เส้นทางเดิมพันของ "กองทุน ETFs" สูตรพิเศษ - Forbes Thailand

เส้นทางเดิมพันของ "กองทุน ETFs" สูตรพิเศษ

FORBES THAILAND / ADMIN
14 May 2019 | 01:03 PM
READ 5413

กองทุนรวมดัชนีหรือ Index Funds แบบดั้งเดิมทั่วไปมีให้เลือกซื้อมากมาย แต่ผลิตภัณฑ์เพื่อการลงทุนของ Meb Faber มีความต่างที่ไม่ธรรมดา ด้วยลักษณะ กองทุน ETFs ที่ไม่ยึดติดกับดัชนีหุ้นสหรัฐฯ

กองทุนรวมดัชนีเป็นเครื่องมือการลงทุนที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์ซึ่งเคยทำกำไรได้สูงอย่างไม่ลำบากยากเย็น สาเหตุเพราะกองทุนรวมดัชนีช่วยให้นักลงทุนสามารถกระจายความเสี่ยงเหมือนถือสินทรัพย์ครบทั้งตลาดโดยมีค่าธรรมเนียมต่ำมากหรือถึงขั้นไม่มีเลย หากจะมีช่องให้ผู้บริหารพอร์ตการลงทุนแบบเฉพาะเจาะจงพอทำเงินได้บ้าง Mebane Faber ผู้ก่อตั้งและผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ Cambria Investment Management ก็ตั้งเป้าที่จะคว้าโอกาสนั้นมาให้ได้ กองทุน ETFs ทั้ง 11 ตัวเลือกของ Faber ไม่มีสักกองทุนเดียวที่ลงทุนโดยอ้างอิงดัชนีหุ้นในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ อย่างธรรมดาทั่วไป กองทุนหนึ่งออกแบบมาให้ครอบคลุมตราสารทุนทั่วโลกแต่เน้นน้ำหนักไปยังบริษัทจากตุรกีและรัสเซีย ขณะที่อีกกองทุนคัดสรรเฉพาะบริษัทที่มีอัตราผลตอบแทนสูงแต่นิยามคำว่าผลตอบแทนในรูปแบบใหม่อันต่างจากที่บรรดามหาเศรษฐีนักลงทุนเคยพบเจอ นอกจากนั้นยังมีกองทุนดัชนีที่มุ่งป้องกันความเสี่ยงในตลาดขาลง คำถามที่น่าสนใจคือเขาสามารถสร้างผลกำไรจากการบริหารจัดการกองทุนอันแปลกแหวกแนวเช่นนี้ได้หรือไม่ ก็อาจมีความเป็นไปได้ เนื่องด้วยมูลค่าทรัพย์สินที่อยู่ภายใต้การบริหารกว่า 900 ล้านเหรียญทำให้ Cambria เข้าใกล้จุดคุ้มทุนแล้ว ดังนั้นเมื่อใดที่มีเงินลงทุนก้อนใหม่เข้ามาตัวเลขบรรทัดสุดท้ายจะเพิ่มขึ้นแทบในทันที หากผลิตภัณฑ์ของบริษัทสักหนึ่งกองทุนหรือมากกว่านั้นได้รับความนิยมและประสบความสำเร็จ เพื่อให้บรรลุเป้าตามที่คาดหวังอาจหมายถึงการลองเสี่ยงทำอะไรใหม่ๆ อย่าง Cambria Global Asset Allocation ETF ที่เข้าไปถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมดัชนีอื่นอีก 24 กองทุน (บางกองทุนอยู่ภายใต้การบริหารของ Cambria เอง) ที่มีนโยบายลงทุนในสินทรัพย์ประเภทเดียว เช่น พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ หรือตราสารทุนต่างประเทศ โดยน้ำหนักการถือครองหุ้นประเทศเกิดใหม่คิดเป็นประมาณ 18% จากสัดส่วนการลงทุนในตราสารทุนทั้งหมด ตัวเลขนี้มากกว่าธรรมเนียมปฏิบัติทั่วไปของกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศถึงสามเท่า ทั้งนี้ บริษัท 