หอเกียรติยศ: 30 ดาวเด่นตลอดกาล จากทำเนียบ 30 Under 30 ของ Forbes ตอนที่ 1 - Forbes Thailand

หอเกียรติยศ: 30 ดาวเด่นตลอดกาล จากทำเนียบ 30 Under 30 ของ Forbes ตอนที่ 1

FORBES THAILAND / ADMIN
17 May 2022 | 08:00 PM
READ 3242

จากช่วงเวลา 10 ปี จากผู้ได้รับการเสนอชื่อ 100,000 คน จากนักปฏิวัติวงการ 6,000 คน ใน 20 อุตสาหกรรม เราได้คัดเลือกดาวเด่นตลอดกาล 30 คนเพื่อเป็นเกียรติในการฉลองครบรอบ 10 ปี ทำเนียบ 30 Under 30 ของ Forbes

ซึ่งในบรรดาคนเหล่านี้มีผู้ได้รับรางวัลโนเบล 1 คน ผู้มีอิทธิพลในสื่อโซเชียล 6 คน ราชันย์แห่งคริปโต 2 คน ผู้ผลักดันการพัฒนายานพาหนะไฟฟ้า 2 คน และนักกีฬาหญิงรายได้สูงกว่าที่เคยมีมาอีก 1 คน มาอัปเดตจากตอนนั้นที่พวกเขาเดินเข้ามาในทำเนียบ 30 Under 30 กับในตอนนี้มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง  

- รุ่นปี 2012 -

 

Daniel Ek

ตอนนั้น: ระบบทดลองสตรีมมิ่งเพลงชื่อ Spotify ของเขาเพิ่งเริ่มเข้าสหรัฐฯ โดยมีผู้ใช้งานอย่งสม่ำเสมอจำนวน 10 ล้านรายและมีมูลค่า 2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ตอนนี้: ทุกวันนี้ Spotify สตรีมเพลง 70 ล้านเพลง และมีผู้ใช้งานเกือบ 400 ล้านราย ใน 184 ตลาด บริษัทมีมูลค่า 5 หมื่นล้านเหรียญ และ Ek มีทรัพย์สิน 4.4 พันล้านเหรียญ  

Drew Houston

ตอนนั้น: Dropbox บริษัทจัดเก็บและแชร์ไฟล์ที่ Houston ร่วมก่อตั้งในปี 2007 เมื่อเขาอายุ 24 ปีได้กลายเป็นหนึ่งในสตาร์ทอัพสุดร้อนแรงแห่ง Silicon Valley ไปแล้ว ด้วยจำนวนผู้ใช้งาน 200 ล้านราย ตอนนี้: Houston ซึ่งเป็นเศรษฐีพันล้านมาตั้งแต่ปี 2014 ยังเป็นซีอีโอของ Dropbox ซึ่งเข้าตลาดหลักทรัพย์เมื่อปี 2018 ปัจจุบันมีมูลค่าตามราคาตลาด 1 หมื่นล้านเหรียญ บริษัทกล่าวว่า มีผู้ลงทะเบียนใช้บริการกว่า 700 ล้านรายแล้ว  

LeBron James

ตอนนั้น: ผู้เล่นตำแหน่งฟอร์เวิร์ดวัย 27 ปีของทีมบาสเกตบอล Miami Heat ได้เป็นหนึ่งใน NBA All-Star และถือหุ้นเล็กน้อยในสโมสรฟุตบอล Liverpool ตอนนี้: ซูเปอร์สตาร์คนนี้ได้ตำแหน่งเกียรติยศมา 4 ตำแหน่งจากการเล่นให้ 3 ทีมคือ Heat, Cleveland Cavaliers และ L.A. Lakers ซึ่งเป็นทีมปัจจุบันของเขา และเมื่ออยู่นอกสนามเขาก็ทำเงินได้กว่า 1 พันล้านเหรียญจากข้อตกลงธุรกิจกับ Nike และ Walmart รวมทั้งการรับบทในภาพยนตร์เรื่อง Space Jam: A New Legacy  

Dustin Moskovitz

ตอนนั้น: ครั้งหนึ่งผู้ร่วมก่อตั้ง Facebook คนนี้เคยเป็นเศรษฐีพันล้านอายุน้อยที่สุดที่สร้างฐานะด้วยตัวเอง เขาลาออกเมื่อปี 2008 เพื่อมาก่อตั้งบริษัทเครื่องมือเพิ่มผลิตภาพการทำงานชื่อ Asana ซึ่งเริ่มเปิดตัวซอฟต์แวร์เวอร์ชันแรกๆ ในปี 2012 ตอนนี้: Asana ซึ่งเข้าตลาดหลักทรัพย์ เมื่อเดือนกันยายน ปี 2020 มีลูกค้าที่จ่ายค่าใช้งานกว่า 100,000 ราย และมีรายได้ประมาณ 350 ล้านเหรียญต่อปี  

Ben Silbermann

ตอนนั้น: Pinterest ไม่ได้ประสบควมสำเร็จชั่วข้ามคืน Silbermann และผู้ร่วมก่อตั้ง Evan Sharp ลองผิดลองถูกกับแอปช็อปปิ้งชื่อ Tote อยู่หลายปี ก่อนจะเบนเข็มมาทำกระดานโชว์ภาพดิจิทัล ซึ่งก็ได้ผล เพราะหลังจากเปิดตัวเวอร์ชันเดสก์ท็อปได้ 1 ปี Pinterest ก็มีมูลค่าประเมิน 270 ล้านเหรียญ ตอนนี้: จำนวนผู้ใช้งานรายเดือนเพิ่มขึ้นจากปี 2020 37% เป็น 459 ล้านคน เพราะความสนใจแอปแนวไลฟ์สไตล์พุ่งพรวดในช่วงโรคระบาด ปัจจุบัน Silbermann ยังเป็นซีอีโอ และบริษัทมีมูลค่าตามราคาตลาด 3 หมื่นล้านเหรียญ  

Kevin Systrom

ตอนนั้น: Instagram เพิ่งอายุ 14 เดือนและมีพนักงานแค่ 7 คน แต่มีผู้ใช้งาน 15 ล้านคนนำฟิลเตอร์ของ IG ไปใช้แต่งภาพถ่ายของตัวเองกันแล้ว ตอนนี้: Systrom ขาย Instagram ให้ Facebook หลายเดือนหลังจากที่ชื่อของเขาปรากฏในทำเนียบ Under 30 ปัจจุบัน IG มีผู้ใช้งานกว่า 1 พันล้านรายแต่ก็มีความกังวลว่าแอปนี้จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของวัยรุ่นด้วย Systrom ผู้มีทรัพย์สิน 2.2 พันล้านเหรียญไม่ได้บริหาร IG มาตั้งแต่ปี 2018 แล้ว และโครงการล่าสุดของเขาคือ เว็บไซต์ติดตามข้อมูลโควิดที่เขาสร้างขึ้นเมื่อช่วงฤดูใบไม้ผลิปี 2020  

Mark Zuckerberg

ตอนนั้น: 8 ปีหลังจาก Zuck เริ่มสร้าง Facebook ในหอพักที่ Harvard เครือข่ายโซเชียลของเขาก็ดึงดูดผู้ใช้งานได้ถึง 845 ล้านราย และเตรียมเสนอขายหุ้น IPO มูลค่า 1 แสนล้านเหรียญในเดือนพฤษภาคม ปี 2012 ตอนนี้: ปัจจุบันบริษัทนี้ซึ่งใช้ชื่อว่า Meta มีผู้ใช้งาน 3.6 พันล้านรายทั้งใน Facebook, Instagram และ WhatsApp และมีมูลค่าตามราคาตลาดประมาณ 1 ล้านล้านเหรียญ แต่เมื่อผู้ใช้งานอายุน้อยให้ความสนใจลดลงและชื่อเสียงของแบรนด์มีปัญหา Zuckerberg จึงหันมาสนใจโลกเสมือน และไอเดียที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์อย่างการสร้างโลกที่ผสมผสานโลกจริงและโลกเสมือนเข้าด้วยกัน (metaverse)  

- รุ่นปี 2013 -

 

Patrick และ John Collison

ตอนนั้น: Patrick และ John สองพี่น้องผู้เกิดในไอร์แลนด์ออกจาก MIT และ Harvard เพื่อร่วมกันก่อตั้ง Stripe ตอนต้นปี 2010 เมื่ออายุ 21 และ 19 ปีตามลำดับ พวกเขาได้แนวคิดเรื่องการรับชำระเงินด้วยบัตรเครดิตผ่านเว็บได้ระหว่างวันหยุดพักผ่อนที่อเมริกาใต้ ตอนนี้: Stripe เป็นสตาร์ทอัพมูลค่า 9.5 หมื่นล้านเหรียญซึ่งสูงเป็นอันดับ 2 ของสหรัฐฯ และพวกเขาแต่ละคนถือหุ้นมูลค่า 9.5 พันล้านเหรียญ ส่วน Patrick ผู้เป็นซีอีโอก็กำลังเพิ่มความหลากหลายให้ Stripe ด้วยการเพิ่มเครื่องมือด้านคริปโตและการเก็บภาษี รวมถึงบริการอื่นๆ ก่อนจะเสนอขายหุ้น IPO ที่มีคนรอคอยกันมากตัวนี้  

Rihanna

ตอนนั้น: นักร้องเพลงป๊อปชื่อดังวัย 24 ปี ได้ทำสัญญาเป็นผู้สนับสนุนสินค้าให้ Vita Coco, Nivea และน้ำหอม Reb’l Fleur ตอนนี้: Rihanna เป็นเศรษฐีพันล้านไปแล้ว ซึ่งต้องขอบคุณ Fenty Beauty กิจการที่เธอถือหุ้นร่วมกับ LVMH ในสัดส่วน 50% เท่าๆ กัน เครื่องสำอางสำหรับทุกสีผิวแบรนด์นี้มีมูลค่าประมาณ 2.8 พันล้านเหรียญ ส่วนแบรนด์ชุดชั้นใน Fenty ของเธอซึ่งได้ Jay-Z ร่วมลงทุนก็ระดมทุนด้วยมูลค่าประเมิน 1 พันล้านเหรียญไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2021  

Zhang Yiming

ตอนนั้น: เขาก่อตั้ง ByteDance เมื่อปี 2012 ในอะพาร์ตเมนต์ 4 ห้องนอนใน Beijing และเปิดตัวแอปรวบรวมข่าวสาร Toutiao ในหลายเดือนต่อมา ตอนนี้: TikTok แอปอายุประมาณ 5 ปีของ ByteDance มีผู้ใช้งานกว่า 1 พันล้านรายทั่วโลก แต่อนาคตของแอปนี้จะอยู่ในมือของคนอื่นที่ไม่ใช่ Zhang เพราะเขาสละตำแหน่งประธานกรรมการของ ByteDance ไปเมื่อเดือนพฤศจิกายนในปีที่ผ่านมา ในช่วงที่รัฐบาลจีนกดดันเหล่าซีอีโอระดับสูงหนักขึ้น  

- รุ่นปี 2014 -

 

Miley Cyrus

ตอนนั้น: นักร้องเพลงป๊อปชื่อดังวัย 21 ปี เพิ่งปล่อยอัลบั้มขายดีที่สุดของเธอชื่อ Bangerz และกลายเป็นข่าวพาดหัวจากโชว์เต้นทเวิร์กสุดฉาวของเธอในงาน MTV Video Music Awards จากเด็กคนหนึ่งก้าวขึ้นสู่คนมีชื่อเสียง อันเป็นผลพวงมาจากบทบาทในซีรีส์ทีวียอดนิยม Hannah Montana ของ Disney ตอนนี้: Cyrus ออกเพลงมาอีก 3 อัลบั้ม และมีผู้ติดตาม 152 ล้านคนใน Instagram เธอก่อตั้งมูลนิธิ Happy Foundation เพื่อให้ความช่วยเหลือชาว LGBTQ+ และวัยรุ่นที่ประสบปัญหาชีวิต และเธอเป็นผู้ลงทุนในสตาร์ทอัพหลายบริษัท ซึ่งรวมถึง FanMade บริษัทช่วยสร้างประสบการณ์สำหรับเหล่าซูเปอร์แฟน และบริษัทผลิตภัณฑ์เพื่อสุขอนามัยสำหรับผู้หญิงชื่อ Hers  

Rachel Haurwitz

ตอนนั้น: Haurwitz ร่วมก่อตั้งบริษัทปรับแต่งจีโนมชื่อ Caribou Biosciences เมื่อปี 2011 โดยต่อยอดจากงานวิจัยด้าน Crispr ที่เธอทำร่วมกับผู้ร่วมก่อตั้ง (ซึ่งต่อมาได้รับรางวัลโนเบล) ชื่อ Jennifer Doudna และในเดือพฤษภาคม ปี 2014 Haurwitz ก็ร่วมก่อตั้งบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพอีกแห่งชื่อ Intellia Therapeutics ซึ่งใช้ระบบการปรับแต่งยีน Crispr เช่นกัน ตอนนี้: ทุกวันนี้ทั้งสองบริษัทอยู่ในตลาดหลักทรัพย์โดยมีมูลค่าตามราคาตลาดรวมกันกว่า 1 หมื่นล้านเหรียญและมียาที่กำลังได้รับการทดสอบทางคลินิกขั้นต้นหลายตัว  

Evan Spiegel

ตอนนั้น: วัยรุ่นชอบ Snapchat และชอบแนวคิดหลักของแอปนี้ นั่นคือภาพถ่ายที่หายไปเองได้ แอปของ Spiegel มีผู้ใช้งาน 50 ล้านราย ซึ่งมีค่ากลางของกลุ่มอายุอยู่ที่ประมาณ 18 ปี ขณะที่ Facebook ก็ชอบ Snapchat เหมือนกัน และ Mark Zuckerberg เคยขอซื้อบริษัทนี้ด้วยราคา 3 พันล้านเหรียญ แต่ Spiegel ปฏิเสธ ตอนนี้: แอปนี้เปลี่ยนชื่อเป็น Snap และมีผู้ใช้งานกว่า 500 ล้านราย Spiegel ผู้เป็นซีอีโอและเศรษฐีพันล้านพา Snap โดดเข้าสู่เทคโนโลยีโลกเสมือนผสานโลกแห่งความเป็นจริง ซึ่งนำภาพและสิ่งแวดล้อมในโลกดิจิทัลมาวางร่วมกับสิ่งต่างๆ ในโลกจริงรอบตัวเราได้  

Malala Yousafzai

ตอนนั้น: เธอถูกกลุ่มตาลีบันยิงเมื่ออายุ 15 ปีฐานเป็นตัวแทนเด็กผู้หญิงออกมาพูดต่อหน้าสาธารณชนเรื่องสิทธิการได้ไปโรงเรียนและได้รับการศึกษา นักเรียนชาวปากีสถานคนนี้ร่วมก่อตั้งกองทุน Malala Fund ในปี 2013 เพื่อช่วยเหลือคนอื่นๆ ที่เป็นเหมือนเธอ รวมทั้งออกหนังสืออัตชีวประวัติชื่อ I Am Malala ด้วย และในเดือนธันวาคม ปี 2014 Yousafzai ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพโดยเป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลอายุน้อยที่สุดที่เคยมีมา ตอนนี้: เธอได้รับการเสนอชื่อให้เป็นผู้ส่งสารสันติภาพ (Messenger of Peace) ที่อายุน้อยที่สุดของ U.N. ในปี 2017 กองทุนของเธอระดมทุนได้กว่า 100 ล้านเหรียญ และเธอยังวิพากษ์วิจารณ์กลุ่มตาลีบันต่อไป   รุ่นปี 2015 เป็นต้นไป โปรดติดตามตอนต่อไป...   โดย: STEVEN BERTONI, ELISABETH BRIER, ABRAM BROWN, MICHAEL DEL CASTILLO, AMY FELDMAN, JEFF KAUFLIN, SERGEI KLEBNIKOV, ALEX KNAPP, ALEX KONRAD, ALAN OHNSMAN, CHASE PETERSON-WITHORN, CHLOE SORVINO, ALEXANDRA STERNLICHT และ ALEXANDRA WILSON. เรียบเรียง: ธรรดร โสตถิอำรุง ภาพ: ATIBA JEFFERSON/NBAE/GETTY IMAGES; IMAGINE CHINA/NEWSCOM; GUERIN BLASK; DEAN MACKENZIE; COURTESY OF STRIPE; JAMEL TOPPIN อ่านเพิ่มเติม:
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนเมษายน 2565 ในรูปแบบ e-magazine