Pierre Chen มหาเศรษฐีเทคโนโลยีไต้หวัน หนึ่งในนักสะสมงานศิลปะชั้นนำของเอเชีย - Forbes Thailand

Pierre Chen มหาเศรษฐีเทคโนโลยีไต้หวัน หนึ่งในนักสะสมงานศิลปะชั้นนำของเอเชีย

FORBES THAILAND / ADMIN
06 Jul 2021 | 06:30 PM
READ 4990

Pierre Chen ประสบความสำเร็จในฐานะวิศวกรผู้เก่งกาจ นักธุรกิจระดับโลก และนักสะสมงานศิลปะชิ้นเอกของ Francis Bacon, Pablo Picasso และ Peter Doig 

Pierre Chen
Pierre Chen มหาเศรษฐีเทคโนโลยีไต้หวัน หนึ่งในนักสะสมงานศิลปะชั้นนำของเอเชีย
ล่าสุด เขากำลังขยายอาณาจักรอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งช่วยให้เขามีทรัพย์สินเพิ่มสูงขึ้น 5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ จากการจัดอันดับทำเนียบมหาเศรษฐีแบบเรียลไทม์ของ Forbes ประจำวันที่ 1 กรกฎาคม และก้าวขึ้นเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดอันดับ 4 ของไต้หวัน หลังนำ Yageo เข้าซื้อกิจการ Chilisin Electronics ในไต้หวันที่มูลค่า 1 พันล้านเหรียญ เพื่อขยายธุรกิจตัวเก็บประจุ นอกจากนี้ ในเดือนเมษายน Yageo ได้เปิดเผยถึงแผนการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับ Hon Hai Technology Group ของ Terry Gou มหาเศรษฐีชาวไต้หวัน เพื่อสร้างเซมิคอนดักเตอร์  ปัจจุบัน Yageo มีมูลค่าตามราคาตลาดอยู่ที่เกือบ 10 พันล้านเหรียญ ขณะที่ Hon Hai เป็นหนึ่งในผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ที่สุดของโลกและเป็นซัพพลายเออร์ของ Apple ที่มีมูลค่าตามราคาตลาดอยู่ที่ 4.1 หมื่นล้านเหรียญ ขณะที่ XSemi บริษัทแห่งใหม่ ซึ่งตั้งอยู่ใน Hsinchu ศูนย์กลางเทคโนโลยีของไต้หวัน ผลิตชิปขายที่ราคาต่ำกว่า 2 เหรียญ “อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 3 ทศวรรษที่ผ่านมา” Young Liu ประธาน Hon Hai Technology Group กล่าวในแถลงการณ์ “ตอนนี้จึงเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการเริ่มต้นความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ในส่วนต่างๆ” ทว่าความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ธุรกิจนั้นมีนอกเหนือจากการผลิตชิป เห็นได้จากเมื่อปีที่แล้วที่ได้มีการผนึกกำลังพันธมิตรเชิงกลยุทธ์เพื่อรวมความสามารถในการวิจัยและพัฒนาทรัพยากรของทั้ง 2 องค์กร “เราสามารถใช้ประโยชน์จากกันและกันได้”  Chen กล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์เมื่อเดือนพฤษภาคม  โดยทั้ง 2 บริษัทมีความชำนาญด้านการผลิต เทคโนโลยี และการวิจัย อีกทั้ง Yageo มีช่องทางการจัดจำหน่ายทั่วโลก และมีบริษัทในเครืออีก 4 แห่งที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ได้แก่ Kaimei Electronics, Tong Hsing Electronic, Global Testing และ Chilisin Electronics ไม่นานมานี้ Hon Hai และ Chilisin ของ Chen ได้ย้ายโรงงานการผลิตตามข้อตกลงล่าสุด เพื่อขยายการเข้าถึงไปยังทั่วโลก ขณะที่ความสำเร็จของ Yageo ในการเข้าซื้อกิจการ Kemet ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในสหรัฐฯ มูลค่า 1.8 พันล้านเหรียญเมื่อปีที่แล้ว มีส่วนช่วยในการขยายฐานลูกค้าของบริษัทไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์  นอกจากนี้ ในปี 2019 Yageo ยังได้เข้าซื้อ Pulse ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในสหรัฐฯ ที่ 740 ล้านเหรียญ และปีที่แล้วได้ลงทุนอีก 10 ล้านเหรียญในบริษัทสตาร์ทอัพรถยนต์ไฟฟ้าที่มีสำนักงานใหญ่ในลอสแองเจลิสด้วย เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้าเริ่มได้รับความสนใจมากกว่าที่เคย สังเกตจากการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นของหุ้น Tesla และการเสนอขายหุ้น IPO ของจีนที่มีมูลค่าสูง เช่น Li Auto และ XPeng ซึ่งทำให้ Chen มองเห็นอนาคตที่สดใสในธุรกิจประเภทนี้ “แน่นอนว่า EV กำลังจะเปลี่ยนอุตสาหกรรมรถยนต์และยานยนต์รุ่นเก่า แม้ EV และยานยนต์ไร้คนขับจะยังไม่ผ่านมาตรฐานอุตสาหกรรม แต่คุณสามารถเห็นแนวคิดใหม่มากมาย เรารู้ว่านี่คือแนวโน้มของตลาดในอุตสาหกรรมนี้” Chen กล่าวในการให้สัมภาษณ์เมื่อปีที่แล้ว “ผมไม่ต้องการให้ EV กลายเป็นโมเดลธุรกิจที่เติบโตเต็มที่หรือประสบความสำเร็จก่อนที่ Yageo จะเข้าสู่อุตสาหกรรม เราจำเป็นต้องเริ่มจากการเข้าใจรูปแบบและข้อกำหนดต่างๆ เพราะผมไม่ใช่ผู้เล่นในตลาด EV แต่เป็นผู้จัดหาส่วนประกอบและโซลูชันที่สำคัญ” 
