ถังแก๊สหลายขนาดหลากสีสันตั้งเรียงอยู่ริมผนังด้านหนึ่งของห้องโถงด้านล่างสำนักงาน SMPC ชวนให้ตื่นตาตื่นใจไม่น้อย เพราะไม่เคยเห็นถังแก๊สที่มีรูปทรงและสีสดใสเช่นนี้ในท้องตลาด ทราบภายหลังว่าทั้งหมดนั้นส่งออกต่างประเทศเกือบ 100%
ทีมงาน Forbes Thailand มีนัดสัมภาษณ์ ปัทมา เล้าวงษ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท สหมิตรถังแก๊ส จำกัด มหาชน หรือ SMPC บุตรสาวคนโตของสุธรรม ซึ่งเรียนจบปริญญาตรีด้านบัญชีจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำงานเป็นผู้สอบบัญชีอยู่พักหนึ่งก่อนไปศึกษาต่อด้าน MBA (Finance) จาก University of Wisconsin สหรัฐอเมริกา และกลับมาทำงานที่บริษัทในปี 2534 ช่วงแรกทำหน้าที่เหมือนเลขานุการ เรียนรู้งานจากผู้เป็นบิดา ไม่ว่าสุธรรมจะพบใครที่ไหนก็ให้เธอติดตามไปด้วย รวมทั้งช่วยวางระบบหลังบ้าน ส่วนน้องชาย “ธรรมิก เอกะหิตานนท์” ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ (โรงงาน) บริษัท สหมิตรถังแก๊ส จำกัด (มหาชน) หรือ SMPC ก่อตั้งโดย “สุธรรม เอกะหิตานนท์” อดีตวิศวกรซึ่งได้ทุนอานันทมหิดลไปเรียนต่อด้านเหล็กและกลับมาทำงานกับ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด 20 ปีเศษ หลังจากนั้นจึงลาออกมาสร้างอาณาจักรของตนเอง โดยทำธุรกิจถัง บรรจุแก๊สปิโตรเลียมเหลวด้วยทุนเริ่มต้น 6.4 ล้านบาท เนื่องจากเห็นว่าขณะนั้นประเทศไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านการใช้เชื้อเพลิง จากถ่านมาเป็นแก๊ส และมีผู้ทำธุรกิจด้านนี้เพียง 2 ราย จากกำลังการผลิต 60,000 ใบต่อปี ปัจจุบันอยู่ที่ 10 ล้านใบ เป็นผู้ผลิต top 3 ของโลก ส่งออกทุกทวีปมากกว่า 100 ประเทศ ผลประกอบการงวด 9 เดือนแรกของปี 2564 มีรายได้รวม 3,381.24 ล้านบาท กำไรสุทธิ 455.54 ล้านบาท ขณะที่ปี 2563 มีรายได้รวม 4,217.67 และกำไรสุทธิ 618.71 ล้านบาท บริษัท สหมิตรถังแก๊ส จำกัด (มหาชน) หรือ SMPC ก่อตั้งในปี 2524 เพื่อผลิตถังแก๊สปิโตรเลียมเหลวแบบต่างๆ ภายใต้เครื่องหมายการค้าของลูกค้าและ SMPC รวมทั้งมีบริการเกี่ยวเนื่องในการรับซ่อม ตรวจสอบคุณภาพถังตามที่มาตรฐานแต่ละประเทศกำหนด โดยเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายถังบรรจุแก๊สปิโตรเลียมเหลว (LPG) ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลกได้รับการรับรองมาตรฐานจากนานาประเทศ รวมทั้งมาตรฐานสากล (ISO), มาตรฐานสหภาพยุโรป (EN) และมาตรฐานสหรัฐอเมริกา (DOT) ทั้งนี้การผลิตส่วนใหญ่อยู่ภายใต้เครื่องหมายการค้าของลูกค้า ซึ่งเป็นผู้ค้าแก๊สและผู้ค้าน้ำมันขนาดใหญ่ รวมถึงผลิตถังทนความดันต่ำที่ใช้ในอุตสาหกรรม ได้แก่ ถังคลอรีน ถังแอมโมเนีย ส่วนถังที่ผลิตภายใต้เครื่องหมายการค้าของ SMPC ส่วนใหญ่เป็นถังแก๊สรถยนต์ในประเทศ- รุกตลาดต่างประเทศพร้อม Shell -
ช่วงแรกๆ ผลิตและจำหน่ายให้กับ บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด เมื่อกำลังการผลิตเหลือจึงส่งออก ซึ่งได้รับการตอบรับค่อนข้างดี โดยไปที่บรูไนเป็นประเทศแรก เกณฑ์ในการรุกตลาดต่างประเทศคือไปพร้อมกับเชลล์ เพราะลูกค้าหลักคือผู้ค้าแก๊ส “ทุกปีทำ business review คุยกันว่าปีหน้าขายอย่างไร พอเขาบอกมีแผนจะไปที่นั่นที่นี่ เราก็พร้อมตามไปลุยตลาดด้วยกันนอกจากนั้น ยังมี local player เราก็ดูว่ามีใครบ้าง สมัยก่อนบุกตลาดยากกว่าสมัยนี้ ต้องลงพื้นที่ ติดต่อหาข้อมูลจากสถานทูต และให้ทีมคุณสุรศักดิ์ เอิบสิริสุข CEO คนปัจจุบันดูแลตั้งแต่กระบวนการผลิต ส่วนคุณพ่อมาเรื่องบริหารจัดการมากกว่า”- ผู้ผลิต Top 3 ของโลก -
ปัทมาบอกว่า ไม่ใช่เรื่องคุณภาพอย่างเดียวที่คู่ค้าสนใจ แต่ commitment ต่างๆ ก็เป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าการส่งของที่ตรงเวลาคุณภาพและบริการหลังการขาย ถ้ามีปัญหาจะติดต่ออย่างไร บางประเทศมีไฮซีซั่น เช่น อเมริกา ออสเตรเลีย ไฮซีซั่นคือ ช่วงก่อนถึงคริสต์มาส ถ้าส่งของหลังจากช่วงนี้แล้วเหมือนตลาดวาย เพราะฉะนั้น commitment เป็นเรื่องสำคัญ ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาตลาดใหญ่คือ สหรัฐอเมริกา เนื่องจากประธานาธิบดี Donald Trump ต่อต้านจีนตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง ซึ่งบริษัทก็ได้รับผลกระทบเช่นกันประมาณ 10% เศษ ขณะที่ผู้ผลิตจีนบางรายโดน 100% “ผู้ผลิตที่เคยซื้อจีนก็หันมาซื้อจากเราปี 2564 เข้าใจว่าตลาด LPG ของอเมริกาโตขึ้นด้วย ไม่ว่าเป็นเรื่องของตลาดรถ campervan เพราะเขาออกนอกประเทศไม่ได้ camping ต่างๆ โตขึ้น และภาวะโลกร้อน จู่ๆ ปี 2563 Texas มีหิมะตก ไฟฟ้าดับทั้งเมือง ทุกคนก็เอา LPG เป็น heating และมองว่าเป็นความจำเป็นที่ต้องมีติดบ้านกรณีฉุกเฉินหากไม่มีไฟฟ้า ทำให้ตลาดอเมริกาโต...แต่ตลาดที่ยอดขายไม่เคยตกคือทวีปแอฟริกา” ทราบหรือไม่ว่า ประเทศไทยเป็น hub ของตลาดผู้ผลิตถังแก๊ส และ SMPC คือ ผู้ผลิตอันดับ 1 ของประเทศ และเป็น top 3 ในระดับโลก ด้วยชื่อเสียงที่สั่งสมมาร่วม 40 ปี ปัทมาอธิบายว่า SMPC มีจุดแข็ง 4 ด้าน คือ- คุณภาพของผลิตภัณฑ์ การบริการและ commitment
- นำนวัตกรรมมาพัฒนาระบบ ล่าสุด 2-3 ปีที่ผ่านมานำ robot มาช่วยในกระบวนการผลิตเพื่อให้คุณภาพมีความสม่ำเสมอ และพัฒนาให้เป็น automation มากขึ้น มีนวัตกรรมในการผลิต เช่น พัฒนาผลิตภัณฑ์ถังแก๊สขนาดครึ่งปอนด์กับลูกค้าจำหน่ายในสหรัฐอเมริกา เดิมเป็นแบบใช้แล้วทิ้งก็ปรับเปลี่ยนรูปทรงเล็กน้อยเพื่อใช้กับวาล์วสำหรับเติมแก๊ส ผลิตภัณฑ์นี้ได้รับรางวัล System and Design Innovation ที่สหรัฐฯ
- มีความยืดหยุ่น บริษัทมีโรงงานหลายแห่ง ลูกค้าที่ต้องการสินค้าหลายไซซ์มาที่นี่แห่งเดียวจะได้ครบตามความต้องการ
- มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับลูกค้า โดยทุกปีจะ business review ร่วมกันเพื่อประเมินแนวโน้มตลาด และนำข้อมูลมาปรับปรุงผลิตภัณฑ์และบริการ
- คำสอนของพ่อ -
“ปรัชญาการทำงาน ดำเนินชีวิตได้มาจากคุณพ่อ ซึ่งมี 2 ข้อ ข้อแรก คุณพ่อได้จากพระบรมราโชวาทของรัชกาลที่ 9 ถ้าเดินรอบโรงงานมีป้ายติดตรงรูปปั้นของคุณพ่อจะมีป้ายติดพระบรมราโชวาทที่ว่า “ในการทำงานอย่าได้เอาความขาดแคลนมาเป็นข้ออ้าง” คือไม่ว่าจะทำอะไรอย่าอ้างว่าไม่มีคนทำ ไม่มีเวลาทำ แต่ให้ทำเท่าที่เรามีกำลังทำ อันนี้คือข้อที่ใช้มาตลอด อีกข้อที่คุณพ่อพูดเสมอคือ “เวลาทำงานไม่มีอะไรทำไม่ได้นอกจากข้อสอบ” คุณพ่อบอกว่าสมัยเป็นนักเรียนบอกทำข้อสอบไม่ได้ โอเค แต่ตอนทำงานไม่มีทางทำไม่ได้ นี่ไม่ใช่ข้อสอบ “แรกๆ ก็ไม่เข้าใจ เพราะทำข้อสอบได้ ไม่รู้สึกว่าทำไม่ได้ (หัวเราะน้อยๆ) แต่คุณพ่อเรียนวิศวะ แล้วบางทีออกไม่ตรงกับที่อ่านก็ทำไม่ได้ พอเราโตขึ้นก็จริงนะ ครูเขียนมาให้ตอบ เราไม่สามารถอธิบายว่าที่เราตอบข้อนี้เพราะอย่างนี้ มันเป็นชอยส์ ผิดคือผิด ถูกคือถูก แต่เวลาทำงานมีตัวแปรอื่นตลอดเวลา วันนี้เราอาจตัดสินใจอย่างนี้ เมื่อผ่านไป 1 ปี คำถามเดิม ตัวแปรเหมือนกัน การตัดสินใจอาจเปลี่ยนไป ไม่เหมือนเดิมแล้ว” ผู้บริหารสาวอธิบายต่อว่า เมื่อไรก็ตามที่เราคิดว่าทำไม่ได้ สมองจะสั่งการทันทีว่าคิดไม่ออก “แต่เราจะถอยกลับและมาดูอีกทีว่ามีทางอื่นไหม ถ้าเป็นแบบนี้จะแก้อย่างไร พยายามปิดทุกความเสี่ยง ก็จะใช้ 2 ข้อนี้มาตลอด มันทำได้บนเงื่อนไขแบบนี้ๆ” สำหรับเป้าหมายระยะยาวของบริษัทรองกรรมการผู้จัดการ SMPC บอกว่า ต้องการให้บริษัทเติบโตอย่างมั่นคง ยั่งยืน เป็นที่รู้จักของลูกค้า ทั้งนี้บริษัทคาดการณ์ว่า ในช่วง 10 ปีข้างหน้าทวีปแอฟริกาและเอเชียแปซิฟิกจะเป็นตลาดที่เติบโต เนื่องจากยังมีอัตราการใช้แก๊สต่อประชากรต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว ภาพ: กิตติเดช เจริญพร อ่านเพิ่มเติม:- MICHAEL DELL ผู้ทรงอิทธิพลในวงการคอมพิวเตอร์คนสุดท้าย
- TINY ORGANICS อาหารเด็กเพื่อสุขภาพจาก 3 สาวแกร่ง
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมีนาคม 2565 ในรูปแบบ e-magazine