ด้วยความเก๋าบวกความเชี่ยวชาญของผู้นำในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานครบวงจรมาหลายทศวรรษ บมจ.สแกน อินเตอร์ หรือ SCN พร้อมเดินหน้าเต็มตัวต่อยอดธุรกิจไปสู่ภูมิภาคอาเซียน ด้วยเดิมพันโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์มูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาทในเมือง Minbu ประเทศเมียนมา ที่พร้อมจำหน่ายไฟเชิงพาณิชย์เฟสแรกกุมภาพันธ์นี้ โดยวางเป้าว่าจะกลายเป็นโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน
ทายาทรุ่นที่ 2 ของตระกูล “กิจพิพิธ” เจ้าของธุรกิจด้านพลังงาน และธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับแก๊สธรรมชาติครบวงจรรายใหญ่ในไทย ดร.ฤทธี กิจพิพิธ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบมจ.สแกน อินเตอร์ หรือ SCN ให้สัมภาษณ์พิเศษ Forbes Thailand ถึงความคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มินบู ขนาด 220 เมกะวัตต์ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในโครงการมาสเตอร์พีซของ SCN เป็นการขยายอาณาจักรด้านพลังงานไปอาเซียนอย่างเต็มตัว ด้วยมูลค่าโครงการกว่า 1 หมื่นล้านบาท ดำเนินการก่อสร้างทั้งหมด 4 เฟสบนเนื้อที่กว่า 3,000 ไร่ ใกล้เมือง Naypyidaw เมืองหลวงของเมียนมา SCN กำลังจะกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 40% (หลังจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เฟสแรกเดือนกุมภาพันธ์)ในบริษัทพลังงานเพื่อโลกสีเขียว (ประเทศไทย) จำกัด หรือ GEP Thailand ซึ่งเป็นโฮลดิ้งคอมพานีที่ถือหุ้น 100% ในบริษัท GEP Myanmar จำกัด ผู้ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลเมียนมาให้ดำเนินการพัฒนาและก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่เมือง Minbu และทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) บริษัท Electric Power Generation Enterprise จำกัด (EPGE) ระยะเวลาทั้งสิ้น 30 ปี นับตั้งแต่วันที่เริ่มดำเนินการจ่ายไฟฟ้า โดยโครงการจะแล้วเสร็จทั้งหมดภายในปี 2565 นับเป็นความท้าทายที่ไม่เกินความสามารถของ ดร.ฤทธี ดอกเตอร์ ด้านวิศวกรรมพลังงานจากสหรัฐฯ ในวัย 38 ปี ที่เคี่ยวกรำงานธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานมาตั้งแต่วัยเด็กโครงการโรงไฟฟ้าที่ Minbu ถือเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แห่งที่ 5 ตั้งแต่ที่ SCN ดำเนินธุรกิจพัฒนาและก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มา ซึ่งหากรวมกับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่บริษัทดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บางภาษี จังหวัดนครปฐม และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ V.O.Net ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ จะส่งผลให้ SCN มีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวมทั้งสิ้น 226.1 เมกะวัตต์
สิ่งมหัศจรรย์แห่งอาเซียน
“เราคาดหวังและโฟกัสมากกับโครงการโรงไฟฟ้ามินบู ซึ่งถ้าแล้วเสร็จ ผมเชื่อว่าจะเป็นอีกหนึ่งสิ่งมหัศจรรย์ของอาเซียนก็ว่าได้ เพราะเราจะได้เห็นแผงโซล่าร์ที่เต็มพื้นที่กว่า 3,000 ไร่ โครงการนี้ถือเป็นการออกไปทำธุรกิจในอาเซียนอย่างเต็มตัวของเรา ซึ่งแผนต่อจากนี้เราไม่ได้มองแค่ที่เมียนมา แต่ยังมีประเทศอื่นในภูมิภาคนี้ที่เป็นเป้าหมายในการขยายอาณาจักรธุรกิจด้านพลังงานของ SCN ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า” SCN มีประสบการณ์สร้างโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ในไทยมาแล้วหลายปีก่อนหน้านี้ก่อนตัดสินใจบุกภูมิภาคอาเซียนขยายธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังแสงทิตย์ในปี 2561 โดยเมียนมาเป็นประเทศเป้าหมาย เหตุเพราะการจำหน่ายไฟฟ้ายังขาดแคลน คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 30% ของความต้องการใช้ไฟฟ้าทั้งหมดในประเทศเมียนมา “ที่เราหันไปลงทุนทำโรงไฟฟ้ามินบูเพราะในไทยมันเต็มหมดแล้ว ไทยไม่มีปัญหาการขาดแคลนพลังงาน แต่ในเมียนมา ความต้องการพลังงานไฟฟ้าสูงมาก ที่เขามีอยู่มัน supply ได้ไม่เพียงพอ เคยมีคนที่ไปเมียนมากลับมาเล่าให้ฟังว่าไฟฟ้าที่นั่นดับบ่อย ถือเป็นโอกาสที่ SCN เองจะเข้าไปขยายธุรกิจที่เราเชี่ยวชาญอยู่แล้ว โดยผ่านการเข้าไปถือหุ้นใหญ่ในบริษัท GEP Thailand ซึ่งเป็นโฮลดิ้งคอมพานีดำาเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าในเมียนมา”
เส้นทางไม่ง่าย-พร้อมรับความเสี่ยง
ปัญหาการขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าในเมียนมา แท้จริงแล้วยังมีทางเลือกใช้พลังงานจากแก๊สธรรมชาติได้ ซึ่งเมียนมามีแหล่งแก๊สธรรมชาติเป็นของตัวเอง แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายในการเดินท่อจากแหล่งแก๊สธรรมชาติที่อยู่นอกทะเลไปถึงเมือง Naypyidaw ต้องใช้เวลาและงบประมาณมหาศาล เมียนมาอาจจะไม่พร้อมใช้งบประมาณขนาดนั้น โรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์จึงน่าจะตอบโจทย์ได้มากกว่า “สัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากรัฐบาลเมียนมาได้มาค่อนข้างยาก ด้วยโครงสร้างในประเทศไม่เหมือนไทย เราต้องทำสัญญาในระดับประเทศ เซ็นสัญญาระดับรัฐมนตรีด้านพลังงานด้านการคลัง เราได้ทำประกันความเสี่ยงไว้ในทุกรูปแบบกับเอ็กซ์ซิม แบงก์ ถ้ามีการประท้วง หรือมีการยกเลิกสัญญา เราจะได้รับเงินคืนทั้งหมด” ดอกเตอร์ด้านวิศวกรรมพลังงานเล่าถึงแผนรองรับความเสี่ยง พร้อมแสดงความมั่นใจว่า โรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์มินบูยังอยู่ในงบการลงทุนที่ตั้งไว้ราว 1 หมื่นล้านบาท จะแล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี 2565 แต่หากบริษัทสามารถทำาไฟแนนซ์ซิ่งได้ดีขึ้นโครงการอาจแล้วเสร็จเร็วกว่ากำหนด
Knowledge is power
ดร.ฤทธี บอกด้วยว่า การขยายธุรกิจไปอาเซียน คุณพ่อ (ธัญชาติ กิจพิพิธ) ยังมีบทบาทให้คำแนะนำอย่างต่อเนื่อง ด้วยความเก๋าในเชิงธุรกิจ “คุณพ่อจะเน้นเรื่องเราต้องมีความรู้ก่อนที่จะทำธุรกิจนี้ บอกตลอดว่า Knowledge is power ความรู้คืออำนาจ ต้องมีความรู้ก่อน ถ้าคุณไม่มีความรู้แล้วไปทำ คุณอาจโดนโกงหรืออาจเจ๊งตั้งแต่เริ่มคิดก็ได้ เมื่อมีความรู้ เราก็ต้อง win win win เราต้องชนะหมด นี่เป็นเหตุผลที่ทำาไมผมถึงต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ร่วมทุน หรือพาร์ทเนอร์ทุกคนต้องมีกำาไรหมด win หมด ทุกคนแฮปปี้” ในยุคที่ 2 ของการบริหาร SCN มีเป้าที่จะผลักดันให้ SCN ใหญ่เท่าที่จะใหญ่ได้ https://www.instagram.com/p/BsDNwM8BYIX/ ภาพ: กิตติเดช เจริญพรคลิกอ่านฉบับเต็มของ ““ฤทธี กิจพิพิธ” ดัน SCN ผงาดเมียนมา ผุดโรงไฟฟ้ามินบูใหญ่สุดในอาเซียน” ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับ มกราคม 2562 ในรูปแบบ e-Magazine
