"The Great Resignation" งานวิจัยจาก EY เผยกุญแจลับการทำงานร่วมกัน - Forbes Thailand

"The Great Resignation" งานวิจัยจาก EY เผยกุญแจลับการทำงานร่วมกัน

FORBES THAILAND / ADMIN
19 Oct 2021 | 06:04 PM
READ 2758

ผลสำรวจจาก Gallup Poll เผยว่า ลูกจ้างชาวอเมริกันถึงร้อยละ 70 และร้อยละ 85 ทั่วโลกเกลียดงานที่ทำอยู่ ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ "The Great Resignation" ซึ่งจากงานวิจัย EY เผยว่าเหตุผลส่วนมากมาจากเจ้านายของพวกเขา คุณเองก็เป็นหนึ่งในตัวเลขมโหฬารของเหล่าหัวหน้าที่ควรปรับปรุงตัวเองด้วยหรือเปล่า?

ราใช้เวลาส่วนใหญ่กับงานของเรามากกว่าสิ่งอื่นๆ บนโลกนี้ ซึ่งบางแหล่งข่าวเผยด้วยว่าบางทีมากกว่าหนึ่งในสามซะทีเดียว และหากเรารู้สึกเป็นทุกข์กับงาน สามารถส่งผลเสียให้กับชีวิตของเราไม่ใช่น้อย รวมไปถึงเหล่าพนักงานที่ทำงานภายใต้การดูแลของเราอีกด้วย เพื่อหลีกเลี่ยงการตกเป็นเหยื่อของ “The Great Resignation”  ผู้นำธุรกิจในทุกอุตสาหกรรมได้ถูกกระตุ้นให้ปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการทำงานแบบเดิมและวิถีการเป็นผู้นำเสียใหม่

งานวิจัยใหม่เผย ‘กุญแจลับ’

จากการวิจัยพนักงานชาวอเมริกันจำนวน 1,000 ราย เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ที่ผ่านมา  Ernst & Young (EY) เผยว่า ร้อยละ 54 ของพนักงานลาออกจากงานเก่าเพราะว่าหัวหน้าขาดความเห็นอกเห็นใจต่อความยากลำบากในที่ทำงานของพวกเขา และอีกร้อยละ 49 ลาออกเพราะหัวหน้าไม่มีความเห็นใจเรื่องชีวิตส่วนตัวของพวกเขา จากผลสำรวจ สรุปได้ว่าความเห็นอกเห็นใจนั้นอาจจะเป็นกุญแจลับที่จะช่วยทั้งรักษาและเฟ้นหาลูกจ้างในช่วงวิกฤตนี้ แล้วทำไมความเห็นอกเห็นใจถึงได้มีพลังมากขนาดนี้นะ กล่าวสั้นๆ ได้ว่า การยับยั้งมุมมองความคิดของตัวเอง และลองมองโลกจากมุมมองของลูกน้อง จะช่วยทำให้เรามองสิ่งนั้นอย่างเป็นกลางมากขึ้น ปลดปล่อยเราจากกรอบความคิดแคบๆ และหยุดการตัดสินแบบฉับพลัน ทำให้เรามองมุมมองที่ลูกน้องมีในอีกแง่ และทำให้โต้ตอบข้อโต้แย้ง ข้อขัดแย้งต่างๆ และความต้องการด้านการเงิน รวมถึงสุขภาพจิตของลูกน้องได้อ่อนโยนมากขึ้น นำไปสู่ผลตอบรับและทางแก้ปัญหาที่ยุติธรรมมากกว่าเคย ลองนึกภาพว่า คุณกำลังดินเนอร์สุดหรูกับคนพิเศษภายใต้แสงเทียน มีเพลงคลอเบาๆ บทสนทนาก็กำลังไปได้สวย แต่พนักงานเสิร์ฟทั้งลุกล้ำ ใจร้อน แถมยังอารมณ์ฉุนเฉียว คุณจะรู้สึกยังไงกัน? คนส่วนมากคงจะรู้สึกรำคาญ และโมโห แต่หลังจากนั้น ผู้จัดการก็มาบอกกับคุณว่าลูกชายของพนักงานเสิร์ฟคนนั้นพึ่งเสียชีวิตในอุบัติเหตุทางรถยนต์ มิหนำซ้ำเธอเองยังเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ต้องทำงานเลี้ยงดูลูก แล้วตอนนี้ล่ะ คุณรู้สึกอย่างไร? คนส่วนมากก็จะรู้สึกเห็นอกเห็นใจ แล้วอะไรกันที่เปลี่ยนไป? เธอก็ยังทำตัวเหมือนเดิม แต่บางอย่างข้างในคุณเปลี่ยนจากโมโหเป็นเห็นใจ เพราะว่าคุณมองโลกผ่านมุมมองของเธอโดยอัตโนมัติ คุณคงจะรู้สึกใจดีมากกว่าเดิม และคุณก็อาจจะปฏิบัติตัวกับเธอดีขึ้น แม้เธอจะไม่มีความเป็นมืออาชีพเสียเลย ความเห็นอกเห็นใจนี้อาจจะเปลี่ยนแม้กระทั่งกระบวนการการตัดสินใจของคุณ หรืออีกทั้ง บางทีคุณอาจจะให้ทิปเธอก้อนโตแม้ว่าการบริการของเธอไม่ได้ดีนัก 2021 EY Empathy in Business Survey รายงานถึงความเห็นใจนั้นส่งผลต่อผู้นำ ลูกน้อง และนวัตกรรมต่างๆในที่ทำงานอย่างไรบ้าง โดยลูกจ้างรู้สึกว่าบริษัทที่พวกเขาทำงานให้อยู่ดีแต่พูด แต่ไม่เคยทำตามคำพูดนั้นๆ เมื่อดูที่ผลตอบรับของพนักงานเรื่องความเห็นใจและการให้ความสนับสนุนในที่ทำงาน พบได้ว่า: สำหรับเหล่าลูกจ้าง หัวหน้าที่เข้าใจผู้อื่นคือ ผู้ที่โปร่งใส ยุติธรรม และทำตามคำพูด คุณสมบัติที่พนักงานมองหาในหัวหน้าที่เห็นใจผู้อื่นที่สุดมี 5 ประการ ดังนี้:
  • เปิดกว้างและโปร่งใส (41%)
  • ยุติธรรม (37%)
  • ทำตามคำพูด (37%)
  • สนับสนุนให้ผู้อื่นแชร์ความคิดเห็น (36%)
  • ได้รับความไว้วางใจให้รับงานที่ยาก (34%)
Steve Payne รองประธานที่ปรึกษาแห่ง EY America กล่าวว่า “เนื่องด้วยผลกระทบจากโควิด-19 ผู้นำหลายคนก็ตั้งแผนแปลงโมเดลธุรกิจให้เข้ากับวิถี New Normal” และเสริมต่อว่า “จากงานวิจัยของเรา เราพบว่าความเห็นอกเห็นใจไม่ใช่สิ่งที่แค่มีไว้ก็ดี แต่เป็นทั้งกาวและเครื่องเร่งให้กับการเปลี่ยนแปลงในยุคต่อไปของโลกธุรกิจ การที่เราสามารถสร้างความไว้วางใจ และนวัตกรรมใหม่ๆ ได้จากความเห็นอกเห็นใจนี้ เป็นสิ่งที่ไม่มีอะไรมาเทียบได้ และคุณสมบัตินี้ที่เคยถูกมองข้าม ต้องเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในทุกธุรกิจไม่ว่าจะอุตสาหกรรมใดก็ตาม” จากผลสำรวจพบว่า การขาดความเห็นใจในสถานที่ทำงานทำให้พนักงานหลายคนลาออก ซึ่งอาจเป็นหนึ่งในตัวการก่อให้เกิดสิ่งที่เราเรียกว่า “Great Resignation” เกินครึ่ง (ร้อยละ 58) ของพนักงานลาออกจากงานเก่าเนื่องจากรู้สึกว่าหัวหน้าไม่ให้ความสำคัญ อีกเกือบครึ่ง (ร้อยละ 48) ออกจากงานเพราะรู้สึกว่าพวกเขาไม่เหมาะสมกับตรงนั้น  ความยากลำบากในการเข้ากันได้ดีกับเพื่อนร่วมงานก็ส่งผลให้มากกว่า 1​ใน 3 (ร้อยละ 37) เดินออกมาจากองค์กรที่พวกเขาเคยอยู่อีกด้วย 

ผลดีของการเป็นผู้นำที่เห็นอกเห็นใจ

กว่าร้อยละ 89 ของลูกจ้างเห็นพ้องว่า การมีความเห็นอกเห็นใจแก่ผู้อื่นนำไปสู่การเป็นผู้นำที่ดีขึ้น ร้อยละ 88 รู้สึกว่าการเป็นผู้นำที่มีความเห็นใจบันดาลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแง่บวกในที่ทำงาน และร้อยละ 87 กล่าวว่าทำให้เกิดความไว้วางใจซึ่งกันและกันระหว่างหัวหน้าและลูกน้อง นอกเหนือไปจากนั้น ร้อยละ 85 รายงานว่า การที่มีหัวหน้าที่เห็นอกเห็นใจในที่ทำงานทำให้เกิดความกระตือรืนร้นที่จะทำงานอีกด้วย นอกจากจะทำให้ความพึงพอใจของพนักงานดีขึ้นและอัตราการลาออกลดลงแล้ว การให้ความสำคัญต่อสภาพแวดล้อมการทำงานที่มีความเห็นอกเห็นใจต่อกันยังมีผลประโยชน์ด้านธุรกิจที่จับต้องได้อีกด้วย จากผลสำรวจเห็นได้ว่าผลประโยชน์ที่ได้มานั้นมีจำนวนไม่น้อยเลย เหล่าพนักงานเห็นพ้องกันว่าการที่ต่างฝ่ายต่างมีความเห็นอกเห็นใจต่อกันส่งผลให้สิ่งเหล่านี้ดีขึ้น:
  • ความมีประสิทธิภาพ (87%)
  • ความคิดสร้างสรรค์ (87%)
  • นวัตกรรม (86%)
  • รายได้บริษัท (81%)

มองไปข้างหน้า: ปี 2021 แห่งการเริ่มต้นการแสดงความเห็นอกเห็นใจกัน

เห็นได้ชัดว่า สถานการณ์โควิด-19 ก่อให้เกิดความยากลำบากมากมายไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัวหรือการทำงาน การที่เราสามารถเปิดอกคุยกันในที่ทำงานได้นั้นเป็นเรื่องที่สำคัญไม่ใช่เล่น มากกว่า ​8 ใน 10 (ร้อยละ 85) ของพนักงานให้ความสำคัญกับการที่องค์กรสร้างสภาพแวดล้อมที่ให้ค่ากับมุมมองที่หลากหลาย อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 30 ของพนักงานรู้สึกอึดอัดที่จะเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรที่พวกเขาทำอยู่ และอีกร้อยละ 26 รู้สึกอึดอัดที่จะยกประเด็นด้านจริยธรรมขึ้นมา สิ่งที่สามารถทำให้พนักงานรู้สึกสบายใจที่จะเปิดเผยความคิด และสนทนาอย่างเปิดเผยกับหัวหน้างานอันดันต้นๆ ประกอบไปด้วย:
  • มีเวลาพูดคุยแบบตัวต่อตัวเป็นประจำ (45%)
  • เปิดโอกาสให้สามารถแชร์ความคิดเห็นแบบนิรนาม (42%)
  • เข้าร่วมกิจกรรม Team Building (37%)
  • รู้สึกได้ถึงการทำงานใน Safe Space ที่พวกเขาสามารถแชร์ความเห็นได้ (36%)
  • เข้าร่วม Workshop หรือ Training ด้านการสื่อสารเกี่ยวกับการแชร์ความคิดเห็น และสนทนาอย่างเปิดเผย(36%)
“ความสัมพันธ์กับพนักงาน และสร้างบรรยากาศการทำงานที่ให้การสนับสนุนแก่พวกเขานั้นสำคัญกว่าที่เคย องค์กรต่างๆและเหล่าหัวหน้าจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการเห็นใจผู้อื่นเพื่อเสริมสร้างนวัตกรรม การเจริญเติบโต และแปลงโมเดลธุรกิจได้สำเร็จ” Payne ทิ้งท้าย แปลและเรียบเรียงโดย ทัตชญา บุษยากิตติกร จากบทความ New EY Research Reveals The Secret Sauce To ‘The Great Resignation’ เผยแพร่บน Forbes.com อ่านเพิ่มเติม: อรรถนพ พันธุกำเหนิด เสริมเทรนด์อสังหาฯ Medical Center & Resort
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine