Otto Toto Sugiri ผู้บุกเบิกโลกดิจิทัลแห่งอินโดนีเซีย - Forbes Thailand

Otto Toto Sugiri ผู้บุกเบิกโลกดิจิทัลแห่งอินโดนีเซีย

FORBES THAILAND / ADMIN
09 Apr 2022 | 07:00 AM
READ 2123

เศรษฐีพันล้าน Otto Toto Sugiri คือ ผู้ประกอบการสายเทคโนโลยีคนแรกๆ ของอินโดนีเซีย เวลานี้เขากำลังผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศให้เติบโตมากขึ้นด้วยการสร้างบริษัทศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลขนาดใหญ่ที่สุดคือ DCI

Otto Toto Sugiri อยู่ในเสื้อเชิ๊ตสีดำ ผมยาวสีดอกเลาเป็นเอกลักษณ์ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานกรรมการบริษัทศูนย์ปฏิบัติการข้อมูล DCI Indonesia ยืนตระหง่านท่ามกลางผู้ประกอบการสายเทคโนโลยีวัยละอ่อนทั้งหลาย

Sugiri ในวัย 68 ปี รู้จักการเขียนโปรแกรมก่อนที่ผู้ประกอบการคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่จะลืมตาดูโลกเสียอีก เขาคือผู้ประกอบการสายเทคโนโลยีรุ่นแรกสุดของอินโดนีเซีย ผู้กรุยทางให้ผู้อื่นเจริญรอยตาม

บริษัทแห่งแรกของเขาคือ Sigma Cipta Caraka ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1989 ถือเป็นบริษัทซอฟต์แวร์แห่งแรกๆ ของอินโดนีเซียและในเวลาต่อมาได้กลายเป็นบริษัทที่มียอดขายมากที่สุดแห่งหนึ่งแซงหน้าบรรดาผู้ให้บริการซอฟต์แวร์จากต่างประเทศ จากจุดนั้นเอง Sugiri ต่อยอดสู่การเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตรายแรกของประเทศภายใต้บริษัท Indointernet ในปี 1994 ช่วยให้ชาวอินโดนีเซียนับล้านๆ คนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้เป็นครั้งแรก

ท่ามกลางความรุ่งโรจน์แห่งยุคดอทคอม Sugiri ก่อตั้งบริษัท BaliCamp ขึ้นที่ Bali เพื่อใช้เป็นสถานที่บ่มเพาะธุรกิจสตาร์ทอัพ พร้อมทั้งให้บริการต่างๆ ในรูปแบบเอาต์ซอร์ส “Sugiri ก็เหมือนกับ Bill Gates แห่งอินโดนีเซีย Tom Malik ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ Dattabot ซึ่งเป็นบริษัทบิ๊กดาต้าแห่งหนึ่งของอินโดนีเซียกล่าว Malik รู้จักกับ Sugiri มาเป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว

เวลานี้คนรุ่นใหม่ต่างหันมาเริ่มกิจการของตนเอง ขณะที่ Sugiri มีความเคลื่อนไหวล่าสุดเช่นกัน เขากำลังสร้างศูนย์ปฏิบัติการข้อมูล (Data Center) ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัลทุกหนทุกแห่ง เมื่อปี 2011 Sugiri และผู้ก่อตั้งอื่นอีก 6 คนเปิดตัว DCI บริษัทศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลขนาดใหญ่ที่สุดของอินโดนีเซีย มีศักยภาพครอบคลุมพื้นที่กว่าครึ่งหนึ่งของประเทศ

ในอินโดนีเซียมีผู้ให้บริการระบบคลาวด์ 4 รายคือ Alibaba, Amazon Web Services, Google Cloud และ Microsoft ซึ่ง DCI บอกว่า 3 ใน 4 รายนี้เป็นลูกค้าของพวกเขาเอง นอกจากนี้ ยังมีบริษัทอี-คอมเมิร์ซรายใหญ่ที่สุดของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บางแห่ง บริษัทด้านการสื่อสารโทรคมนาคมอีกกว่า 40 แห่ง และผู้ให้บริการทางการเงินอีกกว่า 120 รายทั่วทั้งอินโดนีเซีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสหรัฐฯ

หากเจาะลงในรายละเอียดให้ชัดกว่านี้ก็คือ ศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลในอินโดนีเซียมีขีดความสามารถรองรับที่ 81 เมกะวัตต์ ซึ่งถือว่าเล็กมากเมื่อเปรียบเทียบกับขนาด 613 เมกะวัตต์ในสิงคโปร์ (การจัดอันดับศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลจะพิจารณาจากปริมาณการใช้พลังงาน) แต่ Sugiri มองว่า ความเป็นรองนั้นมันหมายถึงโอกาสอินโดนีเซียมีจำนวนประชากรมากที่สุดในภูมิภาค แต่กลับจัดอยู่ในกลุ่มศูนย์ข้อมูลที่มีขีดความสามารถต่อหัวน้อยที่สุดในโลก Sugiri กล่าวขณะให้สัมภาษณ์พิเศษเมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

การเติบโตอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจดิจิทัลในอินโดนีเซียจะก่อให้เกิดความต้องการศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลเป็นจำนวนมากเพื่อรองรับปริมาณการใช้งาน รายงานล่าสุดของ Bain, Google และ Temasek ระบุว่า อินโดนีเซียมีเศรษฐกิจดิจิทัลขนาดใหญ่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยมูลค่าการซื้อขายรวม (GMV) ประมาณ 7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ

ในปี 2021 Bukalapak ยักษ์ใหญ่แห่งธุรกิจอี-คอมเมิร์ซเพิ่งเสนอขายขายหุ้น IPO ครั้งใหญ่ที่สุดเป็นประวัติการณ์ของอินโดนีเซียเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา สามารถระดมทุนได้ 1.5 พันล้านเหรียญ ขณะที่บริษัทยูนิคอร์นในประเทศอีกไม่น้อยกว่า 4 แห่ง ซึ่งรวมถึง GoTo และ Traveloka ได้เตรียมก้าวเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ในอีกไม่เกิน 12 เดือนข้างหน้า นับจนถึงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาบรรดาบริษัทร่วมลงทุนระดมเงินสนับสนุนให้กับธุรกิจอินโดนีเซียรวมกันแล้ว 4.7 พันล้านเหรียญ นับเป็นมูลค่าการลงทุนสูงที่สุดในภูมิภาค

DCI ทุ่มเงินลงทุนเป็นทวีคูณโดยหวังรักษาตำแหน่งผู้นำ ตลอดทศวรรษที่ผ่านมาบริษัทใช้เงินไปแล้ว 210 ล้านเหรียญเพื่อสร้างศูนย์ปฏิบัติการข้อมูล 4 แห่งในพื้นที่ขนาด 8.5 เฮกตาร์ใน Cibitung นอก Jakarta ซึ่งจะสามารถขยายขีดความสามารถไปได้ถึงระดับ 300 เมกะวัตต์เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น

เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาเศรษฐีพันล้าน Anthoni Salim เพิ่มการถือหุ้นใน DCI จากร้อยละ 3 เป็นร้อยละ 11 อันเป็นส่วนหนึ่งของการขยายขอบข่ายการเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ระหว่าง Salim Group ของเขากับบริษัทของ Sugiri

ภายใต้สัญญาพันธมิตรดังกล่าว DCI จะรับหน้าที่บริหารศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลภายในของ Salim Group ซึ่งมีขนาด 15 เมกะวัตต์ และสามารถขยายได้ถึง 600 เมกะวัตต์เพื่อรองรับความต้องการในอนาคต นอกจากนี้ DCI ยังได้รับมอบหมายให้ดูแลศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลอื่นๆ ของกลุ่มบริษัท ยังไม่นับรวมธุรกิจอื่นๆ ที่อาจกลายมาเป็นสมาชิกใหม่ในรายการบริษัทและทรัพย์สินมากมายมหาศาลที่กลุ่มบริษัทมีอยู่ทั่วทั้งอินโดนีเซียและประเทศอื่นๆ ในทวีปเอเชียเราเชื่อว่า ข้อมูลคือศูนย์กลางของความเป็นดิจิทัล และจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งอย่างต่อเนื่อง DCI คือ บริษัทเทคโนโลยีที่เติบโตขึ้นมาในประเทศ พร้อมด้วยความเชี่ยวชาญที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วในการให้บริการโซลูชันศูนย์ข้อมูล พวกเขาจึงเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์รายสำคัญของเรา Salim กล่าวผ่านการส่งข้อความ

ขณะเดียวกัน DCI สร้างผลประกอบการได้น่าประทับใจด้วยรายได้ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 81 และกำไรสุทธิเติบโตร้อยละ 57 (พิจารณาจากอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีตั้งแต่ปี 2017-2020) แต่ในปี 2021 พวกเขาทำรายได้ ณ สิ้นสุดเดือนกันยายนไว้ที่ 6.07 แสนล้านรูเปียห์ (43 ล้านเหรียญ) คิดเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 3 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2020 Sugiri ให้เหตุผลว่า เบื้องหลังการเติบโตเพียงเล็กน้อยได้ซ่อนรายได้ประจำไว้ ซึ่งมาร์จิ้นที่เพิ่มขึ้นของมันได้บันทึกลงในกำไรสุทธิที่มีการเติบโตร้อยละ 24 ไปเป็น 1.73 แสนล้านรูเปียห์

อีกสัญญาณหนึ่งที่บ่งบอกถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนคือ ราคาหุ้น DCI ซึ่งทะยานราวร้อยละ 11,000 มาอยู่ที่ 44,000 รูเปียห์ในเวลานี้ หลังจากที่จดทะเบียนเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ไปเมื่อเดือนมกราคม ปี 2021 ปัจจุบัน DCI มีมูลค่าบริษัท 7 พันล้านเหรียญ นับเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดแห่งหนึ่งในตลาดหลักทรัพย์อินโดนีเซีย เมื่อพิจารณาจากมูลค่าตามราคาตลาด ทำให้ Sugiri และผู้ร่วมก่อตั้งอีก 2 คนกลายเป็นเศรษฐีพันล้านโดยคิดจากการถือหุ้นในบริษัท ทำให้เป็น 3 จาก 4 รายหน้าใหม่เข้าติดทำเนียบ 50 Richest ของอินโดนีเซียประจำปี 2021

ราคาหุ้นที่เติบโตแบบก้าวกระโดดทำให้ตลาดหลักทรัพย์อินโดนีเซียระงับการซื้อขายหุ้น DCI ไปแล้วถึง 5 ครั้งในปีที่ผ่านมา พร้อมเปิดการตรวจสอบไปเมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2021 อย่างไรก็ตาม Sugiri บอกว่า ตลาดหลักทรัพย์ประกาศให้บริษัทของเขาพ้นจากข้อสงสัยทั้งหมด และผู้ถือหุ้นผู้ก่อตั้งบริษัทก็ไม่ได้กระทำผิดใดๆ ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวเนื่องจากเป็นไปตามนโยบาย

ทั้งนี้ Sugiri เชื่อว่าการเข้าซื้อหุ้นดังกล่าวส่วนหนึ่งมาจากความต้องการจากนักลงทุนเป็นจำนวนมากเข้าไล่ซื้อหุ้นจำนวนน้อยที่เสนอขายอยู่ในตลาดฯ

