โฟกัสออร์เดอร์คุณภาพ-ลูกค้ามีกำลังซื้อ กลยุทธ์ที่ทำให้ ‘แกร็บ’ รายเดียวที่ ‘กำไร’ กับก้าวต่อไปผลักดัน “เติบโตยั่งยืน” - Forbes Thailand

โฟกัสออร์เดอร์คุณภาพ-ลูกค้ามีกำลังซื้อ กลยุทธ์ที่ทำให้ ‘แกร็บ’ รายเดียวที่ ‘กำไร’ กับก้าวต่อไปผลักดัน “เติบโตยั่งยืน”

หลังให้บริการในไทยมาเป็นเวลา 9 ปี ผ่านการแข่งขันอันดุเดือด “แกร็บ” กลายเป็นแพลตฟอร์มเรียกรถและฟู้ดเดลิเวอรี่รายแรกและรายเดียวที่สามารถทำ “กำไร” ได้แล้วสองปีต่อเนื่อง ซึ่งแกร็บบอกว่าส่วนสำคัญมาจากการปรับกลยุทธ์ตั้งแต่ปี 2020 และยังเป็นแนวทางที่แกร็บมุ่งมั่นต่อไปเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน


    การแข่งขันในธุรกิจแพลตฟอร์มเรียกรถและฟู้ดเดลิเวอรี่ น่าจะเป็นที่รู้กันดีว่าสมรภูมินี้ดุเดือด รุนแรง แต่ละรายนั้นนอกจากจะใช้งบไปกับการพัฒนาทางเทคโนดลยี ก็ยังทุ่มเม็ดเงินเพื่ออัดโปรโมชั่น สร้างทราฟิกยูสเซอร์ พยายามดึงยูสเซอร์ให้กลายมาเป็นแผนประจำ เป็นสังเวียนที่แต่ละรายยอม “เผาเงิน” เพื่อดึงลูกค้ามาอยู่กับตัวเอง จนที่ผ่านมาทุกรายขาดทุนกันหลักพันล้าน

    แต่ถึงอย่างนั้นก็ใช่ว่าสนามการแข่งขันนี้จะเป็นอย่างนั้นเสมอไป เมื่อ “แกร็บ” ผู้เล่นที่แม้ไม่ใช่รายแรกที่เข้าในไทย แต่เป็นรายแรกและรายเดียวที่สามารถก้าวสู่ภาวะทำกำไรได้แล้ว

    โดยข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุว่า ในปี 2565 บริษัท แกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด มีรายได้รวมราว 15,197 ล้านบาท กำไรสุทธิ 576 ล้านบาท

    ขณะที่ผลการดำเนินงานในปี 2566 นั้น ในงานแถลงข่าวทิศทางธุรกิจประจำปี ‘วรฉัตร ลักขณาโรจน์’ กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย เผยว่าแกร็บสามารถทำกำไรได้มากกว่าปี 2565 ด้วย



    วรฉัตร ระบุว่า ในงานแถลงข่าวปีที่แล้ว แกร็บพูดถึง Triple Bottom Line คือ Performance, Planet และ People คือนอกจากผลประกอบการจะต้องตอบโจทย์ผู้ถือหุ้นแล้ว ก็ต้องสร้างสิ่งดีๆ ให้เมืองที่เราอาศัยอยู่ด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม เพราะเรารู้ดีว่าแพลตฟอร์มของเราได้สร้างมลพิษตลอดเวลา นอกจากนี้คือเรื่องผู้คน เพราะแกร็บเชื่อมโยงระหว่างผู้คน ทำให้เราต้องแน่ใจว่าแพลตฟอร์มของเราตอบโจทย์กับคนที่อยู่ในแพลตฟอร์ม เพราะถ้าตอบโจทย์ทั้งหมด ก็จะสร้างผลดีในระยะยาว

