นายธนาคารไร้พรมแดน - Forbes Thailand

นายธนาคารไร้พรมแดน

FORBES THAILAND / ADMIN
08 Feb 2023 | 08:30 AM
READ 3194

แม้ว่าบรรดาแหล่งธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture Capital) จะยังไม่ค่อยมั่นใจ แต่สองหนุ่มวัย 20 กว่าๆ จากประเทศยูกันดาและกานา เชื่อแน่ว่าพวกเขาจะสามารถทำเงินได้มหาศาลจากการนำบริการโอนเงินข้ามประเทศมาให้ประชากร 1.4 พันล้านคนในทวีปแอฟริกาได้ใช้ ซึ่งในปัจจุบันด้วยฐานผู้ใช้บริการเพียง 5 ล้านคนก็ดันมูลค่าประเมิน Chipper Cash ของพวกเขาไปถึง 2.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ แล้ว ทั้งที่กิจการของพวกเขาเพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้น

 

    ช่วงฤดูร้อนของปี 2018 Ham Serunjogi ผู้อพยพชาวยูกันดาอายุ 24 ปี ได้นำไอเดียธุรกิจของเขาไปเสนอ VC แห่งหนึ่งใน Palo Alto โดยเขาได้อธิบายว่า Chipper Cash ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพฟินเทคของพวกเขาจะทำให้ผู้บริโภคในทวีปแอฟริกาสามารถส่งเงินข้ามพรมแดนให้กันได้ในราคาที่ถูกกว่าและง่ายกว่าการโอนเงินผ่านระบบธนาคารแบบโบราณหรืออาจเปรียบเทียบได้ว่าเป็น Venmo สำหรับทวีปแอฟริกา

    การระดมทุนรอบล่าสุดในเดือนพฤศจิกายน ปี 2021 Chipper Cash สามารถระดมทุนจากกลุ่ม VC ชั้นนำมาได้ถึง 300 ล้านเหรียญและได้รับการประเมินมูลค่ากิจการอยู่ที่ 2.2 พันล้านเหรียญ 

    ทั้งนี้ Serunjogi และ Maijid Moujaled ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งต่างถือหุ้นของ Chipper คนละประมาณ 10% ตีเป็นเม็ดเงินได้ไม่น้อยกว่า 200 ล้านเหรียญ โดยสำนักงานใหญ่ของ Chipper ตั้งอยู่ที่ San Francisco และมีพนักงานจำนวน 1 ใน 5 ของพนักงานทั้งหมด 350 คนนั่งทำงานอยู่

    Sheel Mohnot อดีตพาร์ตเนอร์ของ 500 Startups ซึ่งเป็นผู้ลงทุนกลุ่มแรกที่ใส่เงินลงทุนเข้ามาใน Chipper Cash เล่าว่า ในช่วงแรกนักลงทุนยังไม่มีความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในแอฟริกา แต่ปัจจุบันสถานการณ์ได้เปลี่ยนไปแล้ว ซึ่งจากข้อมูลของ CB Insights บรรดา VC พากันเข้ามาลงทุนในบริษัทฟินเทคของแอฟริกามากถึง 1.5 พันล้านเหรียญในปี 2021 เพิ่มขึ้นจากปี 2020 ถึง 7 เท่า

    ปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนใช้บัญชีกระเป๋าเงินบนโทรศัพท์มือถืออยู่ในพื้นที่ของทวีปแอฟริกาช่วงที่อยู่ใต้ทะเลทรายซาฮาร่าลงมามากถึง 605 ล้านบัญชี เพิ่มขึ้นจาก 469 ล้านบัญชีในปี 2018 

    การมีบัญชีดังกล่าวทำให้ผู้ใช้บริการสามารถส่งเงินสดหากันได้ผ่านทางการส่งข้อความทางโทรศัพท์มือถือ และยังทำให้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ศักยภาพของแอปทางการเงินสำหรับผู้บริโภคที่ก้าวหน้ามากขึ้น

    หลังจากก่อตั้งมาได้ 4 ปี Chipper Cash มีผู้ลงทะเบียนใช้บริการแล้ว 5 ล้านรายกระจายอยู่ใน 7 ประเทศ ซึ่งรวมถึงประเทศยูกันดา กานา และไนจีเรีย 

    ทั้งนี้บริการของบริษัทไม่ได้จำกัดอยู่แค่การโอนเงินด้วยต้นทุนที่ต่ำเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงการชำระบิลต่างๆ การซื้อขายสกุลเงินคริปโตและยังสามารถซื้อหุ้นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้ด้วย หากไม่รวมธุรกรรมการซื้อขายคริปโตบริษัทมีรายได้ในปี 2021 สูงถึงกว่า 75 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 18 ล้านเหรียญในปี 2020 นอกจากนี้ Chipper Cash ยังเป็นหนึ่งในไม่กี่บริษัทที่ได้เพิ่มเข้ามาอยู่ในทำเนียบ Fintech 50 ของ Forbes ในปีนี้

    Serunjogi เริ่มปิ๊งไอเดียเกี่ยวกับ Chipper Cash มาตั้งแต่สมัยที่ยังเรียนอยู่ในระดับมัธยมปลาย เขามองเห็นปัญหาที่พ่อของเขาต้องประสบจากการพยายามโอนเงินผ่านระบบธนาคารของแอฟริกาที่ทั้งไม่ยืดหยุ่นและไม่มีประสิทธิภาพ 

Ham Serunjogi เจ้าของไอเดียแอปพลิเคชันสำหรับการโอนเงิน Chipper Cash

    ในช่วงวัยเด็กครอบครัวของ Serunjogi อาศัยอยู่ที่เมือง Gayaza ซึ่งห่างจาก Kampala เมืองหลวงของประเทศยูกันดา 10 ไมล์ พ่อแม่ของเขาเป็นเจ้าของฟาร์ม ขณะเดียวกันพ่อของเขายังทำกิจการไอทีที่ช่วยพัฒนาระบบโครงข่ายให้กับธุรกิจในประเทศด้วย 

    ถึงแม้ไม่ได้มีฐานะร่ำรวยมากนักแต่ครอบครัวก็ยังส่ง Serunjogi กับพี่ชาย 2 คนเข้าไปเรียนในโรงเรียนมัธยมปลายเอกชน และให้เข้าร่วมชมรมว่ายน้ำของโรงเรียน 

    เมื่อปี 2010 Serunjogi ซึ่งในตอนนั้นอายุ 16 ปี ผ่านการคัดเลือกให้เข้าไปอยู่ในทีมนักว่ายน้ำเยาวชนโอลิมปิกของประเทศยูกันดา ตอนนั้นเองที่พ่อของเขาเจอปัญหาเรื่องการโอนเงินผ่านธนาคารซึ่งทำให้ต้องถือเงินสดใส่ซองขึ้นเครื่องบินไปที่ประเทศแอฟริกาใต้ด้วยตัวเองเพื่อไปจ่ายเงินให้โค้ชว่ายน้ำของลูกชายที่กำลังเก็บตัวฝึกอยู่ที่นั่น

    หลังจากเรียนจบมัธยมปลาย Serunjogi ตามพี่ชายไปเรียนที่ Grinnell ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเล็กๆ ในรัฐ Iowa ที่เด่นดังทางด้านวิชาการ ทั้งเขาและพี่ชายได้อยู่ในทีมนักกีฬาว่ายน้ำของมหาวิทยาลัย 

    นอกจากนี้ ในช่วงที่เรียนที่ Grinnell เขาได้เป็นเพื่อนกับ Moujaled นักศึกษาชาวกานาที่เรียนเอกวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มกลุ่มเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เป็นที่นิยมในหมู่นักศึกษาในเวลานั้น 

    เมื่อรู้จักกันแล้วทั้งสองต่างพูดคุยกันถึงไอเดียการพัฒนาแอปโอนเงินในแอฟริกา แต่ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้นได้พวกเขาจำเป็นต้องมีประสบการณ์ของโลกการทำงานจริงในแวดวงเทคโนโลยีเสียก่อน และพวกเขาจำเป็นต้องขอวีซ่าเพื่อให้สามารถทำงานได้ด้วย 

    ดังนั้น ในช่วงที่เขาเรียนอยู่ปี 3 Serunjogi จึงได้ลองส่งอีเมลไปหา Mark Zuckerberg และ Sheryl Sandberg ซึ่งทำให้เขาได้เข้าไปฝึกงานที่ Facebook และต่อมาก็ได้เข้าทำงานประจำาที่ Dublin หลังจากจบการศึกษาในปี 2016

    เมื่อถึงฤดูใบไม้ผลิปี 2018 Serunjogi ส่งข้อความไปหา Moujaled ซึ่งตอนนั้นทำงานเป็นวิศวกรซอฟต์แวร์อยู่ที่ San Francisco โดยบอกว่า ถึงเวลาที่จะต้องเริ่มเดินหน้าตามแผนที่วางกันไว้แล้ว จากนั้น Serunjogi จึงลาออกจากงานแล้วย้ายมาพักอยู่ที่ห้องเช่าแบบสตูดิโอของ Moujaled โดยอาศัยนอนบนฟูกเป่าลมในส่วนที่เป็นครัวเล็กๆ ภายในห้อง 

Maijid Moujaled และ Ham Serunjogi สองคู่หู ผู้ร่วมก่อตั้งแอปพลิเคชันโอนเงิน Chipper Cash

    ทั้งสองใช้เงินเก็บที่มีรวมกันไม่ถึง 30,000 เหรียญ และเงินเดือนที่ Moujaled ยังได้รับอยู่เป็นเงินทุนตั้งต้น โดยพวกเขาเริ่มเปิดตัวแอปเวอร์ชั่นทดสอบระบบในเดือนกรกฎาคม ปี 2018 ซึ่งเปิดให้ลูกค้าสามารถส่งเงินข้ามประเทศระหว่างยูกันดาและกานาได้ฟรี

    ทั้งคู่ต่างช่วยกันไปเร่ขายไอเดียแอปของพวกเขาให้แก่บริษัท VC กว่า 50 แห่ง จนกระทั่งในเดือนพฤศจิกายน ปี 2018 บริษัท 500 Startups ตกลงที่จะร่วมลงทุนกับพวกเขา 150,000 เหรียญ ซึ่งเมื่อ Serunjogi บอกว่า ช่วงนี้เงินขาดมืออย่างหนักและใกล้จะผิดนัดจ่ายค่าเช่าแล้ว Mohnot จึงได้โอนเงินมาให้ Chipper ล่วงหน้าก่อนถึง 40,000 เหรียญทั้งๆ ที่ยังไม่ได้เซ็นเอกสารสัญญาอะไรกันเลย และนั่นทำให้ Serunjogi พูดว่า “ผมจะสำนึกในบุญคุณครั้งนั้นของเขาอย่างไม่มีวันลืม”

    แอปที่ใช้งานง่าย แถมยังฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายอย่าง Chipper ถือเป็นพัฒนาการที่ล้ำหน้ากว่าทางเลือกอื่นที่มีอยู่ในตอนนั้นเป็นอย่างมาก ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ M-Pesa ของประเทศเคนยาซึ่งเปิดให้บริการในปี 2017 โดยคิดค่าธรรมเนียมการโอนเงินภายในประเทศ 1-2%

    พอถึงกลางปี 2019 Chipper Cash ได้เปิดให้บริการในประเทศยูกันดา กานา เคนยา และรวันดา หลังจากนั้นไม่นานก็ขยายไปถึงประเทศไนจีเรีย ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในทวีปแอฟริกาที่มีประชากรถึง 200 ล้านคน และเมื่อถึงสิ้นปี 2019 ก็มีลูกค้าใช้บริการถึง 600,000 คน 

    นอกจากนี้ Chipper Cash ยังเริ่มสร้างรายได้ด้วยการคิดค่าธรรมเนียมจากการแลกเปลี่ยนสกุลเงินที่อัตราระหว่าง 2-5% และเมื่อบิตคอยน์พุ่งทะยานจาก 14,000 เหรียญเป็น 20,000 เหรียญในฤดูใบไม้ร่วงปี 2020 Chipper ก็เปิดให้ผู้ใช้บริการซื้อขายบิตคอยน์และอีเธอร์ได้ ซึ่งถือเป็นการเปิดสายธุรกิจที่ 2 ที่ทำเงินให้บริษัทอย่างงามจากค่าธรรมเนียมในการซื้อขาย 

    ทั้งนี้ จากการระดมทุนรอบล่าสุดในปลายปี 2021 ซึ่งมีบริษัทการลงทุนระดับแนวหน้าอย่างเช่น FTX ของ Sam Bankman-Fried, Ribbit Capital และ Bezos Expeditions ร่วมใส่เงินลงทุนเข้ามาด้วยนั้น มีการตีมูลค่ากิจการ Chipper ไว้ที่ 2.2 พันล้านเหรียญ โดยธุรกรรมของ Chipper เพิ่มขึ้นจาก 200 ล้านเหรียญในไตรมาสแรกของปี 2021 เป็น 1.6 พันล้านเหรียญในอีก 12 เดือนต่อมา

    อย่างไรก็ตามการเติบโตที่น่าตื่นเต้นนั้นมาพร้อมกับความท้าทายที่มีเดิมพันสูงยิ่งขึ้น ซึ่งหนึ่งในความท้าทายที่ว่าก็คือ เรื่องของสภาพคล่อง โดย Chipper จำเป็นต้องดูแลให้มีเงินทุนเพียงพอในแต่ละประเทศเพื่อรองรับการโอนเงินแบบทันที เพราะเมื่อไรที่มีเงินทุนไม่พอขึ้นมา ระยะเวลาในการทำธุรกรรมอาจจะล่าช้าออกไปเป็น 1 วันเต็มๆ หรืออาจจะนานกว่านั้นอีกก็ได้ 

    แต่ปัญหานี้เงินแก้ไขได้ ทว่าความท้าทายที่ใหญ่กว่านั้นก็คือ เรื่องของคู่แข่งอย่าง Wave ซึ่งเป็นกิจการสตาร์ทอัพของประเทศเซเนกัลก็ให้บริการที่คล้ายคลึงกัน (ซึ่งจนถึงขณะนี้บริการของ Wave ยังครอบคลุมคนละประเทศกับ Chipper อยู่) และในปีที่แล้วก็รับการประเมินมูลค่ากิจการที่ 1.7 พันล้านเหรียญ 

    ขณะเดียวกันถึงแม้ว่าบริษัทส่งเงินข้ามชาติอื่นๆ อย่างเช่น Remitly และ Wise จะยังไม่ได้เปิดให้บริการรับส่งเงินจากประเทศหนึ่งในแอฟริกาไปยังอีกประเทศในทวีปเดียวกัน แต่ก็ไม่ได้มีข้อจำกัดอะไรที่ห้ามไม่ให้พวกเขาโดดเข้ามาร่วมวงแข่งขันในตลาดด้วย

    สำหรับ Serunjogi ณ ตอนนี้ เขามุ่งความสนใจไปที่การรักษาอัตราการเติบโตของ Chipper ให้อยู่ในระดับสูง พร้อมกับการสร้างผลกำไรและช่วยเหลือชาวแอฟริกันไปพร้อมๆ กัน เขาบอกว่า ลูกค้าจะได้ประโยชน์เมื่อพวกเขาสามารถโยกเงินไปมาได้ง่าย และมีวิธีใหม่ๆ ในการลงทุนเพื่อสร้างความร่ำรวย “ผมเป็นคนที่เชื่อเต็มที่ว่าการเป็นผู้ประกอบการและทุนนิยมมีบทบาทสำคัญในการทำให้ผู้คนที่อาศัยอยู่ในประเทศกำลังพัฒนามีชีวิตที่ดีขึ้น”


เรื่อง: Jeff Kauflin เรียบเรียง: พิษณุ พรหมจรรยา
ภาพ: Ethan Pines, ETHAN PINES

อ่านเพิ่มเติม:

>> ธุรกิจไม่โปร่งใส ฉุดรายได้ Gautam Adani ร่วง "อันดับ 3 มหาเศรษฐีโลก”

>> เบื้องหลังการจับมือระหว่าง Bill Gates และ Melinda อดีตภรรยา ผ่าน Gates Foundation


คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมกราคม 2566 ในรูปแบบ e-magazine