สงคราม Uber ระอุโลก - Forbes Thailand

สงคราม Uber ระอุโลก

FORBES THAILAND / ADMIN
26 Jan 2016 | 02:19 PM
READ 1649
เรียบเรียง: ชนกานต์ อนันตคุณากร

แม้ว่า Uber จะสามารถน็อคคู่แข่งในสหรัฐอเมริกาได้อย่างอยู่หมัด แต่เส้นทางยึดครองโลกต่อจากนี้คงไม่ง่ายดายอีกต่อไป เพราะบรรดาคู่แข่งทุนหนาที่ผ่านประสบการณ์ทางธุรกิจมาอย่างโชกโชน ต่างคอยตั้งรับเรี่ยรายตามทาง พร้อมฟาดฟันกับ Uber ไล่บี้กันเข้าเส้นชัยสู่ตำแหน่งผู้ชนะแห่งสมรภูมิระดับโลก ในการแข่งขันเป็นเจ้าแห่งแอพพลิเคชั่นบริการเรียกรถ

ที่ผ่านมา Uber เคยชินกับการได้ในสิ่งที่ต้องการไม่ว่าจะย่างเท้าไปที่ไหน การเข้าไปปักธงทำธุรกิจใน 60 ประเทศเป็นการเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ผ่านการวางแผนเชิงกลยุทธ์มาเป็นอย่างดี วิธีกินรวบตลาดโดยไม่เหลือที่ยืนให้กับคู่แข่งสร้างความเดือดดาลให้กับรัฐบาลท้องถิ่นและกลุ่มคนขับแท็กซี่จนนำมาสู่การชุมนุมประท้วง แต่ Uber ก็สามารถเอาตัวรอดจากเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวมาได้ทุกครั้ง แต่ตอนนี้ Uber กำลังเผชิญหน้าครั้งใหญ่กับผู้ที่ต่อต้าน และเป็นปัญหาที่ไม่สามารถจัดการได้ง่ายเหมือนกับที่เคยเจอ Travis Kalanick ซึ่งเป็น CEO ของ Uber กำลังเผชิญศึกหนักในระดับไม่ธรรมดาสำหรับประเทศที่ทางบริษัทเพิ่งเข้าไปบุกเบิกธุรกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในแถบเอเชีย ซึ่งคู่แข่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการเอกชนที่มีฐานธุรกิจที่แข็งแกร่ง ในประเทศอินเดีย Ola Cabs และ TaxiForSure สองผู้เล่นรายใหญ่ในอุตสาหกรรมได้ต้อนรับการมาเยือนของ Uber ด้วยการควบรวมกิจการของบริษัททั้งสองแห่งเข้าด้วยกันเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีผลทำให้บริษัทสามารถครองส่วนแบ่งตลาดคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 80 ตามมาด้วยการระดมทุนรอบใหม่จำนวน 400 ล้านเหรียญ สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Uber จะต้องฟาดฟันกับเจ้าถิ่นเก่าอย่าง GrabTaxi ซึ่งเปิดตัวในประเทศมาเลเซียและมีประสบการณ์ในธุรกิจนี้มานานกว่า 3 ปี ในปัจจุบัน GrabTaxi มีการขยายธุรกิจไปยังประเทศเพื่อนบ้านอีก 5 แห่ง ได้แก่ สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย สำหรับในละตินอเมริกา Uber จะต้องเจอกับ Easy Taxi ซึ่งมองว่าธุรกิจของพวกเขามีขนาดใหญ่กว่าของ Uberแบบเทียบกันไม่ติด ใน ประเทศจีน ซึ่งนับว่าเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดสำหรับแอพพลิเคชั่นเรียกใช้บริการรถแท็กซี่ มี Didi Dache และ Kuaidi Dache เจ้าตลาดเบอร์หนึ่งและเบอร์สองในอุตสาหกรรม ได้ตัดสินใจควบรวมกิจการเข้าด้วยกันและจดทะเบียนบริษัทแห่งใหม่ในชื่อว่า Didi Kuaidi โดยบริษัทใหม่ซึ่งเปิดดำเนินการได้เพียงสองปีเศษเพิ่งจะเสร็จสิ้นการระดมทุนจำนวน 2 พันล้านเหรียญ ซึ่งสูงกว่าจำนวนเงินลงทุน 1 พันล้านเหรียญที่ Uber จัดสรรไว้สำหรับตลาดในประเทศจีนถึงหนึ่งเท่าตัว ในขณะที่ยอดใช้บริการรถแท็กซี่ของ Didi สูงถึง 6 ล้านเที่ยวต่อวัน ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่ายอดผู้ใช้บริการของ Uber ถึงหกเท่า หลังจากบุกตลาดในประเทศจีนและสหรัฐอเมริกาเสร็จเรียบร้อย อินเดียเป็นเป้าหมายต่อไปที่ Uber จะเข้าไปทำตลาดเนื่องจากธุรกิจให้บริการรถแท็กซี่ในประเทศอินเดียยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น โดยประชากรอินเดียกว่าร้อยละ 97 ยังไม่มีรถยนต์ส่วนตัว แต่จากการยืนสังเกตการณ์ตรงหัวมุมถนนที่การจราจรพลุกพล่านมากที่สุดแห่งหนึ่งในเมือง Chennai ซึ่งตั้งอยู่ติดกับชายฝั่งทะเล แล้วลองนับจำนวนรถแท็กซี่ของ OlaCabs ที่วิ่งผ่านไปมา เราสามารถทำนายได้เลยว่า Uber จะต้องเจอโจทย์หินในสนามแข่งขันนี้อย่างแน่นอน โดย Ola ซึ่งเพิ่งเริ่มธุรกิจมาได้แค่เพียง 3 ปีเศษสามารถเบียดแซงหน้า Uber ได้ตั้งแต่ช่วงต้น ปัจจุบัน Ola มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 80 ซึ่งจากการตีราคาล่าสุดคาดว่ามูลค่ากิจการของ Ola น่าจะอยู่ที่ราว 2.5 พันล้านเหรียญ ฐานคนขับรถของ Ola เป็นกลุ่มที่มีความผูกพันเหนียวแน่นและภักดีกับองค์กร กว่า Kalanick จะเรียนรู้การสะกดชื่อเมือง Chhattisgarh ก็คงโดน Ola ทิ้งห่างไปหลายช่วงตัว เพราะล่าสุด Ola สามารถเจรจาให้บรรดาบริษัทผู้ผลิตรถยนต์และธนาคารที่ใหญ่ที่สุดของประเทศอินเดียยอมตกลงเข้าร่วมโครงการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ความสำเร็จของโครงการนี้จะช่วยให้คนขับมีโอกาสเป็นเจ้าของรถยนต์หากตกลงทำงานขับรถให้กับ Ola โดย Anand Subramanian ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายการตลาดของ Ola บอกว่า “เราเป็นผู้คิดระบบการผ่อนชำระคืนค่างวดรถแท็กซี่เป็นรายแรกของโลก”
คลิ๊กอ่าน "สงคราม Uber ระอุโลก" ฉบับเต็มได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ December 2015 ในรูปแบบ E-Magazine