    โดยไฮไลต์สำคัญของปี 2566 มีดังต่อไปนี้

    1.ปี 2566 ที่ผ่านมา แกร็บช่วยประหยัดเงินลูกค้าที่เป็นสมาชิก GrabUnlimited ไปแล้ว 4 พันล้านบาท ซึ่งช่วยให้ผู้บริโภคประหยัดเงินจากค่าส่ง คือเมื่อเป็นสมาชิก ลูกค้าจะได้รับส่วนลดส่งฟรีโดยไม่ต้องใส่โค้ดใดๆ ทั้งนี้ปัจจุบันลูกค้าบริการฟู้ดเดลิเวอรี่ราว 50% เป็นสมาชิก GrabUnlimited แล้ว

    2.คนขับได้รับประโยชน์ด้วย โดยเฉลี่ยในปีที่ผ่านมาคนขับแกร็บมีรายได้เฉลี่ยสูงขึ้น 10% ซึ่งวรฉัตรบอกอีกว่าถ้าย้อนดูข่าวดราม่าในวงการไรเดอร์ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา ก็ไม่มีแกร็บอยู่ในนั้นด้วย

    3.ร้านค้าขนาดเล็กเข้ามาแพลตฟอร์มเพิ่มขึ้น 30% แสดงว่าการเข้ามาอยู่ในแกร็บสร้างรายได้ให้ร้านอาหารได้อย่างเต็มที่

    “เราคิดว่าโมเดลที่เราทำมาจนถึงตอนนี้ ทำให้แกร็บ ประเทศไทย เริ่มมีผลกำไรแล้ว เป็นบทพิสูจน์ว่าบ้านที่มีเสาสี่ต้นของเราเริ่มออกดอกออกผล การที่เราทำธุรกิจและเริ่มมองเห็นว่าทุกๆ คนได้บาลานซ์ที่ดี ไม่มีใครได้ประโยชน์เพียงคนเดียว มันเริ่มไปได้” วรฉัตรระบุ


    แกร็บยังเผยถึงไฮไลต์ที่น่าสนใจของบริการเรียกรถ ดังต่อไปนี้

    -นักท่องเที่ยวใช้แกร็บเพิ่มขึ้น 139% เนื่องจากนักท่องเที่ยวที่เข้ามาปีที่แล้วเป็น FIT คือไม่ใช่กรุ๊ปทัวร์ ซึ่งดีกว่าเพราะเที่ยวนานกว่า ใช้จ่ายมากกว่า กระจายรายได้ไปหลายพื้นที่


    -จากสถิติที่มีการเรียกแกร็บไปรับ-ส่งที่สนามบินเพิ่มขึ้น 2 เท่า ทำให้ปีที่แล้วแกร็บได้ร่วมกับ ททท. และการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย เปิดจุดรับส่งผู้โดยสารของแกร็บอย่างเป็นทางการในสนามบินภูเก็ตและเชียงใหม่ โดยมีการจัดโฟลว์ที่ถูกต้อง เข้มงวดกับคนขับ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ปีนี้ยังเปิดเพิ่มที่เชียงราย และดอนเมือง ส่วนในต้นสัปดาห์หน้าน่าจะเปิดให้บริการที่สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งน่าจะวินกับทุกฝ่าย

    “ส่วนประเด็นกับแท็กซี่นั้นแล้วแต่มุมมอง สำหรับที่ภูเก็ตคือแท็กซี่ชอบ เพราะเขาสามารถรับงานได้สองแบบ ทั้งที่เคาน์เตอร์และผ่านแกร็บ ทำให้เราไม่ได้มีความกังวลอะไร ขณะที่ดอนเมืองมีการแบ่งจุดรับส่งที่แยกออกจากกันอย่างชัดเจน แต่เรียกได้ว่าเราก็เป็นพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจคนหนึ่งกับการท่าฯ ใครได้ดีลเท่าไหร่นั้นเป็นเรื่องของธุรกิจ ส่วนราคาค่าบริการก็ตามที่โชว์บนแอปเลย เราไม่ได้มีคิดเพิ่ม”

    -บริการพรีเมียมเติบโตขึ้นถึง 2 เท่าในปีที่ผ่านมา เพราะนักท่องเที่ยวชอบ เนื่องจากราคาของบริการพรีเมียมถ้าเทียบกับสกุลเงินต่างประเทศแล้วถือว่าไม่สูงนัก และลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดีในการใช้งาน

    วรฉัตรยังเผยถึงไฮไลต์สำหรับธุรกิจเดลิเวอรี่ด้วยว่า แกร็บยังยืนความเป็นอันดับหนึ่งฟู้ดเดลิเวอนี่ในไทย ไม่ใช่ในแง่ของ Volume สูง แต่ยอดการสั่งแต่ละครั้งต่ำ

    “ลองนึกดูว่าหากออร์เดอร์หนึ่งลูกค้าสั่งซื้อก๋วยเตี๋ยวถุงเดียว 60 บาท ยิ่งออเดอร์แบบนี้สูงเท่าไหร่ ก็ยิ่งขาดทุนมากขึ้นเท่านั้น ยิ่งทำแบบนี้แพลตฟอร์มก็ยิ่งไปต่อไม่ไหว

    “สิ่งที่เราทำมาตั้งแต่ 2020 คือโฟกัสที่ควอลิตี้ออเดอร์ และลูกค้ามีกำลังซื้อสูง ที่น่าสนใจคือจากการที่เรามุ่งมั่น ทำให้ออร์เดอร์แวลูของเราโตขึ้นกว่า 17% โดยยอดต่อออร์เดอร์ในปัจจุบันของแกร็บอยู่ที่มากกว่า 200 บาท และสิ่งนี้เองทำให้เราผันตัวเองจากภาวะขาดทุนมาสู่การมีกำไรได้”

    ทั้งนี้ เมื่อลูกค้ามีคุณภาพสูงเข้ามาใช้แพลตฟอร์มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยกลุ่มนี้โฟกัสเรื่องคุณภาพ ไม่สนใจเรื่องราคาขนาดนั้น ทำให้แกร็บทำโครงการ GrabThumbsUp ขึ้นมา หรือเป็นการคัดเลือกร้านอร่อยที่มีคุณภาพ มีทีมงานของแกร็บเข้าไปคัดเลือกจริงๆ ซึ่งปัจจุบันแกร็บมีร้านอาหารที่ได้ GrabThumbsUp ในหลักพันร้านค้าแล้ว

    “จากการที่ช่วยโปรโมท ทำให้ร้านที่เข้าร่วม GrabThumbsUp มียอดขายเพิ่มขึ้น 50-300% ในช่วงแค่ 3 เดือนที่เข้ามาร่วม เราช่วยในการค้นหาร้านที่ดีขึ้น อร่อย มีคุณภาพที่สูง ซึ่งตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่ต้องการร้านคุณภาพสูง”

    ในส่วนของธุรกิจการเงิน วรฉัตรระบุว่าปีที่ผ่านมาให้สินเชื่อร้านอาหารและคนขับไปมากกว่า 100,000 ราย มีการขยายวงเงินมากขึ้นจนถึง 5 แสนบาท นอกจากนี้ ยังได้เพิ่มอาลีเพย์และ kakao pay เข้ามาเป็นระบบชำระเงิน เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจีนและเกาหลี ส่วนในไทยได้เชื่อมกับระบบเติมเงินของกรุงไทย เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าต่างจังหวัด

    “แกร็บมองเห็นสัญญาณเชิงบวกและเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจดิจิทัลของทั้งภูมิภาค รวมถึงประเทศไทย ยังคงมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี โดยปัจจุบันประเทศไทยมีมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลสูงถึง 3.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯโดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจเรียกรถผ่านแอปและฟู้ดเดลิเวอรี ซึ่งเป็นที่คาดการณ์ว่าจะมีอัตราการเติบโตสูงถึง 15% ภายในปี 2568


    โดยในปีนี้ แกร็บ ประเทศไทย เตรียมเดินหน้ารุกธุรกิจเต็มสูบเพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ โดยมุ่งเน้นไปที่ 4 ประเด็นหลัก (หรือ 4A) ควบคู่ไปกับการสานต่อโครงการต่างๆ ที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคมและการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อมุ่งสร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืน และสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นกับทุกคนในอีโคซิสเต็มของเรา” วรฉัตร กล่าวเสริม

    สำหรับทิศทาง 4 ประเด็นหลักที่แกร็บประเทศไทยจะมุ่งไป ประกอบด้วย

    1.Active Users: มุ่งรักษาคุณภาพและมาตรฐานการให้บริการเพื่อสร้างความประทับใจให้กับผู้ใช้บริการโดยเฉพาะ 3 กลุ่มหลัก คือ นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ สมาชิกแพ็กเกจ GrabUnlimited และลูกค้าคุณภาพ ที่ใช้บริการเป็นประจำ (Quality User) ผ่านการผนึกความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับพันธมิตร

    นอกจากนี้ยังพัฒนาสิทธิประโยชน์ที่มากกว่าการให้ส่วนลดสำหรับสมาชิก GrabUnlimited รวมถึงการเปิดตัวแพ็กเกจสมาชิกแบบรายปีเพื่อรักษาฐานลูกค้าในระยะยาว ตลอดจนการพัฒนาสองแฟล็กชิปแบรนด์ของบริการ GrabFood อย่าง #GrabThumbsUp และ Only at Grab เพื่อรักษามาตรฐานและประสบการณ์ความอร่อยให้กับผู้ใช้บริการอย่างต่อเนื่อง

    2.Affordability: จากผลสำรวจพบว่าลูกค้าชาวไทย 61.9% กังวลเรื่องค่าครองชีพสูง และมองว่าบริการฟู้ดเดลิเวอรี่และเรียกรถนั้นมีราคาแพงไป ทำให้ตลาดธุรกิจนี้โตช้า ทำให้ปีนี้แกร็บได้นำเสนอบริการใหม่ โดยชูจุดเด่นในเรื่องความคุ้มค่า เพื่อตอบโจทย์กลุ่มผู้ใช้บริการที่ให้ความสำคัญกับเรื่องราคาเป็นหลัก


    โดยแกร็บได้เปิดตัวบริการ “GrabCar SAVER” สำหรับการเดินทางด้วยรถยนต์ขนาดเล็กในราคาประหยัดลงสูงสุดถึง 15% (เมื่อเทียบกับบริการ GrabCar) ซึ่งปัจจุบันได้เริ่มทดลองให้บริการแล้วใน 20 จังหวัด และบริการ “GrabBike SAVER” สำหรับการเดินทางด้วยรถจักรยานยนต์ ในระยะทางไม่เกิน 4 กิโลเมตรในราคาเริ่มต้นเพียง 26 บาท

    ในส่วนของธุรกิจเดลิเวอรี นอกจากการเพิ่มทางเลือกในการจัดส่งอาหารแบบประหยัดหรือ “SAVER Delivery” แล้ว ล่าสุด แกร็บได้เปิดตัวซับแบรนด์ใหม่ “Hot Deals” เป็นเครื่องหมายการันตีความคุ้ม เอาใจสายประหยัดด้วยการนำเสนอเมนูเด็ดที่ลดราคาเป็นพิเศษจากหลากหลายร้านอาหาร มาพร้อมส่วนลดออนท็อปในทุกช่วงเวลาให้ได้อิ่มคุ้มทั้งวัน

    “เราจะไปบอกให้ร้านค้าลดราคาค่าอาหาร ก็คงเป็นไปไม่ได้ สิ่งที่เราทำคือสนับสนุนร้านเล็กด้วยโปรแกรม Hot Deals ราคาเริ่มต้น 19 บาทเท่านั้น ซึ่งเราคาดว่ากลยุทธ์นี้จะช่วยขยายฐานลูกค้าในต่างจังหวัดและกลุ่มใหม่อย่างนักศึกษาได้”

    3.AI Technology: ในปีที่ผ่านมาแกร็บได้พัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI: Artificial Intelligence) และแมชชีนเลิร์นนิง (ML: Machine Learning) มากกว่า 1,000 โมเดล เพื่อพัฒนาบริการและเสริมประสิทธิภาพ ในการดำเนินธุรกิจทั่วทั้งภูมิภาค

    สำหรับในปีนี้ แกร็บ ประเทศไทย ยังคงนำเทคโนโลยีที่พัฒนาเองเหล่านี้ มาใช้ต่อยอดเชิงกลยุทธ์เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีในการใช้แพลตฟอร์มให้กับผู้ใช้บริการ รวมถึงพาร์ทเนอร์คนขับและร้านค้า อาทิ การนำ AI และ ML มาใช้ปรับปรุงและพัฒนาระบบพิจารณาเครดิตสำหรับการให้สินเชื่อกับพาร์ทเนอร์ หรือการพัฒนา GrabGPT เพื่อเป็นประโยชน์ในการทำคอนเทนต์หรืองานออกแบบภายในองค์กร เป็นต้น

    4.Ads & New Services: แกร็บเตรียมขยายบริการ GrabAds เต็มสูบเพื่อเพิ่มสัดส่วนรายได้จากธุรกิจโฆษณา โดยนอกจากการเจาะตลาดลูกค้าองค์กร โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว สินค้าสุขภาพ-ความงาม และสินค้าอุปโภคบริโภคแล้ว ในปีนี้แกร็บยังเตรียมผลักดัน “Self-serve Ads” เครื่องมือในการโฆษณาสำหรับพาร์ทเนอร์ร้านค้า ที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กสามารถเพิ่มยอดขายจากการทำโฆษณาและแนะนำโปรโมชันกับลูกค้าได้ด้วยตัวเอง โดยมีผลตอบแทนจากการโฆษณา (Return on Ad Spend) เฉลี่ยสูงถึง 6 เท่า

    นอกจากนี้ แกร็บยังวางแผนที่จะพัฒนาและปรับปรุงบริการใหม่ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเรียกรถและเดลิเวอรี่ อาทิ บริการจองการเดินทางล่วงหน้า (Advance Booking) และกินที่ร้าน (Dine-in) ให้มีประสิทธิภาพและตอบโจทย์ผู้ใช้บริการยิ่งขึ้น

    “นอกจากการพัฒนาในด้านธุรกิจแล้ว แกร็บ ประเทศไทย ยังคงยึดมั่นเจตนารมณ์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับผู้คนในสังคมควบคู่ไปกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม โดยในปีนี้เรายังเดินหน้าสานต่อโครงการสำคัญต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โครงการ GrabEV เพื่อผลักดันการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในกลุ่มพาร์ทเนอร์คนขับให้ได้ 10% ภายในปี 2569 โครงการ Carbon Offset ที่ยังคงร่วมปลูกต้นไม้เพื่อชดเชยคาร์บอนจากการใช้บริการ

    “รวมถึงการพัฒนาศักยภาพและส่งเสริมการเข้าถึงโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับพาร์ทเนอร์คนขับและร้านค้า โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิง เพื่อเป้าหมายในการสร้างธุรกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนและร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างอนาคตที่ดีกว่าให้คนไทย” วรฉัตร กล่าวทิ้งท้าย



​​เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : Uber Eats ญี่ปุ่นเปิดตัวพนักงานใหม่ “หุ่นยนต์ส่งอาหาร” พร้อมให้บริการในโตเกียว

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine