LVMH อาณาจักรเหนือกาลเวลาของ Bernard Arnault - Forbes Thailand

LVMH อาณาจักรเหนือกาลเวลาของ Bernard Arnault

FORBES THAILAND / ADMIN
21 Apr 2020 | 08:30 AM
READ 6325

จากการถักทอธรรมเนียมนิยมเข้ากับสมัยนิยม ทำให้ Bernard Arnault แห่ง LVMH สามารถสร้างอาณาจักรสินค้าหรูขนาดใหญ่ที่สุดในโลกและทรัพย์สิน 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ และวันนี้เขาพร้อมขยายดินแดนอีกครั้ง

Louis Vuitton ซึ่งเป็นเครื่องจักรทำเงินให้กับกลุ่มธุรกิจ บรรดานักวิเคราะห์ระบุว่า Louis Vuitton ทำรายได้ถึงเกือบ 1 ใน 4 ของรายรับรวมของ LVMH ในปี 2018 ซึ่งมีรายได้ 5.4 พันล้านเหรียญ และกำไรสูงถึง 47% (LVMH แบ่งรายได้ตามกลุ่มธุรกิจ 5 อันดับแรกแต่ไม่ได้แบ่งตามแต่ละแบรนด์) กระเป๋า เสื้อผ้า และเครื่องประดับของ Vuitton เป็นสูตรผสมที่ไม่เคยหยุดนิ่งของความคลาสสิกและร่วมสมัย ไม่เคยวางจำหน่ายแบบค้าส่งหรือลดราคา เช่น ปุ่มเปิดกระเป๋ารุ่นพิเศษมูลค่า 8,600 เหรียญของกระเป๋ารุ่น Capucines ซึ่งทำจากหนังสีเทอร์ควอยซ์ พร้อมลายปะที่เป็นผลงานการออกแบบของ Tschabalala Self ศิลปินวัย 29 ปีจาก Harlem ขณะที่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา Virgil Abloh ชาวอเมริกันวัย 39 ปี ซึ่งเป็นนักออกแบบผลิตภัณฑ์สำหรับบุรุษคนใหม่ของ Vuitton สร้างความฮือฮาตั้งแต่คอลเล็คชั่นแรกทันทีด้วยกระเป๋าเรืองแสงที่ใช้เส้นใยแก้วนำแสง ทำให้สัญลักษณ์ LV เรืองแสงเป็นสีรุ้ง “ทำไมแบรนด์อย่าง Louis Vuitton กับ Dior จึงประสบความสำเร็จมากมายนักหรือ” Arnault ตั้งคำถาม “เพราะแบรนด์ดังกล่าวมีสองสิ่งที่อาจจะฟังดูขัดแย้งกัน นั่นคือ อยู่เหนือกาลเวลาและมีความทันสมัยที่สุด เหมือนน้ำกับไฟ” ความย้อนแย้งดังกล่าวนำมาสู่ยอดขายและกำไรเป็นประวัติการณ์ของ LVMH ซึ่งมีแบรนด์ในสังกัดกว่า 70 แบรนด์ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น Fendi, Bulgari, Dom Pérignon หรือ Givenchy ซึ่งมีส่วนผลักดันราคาหุ้นของ LVMH ให้สูงขึ้นเกือบสามเท่าตัวในเวลาไม่ถึง 4 ปี Arnault ร่วมกับครอบครัวถือหุ้นในบริษัท 47% ปัจจุบันเขามีมูลค่าทรัพย์สิน 1.02 แสนล้าน มากกว่าปี 2016 ถึง 6.8 หมื่นล้านเหรียญ พร้อมครองตำแหน่งบุคคลที่รวยเป็นอันดับ 3 ของโลกต่อจาก Jeff Bezos (1.10 แสนล้าน) และ Bill Gates (1.06 แสนล้าน) ในวัย 70 ปี เส้นทางของ Arnault ยังคงยาวไกล ช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา LVMH ยื่นข้อเสนอ 1.45 หมื่นล้านขอซื้อ Tiffany ซึ่งเป็นร้านค้าอัญมณีอายุเก่าแก่ 182 ปีแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย ซึ่งหากการเจรจาสำเร็จจะกลายเป็นการเข้าซื้อกิจการครั้งใหญ่ที่สุดของ Arnault เลยทีเดียว “ถ้าเปรียบเทียบกับ Microsoft เราก็ยังคงเป็นบริษัทเล็กๆ” Arnault กล่าว อันที่จริงแล้ว LVMH มีมูลค่าตลาด 2.14 แสนล้านเหรียญ ตามหลังยักษ์ใหญ่แห่งอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ซึ่งมีมูลค่าตลาด 1.1 ล้านล้านเหรียญอยู่ไกลลิบ “ตอนนี้ยังแค่เริ่มต้นเท่านั้น” เมื่อมองย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นของ Arnault ในย่านอุตสาหกรรมทางภาคเหนือของฝรั่งเศสนับว่าแตกต่างกับอาณาจักรอันเปล่งประกายที่เขาครอบครองอยู่ในเวลานี้เหลือเกิน ตอนแรกเขาชอบดนตรี แต่ขาดพรสวรรค์ที่จะเป็นนักเปียโนอาชีพได้ หลังจากจบการศึกษาจากโรงเรียนวิศวกรรมระดับแนวหน้าของฝรั่งเศสในปี 1971 เขาจึงหันไปร่วมงานกับคุณพ่อในบริษัทก่อสร้างที่คุณปู่ก่อตั้งขึ้นในเมือง Roubaix บทสนทนาครั้งหนึ่งกับคนขับรถแท็กซี่ใน New York ปีเดียวกันนั้นเองที่บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ ที่ต่อมาเติบโตขึ้นเป็น LVMH ตอนนั้น Arnault ถามคนขับรถแท็กซี่ว่า รู้จักประธานาธิบดีฝรั่งเศส Georges Pompidou หรือไม่ คนขับตอบว่า “ไม่รู้จัก รู้จักแต่ Christian Dior” เมื่ออายุได้ 25 ปี Arnault รับหน้าที่ดูแลกิจการของครอบครัวหลังจากที่ François Mitterrand นักสังคมนิยมได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีฝรั่งเศสในปี 1981 Arnault ก็ย้ายมาอยู่สหรัฐอเมริกาและพยายามสร้างกลุ่มธุรกิจขึ้นที่นั่น เขามีความทะเยอะทะยานที่ยิ่งใหญ่กว่าการก่อสร้าง และต้องการธุรกิจที่จะสามารถขยายขนาดได้ โดยเกี่ยวข้องกับรากหญ้าของฝรั่งเศส แต่ทั่วโลกสามารถเข้าถึงได้ ในปี 1984 เมื่อ Arnault ทราบว่ามีการเสนอขาย Christian Dior เขาคว้าโอกาสไว้ทันที ในเวลานั้น Boussac บริษัทแม่ของ Christian Dior ซึ่งดำเนินธุรกิจสิ่งทอและผ้าอ้อมสำเร็จรูปล้มละลาย ขณะที่รัฐบาลฝรั่งเศสกำลังมองหาผู้ที่จะเข้าซื้อพอดี Arnault นำเงินของครอบครัวยื่นข้อเสนอ 15 ล้านเหรียญ และ Lazard ให้ส่วนที่เหลือจากราคาซื้อทั้งสิ้น 80 ล้านเหรียญ สื่อต่างๆ รายงานว่า ตอนนั้น Arnault สัญญาว่าจะฟื้นฟูกิจการและรักษาการจ้างงานไว้ แต่เขากลับไล่คนงานออก 9,000 คน พร้อมขายกิจการออกไปเกือบทั้งหมดโกยเงินเข้ากระเป๋า 500 ล้านเหรียญ นักวิจารณ์ถึงกับผงะในความกล้าบ้าบิ่นนี้ ซึ่งดูมีความเป็นอเมริกันมากกว่าความเป็นผู้ดีแบบฝรั่งเศสต่อมาสื่อขนานนาม Arnault ว่าเป็น “หมาป่าในเสื้อคลุมแคชเมียร์” หลังจากที่ครอบครอง Louis Vuitton Moët Hennessy ได้แล้ว Arnault เดินหน้าทุ่มทุนอีกหลายพันล้านเข้าซื้อบริษัทชั้นนำต่างๆของยุโรป ทั้งในด้านแฟชั่น น้ำหอม อัญมณีและนาฬิกา ตลอดจนไวน์และเหล้าสปิริตชั้นดี นับตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา LVMH ซื้อกิจการไปทั้งสิ้น 20 แบรนด์ รวมแล้วเป็น 79 แบรนด์ ในปี 2011 LVMH ลงทุนอีกเกือบ 5 พันล้านเหรียญเพื่อซื้อ Bulgari ผู้ค้าอัญมณีจากอิตาลีโดยส่วนใหญ่เป็นการชำระด้วยหุ้น ก่อนที่อีก 2 ปีต่อมาจะเข้าซื้อ Loro Piana ซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่ายเสื้อผ้าขนสัตว์ชั้นดี ซึ่งรายงานข่าวเผยว่า ราคาอยู่ที่ 2.6 พันล้านเหรียญ ล่าสุดในเดือนเมษายน LVMH จ่ายอีก 3.2 พันล้านเหรียญเข้าซื้อ Belmond เครือโรงแรมใน London ที่เป็นเจ้าของหุ้นรายใหญ่ของโรงแรม Cipriani ที่ Venice รวมถึงสายรถไฟหรูอย่าง Orient Express และที่พักหรูสไตล์ซาฟารีอีก 3 แห่งใน Botswana “Bernard Arnault คือนักล่า ไม่ใช่นักสร้าง” นายธนาคารผู้ใกล้ชิดกับสัญญา Boussac กล่าว แต่ใช่ว่าการเข้าครอบครองกิจการจะประสบความสำเร็จไปเสียทั้งหมด ในปี 2001 ในศึกที่สื่อมวลชนเรียกว่าเป็น “สงครามกระเป๋าถือ” เพื่อชิงอำนาจคุมแฟชั่นเฮาส์ชื่อดังของอิตาลีอย่าง Gucci นั้น Arnault ปราชัยให้กับ François Pinault ชาวฝรั่งเศส ซึ่งเป็นคู่แข่งด้านสินค้าหรูเหมือนกัน ตลอดทศวรรษถัดมา LVMH ใช้กลยุทธ์ “ซุกซ่อน” แบบที่กองทุนเฮดจ์ฟันด์นิยมใช้กันคือ แลกเปลี่ยนหุ้นโดยชำระด้วยเงินสด เพื่อแอบเข้าซื้อหุ้น 17% ของ Hermès บริษัทที่มีอายุยาวนาน 182 ปีผู้ผลิตผ้าพันคอไหมชั้นดีและกระเป๋า Birkin อันโด่งดัง อย่างไรก็ตาม หลังการต่อสู้อันยาวนานสิ้นสุดลงในปี 2017 Hermès ก็สามารถขจัด Arnault ออกไปได้ โดย LVMH ยอมทิ้งหุ้นส่วนใหญ่ของบริษัทที่ถืออยู่ใน Hermès Arnault มีรูปร่างผอมบาง สูง 6 ฟุต 1 นิ้ว แต่ยังคงแข็งแรงเนื่องจากเล่นเทนนิสสัปดาห์ละ 4 ชั่วโมง บางครั้งก็เล่นกับ Roger Federer เพื่อนของเขาเอง “อย่างที่คุณเห็น ผมไม่อยากอ้วน จึงเล่นกีฬาเยอะมาก” กีฬาเหล่านี้เป็นเพียงกิจกรรมยามพักจากตารางการทำงานอย่างหนักซึ่งเริ่มตั้งแต่ 6.30 น. ในคฤหาสน์ศตวรรษที่ 17 ซึ่งตั้งอยู่ภายใน 7th Arrondissement อันหรูหราบนฝั่ง Left Bank กรุง Paris ทุกๆ เช้าเขาจะเริ่มต้นวันใหม่ด้วยการฟังเพลงคลาสสิก กวาดสายตาอ่านข่าวที่เกี่ยวกับธุรกิจ ส่งข้อความหาสมาชิกครอบครัวและหัวหน้าแบรนด์ต่างๆ “สิ่งที่ผมคิดทุกเช้าคือ ความหลงใหลในแบรนด์จะยังคงต้องแข็งแกร่งไปอีก 10 ปี นี่คือกุญแจสู่ความสำเร็จของเราอย่างแท้จริง” ไม่เกิน 8.00 น. เขาก็มาถึงที่ทำงานที่ 22 Avenue Montaigne และจะใช้เวลาที่นี่ไปจนถึง 21.00 น. บางครั้งจะพักสัก 20-30 นาที เล่นแกรนด์เปียโนของ Yamaha ในห้องหนึ่งตรงโถงทางเดินจากห้องทำงานของเขาบนชั้น 9 เมื่อถามเหล่าทายาทของ Arnault ว่า สักวันหนึ่งคิดว่าใครมีโอกาสก้าวขึ้นเป็นผู้นำบริษัทมากที่สุด ทุกคนเลี่ยงตอบคำถามราวกับอ่านบทมาเหมือนกัน “คุณพ่อยังหนุ่มอยู่มาก” Delphine กล่าว ขณะที่ Alexandre บอกว่า “คุณพ่อจะทำงานไปอีก 30 ปี” ส่วน Antoine หัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กรของ LVMH และนายใหญ่ Berluti กล่าวว่า “ผมไม่คิดว่าคุณพ่อจะหยุดทำงานเลย” และ Frédéric บอกว่า “เราไม่เคยคิดกันถึงเรื่องนี้เลย เราหวังว่าคุณพ่อจะอยู่ในตำาแหน่งไปอีกนานที่สุดเท่าที่จะทำได้” ขณะที่ Arnault เล่าว่า “มีคนถามผมตลอด ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับเครือบริษัทคือ เราได้คนที่ดีที่สุด ต้องรอดูว่าจะเป็นคนในหรือนอกครอบครัว” แล้วเขาจะทำงานไปอีกนานแค่ไหนหรือ “ผมยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเลิกเลย”
คลิกอ่านการจัดอันดับ 50 มหาเศรษฐีฮ่องกง ประจำปี 2020 ได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับ มีนาคม 2563 ในรูปแบบ e-magazine สรพหล นิติกาญจนา