เมื่อโลกสมัยใหม่เต็มไปด้วยข้อมูลให้คนทั่วไปเข้าถึง แต่ขณะเดียวกัน เราก็ไม่ได้มีเวลามากพอที่จะประมวลข้อมูลมหาศาลเหล่านั้นก่อนตัดสินใจลงทุน ประจวบเหมาะกับเทคโนโลยียุคใหม่ทำให้ Odini ฟินเทคการเงินเลือกหยิบ Robo-Advisor มาเป็นหมัดเด็ดจูงใจคนรุ่นใหม่มาจัดพอร์ตกองทุนรวมด้วยกัน
“เราไม่ได้เป็นหนังสือสอนทำอาหาร แต่เราทำให้ทานเลย แถมยังแนะนำได้ว่าควรจะทานอะไรต่อ และในเวลาไหน”
พสุ ลิปตพัลลภ กรรมการบริษัทและกรรมการการลงทุน
บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน โรโบเวลธ์ จำกัด เจ้าของแอพพลิเคชั่น
Odini (โอดินี่) อธิบายถึงสิ่งที่เขาและเพื่อนๆ กำลังพัฒนาอยู่ว่าแตกต่างออกไปจากแอพพลิเคชั่นแนะนำการลงทุนในกองทุนรวมอื่นที่มีในตลาดปัจจุบัน
พสุแจกแจงว่าแอพพลิเคชั่นแนะนำกองทุนรวมอื่นมักจะทำได้มากที่สุดคือจัดพอร์ตลงทุนที่แนะนำ แต่ยังซื้อขายภายในแอพพลิเคชั่นโดยตรงไม่ได้ ในขณะที่ Odini สามารถทำได้ เนื่องจากได้รับใบอนุญาตเป็นบริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุนจากสำนักงาน ก.ล.ต. โดยหลังเปิดตัวมา 2 เดือน Odini เป็นนายหน้าขายให้กับบริษัทหลักทรัพย์แล้ว 8 แห่งและมีแผนจะขยายไปให้ครบ 30 บลจ.ที่มีในไทย
ที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งคือการที่ Odini นำเทคโนโลยี Robo-Advisor หรือ “หุ่นยนต์ที่ปรึกษา” มาใช้ในการแนะนำการลงทุน
“เราเป็นแอพฯ ลงทุนกองทุนรวมแบบอัตโนมัติ เราจัด allocation ตามความเสี่ยงและความต้องการเป็นรายบุคคลให้ เพราะมีหุ่นยนต์หรือก็คือระบบคอมพิวเตอร์ที่มาช่วยคิดแบบ tailor-made ให้เลย วิธีนี้จะทำให้คนที่เข้าไม่ถึงที่ปรึกษาการลงทุนเพราะมีพอร์ตขนาดเล็ก หรือคนที่ไม่ว่างศึกษาการลงทุนได้ประโยชน์” พสุกล่าวถึงคอนเซปท์ของ Odini
รวมศูนย์ข้อมูล วิเคราะห์กองทุน จัดพอร์ตใหม่ทุก 1 เดือน
พสุไม่ใช่ผู้ก่อตั้งคนเดียวของโรโบเวลธ์ แต่ยังมีอีก 3 ผู้ก่อตั้ง ได้แก่
ชลเดช เขมะรัตนา ซีอีโอของบริษัท ซึ่งเชี่ยวชาญด้านฟินเทค,
ชัยปกรณ์ จ.คุโนปกรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน ดูแลด้านการลงทุน และ
ศรุดา พัฒนาหิรัญ ประธานเจ้าหน้าที่กำกับการปฏิบัติงาน
พวกเขายังรวบรวมทีมโปรแกรมเมอร์ชาวไทย 12 คนมาพัฒนาระบบหุ่นยนต์ดังกล่าว โดยพสุอธิบายวิธีทำงานของหุ่นยนต์คร่าวๆ คือ หุ่นยนต์จะรวบรวมข้อมูลราคากองทุนรวมทั้งในปัจจุบันและย้อนหลังเพื่อศึกษาแนวโน้ม ไปจนถึงปัจจัยทางเศรษฐกิจที่จะส่งผลต่อการขึ้นลงของราคา เช่น ความผันผวนในตลาดหุ้น จากนั้นนำมาประมวลจับคู่ให้เข้ากับความเสี่ยงที่ยอมรับได้และจุดประสงค์การลงทุนของแต่ละผู้ใช้ในแอพพลิเคชั่น
“เราอยู่ในโลกที่ข้อมูลเยอะมาก ช่องว่างความรู้และการเข้าถึงข้อมูลระหว่างผู้จัดการเฮดจ์ฟันด์กับคนทั่วไปมันน้อยลงมากแล้ว แต่เพราะคนทั่วไปมีชีวิตที่ต้องทำงาน full time อาจจะไม่มีความพร้อมศึกษาปัจจัยการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ เพราะฉะนั้นข้อมูลตรงนี้ให้หุ่นยนต์ช่วยศึกษาแทนได้” พสุกล่าว
โดยในแอพฯ Odini เมื่อหุ่นยนต์ประมวลแพคเกจแนะนำการลงทุนกองทุนรวมมาแล้ว ผู้ใช้ต้องตัดสินใจที่จะซื้อทั้งแพคเกจ ไม่สามารถแก้ไขรายละเอียดบางจุดได้ และหุ่นยนต์จะทำการประมวลทุกๆ 1 เดือนเพื่อแนะนำว่าควรขาย ซื้อ ปรับเปลี่ยนกองทุนอย่างไรในแต่ละเดือน