3 อันดับแรกที่กองทุนเข้าถือสถานะมากที่สุดอยู่ในรัสเซีย บราซิล และตุรกี สำหรับ Cambria สิ่งนี้เป็นการเดิมพันที่ยังไม่เผยผลที่ชัดเจน ด้วยมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร 62 ล้านเหรียญเท่ากับว่าค่าธรรมเนียมทั้งหมดตกอยู่ที่ปีละประมาณ 200,000 เหรียญ ซึ่ง Cambria จะได้รับรายได้ 2 ใน 3 ของค่าธรรมเนียมส่วนนี้ และที่เหลืออีกหนึ่งส่วนจะเป็นของเจ้าของกองทุนรวมดัชนีอ้างอิงที่กองทุนบริษัทเข้าไปถือครองอย่างเช่น Vanguard เมื่อคำนวณแล้วรายได้ของ Faber ยังไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายคงที่ (ค่าบริการด้านกฎหมาย การดูแลรับฝากทรัพย์สินและบัญชี) อันจะทำให้กองทุน ETF เดินหน้าต่อไปได้ ทว่า Faber มีโอกาสรับผลตอบแทนก้อนโตหากเขาคาดการณ์ได้ถูกต้องเกี่ยวกับตลาดประเทศเกิดใหม่และคิดถูกว่าปัจจุบันหมดสมัยของกองทุนรวมแบบดั้งเดิมแล้ว มูลค่าสินทรัพย์ที่ไหลเวียนอยู่ในกองทุนรวมผสมตราสารทุนและตราสารหนี้อยู่ที่ 1.3 ล้านล้านเหรียญ Faber กล่าวว่าดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะดึงดูดเงินลงทุนส่วนหนึ่งมายังกองทุน ETF ต่างประเทศของเขา เนื่องจากรายได้จากกองทุนรวมนั้นต้องเสียภาษี (เพราะจ่ายจากกำไรจากการขายหลักทรัพย์) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วอยู่ในอัตราสูง ส่วนค่ากลางของอัตราค่าธรรมเนียมรวมที่ 1% ต่อปีคิดเป็นสองเท่าของกองทุนรวมประเภท ETF ธุรกิจกองทุนรวมประเภท ETF มีข้อได้เปรียบด้านค่าใช้จ่าย 2 ข้อ กองทุน ETF ไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับการซื้อหรือขายของนักลงทุนเหมือนกองทุนรวมดัชนี โดยผู้ดูแลสภาพคล่องหรือ “Market Maker” ที่ได้รับการแต่งตั้งจะทำหน้าที่ส่งคำสั่งเสนอซื้อเสนอขายหน่วยของกองทุนอันเป็นเรื่องยุ่งยากนี้เอง ยิ่งไปกว่านั้น กองทุน ETF ยังไม่ต้องจ่ายค่าตอบแทนให้กับบรรดานักวิเคราะห์เงินเดือนสูง ที่คอยติดตามศึกษาข้อมูลของแต่ละบริษัท เนื่องจากกองทุน ETF เกือบทั้งหมดอ้างอิงการลงทุนตามดัชนีที่ได้รับการยอมรับอย่างสูง เช่น S&P 500 หรืออย่างกองทุนของ Cambria ซึ่งเป็นการลงทุนเฉพาะทางตามกลไกข้อกำหนด การจัดพอร์ตลงทุนโดยอ้างอิง ETF ขนาดยักษ์ที่เน้นอัตราการจ่ายเงินปันผลซึ่งออกโดย Vanguard และ BlackRock ไม่ได้ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มขึ้น Faber จึงปรับธีมขึ้นใหม่ โดยนอกเหนือไปจากเงินสดปันผลแล้วยังรวมเอาเงินที่ได้รับจากการซื้อหุ้นคืนของบริษัทเองเข้าไปด้วย Cambria Shareholder Yield ETF ชื่นชอบบริษัทที่มีอัตราผลตอบแทนสูงจากการคำนวณด้วยวิธีนี้ การปรับเปลี่ยนวิธีคำนวณอัตราผลตอบแทนดูมีเหตุผล การซื้อหุ้นคืนเสมือนการจ่ายปันผลในรูปเงินสดตามด้วยการรวมหุ้น (การคำนวณไม่ได้ยุ่งยากซับซ้อน แต่นักการเมืองและนักข่าวบางรายที่มักวิพากษ์วิจารณ์การซื้อหุ้นคืนในแง่ลบอาจสับสนและไม่เข้าใจ) กองทุนของ Cambria ประกอบด้วยการลงทุนในบริษัทที่ปันเงินสดสูงต่อเนื่องอย่าง O’Reilly Automotive และ United Continental ซึ่งกองทุนเน้นผลตอบแทนสูงแบบทั่วไปมักมองข้าม
ถ้าต้องการเผยแพร่ทฤษฎีการลงทุน Podcast คือเครื่องมือที่น่าสนใจ Mabane Faber ได้สนทนาเล่าเรื่องผ่านแอพพลิเคชั่นนี้ทั้งหมด 131 ตอนจากสำนักงานของเขาที่ตั้งอยู่ใน El Segundo รัฐ California
ขณะที่ Faber มีมุมมองเชิงบวกต่อกองทุนประเภท ETF ในฐานะเครื่องมือการลงทุนแห่งอนาคต แต่เขาให้ความระมัดระวังการลงทุนในหุ้นโดยเฉพาะหุ้นบริษัทสัญชาติสหรัฐฯ ปัจจุบันหุ้นใน S&P 500 ซื้อขายกันในราคาสูงกว่ากำไรเฉลี่ย 10 ปีย้อนหลังถึง 31 เท่า “จนกระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้หุ้นสหรัฐฯ ยังมีราคาถูกและอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น” Faber กล่าว “แต่ตอนนี้หุ้นมีราคาแพงและอยู่ในช่วงขาลง” อย่างไรก็ดี Faber ก็มีกองทุนที่มีนโยบายสำหรับรับมือตลาดหมี นั่นก็คือ Cambria Tail Risk ETF โดยชื่อของกองทุนสื่อความหมายตรงตัวถึงแผนภูมิแจกแจงความถี่การเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นแบบคิดเป็นร้อยละซึ่งมีลักษณะเหมือนรูประฆังคว่ำทั่วไป แต่กรณีสุดโต่งเกิดขึ้นบ่อยกว่าปกติ หรือหมายความว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง ในกรณีนี้ ออปชั่นแบบให้สิทธิในการขายสินทรัพย์อ้างอิง (Put Options) ที่มีวันครบกำหนดอายุยาวของกองทุนจะเป็นเสมือนเกราะป้องกันความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบรุนแรง ก่อนหน้านี้กองทุนมีผลการดำเนินงานที่ไม่ค่อยเข้าตาเท่าไหร่ แต่การปรับฐานของตลาดเมื่อปลายปีที่ผ่านมาหนุนให้กองทุนมีผลงานเฉิดฉายขึ้นมาด้วยการเสนอกองทุนที่หลากหลาย ต้องมีสัก 1 กองทุนที่ประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้น พอร์ตการลงทุนปัจจุบันและกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของ Cambria มีทั้งกองทุนที่อิงผลตอบแทนสินค้าโภคภัณฑ์ ธุรกิจจำหน่ายกัญชาและบริษัทภายใต้การบริหารของมหาเศรษฐี ดูแล้วการที่ Faber จะเติบโตในระดับ 100 เท่าดูจะไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้   เรื่อง: William Baldwin เรียบเรียง: นวตา สันติวัฒนา
คลิกเพื่ออ่านฉบับเต็ม "กองทุน ETFs สูตรพิเศษ" ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับ เมษายน 2562 ในรูปแบบ e-Magazine