กรุยทางจนสำเร็จ

ความสำเร็จของ DCI ทำให้บริษัทต้องเผชิญคู่แข่งรุ่นยักษ์ เมื่อเดือนพฤษภาคม Triputra Group ของเศรษฐีพันล้าน Theodore Rachmat บอกว่า พวกเขากำลังผนึกกำลังกับ ST Telemedia และ Temasek 2 บริษัทจากสิงคโปร์ เพื่อจัดสร้างศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลขนาด 72 เมกะวัตต์ให้แล้วเสร็จภายในปี 2023

ต่อมาในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมากลุ่มธุรกิจ Sinar Mas ที่ได้รับการสนับสนุนจากตระกูล Widjaja ผู้ทรงอิทธิพลประกาศความร่วมมือกับ Group 42 แห่ง Abu Dhabi เพื่อก่อสร้างศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลในท้องถิ่นขนาด 1,000 เมกะวัตต์ โดยไม่ได้ระบุว่าพร้อมเปิดใช้งานเมื่อใด ขณะที่ Ciputra กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำในอินโดนีเซียแสดงความสนใจที่จะหันมารุกอุตสาหกรรมศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลเช่นกัน แม้จะยังไม่เปิดเผยแผนการที่ชัดเจน ส่วนบริษัทอื่นๆ ทั้งบริษัทอินโดนีเซียเองและบริษัทข้ามชาติซึ่งเป็นผู้เล่นปัจจุบันต่างประกาศความมุ่งมั่นที่จะขยายกิจการ

กระนั้นก็ดี Sugiri ไม่ได้รู้สึกหวั่นไหวใดๆ ไปกับการแข่งขันที่เขากำลังจะต้องเผชิญศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลในอินโดนีเซียจะยิ่งทวีความสำคัญ เนื่องจากบริษัทด้านอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีต่างๆ ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับการสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้ใช้งานของตน เป้าหมายของเราในเวลานี้คือ รักษาตำแหน่งผู้เล่นรายใหญ่ที่สุดของอินโดนีเซีย เพราะนี่คือสนามของเรา

นั่นคือคำกล่าวของ Sugiri ผู้สั่งสมประสบการณ์ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในอินโดนีเซียมากว่า 4 ทศวรรษ หลังจากที่เขาจบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านวิศวกรรมไฟฟ้า และปริญญาโทด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์จาก RWTH Aachen University ในเยอรมนี Sugiri เดินทางกลับไปยังอินโดนีเซียในปี 1980 เพื่อดูแลคุณแม่ที่ป่วยหนักและเสียชีวิตในเวลาต่อมา

แต่ Sugiri ยังคงอยู่ในอินโดนีเซียเพื่อทำงานเขียนโปรแกรมเล็กๆ น้อยๆ ในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นการเขียนซอฟต์แวร์วิศวกรรมให้กับบรรดาบริษัทน้ำมัน หรือโปรแกรมจัดการการเบิกจ่ายเงินกู้สำหรับชาวประมงใน Papua ให้กับหน่วยงานแห่งหนึ่งของสหประชาชาติ ในปี 1983 Sugiri ได้ร่วมงานกับ Bali ซึ่งในเวลานั้นคุณลุงของเขาคือ Djaja Ramli เป็นเจ้าของ ต่อมา Bank Bali รวบรวมกิจการเข้ากับ Permata Bank ซึ่งถูกธนาคารกรุงเทพเข้าซื้อกิจการในที่สุด

เราพัฒนาระบบไอทีให้กับธนาคาร ตั้งแต่ระบบหลังบ้านจนถึงงานบัญชี ผมทำงานร่วมกับแผนกต่างๆ จนได้ซอฟต์แวร์ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน หนึ่งในความสำเร็จที่เป็นความทรงจำของผมคือ พนักงานในฝ่ายบัญชีได้กลับบ้านก่อนพระอาทิตย์ตก จากที่ก่อนหน้านี้พวกเขาต้องลงบัญชีด้วยตัวเอง กว่าจะเสร็จงานกันก็เกือบเที่ยงคืน Sugiri กล่าว

เขาอำลาชีวิตการทำงานที่ธนาคารเพื่อเริ่มต้นกิจการซอฟต์แวร์ของตนเองที่มีชื่อว่า Sigma Cipta Caraka ในปี 1989 ด้วยทุน 200,000 เหรียญ มากพอที่จะจ่ายค่าเช่าและเงินเดือนพนักงานเป็นเวลา 10 เดือน อดีตพนักงานจาก Bank Bali 6 คนย้ายตามมาร่วมงานด้วย หนึ่งในนั้นคือ Marina Budiman ประธานกรรมาธิการของ DCI

นับเป็นเวลาที่เหมาะเจาะพอดี เพราะรัฐบาลเพิ่งจะยกเลิกระเบียบควบคุมอุตสาหกรรมธนาคาร ทำให้จำนวนธนาคารเพิ่มขึ้นจาก 111 แห่งในปี 1988 มาเป็น 240 แห่งในปี 1994 ธนาคารที่เปิดใหม่เหล่านี้ต่างต้องการงานสนับสนุนด้านไอที ไม่นานนัก Sigma ก็ได้ลูกค้ารายแรก พร้อมทั้งสร้างกำไรได้ตั้งแต่ปีแรกของการดำเนินธุรกิจจากรายได้ 1.2 ล้านเหรียญ

Sigma รับหน้าที่ตัวแทนจำหน่ายให้กับ IBM แต่ในเวลาเพียงไม่นาน โปรแกรมของพวกเขากลับกลายเป็นเครื่องมือสร้างรายได้กระแสหลัก โดยมี Multipolar ในเครือ Lippo Group ของ Mochtar Riady เป็นคู่แข่งสำคัญ อย่างไรก็ตาม Multipolar จำหน่ายเฉพาะซอฟต์แวร์นำเข้าราคาสูง ตรงกันข้ามกับซอฟต์แวร์ของ Sugiri ซึ่งเขาและทีมงานพัฒนาขึ้นให้สอดคล้องกับสภาวะตลาดในท้องถิ่นจึงมีราคาถูกกว่า

ในช่วงเวลาเดียวกันนี้เองเพื่อนคนหนึ่งของ Sugiri ติดต่อมาเพื่อเสนอแนวคิดที่จะเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตรายแรกของอินโดนีเซีย ตอนแรกทั้งคู่เพียงต้องการให้นักเรียนนักศึกษาสามารถเข้าถึงสื่อการเรียนการสอนจากต่างประเทศได้รวดเร็วยิ่งขึ้นในราคาที่ย่อมเยาตอนนั้นหนังสือมีราคาแพงมาก และใช้เวลานานกว่าจะส่งถึงอินโดนีเซีย Sugiri กล่าว ในปี 1994 พวกเขาเปิดตัว Indointernet ซึ่งไม่เพียงแต่นักเรียนนักศึกษาเท่านั้น แต่ยังเปิดประตูให้ชาวอินโดนีเซียท่องโลกอินเทอร์เน็ตได้เป็นครั้งแรก

ก้าวต่อไปของ Sugiri เกิดขึ้นในปี 2000 เขาก่อตั้ง BaliCamp ขึ้นเป็นบริษัทลูกของ Sigma ที่เกาะ Bali บริษัทแห่งนี้ให้คำนิยามตนเองว่าอาณานิคมทางศิลปะสำหรับนักพัฒนาซอฟต์แวร์ในยุคดอทคอมที่กำลังเบ่งบานเต็มที่

Sugiri อาศัยต้นทุนราคาถูก บวกกับวิถีชีวิตอันสวยงามดึงดูดบุคลากรสายเทคโนโลยีฝีมือดีเข้ามาช่วยกันบ่มเพาะธุรกิจสตาร์ทอัพ พร้อมทั้งให้บริการต่างๆ ในฐานะบุคคลภายนอก โครงการหนึ่งใน BaliCamp คือ การสร้างเครื่องมือตรวจสอบตัวสะกดภาษาอินโดนีเซียให้กับ Microsoftในเวลานั้นอินโดนีเซียมีบริษัทด้านไอทีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่พวกเขามักจะให้ทำหน้าที่วิศวกรฝ่ายขาย หรือไม่ก็เจ้าหน้าที่การตลาด มีบริษัทเพียงไม่กี่แห่งที่ยอมให้พัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ Sigma และ BaliCamp ของ Sigma ก็มีชื่อเสียงมากที่สุด...ผมได้ยินมาว่า มันเป็นสถานที่ทำงานที่เจ๋งสุดๆ ด้วย Leontinus Alpha Edison ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทอี-คอมเมิร์ซ Tokopedia กล่าว (ปัจจุบัน Tokopedia ควบรวมกิจการเข้ากับ Gojek และก่อตั้งบริษัทใหม่คือ GoTo) เขากับ William Tanuwijaya ผู้ร่วมก่อตั้ง Tokopedia อีกรายทำงานอยู่ที่ Sigma เป็นเวลาราว 2 ปี

แม้เหตุระเบิดที่ Bali ในปี 2002 จะทำให้ BaliCamp ต้องปิดตัวลง แต่ Sigma ยังคงดำเนินกิจการอย่างแข็งแกร่ง ธุรกิจของ Sugiri ไม่มีการใช้เงินกู้ยืม เขาจึงเอาตัวรอดจากวิกฤตการเงินในทวีปเอเชีย

รายงานระบุว่า ในช่วงเวลาที่ประสบความสำเร็จสูงสุด Sigma ทำรายได้ราว 21 ล้านเหรียญ มีลูกค้าธนาคาร 50 ราย ซึ่งรวมถึง ABN Amro และ Bank of Tokyo ในเวลานั้นเอง Sugiri เริ่มหันมาลองจับธุรกิจศูนย์ปฏิบัติการข้อมูล โดยรับงานบริหารศูนย์ปฏิบัติการข้อมูล 2 แห่งด้วยกัน

ในปี 2008 Sugiri ขายกรรมสิทธิ์ร้อยละ 80 ใน Sigma ออกไปให้กับ Telekomunikasi Indonesia (Telkom) ซึ่งเป็นบริษัทด้านการสื่อสารโทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุดของประเทศในราคา 35 ล้านเหรียญ ในการทำสัญญาครั้งนี้ Telkom เสนอความช่วยเหลือว่าจะพา Sugiri จดทะเบียนบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ แต่เมื่อการจดทะเบียนไม่ประสบความสำเร็จ Sugiri จึงขายหุ้นส่วนที่เหลือของตนในราคา 9 ล้านเหรียญ พร้อมทั้งวางแผนเกษียณการทำงาน

ความตั้งใจดังกล่าวกินระยะเวลาเพียงสั้นๆ ในปี 2011 รัฐบาลอินโดนีเซียประกาศเจตนารมณ์ที่จะดึงข้อมูลกลับเข้าสู่อินโดนีเซีย และยกเลิกศูนย์ข้อมูลในต่างประเทศ Sugiri มองเห็นโอกาส เขากับสมาชิกอีก 6 คนจึงก่อตั้ง DCI ขึ้น พร้อมยื่นคำขอการรับรองระดับ 4 (Tier IV) ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในอุตสาหกรรมศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลโลกในปี 2014 โดยหวังจะใช้ดึงดูดลูกค้ารายใหญ่ที่สุดและลูกค้าที่มีคุณภาพมากที่สุด

ในการยื่นขอการรับรองดังกล่าวศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลจะต้องรับประกันความพร้อมใช้งานในระบบออนไลน์ได้เป็นเวลาร้อยละ 99.995 และมีพลังงานสำรองไว้เกินความต้องการสำหรับรองรับกรณีไฟฟ้าดับความท้าทายคือ การสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกที่ได้มาตรฐานในระดับสูงสุดซึ่งต้องใช้ต้นทุนไม่น้อยเลย Sugiri กล่าวศูนย์ข้อมูลในระดับ Tier IV มีต้นทุนการก่อสร้างสูงกว่า Tier III ถึงร้อยละ 60 แต่มันก็สร้างความน่าเชื่อถือได้

ด้วยความร่วมมือกับ Salim Group แผนการขยายกิจการครั้งใหญ่จึงมาวางอยู่ตรงหน้า DCI ที่เกาะ Bintan ของอินโดนีเซีย นอกชายฝั่งประเทศสิงคโปร์ DCI จะทำหน้าที่บริหารศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลให้กับกลุ่มบริษัท และด้วยที่ตั้งของเกาะแห่งนี้ศูนย์ข้อมูลดังกล่าวยังอาจรุกตลาดสิงคโปร์ได้ด้วย จากรายงานข่าวเผยว่า Salim Group กำลังเจรจากับธนาคารหลายแห่งโดยหวังระดมทุนให้

แม้ว่าศูนย์ข้อมูลในสิงคโปร์จะมีขีดความสามารถก้าวหน้ากว่าอินโดนีเซียอยู่มาก แต่ DCI มีโอกาสเป็นที่ยอมรับในภูมิภาคได้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สิงคโปร์ประกาศระงับการขยายขีดความสามารถของศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลในประเทศเป็นการชั่วคราว ท่ามกลางความหวั่นวิตกว่า การขยายตัวที่เร็วเกินไปของอุตสาหกรรมนี้อาจกระทบต่อปริมาณที่ดินในประเทศ ระบบโครงข่ายไฟฟ้า รวมถึงทรัพยากรอื่นๆ

Kevin Imboden ผู้อำนวยการฝ่ายการวิจัยประจำกลุ่มที่ปรึกษาศูนย์ข้อมูลทั่วโลกของ Cushman & Wakefield ใน San Francisco กล่าวว่า อินโดนีเซียมีศักยภาพพอที่จะเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น Internet of Things และเครือข่าย 5G จะผลักดันความต้องการขีดความสามารถและกำลังการประมวลผลเพิ่มขึ้นทั้งในระดับประเทศและภูมิภาค บวกกับการก่อสร้างเคเบิลใต้น้ำที่จะแล้วเสร็จในปี 2023 และ 2024 จะทำให้ Jakarta และศูนย์การเงินต่างๆ เช่น สิงคโปร์สามารถเชื่อมโยงถึงกันได้อย่างรวดเร็ว

ขณะเดียวกัน Indointernet ซึ่งมี Sugiri ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการและผู้ถือหุ้นร้อยละ 16.5 ยังคงดำเนินธุรกิจของตนต่อไป บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2021 แต่ราคาหุ้นทะยานถึง 3 เท่าตัวแล้วในช่วงปลายปี

เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา Digital Edge ผู้บริหารศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลจากสิงคโปร์เข้าซื้อหุ้น (พร้อมอำนาจควบคุมบริษัท) ในสัดส่วนร้อยละ 59.1 ด้วยราคา 165 ล้านเหรียญ แต่ Otto Toto Sugiri ยังคงดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัทต่อไป สำหรับ Digital Edge นำโดย Samuel Lee อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกให้กับ Equinix บริษัทในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้บริหารศูนย์ข้อมูลรายใหญ่ที่สุดในโลก มีศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลภายใต้การบริหาร 227 แห่งทั่วโลก ขณะที่ Digital Edge มีแผนขยายกิจการให้ครอบคลุมทั่วทั้งทวีปเอเชีย

ในอุตสาหกรรมศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลเวลานี้มีแต่เรื่องน่าตื่นเต้นไม่น้อยเลย Sugiri กล่าว

เรื่อง: ARDIAN WIBISONO เรียบเรียง: รัน-รัน ภาพ: AHMAD ZAMRONI/HKV

อ่านเพิ่มเติม:
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมีนาคม 2565 ในรูปแบบ e-magazine