Ngozi Okonjo-Iweala สตรีชาวแอฟริกันคนแรกที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้นำองค์การการค้าโลก (WTO) - Forbes Thailand

Ngozi Okonjo-Iweala สตรีชาวแอฟริกันคนแรกที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้นำองค์การการค้าโลก (WTO)

FORBES THAILAND / ADMIN
16 Feb 2021 | 06:30 PM
READ 4485
  1. Ngozi Okonjo-Iweala นักเศรษฐศาสตร์ชาวไนจีเรีย ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก (WTO) คนใหม่ ในฐานะสตรีคนแรกและชาวแอฟริกันคนแรกขององค์กร
Ngozi Okonjo-Iweala
องค์การการค้าโลก (WTO) ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
/blockquote>

เธอเติบโตในช่วงที่ประเทศกำลังเผชิญสงครามกลางเมือง ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในชื่อสงครามไนจีเรีย - เบียฟรา ตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 1967 ไปจนถึงวันที่ 15 มกราคม 1970 อันเป็นผลมาจากการถูกกีดกันทางการเมือง เศรษฐกิจ ชาติพันธุ์วัฒนธรรม และศาสนามาเป็นระยะเวลานาน

สภาพเศรษฐกิจและสังคมของไนจีเรียในช่วงเวลาดังกล่าวได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เธอเข้าศึกษาต่อที่คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ Harvard University และระดับปริญญาเอกที่ Massachusetts Institute of Technology

นอกจากความสำเร็จด้านการศึกษาแล้ว Okonjo-Iweala ได้ฝากผลงานอย่างยอดเยี่ยมตลอดชีวิตการทำงาน โดยเธอเป็นสตรีชาวไนจีเรียคนแรกที่ได้ดำรงตำแหน่งทั้งรัฐมนตรีการคลังในปี 2003 และรัฐมนตรีการต่างประเทศในปี 2006

ไม่เพียงเท่านี้ Okonjo-Iweala ยังเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รับเลือกให้เข้าชิงตำแหน่งประธานธนาคารโลก องค์กรที่เธอทำงานมาเป็นระยะยาวนานถึง 2 ทศวรรษ

Ngozi Okonjo-Iweala
Ngozi Okonjo-Iweala นักเศรษฐศาสตร์ อดีตรัฐมนตรีคลังและรัฐมนตรีการต่างประเทศ ประจำไนจีเรีย

ทั้งนี้ การดำเนินการสรรหาผู้อำนวยการ WTO คนใหม่เริ่มต้นเมื่อ Roberto Azevedo ลงจากตำแหน่งเร็วกว่ากำหนดหนึ่งปีไปเมื่อสิงหาคม 2020 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่การค้าการลงทุนของโลกกำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศมหาอำนาจ

ท่ามกลางผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งทั้งหมด 8 คน Okonjo-Iweala และ Yoo Myung-hee รัฐมนตรีการค้าเกาหลีใต้ ได้กลายเป็นผู้เข้ารอบ 2 คนสุดท้าย ซึ่งหมายความว่า WTO จะมีผู้อำนวยการองค์การคนใหม่เป็นสุภาพสตรีครั้งแรกนับตั้งแต่มีการก่อตั้งขึ้นเมื่อ 25 ปีก่อน

โดย Okonjo-Iweala ได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากประเทศสมาชิก WTO รวมถึงสหภาพยุโรป จีน ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ขณะที่สหรัฐอเมริกาภายใต้การบริหารของอดีตประธานาธิบดี Donald Trump ได้ให้การสนับสนุน Yoo Myung-hee มาโดยตลอด โดยให้เหตุผลว่า Okonjo-Iweala ขาดทักษะทางด้านการค้า

เป็นเหตุให้กระบวนการตัดสินใจเลือกผู้นำคนใหม่มีความซับซ้อนและใช้เวลามากขึ้น เพราะตามระเบียบการคัดเลือกผู้อำนวยการ WTO ที่มีมาตั้งแต่ปี 1995 ทุกประเทศสมาชิกรวม 164 ประเทศ ต้องมีการออกเสียงรับผู้อำนวยการเป็นเอกฉันท์เท่านั้น แต่เมื่อ Yoo Myung-hee ถอนตัวจากสนามแข่งขัน รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การบริหารของ Joe Biden ประธานาธิบดีคนปัจจุบันจึงได้หันมาผลักดัน Okonjo-Iweala แทน

“WTO ที่แข็งแกร่งมีความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะ เวลานี้ที่เรากำลังเร่งเดินหน้าเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างเต็มกำลังจากผลกระทบที่ได้รับจากวิกฤตโควิด-19” Okonjo-Iweala กล่าวในแถลงการณ์

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์มองว่า การขึ้นดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการของเธอในวันที่ 1 มีนาคม 2021 อาจเผชิญกับอุปสรรคหรือแรงกดดันจากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างประเทศในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการกีดกันทางการค้า หรือการที่สหรัฐฯ บล็อกการแต่งตั้งกรรมการอุทธรณ์ของ WTO ไปก่อนหน้านี้ ซึ่งทำให้มีจำนวนสมาชิกไม่เพียงพอต่อการรับพิจารณากรณีต่างๆ เป็นต้น

แปลและเรียบเรียงโดย ชญาน์นัทช์ ธนินท์พงศ์ภัค จากบทความ Ngozi Okonjo-Iweala Becomes First Woman, African To Lead World Trade Organization เผยแพร่บน Forbes.com

อ่านเพิ่มเติมIMF คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจเกินความเป็นจริง