล้าน และปีที่ผ่านมามีรายได้มากกว่า 400 ล้านบาท สร้างงานให้กับพนักงานเกือบ 700 ตำแหน่ง

    หลังจากจบการศึกษาระดับปริญญาโท คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมโยธา จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สันติพล เจนวัฒนไพศาล ได้ก่อตั้ง บริษัท เจนก้องไกล จำกัด (มหาชน) หรือ JPARK ในปี 2541 ช่วงเริ่มต้นทำธุรกิจให้บริการออกแบบและศึกษาความเป็นไปได้ทางวิศวกรรมในการลงทุน (engineering feasibility) โครงการก่อสร้างสนามบินในพื้นที่ต่างจังหวัดให้แก่กรมท่าอากาศยาน 

    ระหว่างทำงานในสนามบินพบว่า ผู้โดยสารขาดแคลนพื้นที่จอดรถ บางคนมาจอดรถทิ้งไว้ ไม่มีการจัดระเบียบ เขาจึงเสนอตัวเป็นผู้บริหารจัดการลานจอดรถ แต่โปรเจกต์ไม่ผ่านจึงเบนเข็มไปค้นหาทำเลอื่นที่มีความเป็นไปได้ทางธุรกิจ กระทั่งทราบว่าตลาดสามย่านต้องการคนบริหารจัดการ  

    “ตลาดสามย่านเป็นตลาดสด มีชุมชนเป็นตึกแถว การจัดการค่อนข้างลำบาก คนในชุมชนบางส่วนเอาของมาตั้งหน้าบ้าน ห้ามคนอื่นมาจอดรถ ตอนนั้นระบบเทคโนโลยียังไม่ทันสมัยเท่าที่ควร เป็นโอกาสให้เราเสนอการจัดระเบียบและนำเทคโนโลยีมาใช้” สันติพล เจนวัฒนไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร JPARK กล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อ 20 ปีก่อน ในคราวนั้นใช้เงินลงทุน 200,000-300,000 บาท พัฒนาพื้นที่จอดรถ 200 คัน สร้างรายได้ 500,000 บาทต่อเดือน ต่อมาจึงขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล รวมทั้งต่างจังหวัดอีก 3 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นการเช่าพื้นที่ 


 

   ปัจจุบัน บริษัท เจนก้องไกล จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจให้บริการเกี่ยวกับการบริหารพื้นที่จอดรถ แบ่งเป็น 3 หมวดคือ ให้บริการที่จอดรถ รับจ้างบริหารจัดการพื้นที่จอดรถ และให้คำปรึกษาและรับติดตั้งระบบบริหารจัดการพื้นที่จอดรถ 

    จากธุรกิจให้บริการที่จอดรถในตอนแรก ปี 2548 รุกเข้าสู่ธุรกิจรับจ้างบริหารจัดการพื้นที่จอดรถ โดยเริ่มต้นจากพื้นที่จอดรถบริเวณโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน) และยังคงให้บริการอยู่ในปัจจุบัน ลักษณะงานคือ จัดหาบุคลากรเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้มาใช้บริการ จัดการจราจร จัดเก็บค่าบริการจอดรถ และดูแลระบบและอุปกรณ์ที่ใช้ในการบริหารพื้นที่จอดรถ โดยได้รับค่าตอบแทนเป็นรายเดือน 

    ส่วนหมวดที่ 3 คือ การให้คำปรึกษาและรับติดตั้งระบบบริหารจัดการพื้นที่จอดรถ ซึ่ง JPARK เข้าสู่ธุรกิจนี้ในปี 2562 เนื่องจากเล็งเห็นว่าลูกค้าจำนวนมากต้องการบริหารลานจอดรถเอง และต้องการที่ปรึกษาผู้มีความเชี่ยวชาญ ลักษณะงานคือ ให้คำปรึกษา ออกแบบ จัดหา และติดตั้งอุปกรณ์และระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารพื้นที่รถตามความต้องการของลูกค้า โดยทำหน้าที่ออกแบบระบบจราจร วางแผนและออกแบบจุดติดตั้งระบบและอุปกรณ์ควบคุมทางเข้า-ออก วางแผนกำลังพลและการรักษาความปลอดภัย จัดทำรายงานและตรวจสอบรายงานการเงิน การวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้พื้นที่จอดรถ/การตั้งราคาอัตราค่าจอด/ต้นทุนการบริหาร 

    ทั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มดำเนินธุรกิจดังกล่าวจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน ปี 2566 บริษัทได้รับงานโครงการที่เกี่ยวกับการให้คำปรึกษาและติดตั้งระบบบริหารจัดการลานจอดรถอัจฉริยะ (smart parking management system) และพัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับให้บริการสมัครและต่ออายุการใช้บริการจอดรถยนต์รายเดือน 5 โครงการ ส่วนใหญ่เป็นลานจอดรถในสถานีรถไฟฟ้า เช่น  อาคารและลานจอดแล้วจร 3 ชั้น สถานีแยก คปอ. และอาคารจอดแล้วจร 6 ชั้น สถานีคูคต, อาคารจอดแล้วจร สถานีคลองบ้านม้า (สายสีส้ม), โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล มีมูลค่ารวมกว่า 160 ล้านบาท  


 

   สันติพลกล่าวถึงเส้นทางการดำเนินธุรกิจนี้ว่า “ปี 2548 รถไฟฟ้าฯ เริ่มเปิดประมูลให้บริการอาคารจอดแล้วจร เราสนใจและกลายเป็นจุดเริ่มต้นธุรกิจหมวดที่ 2 คือ รับจ้างบริหาร ส่วนธุรกิจหมวดที่ 3 การรับจ้างให้การติดตั้งระบบที่จอดรถเริ่มทำปี 2562 ซึ่งได้โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ปี 2563-2564 ได้สายสีส้ม ปี 2565 ได้สายสีน้ำเงิน เราประมูลเสนอราคาคู่แข่งสู้เราไม่ได้ เพราะ scale เราใหญ่ และเจ้าของพื้นที่ต้องการอะไรใหม่ๆ ตลอดเวลา เราก็นำเสนอและตอบโจทย์ได้ เราทำให้หมด พัฒนาซอฟต์แวร์ โปรแกรม หมวดนี้ทำให้เราได้ธุรกิจต่อเนื่องกลับมาคือ รับจ้างบริหาร ส่วนใหญ่เจ้าของพื้นที่ไม่อยากทำเอง จะ outsource ให้เราบริหารต่อ”  

    ปัจจุบันบริษัทมีช่องจอดภายใต้การดูแล 3 หมวด รวมทั้งหมด 28,000 ช่องจอด โดยมีทั้งบริเวณจุดเชื่อมต่อ จุดเปลี่ยนผ่านกับระบบรถไฟฟ้า บริเวณศูนย์การค้า/ตลาด บริเวณโรงพยาบาล สถานศึกษา สนามบิน ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่วนพื้นที่ต่างจังหวัด 3 แห่งประกอบด้วยลานจอดรถสนามบินอุบลราชธานี สนามบินขอนแก่น และโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา จังหวัดชลบุรี



    ลูกค้าเป้าหมายแบ่งเป็น 3 กลุ่มตามประเภทธุรกิจ ลูกค้าของธุรกิจให้บริการที่จอดรถเป็นทั้งผู้ใช้บริการทั่วไปและผู้ใช้บริการรายเดือน ในอนาคตบริษัทมุ่งเน้นให้บริการในพื้นที่ของโรงพยาบาลและศูนย์การค้า ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีความต้องการด้านการบริหารพื้นที่จอดรถให้เกิดประโยชน์สูงสุด ขณะที่กลุ่มลูกค้าของธุรกิจรับจ้างบริหารจัดการพื้นที่จอดรถส่วนใหญ่เป็นพื้นที่จอดรถบริเวณจุดเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะ และพื้นที่จอดรถบริเวณอาคารสำนักงานโดยเฉพาะอาคารขนาดใหญ่ริมถนนสายหลัก

    สำหรับธุรกิจให้คำปรึกษาและรับติดตั้งระบบบริหารจัดการพื้นที่จอดรถ บริษัทเน้นรับงานโครงการที่จอดรถขนาดใหญ่ เพราะมีโอกาสที่จะได้รับงานรับจ้างบริหารจัดการพื้นที่จอดรถภายหลังโครงการเสร็จสิ้น ที่ผ่านมาเป็นโครงการที่จอดรถบริเวณจุดเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะ อาทิ อาคารหรือลานจอดรถของโครงการรถไฟฟ้ามหานคร 


ภาพ: วรัชญ์ แพทยานันท์ และ JPARK   



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : SHH Pendulum ทุ่ม 500 ล้าน คัดสรรแบรนด์หรู rare item ตอบโจทย์มหาเศรษฐีนักสะสมนาฬิกา

​​คลิกอ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนตุลาคม 2566 ในรูปแบบ e-magazine