Pierre Chen
Terry Gou มหาเศรษฐีชาวไต้หวัน ผู้ก่อตั้ง Hon Hai Technology หรือที่รู้จักในชื่อทางการค้าว่า "Foxconn"
ในทำนองเดียวกัน Hon Hai ก็หันมาให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อสร้างการเติบโตให้กับบริษัท ซึ่งล่าสุดในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาก็ได้ร่วมมือกับ Fisker จากสหรัฐอเมริกาเพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ด้วยเหตุนี้ ผู้ลงทุนใน Yageo จึงได้รับประโยชน์โดยถ้วยหน้า เมื่อ Chen สามารถสร้างผลกำไรจากการขยายธุรกิจ ดังจะเห็นได้จากยอดขายของ Yageo ในปีที่แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 63 เป็น 2.4 พันล้านเหรียญ ขณะที่กำไรสุทธิท่ามกลางการระบาดใหญ่ทั่วโลกเพิ่มขึ้นร้อยละ 87 เป็น 848 ล้านเหรียญ และคาดว่าปีนี้จะเติบโตได้ดียิ่งขึ้นไปอีก  โดยในไตรมาสแรกของปี 2021 มียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 136 จากปีก่อนหน้าเป็น 465 ล้านเหรียญ และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 179 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้นร้อยละ 113.8 จากช่วงเดียวกัน  ด้านมูลค่าหุ้นที่ซื้อขายในไทเปของ Yageo ก็เพิ่มขึ้นร้อยละ 48 ในปีที่ผ่านมา ซึ่งทาง Sino-Pac Investment Service คาดการณ์ว่าจะมีโอกาสในการระดมทุนสูงขึ้นกว่าร้อยละ 20 ทั้งนี้ Chen ไม่ได้เติบโตมาจากคครอบครัวที่พร้อมสนับสนุนเงินหลายล้านเหรียญให้กับการลงทุนในธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์หรือสะสมงานศิลปะ หากแต่เป็นครอบครัวชนชั้นแรงงานในเมือง Kaohsiung ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นศูนย์กลางการผลิตของไต้หวัน ในยุครุ่งเรืองทางการค้า มีท่าเรือที่คึกคักถึง 10 แห่งของโลก  โดยอะพาร์ตเมนต์ขนาด 140 ตารางเมตรในวัยเด็กของเขา ซึ่งอัดแน่นด้วยสมาชิกครอบครัวทั้งหมด 8 คน ตั้งอยู่ในส่วนหนึ่งของเมืองที่อาคารต่างๆ ในปัจจุบันมีสภาพภายนอกที่เป็นคอนกรีตสีซีดและมีหน้าต่างเป็นรั้ว อยู่ติดกับแม่น้ำเลิฟ ซึ่งเป็นแม่น้ำที่ปนเปื้อนด้วยมลพิษจากอุตสาหกรรมจนไม่สามารถใช้อุปโภคบริโภคได้ อย่างไรก็ดี Chen ก็ได้มีโอกาสรับแนวคิดเกี่ยวกับการออกแบบและศิลปะโดยคุณยายผู้รักอิสระซึ่งทิ้งสามีที่เจ้าชู้และผู้เป็นแม่ ซึ่งสอนการออกแบบเครื่องนุ่งห่ม “แกลเลอรีก็เหมือนร้านหนังสือสำหรับผม” เพราะทั้งคู่ต่างเปิดห้องให้จินตนาการได้ Chen กล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์ในปี 2015 “เมื่อผมมีเวลาว่าง ผมจะออกไป 2 แห่งนี้ ซึ่งก็คือ ร้านหนังสือและแกลเลอรี่”  โดยกำไรที่เขาได้รับจาก Yageo ได้มีส่วนช่วยในการขยายรสนิยมในงานสะสม “ผมเริ่มต้นบริษัทจากภายในประเทศ ค่อยๆ กลายเป็นบริษัทระดับภูมิภาค และในที่สุดก็เป็นบริษัทระดับโลก ซึ่งทำให้ผมมีโอกาสมากขึ้นที่จะเชื่อมต่อกับโลกตะวันตก” ในที่นี้ แม้ Chen จะกล่าวว่าแนวทางในการทำธุรกิจและการสะสมของเขาจะแตกต่างกัน แต่เส้นทางของเขาทั้ง 2 เส้นก็มีความคล้ายคลึงกัน โดย Chen เริ่มต้นจากการผลิตในท้องถิ่นก่อนที่จะขยายความสนใจไปยังต่างประเทศ  ปัจจุบัน Yageo มีศูนย์การออกแบบและ R&D 15 แห่ง และโรงงานผลิต 42 แห่งทั่วโลก “ผมเป็นคนอยากรู้อยากเห็นมาก ผมชอบสิ่งใหม่และน่าตื่นเต้น” เขากล่าวกับ Forbes ในปี 2015 ถึงการลงทุนที่ล้นหลามเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าความหลงใหลของเขาไม่ได้ลดลงเลย แปลและเรียบเรียงโดย ชญาน์นัทช์ ธนินท์พงศ์ภัค จากบทความ Man On The Move: Latest Acquisition Underscores Taiwan Tech Billionaire Pierre Chen’s Global Ambitions เผยแพร่บน Forbes.com อ่านเพิ่มเติม: Google ขาย AI มูลค่า 2.5 ล้านเหรียญฯ ให้เพนตากอนใช้ในสถานการณ์โควิด-19