เปิดห้องนอนมหาเศรษฐี เบื้องหลังความสำเร็จคือการพักผ่อนให้เพียงพอ - Forbes Thailand

เปิดห้องนอนมหาเศรษฐี เบื้องหลังความสำเร็จคือการพักผ่อนให้เพียงพอ

หลายคนอาจมีความเชื่อว่า หากอยากประสบความสำเร็จ ต้องทำงานให้มาก และนอนให้น้อย เพราะการนอนเท่ากับขี้เกียจ มหาเศรษฐีและนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จระดับแนวหน้าของโลกต่างก็นอนน้อย แต่ความเชื่อนี้ผิดถนัด แท้จริงแล้วการนอนหลับพักผ่อนคือปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความสำเร็จ


    Bill Gates มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้ง Microsoft เคยเล่าว่าสมัยเริ่มบริษัทใหม่ๆ บางครั้งเขาไม่ได้นอนติดต่อกันหลายคืนเพื่อทำงานส่งลูกค้า ส่วน Elon Musk ซีอีโอแห่ง Tesla และ SpaceX ก็เผยว่าเขานอนเพียง 6 ชั่วโมงต่อคืน และทำงานมากถึง 120 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ สูงกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ซึ่งเป็นชั่วโมงการทำงานโดยทั่วไปถึง 3 เท่า

    “ไม่มีใครเปลี่ยนโลกได้จากการทำงานเพียง 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ครับ” Musk กล่าว แนวคิดของเขาคือ ยิ่งทำงานมากก็ยิ่งเข้าใกล้ความสำเร็จได้เร็วขึ้น

    แต่หากการนอนน้อยส่งผลต่อความสำเร็จจริง เหตุใดนักบาสเกตบอลมืออาชีพ LeBron James ที่เคยเผยว่าตัวเองนอนมากถึง 12 ชั่วโมงต่อคืนจึงกลายเป็นมหาเศรษฐีพันล้านได้กันล่ะ?

    คำตอบคือการนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอ ไม่ใช่จำนวนชั่วโมงการนอนว่ามากหรือน้อย


มากหรือน้อยไม่ใช่ปัญหา สิ่งสำคัญคือนอนให้พอ

    บรรดาผู้เชี่ยวชาญต่างชี้ว่าคนเราควรนอนคืนละ 7-9 ชั่วโมง ร่างกายจึงจะได้รับการพักผ่อนเพียงพอ และพร้อมเผชิญหน้ากับงานในแต่ละวัน Bill Gates ยังเคยบอกว่าสมัยที่ทำงานหนักจนไม่ได้นอนติดกัน 2 คืน เขารู้ตัวเลยว่าสมองไม่แล่นเช่นปกติ ยิ่งเมื่อพ่อของเขาเป็นโรคอัลไซเมอร์ Gates ก็ยิ่งตระหนักถึงความสำคัญของการนอนซึ่งมีผลต่อภาวะสมองเสื่อม


Bill Gates


    อย่างไรก็ตาม ในโลกนี้มีคนที่เป็น Short Sleeper Syndrome (SSS) หรือมียีนพิเศษ ทำให้พวกเขานอนหลับเพียง 4-6 ชั่วโมงก็สดชื่นเต็มอิ่มแล้ว ปราศจากความรู้สึกง่วง งัวเงีย หรืออ่อนเพลีย โดยคนกลุ่มนี้มีเพียงราว 1% ในโลกเท่านั้น บรรดาคนดังที่ทั่วโลกน่าจะรู้จักชื่อพวกเขากันดี เช่น Barack Obama, Elon Musk และ Rihanna เป็นต้น

    Short Sleeper Syndrome ต่างจากโรคนอนไม่หลับ (Insomnia) โดยสิ้นเชิง ผู้ที่เป็นโรคนอนไม่หลับจะนอนหลับยาก นอนหลับไม่ต่อเนื่องตลอดคืน และตื่นมารู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนแรง สมองทำงานได้ไม่เต็มที่ ซึ่งชัดเจนว่าเป็นอาการนอนหลับไม่เพียงพอ และส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกาย ซึ่งสาเหตุมีทั้งอาการเจ็บป่วยอื่นๆ ที่ส่งผลต่อการนอน สภาพแวดล้อมไม่เอื้อต่อการนอน ความเครียด ความวิตกกังวล ไปจนพฤติกรรมและอาหารการกิน

    การนอนหลับอาจไม่ได้ทำให้งานเดินหน้า ทว่าร่างกายที่พักผ่อนเพียงพอ สมองสดชื่น และจิตใจแจ่มใส คือสภาวะที่เอื้อให้คุณสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และราบรื่น Jeff Bezos ผู้ก่อตั้ง Amazon เคยบอกกับ Thrive Global ในปี 2018 ว่าเขาต้องนอนให้ครบ 8 ชั่วโมงทุกคืน

    “การนอน 8 ชั่วโมงสร้างความแตกต่างอย่างยิ่งสำหรับผม และผมก็พยายามให้ความสำคัญกับมันครับ สำหรับผม มันคือสิ่งจำเป็นที่ทำให้รู้สึกตื่นตัวและมีพลัง” Bezos กล่าว

    กระทั่ง Elon Musk ที่เป็น Short Sleeper Syndrome และทำงาน 120 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ก็ยอมรับว่า “การนอนยอดเยี่ยมจริงๆ ครับ หากผมนอนไม่พอจะอารมณ์ไม่ดี” พร้อมอธิบายด้วยว่า เขานอนน้อยกว่าปกติได้ก็จริง แต่จำนวนชั่วโมงที่เขาตื่นมากขึ้น ไม่ได้หมายความว่างานจะเสร็จมากขึ้นตามไปด้วย เพราะสมองเฉียบคมน้อยลง

    อีกด้านหนึ่ง LeBron James นักบาสเกตบอล NBA ผู้ประสบความสำเร็จจนขึ้นแท่นมหาเศรษฐีพันล้านนอนหลับมากถึง 12 ชั่วโมงต่อวัน เขาจะตื่นตอนตี 5 หลังนอนครบ 8-9 ชั่วโมง และมีพักงีบระหว่างวันด้วย โดยเขาเคยให้สัมภาษณ์กับ CBS Sports ว่า “เมื่อพูดถึงการฟื้นฟูตัวเองแล้ว การนอนหลับคือสิ่งสำคัญที่สุด”

    ทั้งนี้ นอกจากโรคนอนไม่หลับแล้ว ยังมี โรคนอนมากเกินไป (Hypersomnia) อาการ เช่น รู้สึกง่วงบ่อยครั้ง นอนเท่าไหร่ก็ไม่พอ และนอนมากกว่า 8 ชั่วโมง ซึ่งส่งผลเสียต่อร่างกายรวมถึงเป็นสัญญาณบ่งบอกความเจ็บป่วยอื่นๆ ดังนั้นหากไลฟ์สไตล์และอาชีพของคุณไม่ได้เหมือนกับ James แล้วรู้สึกอยากนอนมากๆ ก็อาจต้องระมัดระวังปัญหาสุขภาพด้วยเช่นกัน



จะนอนหลับอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร?

    เมื่อการนอนหลับพักผ่อนกระทบสุขภาพกายและใจของเราโดยตรง ซึ่งมีผลต่อการทำงานอันนำไปสู่ความสำเร็จ การนอนหลับพักผ่อนอย่างมีประสิทธิภาพจึงเป็นสิ่งที่ทุกคนสมควรทำ โดยมีเคล็ดลับ ดังนี้

    ปรับตารางการใช้ชีวิต: พยายามเข้านอนและตื่นนอนให้เป็นเวลาทุกวัน หลีกเลี่ยงการนอนตื่นสายในวันหยุด และหากต้องการงีบระหว่างวันก็ไม่ควรนานเกินไป เพราะจะทำให้นอนไม่หลับตอนกลางคืน

    การออกกำลังกายช่วยให้นอนหลับง่ายและลึกขึ้นตอนกลางคืน แต่ไม่ควรออกกำลังกายเมื่อใกล้เวลาเข้านอน เพราะระบบเผาผลาญจะทำงาน อุณหภูมิร่างกายจะสูงขึ้น และยังกระตุ้นฮอร์โมนต่างๆ ควรเว้นระยะห่างของการออกกำลังกายและการเข้านอนอย่างน้อย 3 ชั่วโมง

    ควบคุมปริมาณแสงที่ได้รับ: เมลาโทนิน คือชื่อของฮอร์โมนที่ทำให้ร่างกายง่วงนอน โดยสมองจะถูกกระตุ้นให้หลั่งเมลาโทนินออกมาขณะอยู่ในที่มืดหรือมีแสงน้อย หมายความว่ากลางวันก็ควรออกไปสัมผัสแสงอาทิตย์ ส่วนตอนกลางคืนก็หลีกเลี่ยงแสงจากจอมือถือหรือคอมพิวเตอร์ก่อนนอนราว 1-2 ชั่วโมง ไม่ควรดูโทรทัศน์เพราะไม่เพียงมีแสงจากจอกเท่านั้น แต่บางรายการยังมีผลให้สมองตื่นตัวมากกว่าผ่อนคลาย

    อย่าลืมปิดม่านให้มิดชิดกันแสงจากภายนอก อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใดที่มีแสงก็ควรหาผ้ามาคลุมไว้ และปิดไฟก่อนเข้านอน

    สร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม: ลดเสียงรบกวนที่เข้ามาในห้องให้ได้มากที่สุด หรืออาจใช้ที่อุดหูช่วย ปรับอุณหภูมิห้องนอนให้เหมาะสม ไม่ร้อนหรือหนาวจนเกินไป และเลือกเตียงที่เข้ากับสรีระร่างกาย

    อาหารการกินก็สำคัญ: อาหารที่รับประทานตอนกลางวันก็ส่งผลต่อการนอนเช่นกัน อาหารที่มีผัก ผลไม้ และไขมันดีเยอะช่วยให้หลับง่ายและนานขึ้น ตรงข้ามกับแป้งและน้ำตาลที่กระตุ้นให้ตื่นตอนกลางคืน เช่นเดียวกับกาเฟอีนที่หลายคนคงทราบดีอยู่แล้วว่าเป็นสารทำให้ร่างกายตื่นตัว อาจฟังดูน่าตกใจ แต่ต้องใช้เวลา 10-12 ชั่วโมงกว่าร่างกายจะขจัดกาเฟอีนออกไปหมดหลังดื่มเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน

    แอลกอฮอล์ก็ไม่ควรดื่มใกล้เวลานอนเช่นกัน เพราะแม้จะรู้สึกว่าทำให้หลับง่าย แต่แอลกอฮอล์จะทำให้หลับไม่สนิทเท่าที่ควร

    นอกจากนี้เมื่อรับประทานอาหารแล้ว ควรเว้นระยะเวลา 2 ชั่วโมงก่อนเข้านอน และหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด เพราะจะทำให้ปวดท้อง

    ผ่อนคลายจากความกังวล: ความเครียดและวิตกกังวลจากกิจกรรมต่างๆ ระหว่างวันส่งผลต่อการนอนหลับในเวลากลางคืน การผ่อนคลายร่างกายและสมองจากความเครียดด้วยวิธีการต่างๆ เช่น อาบน้ำอุ่น หรือฟังเพลงเบาๆ จะช่วยเตรียมพร้อมให้หลับสบายขึ้น


แหล่งที่มา:

How much rest for success? 10 leader's sleep habits compared

Millionaire Sleep Habits: Do They Make All The Difference?

The Sleeping Habits & Routines of 18 Successful People

How to Sleep Better


ภาพ: Pexels และ AFP


เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : เบื้องหลังการบริหาร Netflix เมื่อ ‘ซีอีโอ 2 คน’ ผนึกกำลังพาบริษัททำรายได้เกือบหมื่นล้าน

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine