โตแล้วก็ยังเลี้ยง! ผลวิจัยเผยพ่อแม่ส่วนใหญ่ยินดีช่วยค่าใช้จ่าย แม้ลูกจะโตแล้วก็ตาม - Forbes Thailand

โตแล้วก็ยังเลี้ยง! ผลวิจัยเผยพ่อแม่ส่วนใหญ่ยินดีช่วยค่าใช้จ่าย แม้ลูกจะโตแล้วก็ตาม

พ่อแม่ส่วนใหญ่วางแผนเลี้ยงลูกจนกว่าเด็กๆ จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ แต่รายงานใหม่ของ Pew Research Center เผยว่า พ่อแม่จำนวนหนึ่งยังคงให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ลูกๆ แม้เด็กน้อยในวันนั้นจะโตจนอายุ 20 ปลายๆ ถึง 30 ต้นๆ แล้วก็ตาม


    “ผู้ใหญ่รุ่นใหม่ไปถึงหลักไมล์สำคัญในชีวิต เช่น การแต่งงาน หรือการเป็นพ่อคนแม่คน ช้ากว่าแต่ก่อน แม้พวกเขาจะได้รับการศึกษาที่สูงกว่ารุ่นพ่อแม่ รวมถึงได้งานและเงินเดือนที่ดีกว่าด้วย” นักวิจัยของ Pew เผยในบทวิเคราะห์

    ในขณะเดียวกัน ผู้ใหญ่รุ่นใหม่ชาวอเมริกันมีแนวโน้มเป็นหนี้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาเพิ่มขึ้น ทั้งมูลค่ายังสูงกว่ารุ่นพ่อรุ่นแม่ของพวกเขาเสียอีก ในปี 1992 ค่าเฉลี่ยหนี้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาหลังปรับค่าเงินเฟ้อแล้วอยู่ที่ราว 6,000-7,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อคน แต่ในปี 2022 ผู้ใหญ่อายุระหว่าง 25-29 ปีเป็นหนี้การศึกษาเฉลี่ยคนละ 16,000 เหรียญ ส่วนผู้ใหญ่อายุระหว่าง 30-34 เป็นหนี้การศึกษาเฉลี่ยคนละ 20,000 เหรียญ

    รายงานของ Pew อ้างอิงจากการสำรวจในสองกลุ่มตัวอย่างเมื่อฤดูใบไม้ร่วงปีที่แล้ว กลุ่มแรกคือตัวแทนพ่อแม่ในสหรัฐอเมริกาที่มีลูกอายุระหว่าง 18-34 ปี ส่วนกลุ่มที่สองคือผู้ใหญ่ในช่วงอายุเดียวกันที่พ่อหรือแม่ยังมีชีวิตอยู่


โตแล้วก็ยังเต็มใจเลี้ยง

    ความช่วยเหลือทางการเงินมาในหลากหลายรูปแบบ ทั้งอาหารและที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะให้ฟรีๆ หรือเป็นการลดราคาก็ดี

    Pew พบว่าประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ใหญ่อายุระหว่าง 18-34 ปียังอาศัยอยู่กับพ่อแม่ โดย 57% เป็นผู้ที่มีอายุ 18-24 ปี ตามด้วย 21% ในกลุ่มอายุ 25-29 ปี และ 11% ในกลุ่มอายุ 30-34 ปี

    ในบรรดาผู้ที่ยังอาศัยอยู่กับพ่อแม่นั้น ราว 72% กล่าวว่าพวกเขามีส่วนร่วมแบ่งเบาค่าใช้จ่ายในบ้านอย่างน้อยก็ทางหนึ่ง ส่วน 65% บอกว่าพวกเขาช่วยจ่ายค่าของอุปโภคบริโภค และ 46% เผยว่าพวกเขาช่วยจ่ายค่าเช่าหรือค่าผ่อนบ้าน

    ประเด็นต่อมาคือคนกลุ่มชาติพันธุ์ใดที่มีแนวโน้มอยู่กับพ่อแม่มากที่สุด นักวิจัยของ Pew ไม่พบความแตกต่างทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญในกลุ่มช่วงอายุ 18-24 ปี แต่สำหรับกลุ่มอายุ 25 ปีขึ้นไป ชาวละตินอเมริกาและผิวดำมีแนวโน้มสูงกว่าชาวผิวขาวและเอเชียน

    นอกจากนี้ 64% ของผู้ใหญ่รุ่นใหม่ที่ยังอยู่กับผู้ปกครองเผยว่า การทำเช่นนี้มีผลเชิงบวกต่อสถานะทางการเงินส่วนตัวของพวกเขา และว่ากันตามตรง บรรดาพ่อแม่เองก็ไม่ได้ข้องใจอะไรกับสถานการณ์แบบนี้ โดย 45% ของพ่อแม่ผู้ปกครองเผยว่าการอยู่อาศัยร่วมกันดีต่อความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขากับลูกๆ ในขณะที่ 29% บอกว่าเป็นผลดีไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง


พ่อแม่ช่วยจ่าย

    พ่อแม่ 59% เผยว่าพวกเขาช่วยเหลือค่าใช้จ่ายแก่ลูกๆ ที่โตแล้วในปีที่ผ่านมา ส่วนฝั่งลูกๆ 44% บอกว่าพวกเขาได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากพ่อแม่ในช่วงเวลาเดียวกัน

    ในจำนวน 44% นั้น ส่วนใหญ่หรือก็คือ 68% อายุระหว่าง 18-24 ปี ทั้งนี้ 30% ที่อายุระหว่าง 30-34 ปีก็ได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากพ่อแม่เช่นกัน

    เมื่อคำนวณรวมจากทุกกลุ่มอายุ รายการที่พ่อแม่คอยให้ความช่วยเหลือมากที่สุดจะเป็นค่าใช้จ่ายในบ้าน (28%) ตามด้วยค่าโทรศัพท์มือถือและสมาชิกสตรีมมิง (25%) ที่พบน้อยคือค่าเช่าบ้าน (17%) ค่ารักษาพยาบาล (15%) และค่าเล่าเรียน (11%)


ผลจากการให้เงินลูก

    การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ลูกๆ ทำให้พ่อแม่ทั้งหลายรู้สึกดีกับความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขา แต่หากเจาะจงลงไปยังผลกระทบที่สำคัญที่สุด ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจนั้นหลากหลายทีเดียว

    ในบรรดาผู้ปกครองที่ลูกยังอยู่ด้วยกันที่บ้านนั้น มีเพียง 18% ที่บอกว่าได้รับผลเสีย ส่วน 27% บอกว่าได้รับผลดี ในขณะที่ส่วนใหญ่คือราว 55% เผยว่าผลกระทบนั้นไม่ดีไม่แย่

    อย่างไรก็ตาม 36% ของพ่อแม่ที่ช่วยเหลือลูกๆ ด้านการเงินในปีที่ผ่านมากล่าวว่า การทำเช่นนั้นกระทบการเงินของพวกเขาเอง “อย่างน้อยก็นิดหนึ่ง” โดยเฉพาะกลุ่มพ่อแม่ที่มีรายได้น้อย


ลูกๆ ก็ช่วยจ่ายเหมือนกัน

    แม้จะเป็นส่วนน้อย แต่ผู้ใหญ่รุ่นใหม่ 33% ได้ช่วยเหลือทางการเงินแก่พ่อแม่ในปีที่ผ่านมา โดยพ่อแม่ 14% เผยว่าได้รับความช่วยเหลือจากลูกๆ ในช่วงเวลาดังกล่าว

    “ลูกๆ ที่มีรายได้น้อย (43%) มีแนวโน้มให้การสนับสนุนเรื่องเงินแก่พ่อแม่มากกว่ากลุ่มรายได้ปานกลาง (28%) หรือรายได้สูง (19%)” รายงานของ Pew เผย โดยในทางกลับกัน พ่อแม่ผู้ปกครองที่มีรายได้น้อยก็มีสัดส่วนได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากลูกๆ มากกว่ากลุ่มรายได้ปานกลางและรายได้สูงเช่นกัน

    สำหรับเงินสนับสนุนที่พ่อแม่ได้รับนั้นมาจาก โอกาสพิเศษ (38%) ได้รับเป็นประจำ (31%) และทั้งสองกรณี (30%)


แปลและเรียบเรียงจาก Many parents say they are still financially subsidizing their adult children


เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : 5 วิธีรับมือพฤติกรรม HENRY "กินหรู อยู่สบาย" รายได้สูง แต่ไม่มีเงินเหลือเก็บ

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine