Satya Nadella ซีอีโอ Microsoft เคยระบุว่าสิ่งที่กำหนดว่าใครคือคนที่ประสบความสำเร็จนั้น สามารถสรุปออกมาได้ด้วยคำเพียง 3 พยางค์ ซึ่งนั่นก็กลายเป็นอีกหนึ่งปรัชญาการทำงานที่พนักงาน Microsoft นำมาใช้ สร้างแรงจูงใจและเพิ่มประสิทธิผลให้การทำงานด้วย
ช่วงที่ Nadella เข้ารับตำแหน่ง CEO ในปี 2014 ตอนนั้นเรียกได้ว่า Microsoft ต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นความซบเซา รวมถึงความขัดแย้งภายใน
ตามที่เขาเขียนไว้ในหนังสือ Hit Refresh ของเขาในปี 2017 เขาบอกว่าสิ่งที่เขาโฟกัสเป็นอย่างแรกคือการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมของบริษัทจากทัศนคติที่ว่า know-it-all หรือการรู้ไปหมดทุกย่าง ซึ่งจะเน้นให้พนักงานโฟกัสไปที่ความเชี่ยวชาญของตนและความถูกต้อง ไปสู่วัฒนธรรม learn-it-all หรือโหยหาการเรียนรู้ไปหมดทุกอย่าง ซึ่งให้ความสำคัญกับความอยากรู้อยากเห็น ความเห็นอกเห็นใจ ความร่วมมือ และการเติบโต
การเปลี่ยนแปลงนี้ได้รับอิทธิพลจากงานของ Carol Dweck นักจิตวิทยาผู้เสนอแนวคิดเรื่องทัศนคติการเติบโต และการยอมรับแนวคิดนี้ทำให้พนักงานของ Microsoft มีแรงจูงใจและผลิตภาพเพิ่มมากขึ้น
ในการสนทนากับ Adam Grant ศาสตราจารย์จาก Wharton เมื่อไม่กี่ปีก่อน Nadella ได้เล่าว่า “สมมติว่าคุณมีนักเรียนสองคน คนหนึ่งมีความสามารถโดยกำเนิดมากกว่า และอีกคนมีความสามารถน้อยกว่า คนที่มีความสามารถน้อยกว่าแต่สามารถเรียนรู้ทุกอย่างได้ จะเก่งขึ้นในที่สุด ซึ่งแนวคิดนี้ใช้ได้กับซีอีโอและบริษัทต่างๆ”
Nadella เน้นย้ำถึงคุณค่าของการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องที่ขับเคลื่อนโดยการเข้าใจความต้องการของลูกค้า รวมถึงการใช้ความเห็นอกเห็นใจเพื่อเรียนรู้และปรับปรุงความเป็นผู้นำและวัฒนธรรมองค์กร
ทั้งนี้ มีหลายวิธีในการนำแนวคิดหรือวัฒนธรรม learn-it-all มาปรับใช้เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน และนี่คือตัวอย่าง 4 วิธีที่เชื่อว่าทุกคนน่าจะนำไปใช้กันได้
1.ส่งเสริมการสื่อสารแบบเปิดกว้าง
ส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ทำให้พนักงานรู้สึกปลอดภัยในการแบ่งปันแนวคิด ถามคำถาม และยอมรับเมื่อพวกเขาไม่รู้บางสิ่งบางอย่าง ความเปิดกว้างจะนำไปสู่วิธีแก้ปัญหาที่สร้างสรรค์มากขึ้น รวมถึงมีพลวัตของทีมที่ดีขึ้นด้วย นอกจากนี้ Nadella ยังสนับสนุนให้พนักงานมองความผิดพลาดทุกครั้งเป็นโอกาสในการเรียนรู้ ซึ่งจะช่วยให้พนักงานล้มแล้วกล้าลุกขึ้นใหม่
2.เปิดรับและให้รางวัลแก่ความอยากรู้อยากเห็น
ความอยากรู้อยากเห็นเป็นลักษณะพื้นฐานของมนุษย์ที่ผลักดันให้เกิดการสำรวจ นวัตกรรม การเรียนรู้ และความปรารถนาที่จะเข้าใจโลกที่อยู่รอบตัวเรา ในสถานที่ทำงานที่ปลอดภัยทางจิตใจ คนที่อยากรู้อยากเห็นมีบทบาทสำคัญในการจุดประกายความคิดใหม่ๆ
ด้วยการถามคำถามและค้นหาคำตอบ ผู้คนที่อยากรู้อยากเห็นจะถูกกระตุ้นให้รู้สึกท้าทายความรู้ที่มีอยู่ และมองหาแนวทางแก้ไขที่ดีกว่า ซึ่งมักจะนำไปสู่การค้นพบมุมมอง ข้อมูลเชิงลึก และโอกาสใหม่ๆ
สิ่งสำคัญคือ ให้การยอมรับและให้รางวัลแก่พนักงานที่แสดงความอยากรู้อยากเห็นและความเต็มใจที่จะสำรวจความคิดใหม่ๆ ซึ่งไม่เพียงแต่จะจูงใจบุคคลเท่านั้น แต่นี่ยังเป็นการส่งสัญญาณไปยังผู้อื่นด้วยว่าทัศนคติแบบเรียนรู้ทุกอย่างนั้นมีค่า
3.ปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลง
สิ่งหนึ่งที่ต้องทำคือต้องเต็มใจที่จะปรับเปลี่ยนตามข้อมูลและข้อมูลเชิงลึกใหม่ๆ เพราะแนวทางการเรียนรู้ทุกอย่างต้องมีความยืดหยุ่นและคุณเองต้องเต็มใจที่จะเปลี่ยนแปลงแนวทางได้เสมอเมื่อจำเป็น ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญในภูมิทัศน์ทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน
4.ผู้นำต้องเป็นแบบอย่างของพฤติกรรมนี้ด้วย
ในฐานะผู้นำ จงนำแนวคิดการเรียนรู้ทุกอย่างมาใช้ โดยแสวงหาความรู้ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เปิดรับคำติชม และสาธิตวิธีการจัดการกับความล้มเหลวอย่างสร้างสรรค์ พฤติกรรมของคุณจะเป็นตัวกำหนดทิศทางสำหรับส่วนอื่นๆ ขององค์กร
แนวทาง learn-it-all ของ Satya Nadella มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมและธุรกิจของ Microsoft สำหรับผู้นำที่ต้องการส่งเสริมวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกันภายในทีมของตน การนำแนวคิดนี้มาใช้ จะเป็นแนวทางที่เป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพในการสร้างสถานที่ทำงานที่พร้อมเติบโตและปรับตัวได้
แปลและเรียบเรียงจาก Microsoft CEO Satya Nadella Says What Defines Successful People Comes Down to 3 Words
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : พาตัวเองไปอยู่กับคนเก่ง ไม่หยุดเรียนรู้ และเป็นที่รัก 3 คำแนะนำสู่ความสำเร็จจาก Warren Buffett
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine