บริษัท Sierra Nevada Corp ของ Eren Ozmen ต้องต่อสู้ฟาดฟันมานานหลายปีกว่าจะได้งานมูลค่า 1.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อสร้างเครื่องบินวันสิ้นโลก (Doomsday Plane) รุ่นใหม่รองรับสงครามนิวเคลียร์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ถึงตอนนี้ทั้งชื่อเสียงตัวเธอเองและฐานะการเงินของบริษัทขึ้นอยู่กับว่าเธอจะสามารถเอาชนะความท้าทายใหญ่หลวงทางด้านการบินและดำเนินโครงการที่ทั้งซับซ้อน และลับสุดยอดของรัฐบาลสหรัฐฯ ได้สำเร็จตามกรอบเวลาและงบประมาณที่กำหนดเอาไว้ได้หรือไม่
Eren Ozmen ประธานกรรมการและเจ้าของร่วมของ Sierra Nevada Corp ฉีกยิ้มกว้างพร้อมกับเต้นไปตามจังหวะเพลงป๊อปฟังก์บนเวทีในห้องบอลรูมของโรงแรม Sheraton Denver Downtown Hotel เธอปรบมืออยู่หน้าจอ LED ขนาด 19 ฟุตเพื่อเปิดงาน “Leadership Forum” ประจำปีของ Sierra Nevada และเชียร์ให้พนักงานประมาณ 300 คนที่เข้าร่วมงานในช่วงเช้าของเดือนเมษายน ปี 2024 ลุกขึ้นมาขยับโยกตัวตามจังหวะดนตรี
เพลงที่เล่นอยู่ในตอนนั้นคือเพลง “Happy” ของ Pharrell Williams ซึ่งเข้ากับความรู้สึกของ Ozmen ในขณะนั้นพอดี เพราะช่วงนั้นเป็นช่วงที่เธอมั่นใจเกือบจะเต็มร้อยแล้วว่าบริษัทด้านอากาศยานและการป้องกันประเทศที่เธอและ Faith สามีของเธอร่วมกันซื้อกิจการมาเมื่อปี 1994 จะได้เซ็นสัญญามูลค่ามหาศาลกับกองทัพอากาศสหรัฐเพื่อทำหน้าที่พัฒนาเครื่องบินวันสิ้นโลกรุ่นใหม่ ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นศูนย์บัญชาการกลางอากาศที่สงวนเอาไว้สำหรับให้ผู้นำเหล่าทัพ และผู้นำทางการเมืองระดับสูงใช้ในกรณีที่เกิดสงครามนิวเคลียร์ หรือหายนะภัยอย่างอื่น เช่น อุกกาบาตถล่มโลก
เพียง 22 วันหลังจากงานนั้น SNC ก็ปิดดีลนี้ได้สำเร็จในวันที่ 26 เมษายน ปี 2024 ถ้างั้นปี 2025 ต้องเปลี่ยนเป็นเพลงอะไรถึงจะเข้าธีมล่ะ? Ozmen บอกว่า “ฉันคิดว่าเพลง ‘We are the Champions’”
สัญญาอายุ 12 ปีฉบับนี้มีมูลค่า 1.31 หมื่นล้านเหรียญ ถือเป็นตัวแปรสำคัญที่จะพลิกโฉมสถานะของบริษัทนอกตลาดอย่าง SNC ซึ่งปี 2023 มีรายได้เพียง 2 พันล้านเหรียญขึ้นมา ที่ผ่านมาบริษัทที่มีฐานอยู่ที่ Sparks นอกเมือง Reno ในรัฐ Nevada แห่งนี้ถูกจัดเป็นบริษัทด้านอากาศยานและการป้องกันประเทศระดับกลาง ซึ่งยังห่างชั้นจาก 5 ยักษ์ใหญ่ในวงการนี้อย่าง Lockheed Martin (รายได้ 6.76 หมื่นล้านเหรียญ) และ Northrop Grumman (รายได้ 3.94 หมื่นล้านเหรียญ)
ในขณะเดียวกัน Boeing ซึ่งยอดขายอยู่ที่ 7.78 หมื่นล้านเหรียญสูงกว่า SNC ถึงเกือบ 40 เท่า เป็นตัวเต็งของสัญญานี้เพราะ Boeing เป็นบริษัทที่ออกแบบเครื่องบิน E-4B หรือที่รู้จักกันในนาม “เครื่องบินวันสิ้นโลก” รุ่นปัจจุบันทั้ง 4 ลำตั้งแต่เมื่อทศวรรษที่ 1970 นอกจากนี้ Boeing ยังมีสัญญาซ่อมบำรุงเครื่องทั้ง 4 ลำดังกล่าว ซึ่งมีมูลค่าสัญญาประมาณ 150 ล้านเหรียญต่อปี ในขณะที่คนในวงการมองว่าเครื่องจัมโบ้ 747-8 ที่มี 4 เครื่องยนต์เป็นรุ่นที่เหมาะที่สุดที่จะนำมาพัฒนาเป็นเครื่องบินวันสิ้นโลกรุ่นต่อไป
ไม่ว่าใครก็ตามที่คว้าสัญญานี้ไปได้จะเป็นผู้ทำหน้าที่ปรับแต่งเครื่องบิน Boeing มือสองจำนวนไม่เกิน 8 ลำ ดังนั้น การที่ SNC ได้สัญญานี้ไปจึงถือเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจนิดหน่อย
