ธุรกิจเครือข่ายในไทยยังเป็นที่ยอมรับไม่มาก แม้จะมีนักธุรกิจ “ขายตรง” นับล้านคน พอร์ตใหญ่ยังเป็นธุรกิจเครือข่ายของบริษัทข้ามชาติ แต่ล่าสุดบริษัทคนไทยเริ่มตีตื้นไม่เฉพาะในไทยแต่ยังรุกขยายไปเจาะตลาดประเทศเพื่อนบ้าน สร้างแบรนด์ธุรกิจขายตรงไทยได้อย่างน่าสนใจ
กลางสัปดาห์ของการทำงานในช่วงบ่าย Forbes Thailand มีนัดสัมภาษณ์ซีอีโอคู่ดูโอในแวดวงธุรกิจเครือข่ายของคนไทย ซึ่งเป็นบริษัทน้องใหม่ที่มาแรงติดท็อป 10 บริษัท “ขายตรง” ในประเทศ และยังเป็นบริษัทขายตรงของคนไทยเพียงรายเดียวที่จะเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ในปี 2563
บริษัทนี้เป็นธุรกิจที่บริหารโดยซีอีโอคู่ นพ.สิทธวีร์ เกียรติชวนันต์ และ นพกฤษฏิ์ นิธิเลิศวิจิตร สองเพื่อนซี้ที่กลายมาเป็นหุ้นส่วนธุรกิจเครือข่าย เส้นทางสายอาชีพที่ไม่ใช่ความฝันในวัยเด็กของทั้งคู่
โดย นพ.สิทธวีร์ ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซัคเซสมอร์ บีอิ้งค์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCM ขณะที่นพกฤษฏิ์ ทำหน้าที่เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แต่ยังดูอ่อนกว่าวัยมาก ทีมงานเรียกเขาว่า “ซีอีโอนพ”

ทั้งคู่บอกว่า เป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่ชั้นอนุบาล เรียนโรงเรียนเดียวกันจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ก่อนจะแยกย้ายกันไปเรียนมหาวิทยาลัยคนละสายวิชาการ โดยนพ.สิทธวีร์ หรือ “คุณหมอสิท” เลือกเรียนแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้วุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญด้านหูคอจมูก ก่อนจะมาศึกษาต่อหลักสูตรเวชศาสตร์ผิวพรรณ ที่สถาบันเวชศาสตร์สุขภาพและผิวพรรณ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และอีกหลายวุฒิบัตรจากต่างประเทศ
ส่วนซีอีโอนพเลือกเรียนบริหารธุรกิจด้านการตลาดมหาวิทยาลัยรามคำแหง ต่อด้วยบริหารการเงินที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอีกหลายวุฒิบัตรจากต่างประเทศเช่นเดียวกัน
“ในโลกนี้มีซีอีโอคู่หลายรายที่สร้างธุรกิจขึ้นมาด้วยกัน พวกเราก็เป็นหนึ่งในนั้น การบริหารคู่สามารถสร้างการเติบโตให้บริษัทได้ไม่ต่างจากซีอีโอเดี่ยว” เป็นหัวข้อสนทนาแรกที่ซีอีโอนพเริ่มต้นพูดคุยด้วยสีหน้าและแววตาที่เต็มไปด้วยความเชื่อมั่น ต่อมาเราก็ได้คำตอบว่า ทำไมการพูดของเขาเหมือนมีพลังบางอย่างส่งออกมา
นั่นเป็นเพราะซีอีโอนพคือนักพูดสร้างแรงบันดาลใจ ปลุกพลังผู้คนโดยเฉพาะนักธุรกิจในเครือข่าย SCM ซึ่งวันนี้มียอดแอ็กทีฟกว่า 2 แสนคนสำหรับประเทศไทย และอีก 2 แสนรายสำหรับเครือข่ายในประเทศอาเซียน ซึ่ง SCM ได้รุกเข้าไปเจาะตลาดแล้ว 6 ประเทศด้วยกัน ได้แก่ สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย และสิงคโปร์
เข้าตลาดฯ เอ็ม เอ ไอ สร้างความเชื่อมั่น
ซีอีโอคู่เพื่อนซี้ต่างเคยสัมผัสธุรกิจเครือข่ายขายตรงจากบริษัทข้ามชาติมาก่อน คุ้นเคยกับธุรกิจเครือข่ายเป็นอย่างดีก่อนที่จะตัดสินใจร่วมกันก่อตั้ง SCM ขึ้นด้วยทุนจดทะเบียนปัจจุบันที่ 300 ล้านบาท โดยที่กลุ่มครอบครัวเกียรติชวนันต์ถือหุ้น 54.6% (ณ 6 มี.ค. 2562) และกลุ่มครอบครัวนิธิเลิศวิจิตรถือหุ้น 41%
แต่หลังจากนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้งสองตระกูลจะลดสัดส่วนการถือหุ้นลง โดยเกียรติชวนันต์จะเหลือ 41% และนิธิเลิศวิจิตรจะเหลือ 31% โดย 25% ที่หายไปนั้นจะกระจายขายเป็นหุ้นไอพีโอให้กับคนทั่วไปที่สนใจเข้ามาลงทุนในบริษัท

การนำกิจการ SCM เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ วัตถุประสงค์หลักคือสร้างความเชื่อมั่น ซึ่งผู้บริหารทั้งสองต่างมีมุมมองตรงกันว่า การเป็นบริษัทเครือข่ายของคนไทย หากเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะยิ่งสร้างความเชื่อมั่นทั้งต่อนักธุรกิจคนไทยและตลาดประเทศที่ขยายเข้าไปแล้ว
ซึ่งจะเป็นภาพเดียวกันกับบริษัทเครือข่ายรายใหญ่ข้ามชาติที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ของประเทศตัวเอง แล้วขยายมาเจาะตลาดต่างประเทศ นอกจากนี้เขามองว่าการเข้าตลาดฯ ยังทำให้บริษัทโปร่งใส มีธรรมาภิบาล และในอนาคตหากต้องการระดมทุนก็จะสามารถทำได้มีทางเลือกในด้านเงินทุนมากขึ้น
ต่อยอดอาเซียน “จีน” เป้าหมายต่อไป
วันนี้ SCM สามารถขยายฐานธุรกิจขายตรงส่งสินค้าไปจำหน่ายใน 6 ประเทศ ผ่านนักธุรกิจเครือข่ายกว่า 2 แสนราย ถือเป็นการนำร่องที่ดี แต่อาเซียนไม่ใช่เป้าหมายเดียวของซีอีโอทั้งคู่ โดยมองว่าแม้อาเซียนยังมีช่องว่างขยายได้อีก เช่น ที่อินโดนีเซีย ที่มีฐานประชากรกว่า 260 ล้านคนเป็นตลาดที่น่าสนใจ
แต่พวกเขายังมองไกลไปถึงประเทศจีนที่มีฐานประชากรกว่า 1,300 ล้านคน รวมถึงอินเดียที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของโลก หากสามารถเจาะตลาดเข้าไปได้ เชื่อว่าจะสร้างการเติบโตได้อีกมหาศาล นั่นคือฝันไกลที่ซีอีโอทั้งคู่บอกว่าอยากจะไปให้ถึง แต่ก่อนจะก้าวไปถึงจุดนั้นสิ่งที่ต้องทำให้เกิดได้อย่างต่อเนื่อง คือความเป็นองค์กรที่ทำให้นักธุรกิจประสบความสำเร็จและมีชีวิตในแบบที่เลือกได้ ซึ่งเป็นที่มาของการก่อตั้งกิจการในครั้งแรก
ปั้นโมเดลธุรกิจด้วย 3 P
นอกเหนือจากกิจกรรมปลุกพลังสร้างแรงบันดาลใจ หลักในการดำเนินธุรกิจของซีอีโอคู่นี้ได้วางหลักคิดง่ายๆ ไว้ที่ 3 P นั่นคือ P แรก People “ธุรกิจเราเป็น People Business” ซีอีโอนพย้ำว่า ธุรกิจเครือข่ายต้องใช้คนเป็นเครื่องมือในการขยายตลาด ดังนั้นจึงต้องสร้างพลังให้คนในทีมพร้อมสำหรับการก้าวไปข้างหน้าเสมอ
P ตัวที่ 2 คือ Profit หรือผลกำไร แน่นอนการทำธุรกิจต้องมีผลกำไร การเติบโตจึงจะตามมา และ P ตัวที่ 3 คือ Planet หรือโลกการทำธุรกิจต้องเชื่อมโยงโลกให้ได้ นั่นคือหลักคิดสร้างการเติบโตโดยพื้นฐานของ SCM ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของเครือข่าย คน ผลกำไร และโลก ควบคู่กันไป

ไม่เพียงเท่านี้ อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่มีส่วนผลักดันความสำเร็จมาสู่องค์กร SCM คือการทำธุรกิจด้วยคำว่า why หรือทำไม เป็นคำถามที่สร้างแรงบันดาลใจมากกว่าธุรกิจทั่วไปที่ทำบนพื้นฐานคำถาม what หรืออะไรเพียงอย่างเดียว
“วางตัวให้เป็นโอกาสแห่งการเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คนที่ดีที่สุด นี่คือพันธกิจของเรา เราอยู่กับการนี้” ซีอีโอนพกล่าวสรุปถึงพันธกิจองค์กรเครือข่ายของเขา ที่วันนี้ต้องบอกว่าเติบโตมาได้อย่างน่าสนใจ ภายในเวลาเพียง 6 ปีหลังจากเริ่มธุรกิจเมื่อปี 2556 สามารถสร้างการเติบโตมีรายได้กว่า 1.35 พันล้านบาทในปี 2561 โดยเติบโตต่อเนื่องเพิ่มขึ้นทุกปี
- อ่านเพิ่มเติม เปลี่ยนสู่โลก “ดิจิทัล” ภารกิจท้าทายของ “แอมเวย์”
คลิกอ่านฉบับเต็ม นพ.สิทธวีร์ เกียรติชวนันต์ และ นพกฤษฏิ์ นิธิเลิศวิจิตร ซีอีโอดูโอปั้นขายตรงไทยบุกอาเซียน ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับมกราคม 2563 ได้รูปแบบ e-magazine
