เมื่อปี 2021 Ryan Petersen ซีอีโอแห่ง Flexport แจ้งเกิดในวงการโซลูชันห่วงโซ่อุปทานด้วยความกล้าคิดนอก “ตู้คอนเทนเนอร์” ในเวลานี้ธุรกิจสตาร์ทอัพมูลค่า 8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ของเขาจะต้องพิสูจน์ให้เห็นว่า พวกเขาเป็นมากกว่าคำโฆษณาจาก Silicon Valley
เรือเฟอร์รี่มุ่งหน้าสู่ San Francisco กำลังเตรียมตัวออกจากท่าเรือที่ Oakland โดยมี Ryan Petersen ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ Flexport สังเกตการณ์รถเครนความสูง 370 ฟุต ใช้ตะขอเกี่ยวตู้สินค้าขนส่งทีละหลังขึ้นสู่ดาดฟ้าเรือ Ryan Petersen หลงรักภาพที่เห็นตรงหน้า ตู้สินค้าสี่เหลี่ยมสีน้ำเงินเปื้อนคราบสนิมสีแดงซ้อนกันเป็นกองสูงอยู่บนเรือขนาด Post Panamax มุ่งหน้าสู่เมือง Yokohama ประเทศญี่ปุ่น นกเป็ดน้ำบินผ่านมาเป็นระยะๆ “ผมน่าจะมีแว่นโฮโลเลนส์ไว้ส่องดูว่าตู้สินค้าไหนที่เป็นของ Flexport” Petersen กล่าว เขาหมายถึงแว่นตาเสมือนจริงที่มีคุณสมบัติเอ็กซ์เรย์ของ Microsoft “ผมรับประกันได้เลยว่าบนเรือสินค้าทุกลำที่เดินทางไปยังชายฝั่งตะวันตกจะต้องมีตู้สินค้าของเรา” ฟังดูเหมือนคำคุย แต่สำหรับ Petersen วัย 41 ปีแล้วมันก็แค่คณิตศาสตร์ง่ายๆ Flexport ไม่มีรถไฟ เครื่องบิน หรือเรือเป็นของตัวเอง แต่พวกเขาเป็นผู้เล่นที่เติบโตเร็วที่สุดรายหนึ่งในธุรกิจตัวแทนผู้ประสานงานการขนส่งสินค้าทางดิจิทัล บริษัทของ Petersen ก่อตั้งขึ้นมาได้เพียง 8 ปี แต่ในเวลานี้ครองตำแหน่งผู้ซื้อห้องเก็บสินค้ารายใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลกบนเส้นทางทรานส์แปซิฟิกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว กล่าวคือ เรือทุกลำที่มุ่งหน้าเข้าสู่ทวีปเอเชียจะต้องมีตู้สินค้าอย่างน้อย 1-2 ตู้ที่บรรทุกอัลมอนด์จาก California หรือชิ้นส่วนยานยนต์ซึ่งบรรทุกผ่านซอฟต์แวร์ของ Flexport ธุรกิจขนส่งสินค้าคือโอกาสขนาดมหึมา ข้อมูลจากบริษัทที่ปรึกษา Armstrong & Associates ระบุว่า ค่าใช้จ่ายด้านโลจิสติกส์ทั่วโลกแตะระดับ 9 ล้านล้านเหรียญในปี 2020 หรือคิดเป็น 11% ของ GDP โลก ขณะที่ธุรกิจบริการโลจิสติกส์จากผู้ให้บริการภายนอกมีมูลค่าเกือบ 1 ล้านล้านเหรียญ เฉพาะในสหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่า 2.3 แสนล้านเหรียญ หรือ 14% ของ GDP ขณะที่ความต้องการยังสูงเป็นประวัติการณ์ ข้อมูลจาก Euler Hermes บริษัทย่อยของ Allianz เผยว่า ปริมาณการซื้อขายสินค้าทั่วโลกเพิ่มขึ้น 8.3% ในปี 2021 โดยในฤดูใบไม้ร่วงที่ผ่านมาชาวอเมริกันจับจ่ายซื้อสินค้ามากกว่าเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2020 ถึง 20% แต่อุปทานไม่สามารถเติบโตตามได้ทัน ในเวลานี้การขนส่งสินค้าจากจีนไปยังสหรัฐฯ ใช้เวลานานกว่าปี 2019 กว่า 1 เดือน ขณะที่ต้นทุนค่าขนส่งตู้สินค้า 1 หลังเพิ่มขึ้นจาก 2,000 เหรียญก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 จนสูงกว่า 20,000 เหรียญในฤดูร้อนที่ผ่านมา (ปัจจุบันอยู่ที่ราว 15,000 เหรียญ) คนทั่วไปที่ไม่เคยคิดถึงเรื่องห่วงโซ่อุปทานในระดับโลกมาก่อนเริ่มหันมาให้ความสนใจ Oracle สำรวจประชากรวัยผู้ใหญ่ในสหรัฐฯ จำนวน 1,000 คนพบว่า 87% ได้รับผลกระทบจากอุปสรรคในการขนส่ง โดยมีครึ่งหนึ่งที่ตัดสินใจยกเลิกคำสั่งซื้อในระยะเวลาไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
- โลกของโลจิสติกส์ -
สำหรับคนในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ซึ่งโดยปกติเป็นอุตสาหกรรมที่เงียบสงบอยู่แล้วนั้น การปรากฏตัวในสัมภาษณ์หรือทางหน้าจอโทรทัศน์แต่ละครั้งมักจะแสดงให้เห็นว่า Petersen เป็นนักฉวยโอกาสมากกว่าเป็นผู้นำตลาด แต่ในเรื่องของความสามารถนั้นไม่มีใครค้าน Petersen ได้ “ในทุกวิกฤตเราต้องการวีรบุรุษ Ryan Petersen วางตำแหน่งตัวเองไว้อย่างนี้” Craig Fuller ยอมรับ โดย Fuller เป็นผู้บริหารเว็บไซต์ข้อมูลและข่าวสารประจำอุตสาหกรรมที่มีชื่อว่า FreightWaves เมื่อโลกของการขนส่งเริ่มกลับเข้าสู่สภาวะใกล้เคียงกับสถานการณ์ปกติ (ซึ่ง Petersen หวังว่าจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้) เขาจะวางตำแหน่งให้ Flexport เปิดเกมรุกและสยบข้อกังขาทั้งหลาย “หากเราสามารถแก้ปัญหาให้กับ Flexport ได้ เราก็จะสามารถแก้ปัญหาให้กับโลกที่กว้างกว่านี้ได้” Petersen กล่าว “เราเองก็รู้สึกน้อยใจ พวกเขาน่าจะเชื่อมั่นในตัวเราบ้าง” หลังจากที่เผชิญความเสียหายมามากเกินพอ Flexport ดำเนินการระดมทุนอย่างแข็งขัน และสามารถคว้าเงินทุนมาได้กว่า 2 พันล้านเหรียญจนถึงตอนนี้ แม้จะทำให้การถือหุ้นส่วนตัวของ Petersen จะลดลง ปัจจุบันเขาถือหุ้นเพียง 9% ในบริษัทของตัวเองแม้จะเป็นผู้ก่อตั้งเพียงคนเดียว เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2020 สถานการณ์การปิดประเทศของจีนจากการระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบมาจนถึงห่วงโซ่อุปทาน Petersen เริ่มตกใจ เขาปลดพนักงานออก 50 คน หรือประมาณ 3% ของพนักงานทั้งหมดของ Flexport บรรดานักข่าวที่กำลังต้องการสร้างกระแสเรื่องบริษัทในกลุ่ม SoftBank ต่างระริกระรี้ การปลดพนักงานไม่ช่วยอะไร เพราะในขณะที่ค่าใช้จ่ายลดไปเพียงเล็กน้อย แต่กลับกระทบกระเทือนต่อขวัญและกำลังใจของพนักงานอย่างรุนแรง Petersen ยอมรับว่าเป็น ความผิดพลาดที่รุนแรงที่สุดในชีวิตการเป็นซีอีโอ ท่ามกลางโรคโควิด-19 ที่ระบาดเป็นวงกว้าง เจ้านายใหญ่ผู้บอบช้ำแห่ง Flexport และพนักงานของเขากลับพบจุดมุ่งหมายได้อย่างรวดเร็ว

- ก้าวต่อไปหลังวิกฤต -
ปัจจุบัน Flexport กำลังทดสอบการให้บริการรูปแบบ “ฟรีเมียม” ซึ่งมีกำหนดเปิดตัวในปีนี้ ครอบคลุมการพยากรณ์ การติดตามคาร์บอน และการส่งข้อความไปยังผู้ใช้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย แม้ว่าจะไม่ใช่ลูกค้าบริการขนส่งของ Flexport ก็ตาม นอกจากนี้ Petersen ยังมีแผนที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ “คลังสินค้าพร้อมบริการจัดส่ง” ที่สามารถระบุสินค้าที่มีความสำคัญสูง เช่น แบรนด์ที่จำหน่ายสินค้าให้แก่ผู้บริโภคด้วยตนเอง พร้อมทั้งดำเนินการขนส่งอย่างรวดเร็วผ่านช่องทาง “HOV” “Flexport คือ คนรุ่นใหม่ผู้ชนะตัวจริงในอุตสาหกรรม” David George นักลงทุนในระยะเติบโตกล่าว เขาคือผู้นำร่วมในรอบการระดมทุนครั้งล่าสุดของ Flexport ในนามของ Andreessen Horowitz “พวกเขารู้วิธีที่จะเอาชนะ” เขากล่าวเสริม ซึ่ง Petersen เห็นด้วย “ผมเรียกกระบวนการขายของเราว่าเหมือนกับการเล่นเกม Battleship คุณจมเรือรบด้วยเข็มเพียงเล่มเดียวไม่ได้หรอก” คนที่ไม่เชื่ออย่างไรก็ย่อมจะไม่เชื่อ “การพยากรณ์เป็นทางแก้ปัญหาที่ไม่ควรมีอยู่จริง” Adam Banks อดีตประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีและสารสนเทศของ Maersk บริษัทผู้ให้บริการเรือเดินสมุทรที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกด้วยรายได้ปีละ 4 หมื่นล้านเหรียญกล่าว เขาบอกด้วยว่า Maersk กับบริษัทอื่นๆ ในระดับเดียวกันมีตู้สินค้าของตนเองและต้องการเป็นเจ้าของข้อมูล โดยจะไม่ปล่อยให้ Petersen แย่งไปได้ ขณะที่อีกหลายคนจะตั้งคำถามว่า สุดท้ายแล้ว Flexport จะชนะหรือไม่ ผู้ท้าชิงรายหนึ่งที่ได้เปรียบกว่าคือ project44 ใน Chicago ซึ่งเข้ามาดำเนินการในเรื่องข้อมูลโลจิสติกส์ล้วนๆ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา พวกเขาระดมทุนได้ 420 ล้านเหรียญ จากการประเมินมูลค่า 2.6 พันล้านเหรียญ Jett McCandless ซีอีโอของ project44 บอกว่า หลายคนอยากทำงานร่วมกับ “Switzerland” ของ project44 มากกว่าคู่แข่งตัวฉกาจอย่าง Flexport Petersen เองดูเหมือนว่าจะชินชากับเสียงกระแซะพวกนี้เสียแล้ว “ในอุตสาหกรรมนี้พวกเขาคิดว่าผมเป็นตัวตลก ซึ่งผมก็ไม่ว่าอะไร” Petersen กล่าว “ผมอยากตอกย้ำความเชื่อพวกนั้นด้วยซ้ำว่าผมมันบ้า พวกเขาจะได้ไม่ต้องคอยเตรียมตัวเพื่อแข่งกับเรา” เรื่อง: ALEX KONRAD เรียบเรียง: รัน-รัน ภาพ: JAMEL TOPPIN อ่านเพิ่มเติม:- ศักดา ศรีแสงนาม จัดทัพเตรียมรับ 100 ปี CHIN HUAY
- EMMA GREDE สาวเก่งเบื้องหลังธุรกิจฟู่ฟ่าของบ้าน KARDASHIAN
- RAVI MODI แห่ง VEDANT FASHIONS อาณาจักรค้าปลีกเสื้อผ้ารายใหญ่ที่สุดของอินเดีย
คลิกอ่านฉบับเต็มเรื่อง "ส่งความคาดหวังข้ามทะเล" และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมิถุนายน 2565 ในรูปแบบ e-magazine