ทั้งนี้ ปัจจัยที่ระบุให้หุ่นยนต์รวบรวมข้อมูลมาจากการตั้งค่าของมนุษย์ หรือก็คือทั้งสี่ผู้ก่อตั้งซึ่งเป็นคนแวดวงการเงินอยู่แล้ว นอกจากนี้ ทั้งสี่คนยังประชุมกันอย่างสม่ำเสมอเพื่อสำรวจปัจจัยเพิ่มเติมที่อาจมีผลต่อการขึ้นลงราคาและใส่ลงในฐานข้อมูลด้วย
“บางเรื่อง หุ่นยนต์ก็ไม่สามารถรู้ได้ครับ เช่น การย้ายบริษัทของผู้จัดการกองทุนฝีมือดี มันเป็นปัจจัยที่เราต้องบอกเอง ทำให้ต้องมอนิเตอร์ตลอด”
มาถึงขั้นตอนการชำระเงินเพื่อซื้อขาย พสุกล่าวว่า Odini ใช้ระบบ
FundConnext ของ ก.ล.ต. ทำให้เชื่อมโยงกับบลจ.ได้ และมีพันธมิตรธุรกิจคือ
AIS ซึ่งพัฒนาระบบ e-Wallet เป็นแพลตฟอร์มการชำระเงินให้กับ Odini ทั้งนี้ การเชื่อมโยงกับบัญชีธนาคารของผู้ใช้ ขณะนี้ยังใช้ได้เฉพาะธนาคารกสิกรไทย แต่ทั้ง AIS และ Odini กำลังเร่งเจรจาเพื่อให้อนาคตสามารถใช้ได้กับทุกธนาคาร
โดยสรุปแล้ว Odini จึงสามารถสมัครสมาชิกเปิดบัญชี จัดพอร์ต และซื้อขายบนหน้าจอมือถือได้โดยตรงทุกขั้นตอน ไม่จำเป็นต้องออกไปสู่โลกออฟไลน์เลย
ฝันที่ใหญ่ขึ้น: B2C สู่ B2B
โรโบเวลธ์วางเป้าหมายสำหรับ Odini ให้มียอดผู้ใช้แตะ 2 แสนคน ภายในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า โดยเล็งเป้าหมายกลุ่มคนรุ่นใหม่วัย 20-40 ปีเป็นหลัก โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ไม่เคยลงทุนมาก่อนเลย ซึ่ง Odini เพิ่งเริ่มทำการตลาดเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน และมีพันธมิตรหลักด้านการตลาดคือ
Money Channel สนับสนุนด้านคอนเทนต์
B2C จึงเป็นโมเดลธุรกิจแรกของ Odini ซึ่งรายได้ที่ได้ ไม่ได้มาจากผู้ใช้ (เนื่องจากเป็นแอพฯ ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ยกเว้นค่าธรรมเนียมบริหารกองทุนรวมซึ่งผู้ใช้จ่ายให้กับบลจ.) แต่แอพฯ นี้จะทำเงินจากค่านายหน้า
“ส่วนในอนาคต ข้อมูลพฤติกรรมลูกค้าที่เกิดขึ้นในแอพฯ น่าจะขยายไปพัฒนาบริการอื่นได้อีกแต่จะยังอยู่ในกรอบที่เกี่ยวกับด้านการเงินเป็นหลัก” พสุกล่าว
ขณะเดียวกัน พวกเขายังหวังการเติบโตในรูปแบบ B2B ด้วย โดยมองไว้หลายโมเดล เช่น นำเสนอให้ธนาคารต่างๆ ใช้แอพฯ Odini เป็นโซลูชันส์ในการแนะนำกองทุนรวมแก่ลูกค้า จึงไม่จำเป็นต้องมีบุคลากรเจ้าหน้าที่แนะนำการลงทุนประจำสาขาและไม่ต้องทำเอกสาร ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายให้ธนาคาร หรือสนับสนุนการทำงานของไพรเวทแบงก์ โดยใช้แอพฯ เป็นพื้นฐานผสานกับการทำงานของบุคลากรที่ดูแลลูกค้า HNWIs (High Net Worth Individuals)
สำหรับแหล่งทุนของโรโบเวลธ์ บริษัทเริ่มต้นก่อตั้งโดยได้รับ Seed Fund จากเงินทุนส่วนตัวของผู้ร่วมก่อตั้งและครอบครัว ซึ่งพสุบอกว่า ขอรอให้แอพฯ เสร็จสมบูรณ์และมีผลงานพร้อม Odini ก็จะเริ่มระดมทุนในตลาดต่อไป
Forbes Facts
- การเปิดบัญชีซื้อขายกับ Odini ทำเพียงครั้งเดียวใช้ซื้อกองทุนรวมได้ทุกบลจ. และใช้เงินลงทุนขั้นต่ำในแอพฯ 1,000 บาทเท่านั้น
- นอกจากโรโบเวลธ์ ปัจจุบัน พสุ ลิปตพัลลภ เป็นกรรมการ บริษัท Elite Partners จำกัด และ บริษัท Elite Securities จำกัด และเป็นคณะกรรมการบริหาร บมจ.ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ รวมถึงบริหารสตูดิโอปั่นจักรยาน Tribe ย่านเพลินจิต
- อีกบริษัทสตาร์ทอัพหนึ่งที่ได้รับการรับรองจากก.ล.ต.ให้เป็นบริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุนและใช้ระบบ FundConnext คือ บลน.ฟินโนมีนา โดยใช้ชื่อแอพฯ ว่า Finnomena Port
ภาพ: กิตติเดช เจริญพร