“การยอมแบกรับความเสี่ยงอย่างชาญฉลาดเป็นเรื่องสำคัญมาก” Ozmen กล่าว นั่นคือสิ่งที่เธอทำจนสามารถแปลงสภาพ SNC ให้เป็นผู้รับเหมางานด้านการป้องกันประเทศรายใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ ที่มีเจ้าของเป็นผู้หญิง “นั่นถือเป็นส่วนสำคัญของการเป็นผู้ประกอบการ เพราะไม่เช่นนั้นคุณก็เพียงตามแห่ไปกับสิ่งที่เกิดขึ้นเท่านั้น คุณไม่ได้เป็นผู้นำ” Ozmen กล่าวเสริม
สัญญาพัฒนาเครื่องบินวันสิ้นโลกหรือที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า โครงการ Survivable Airborne Operations Center ถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งยวดทั้งในเชิงเทคนิคและการบริหารจัดการของ SNC เพราะกว่าจะชิงสัญญานี้มาจาก Boeing ได้ Ozmen ต้องยอมทำสิ่งละอันพันละน้อยของโครงการนี้ที่ราคาคงที่ และต้องยอมแบกภาระต้นทุนที่อาจจะสูงเกินงบเอาไว้เอง
ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ทำได้ยากสำหรับบริษัทที่ตั้งเป้าเอาไว้สูงอย่าง SNC เพราะทั้งหมดนี้มันก็คือการสำรองเงินที่ทำให้งบดุลของ Boeing เกิดรูรั่วถึง 2 พันล้านเหรียญ (และยังขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ) จากการพัฒนาเครื่องบิน Air Force One รุ่นใหม่สำหรับประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ล่าช้าออกไปจากกำหนดการเดิมอย่างมาก อย่างไรก็ตามสัญญาของ SNC ต่างกับสัญญาเก่าของ Boeing เพราะโครงสร้างราคาที่ตายตัวของ SNC จะจำกัดอยู่เฉพาะในช่วงของการผลิตเท่านั้น ซึ่งหมายความว่า บริษัทน่าจะไม่ต้องแบกรับต้นทุนที่อยู่เหนือความคาดหมายในช่วงของการออกแบบซึ่งมีความไม่แน่นอนมากกว่า
“เจ้าเดิม” ซึ่งในที่นี้หมายถึง Boeing คู่แข่งเพียงรายเดียวที่ยื่นประมูลแข่งในโครงการนี้ “ไม่ค่อยสนใจที่จะพัฒนานวัตกรรม ลดต้นทุน หรือปรับลดระยะเวลาการส่งมอบ” Ozmen กล่าว และ เสริมว่า “เราเป็นที่รู้จักในวงการนี้ว่าเป็นนวัตกรที่ทำลายล้างของเก่า ซึ่งฉันคิดว่ามันเป็นเหตุที่ทำให้เราคว้าสัญญานี้มาได้”
นอกจากนี้ SNC ยังได้อานิสงส์จากเรื่องของจังหวะเวลาด้วย เพราะในขณะที่ Boeing ต้องปวดหัวกับสัญญาของเครื่องบินพาณิชย์รุ่น 737s แล้ว ทางบริษัทยังถูกรุมเร้าด้วยหลากหลายสัญญาด้านการป้องกันประเทศซึ่งกลายมาเป็นหลุมดูดเงินของบริษัทไป ดังนั้น บริษัท Boeing ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ Arlington รัฐ Virginia จึงไม่มีอารมณ์จะมาประมูลแข่งในสัญญานี้แบบจริงจังมากนัก
“ถ้าคุณแพ้ประมูลสัญญาที่จะทำให้คุณเสียเงินนั่นแปลว่า จริงๆ แล้วคุณชนะต่างหาก” Nicholas Ownes นักวิเคราะห์ด้านการบินและอวกาศของ Morningstart พูดถึง Boeing และเสริมว่า “ถ้าผมสามารถสร้างเครื่องบินวันสิ้นโลกให้กับกองทัพอากาศได้ดีมากๆ แล้วผมจะได้อะไรเหรอ? อาจจะถูกจ้างให้สร้างเพิ่มอีก 4 ลำ แต่มันก็แค่นั้นไหม ไม่มีใครมาซื้อของพรรค์นี้อีกหรอก มันไม่ใช่ว่า Jeff Bezos จะซื้อมันไปใช้สักหน่อย เชื่อผมได้เลย”
แต่โครงการเครื่องบินวันสิ้นโลกจะช่วยยกระดับฐานะและช่วยสร้างรากฐานที่แข็งแรงให้กับบริษัทที่ Ozmen กับสามีของเธอร่วมกันสร้างขึ้นมา ซึ่งปัจจุบันมีอายุ 66 ปีทั้งคู่ โดยทั้งสองถือหุ้น SNC ร่วมกัน 87% (Eren ถือหุ้นมากกว่าสามีเล็กน้อย) ในขณะที่มูลค่ากิจการของ SNC อยู่ที่ 7.8 พันล้านเหรียญ
เรื่อง: Monica Hunter-Hart, เรียบเรียง: พิษณุ พรหมจรรยา, ภาพ: Cody Pickens
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ตลาด ‘เครื่องบินส่วนตัว’ โตแรง! MJets ทุ่มลงทุนในบริษัทสิงคโปร์ ตั้งเป้าขยายธุรกิจขึ้นแท่นผู้นำในเอเชีย