Pfizer เล็งผลเลิศ วัคซีนโควิด-19 - Forbes Thailand

Pfizer เล็งผลเลิศ วัคซีนโควิด-19

FORBES THAILAND / ADMIN
22 Nov 2020 | 12:29 PM
READ 2755

Albert Bourla แห่ง Pfizer ทำนายอย่างไม่เกรงใครว่าบริษัทของเขาอาจค้นพบวัคซีนและผลิตออกสู่ตลาดได้ภายในฤดูใบไม้ร่วงปีนี้ นี่คือเดิมพันมูลค่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่อาจเปลี่ยนแปลงโลกเลยทีเดียว

กลางเดือนมีนาคม Albert Bourla หัวเรือใหญ่ของ Pfizer ปรากฏตัวในการสนทนาผ่านระบบวิดีโอคอลกับบรรดาผู้นำบริษัทวิจัยและผลิตวัคซีนยักษ์ใหญ่ของอเมริกา ทั้งสองทีมทำงานอยู่จนดึกเพื่อวางแผนการพัฒนาการทดลองวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของ Pfizer ที่พวกเขาอ้างว่าจะสำเร็จพร้อมใช้ในเวลาอันรวดเร็ว อาจจะภายในปี 2021 “ยังไม่เร็วพอ” Bourla กล่าว นักวิจัยมีสีหน้าเคร่งเครียดขึ้นทันทีและตระหนักดีว่า นี่เป็นความพยายามที่ต้องใช้กำลังกายและใจมหาศาล Bourla ไม่ลืมขอบคุณพวกเขาแต่ก็เร่งเร้าอยู่ไม่หยุดหย่อนเขาถามผู้ร่วมประชุมในสายว่า พวกเขาคิดว่าไวรัสจะกลับมาในฤดูใบไม้ร่วงหรือไม่ และพวกเขาคาดว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากยังไม่มีวัคซีนเมื่อการระบาดของโรคไข้หวัดตามฤดูกาลกลับมาในเวลาเดียวกันประเด็นดังกล่าวนี้ถูกศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐฯ (Centers for Disease Control: CDC) หยิบยกขึ้นมาในอีกหลายสัปดาห์ถัดมา วันจันทร์แรกของเดือนพฤษภาคม บริษัทได้ฉีดวัดซีนต้านโควิด-19 ที่อยู่ระหว่างการทดลองร่วมกับบริษัท BioNTech ของเยอรมนี แก่อาสาสมัครชาวอเมริกันที่มีสุขภาพแข็งแรงในเมือง Baltimore กลุ่มแรก Bourla ได้รับการแจ้งข่าวในทันที วันต่อมาในระหว่างให้สัมภาษณ์จากบ้านย่านชานเมือง Scarsdale รัฐ New York เขาชี้แจงว่า ตามธรรมดาแล้วต้องใช้เวลาเป็นปีๆ สำหรับสิ่งที่เขาได้ทำในระยะหลายสัปดาห์ “ความเร็วในการทำงานของเราไม่ใช่สิ่งที่คุณจะเห็นได้จากบริษัทยาขนาดใหญ่และทรงอิทธิพล” เขากล่าว “ปกติแล้ว ความรวดเร็วขนาดนี้เป็นสิ่งที่คุณต้องอิจฉาบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพที่บริหารงานแบบผู้ประกอบการ” Bourla เป็นสัตวแพทย์ชาวกรีกที่ไต่เต้าจนได้ตำแหน่งซีอีโอของ Pfizer ในปี 2019 หลังฝ่าฟันการทำงานมา 25 ปี เขากล่าวว่าไม่มีสิ่งใดในตลอดชีวิตการทำงานของเขาที่จะทำให้เขาได้เตรียมพร้อมกับช่วงเวลานี้ได้เลย แต่เขาเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงระดับองค์กรขนาดใหญ่ที่มีเขาเป็นโต้โผได้เตรียมความพร้อมให้แก่องค์กรแห่งนี้แล้วก่อนหน้านี้ เขาได้นำพาบริษัทขนาดยักษ์ (ยอดขายปี 2019 อยู่ที่ 5.18 หมื่นล้านเหรียญ) เข้าสู่เกมธุรกิจความเสี่ยงสูงผลตอบแทนสูงนั่นคือ การหันไปพัฒนายาใหม่ที่ได้รับการจดสิทธิบัตรแทนการผลิตยาสามัญ และสินค้าอุปโภคอย่างยาแก้ปวดยี่ห้อ Advil หรือลิปมัน Chapstick สำหรับ Bourla ในวัย 58 แล้ว 4 เดือนที่ผ่านมาไม่ต่างกับการนั่งรถไฟเหาะ มีทั้งความล้มเหลวและความสำเร็จมากมายหลายครั้ง Pfizer ไม่ได้เป็นบริษัทเดียวในสนามแข่งขันนี้ บริษัทด้านเภสัชกรรมรายใหญ่ที่สุดของโลกส่วนใหญ่ รวมทั้ง Johnson & Johnson, Sanofi, AstraZeneca และ Roche ต่างทุ่มเททุกอย่างที่มีไปกับโควิด-19 ความร่วมมือที่สำคัญที่สุดคืองานที่ทำร่วมกับ BioNTech บริษัทนวัตกรรมมูลค่า 120 ล้านเหรียญ (ยอดขายปี 2019) จากเมือง Mainz ประเทศเยอรมนี ซึ่งรู้จักกันดีจากการผลิตยารักษาโรคมะเร็ง ผลที่ได้คือ วัคซีนต้านโควิด-19 รูปแบบที่ทำงานกับสารพันธุกรรม mRNA ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใหม่มากและยังไม่เคยใช้พัฒนาเป็นวัคซีนที่ประสบความสำเร็จในการรักษา Pfizer หวังว่าวัคซีนจะได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อให้ใช้เป็นการฉุกเฉินภายในเดือนตุลาคม กลยุทธ์ที่ไม่เหมือนใครของบริษัทก็คือ จับเอาวัคซีนรูปแบบ mRNA จำนวน 4 ตัวที่มีศักยภาพมาแข่งขันกันแล้วไปทุ่มเทกับตัวที่น่าจะเป็นผู้ชนะมากที่สุด สำหรับการเตรียมการนั้น บริษัทกำลังเปลี่ยนแผนการผลิตที่โรงงาน 4 แห่ง เพื่อเตรียมผลิตวัคซีน 20 ล้านโดสภายในปลายปีนี้และอีกหลายร้อยล้านโดสในปี 2021 Bourla กล่าวว่า Pfizer ยินดีที่จะใช้เงิน 1 พันล้านเหรียญในปี 2020 เพื่อพัฒนาและผลิตวัคซีนก่อนที่พวกเขาจะรู้ว่ามันใช้ได้ผลหรือไม่ “ความเร็วเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวด” “การเป็นซีอีโอในบริษัทยาที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ในวิกฤตแบบนี้เป็นงานที่หนักอึ้ง” Bourla บอก “แม้แต่ลูกสาวลูกชายผมยังถามคำถามแบบนี้ ‘ตกลงพ่อมีวัคซีนไหม?’ ทุกคนที่รู้จักผมทำแบบเดียวกัน คุณรู้สึกว่า ถ้าคุณไปถูกทางคุณจะกอบกู้โลกไว้ได้และถ้าไปผิดทางคุณก็กอบกู้โลกไม่ได้” เมื่อเดือนมกราคม Ugur Sahin นักวิทยาภูมิคุ้มกันผู้ก่อตั้ง BioNTech ผู้ปราดเปรื่อง ได้อ่านบทความเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ในวารสารการแพทย์ The Lancet โดย Sahin สร้าง BioNTech ขึ้น มาเพื่อหาทางให้เซลล์ร่างกายมนุษย์สามารถรับมือกับโรคต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับโรคมะเร็ง เขาคิดว่า เทคโนโลยีคล้ายๆ กันอาจมีประสิทธิภาพในการต่อต้านไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หลังจากนั้นไม่นาน Sahin ได้คุยกับ Thomas Strungmann มหาเศรษฐีวงการยาชาวเยอรมันที่ได้สนับสนุนบริษัทของ Sahin กับ Ozlem Tureci ภรรยานักภูมิคุ้มกันวิทยามานานหลายปี “เขาบอกผมว่า ‘นี่เป็นหายนะครั้งเลวร้าย’ เขาบอกว่า คงต้องปิดโรงเรียนและนี่จะเป็นการระบาดครั้งใหญ่” Strungmanng เล่า โดยอ้างถึง Sahin “เขาย้ายทีมงานส่วนใหญ่มุ่งไปพัฒนาวัคซีน” ในเดือนกุมภาพันธ์ Sahin (ผู้ที่ตอนนี้กลายเป็นมหาเศรษฐีเมื่อหุ้นบริษัท BioNTech ของเขาพุ่งทะยาน) ได้โทรศัพท์หา Kathrin Jansen หัวหน้าฝ่ายวิจัยและพัฒนาของPfizer โดย Sahin บอกกับ Jansen ว่า BioNTech ได้ตัวยาที่จะป้องกันโรคโควิด-19 แล้ว และถามว่าPfizer สนใจจะทำางานร่วมกับเขาไหม “Ugur ถามมาได้” Jansen ตอบ “สนใจสิ” ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ต่างก็ให้ความสนใจกับแนวคิดในการใช้ mRNA ซึ่งเป็นโมเลกุลพันธุกรรมที่ออกคำสั่งให้เซลล์ผลิตโปรตีนในการพัฒนายารักษาโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และกระทั่งโรคติดเชื้อจากไวรัส ด้วยการแปลงเซลล์ในร่างกายมนุษย์ให้กลายเป็นโรงงานผลิตยา เนื่องจากโรค SARS-CoV-2 ซึ่งเป็นชื่ออย่างเป็นทางการของโรคไวรัสโคโรนานั้นเป็นไวรัสชนิด RNA นักวิจัยอย่าง Sahin จึงพุ่งเป้าไปยังแนวคิดในการติดตั้งเครื่องจักรแก่ mRNA เพื่อผลิตโปรตีนที่จะสร้างแอนติบอดีที่สามารถปกป้องร่างกายจากไวรัส วัคซีนรูปแบบ mRNA มีข้อได้เปรียบเหนือวัคซีนรูปแบบดั้งเดิมมากมาย ด้วยความที่มันสามารถผลิตขึ้นโดยตรงจากรหัสพันธุกรรมของไวรัส การพัฒนาเป็นวัคซีนและเริ่มการวิจัยทางคลินิกจึงสามารถทำได้ในระยะหลายสัปดาห์ แต่ไม่ต้องถึงกับหลายเดือนหรือหลายปี แต่มันก็มีข้อเสียเปรียบที่น่าเป็นห่วง นั่นคือ ยังไม่เคยมีใครผลิตวัคซีนรูปแบบนี้ได้สำเร็จเลย ไม่ได้มีเพียง BioNTech ที่กำลังหาทางผลิตวัคซีนรูปแบบ mRNA โดยมี Moderna Therapeutics บริษัทไบโอเทคจากเมือง Cambridge รัฐ Massachusetts ก็เริ่มต้นพัฒนาตั้งแต่เดือนมกราคมและได้ดำเนินการวิจัยทางคลินิกเพื่อทดลองวัคซีนรูปแบบ mRNA ในคน โดยมีเงินสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ 483 ล้านเหรียญ Moderna เองก็วางเป้าไว้คล้ายคลึงกันคือ ผลิตวัคซีนให้ได้หลายล้านโดสต่อเดือนภายในสิ้นปีนี้ Pfizer ทำงานได้เข้าขากับ BioNTech อยู่แล้ว เมื่อ 2 ปีก่อน ทั้งสองบริษัทลงนามในข้อตกลงมูลค่า 425 ล้านเหรียญ เพื่อพัฒนาวัคซีน mRNA สำาหรับโรคไข้หวัด Pfizer สนใจในศักยภาพของแนวทาง mRNA ที่จะย่นระยะเวลาขั้นตอนการพัฒนาวัคซีนสำหรับไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ๆ ในแต่ละปี เมื่อต้องทำงานกับบริษัทพันธมิตรในการผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 ความยืดหยุ่นและความรวดเร็วแบบเดียวกันนั้นจึงเป็นสิ่งที่ Bourla เห็นดีเห็นงามด้วยและได้ลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงกับ BioNTech ในวันต่อมา สัญญาที่ทั้งสองบริษัทสรุปเมื่อเดือนเมษายนไม่มีการอ้างถึงการผลิตวัคซีนเชิงพาณิชย์ สิ่งที่ Pfizer นำมาใช้ในความพยายามครั้งนี้คือ สมรรถภาพมหาศาลด้านการผลิต กฎระเบียบ และการวิจัย ขณะที่ BioNTech มากับวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ขณะเดียวกัน Bourla ตัดสินใจใช้เงิน 1 พันล้านเหรียญกับโครงการนี้ ดังนั้นถ้าวัคซีนใช้ได้ผล การผลิตจะทำได้ทันในฤดูใบไม้ร่วงPfizer จะยังต้องจ่ายเงินให้ BioNTech เป็นจำนวน 563 ล้านเหรียญ ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามแผน “พันล้านเหรียญคงไม่ทำเราพังพาบแล้วอีกอย่างผมก็ไม่กะจะเสียมันไป ที่แน่ๆ ผมกะให้เราได้มีวัคซีนใช้” Bourla กล่าว “คุณไม่มีวันรู้จนกว่าจะได้เห็นข้อมูล เพราะฉะนั้นก็ใช่ เราคงสูญเงินนี้ไปถ้าวัคซีนไม่ประสบผล” สิ่งที่ทำให้วิธีการของPfizer มีความเฉพาะตัวก็คือ บริษัททำการทดสอบวัคซีนเด่นๆ 4 ตัวซึ่งใช้รูปแบบ mRNA ที่จะกระตุ้นการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันที่ปลอดภัยต่างกัน การวิจัยทางคลินิกอันซับซ้อนจะเริ่มต้นจากการทดสอบระดับของโดสยาที่ต่างกันของวัคซีนทั้ง 4 ตัวในอาสาสมัคร 360 คนในสหรัฐฯ และ 200 คนในเยอรมนี จากนั้นจะเพิ่มจำนวนผู้รับการทดสอบเป็น 8,000 คน บรรดาผู้เชี่ยวชาญต่างก็กังขากับเป้าหมายของPfizerในการผลิตยาให้ได้หลายล้านโดสสำหรับประชากรกลุ่มเปราะบางภายในฤดูใบไม้ร่วง โดยเห็นตรงกันว่า เป็นไปไม่ได้ Drew Weissmann จากมหาวิทยาลัย Pennsylvania (ห้องทดลองของมหาวิทยาลัยได้ร่วมงานกับ BioNTech ในการพัฒนาวัคซีนรูปแบบ mRNA สำหรับโรคติดเชื้อจากไวรัส) บอกกับ Forbes เมื่อเร็วๆ นี้ว่า “ง่ายๆ เลยก็คือ ไม่มีใครรู้ว่าวัคซีนรูปแบบ mRNA จะป้องกันโรคติดเชื้อได้” ยาอีกตัวของPfizer ที่กำลังได้รับความสนใจคือ Xeljanz ยาเม็ดรักษาโรคข้ออักเสบที่ทำรายได้ให้บริษัทปีละ 2.2 พันล้านเหรียญ ยาตัวนี้ถูกมองว่ามีประสิทธิภาพในการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันกับโรคโควิด-19 ที่สร้างปัญหาให้กับคนไข้จำนวนมาก Pfizerสนับสนุนการทดสอบ Xeljanz ในคนไข้โควิด-19 ชาวอิตาเลียน รวมทั้งการทดสอบอื่นๆ ในสหรัฐฯ ที่จะทดสอบยาโรคข้ออักเสบอีกตัวหนึ่ง ยาที่อยู่ในการทดลองตัวนี้จะพุ่งเป้าที่โปรตีน Irak-4 ในการต่อต้านไวรัส ระหว่างที่เกิดเรื่องราวขึ้นมากมายนี้ แน่นอนว่า Bourla ยังคงต้องบริหารงานส่วนอื่นๆ ของPfizer เมื่อเร็วๆ นี้เขาวางแผนจะไปเยี่ยมโรงงานแห่งหนึ่งของPfizer (ไม่มีโรงงานใดของบริษัทปิดทำการ) เพื่อเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ แต่หลังจากตระเตรียมการเดินทางเขาก็ได้รับแจ้งว่า เขาจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในโรงงานเพราะเขาไม่มีธุระจำเป็นที่นั่น “ผมไม่รู้เหมือนกันว่า เคยเตรียมใจไว้สำหรับอะไรแบบนี้ไหม” Bourla บอก “แต่คุณจะรู้ว่าต้องกล้ำกลืนเข้าไปแล้วก็รับมือกับมัน เพราะนั่นเป็นสิ่งที่คุณต้องทำ” อ่านเพิ่มเติม: “มหาเศรษฐีพันล้าน” จากโควิด-19
คลิกอ่านฉบับเต็ม “Pfizer เล็งผลเลิศ วัคซีนโควิด-19” ได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนตุลาคม 2563 ในรูปแบบ e-magazine