IWG บริหารการเงินแบบอนุรักษ์นิยม ท่ามกลางวิกฤต - Forbes Thailand

IWG บริหารการเงินแบบอนุรักษ์นิยม ท่ามกลางวิกฤต

FORBES THAILAND / ADMIN
23 Sep 2020 | 10:47 AM
READ 1494

ขณะที่ WeWork อาจจะเอาตัวไม่รอดจากการระบาดของไวรัสโคโรนาแต่สถานการณ์ของ IWG บริษัทในสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นคู่แข่งรายใหญ่และเก่าแก่ที่สุดของพวกเขานั้นกลับมีแนวโน้มดีทีเดียวว่าจะรอดจากโรคระบาดในครั้งนี้ และยังเจริญรุ่งเรืองหลังพ้นภาวะวิกฤตอีกด้วย และนี่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับ Mark Dixon เพราะเขาเคยดูหนังม้วนนี้ฉายมาแล้ว

เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมาขณะที่ Mark Dixon ผู้ก่อตั้ง IWG กำลังเดินอยู่ในอาคารสำนักงานอันทันสมัยแห่งหนึ่งในย่านการเงินใน London เขาหยุดจัดผนังไม้แผ่นหนึ่งที่เฉออกมาให้เข้าที่ ก่อนเดินเลี้ยวเข้าห้องประชุมที่อยู่ใกล้ๆ เมื่อมองออกไปจากห้องประชุมนั้นจะเห็นภาพตระการตาของวิวเมืองตีกรอบด้วยเส้นขอบฟ้า “นั่นตึกใหม่ Brookfield” เขาเอ่ยขึ้นขณะมองออกนอกหน้าต่างไปยังตึกระฟ้าดารดาษ “เราอยู่ที่ตึกนั้น” Dixon กวาดสายตามองไปทางซ้ายมือ “เราอยู่ที่ Gherkin ด้วย” เขากล่าว พร้อมชี้ไปยังอาคารทรงลูกบอลอันโด่งดัง จากนั้นมองไปทางขวามือ “และที่ NatWest Tower ตรงนั้นด้วย” สำหรับคนที่ไม่เคยได้ยินชื่อนี้มาก่อน Dixon อยู่ทุกหนทุกแห่ง International Workplace Group (IWG) หรือชื่อเดิมคือ Regus บริษัทในสวิตเซอร์แลนด์ของเขานั้นจะทำการเช่า พัฒนา และปล่อยให้เช่าพื้นที่สำนักงานแบบยืดหยุ่น ไม่ว่าจะเป็นห้องประชุม สำนักงาน หรือพื้นที่สำหรับทำงานร่วมกัน รวมแล้วกว่า 3,300 แห่ง ใน 1,200 เมือง กระจายอยู่ใน 110 ประเทศทั่วโลก ทำให้เขาเป็นผู้บริหารพื้นที่ให้เช่าแบบยืดหยุ่นรายใหญ่ที่สุดในโลก ทิ้งคู่แข่งอย่าง WeWork ซึ่งมีพื้นที่ให้เช่าสำหรับทำสำนักงาน 739 แห่งใน 140 ประเทศ และมีการประชาสัมพันธ์มากกว่า (แต่ก็ตกอยู่ในสภาวะลำบากมากกว่าด้วย) แบบไม่เห็นฝุ่น อย่างไรก็ตาม นั่นทำให้ Dixon ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้ง ซีอีโอ และผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของIWG ได้รับผลกระทบอย่างจังท่ามกลางภาวะโรคระบาดที่ทำให้ต้องปิดสถานที่ทำงานลงหลายแห่งทั่วโลก เมื่อครั้งที่ตลาดหุ้นแตะระดับสูงสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ มูลค่าทรัพย์สินของ Dixon ทะยานสูงสุดเป็นประวัติการณ์จนเกือบถึง 2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่เมื่อเกิดการระบาดของไวรัสโคโรนาพนักงานจำนวนมากจึงต้องทำงานที่บ้าน ส่งผลให้หุ้นIWG ทรุดตัวลงร้อยละ 75 เช่นเดียวกับผู้บริหารธุรกิจเรือสำราญและสายการบินต่างๆ เมื่อ Forbes จัดทำทำเนียบมหาเศรษฐีพันล้านของโลกเมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา Dixon ซึ่งถือหุ้นของบริษัทราวร้อยละ 30 ก็ไม่ติดโผหลังจากมูลค่าทรัพย์สินหายไปกว่า 1 พันล้านเหรียญในเวลาเพียงเดือนเดียว จนเหลืออยู่ที่ประมาณ 800 ล้านเหรียญ “เป็นพายุลูกใหญ่ในรอบ 100 ปีเลยทีเดียว” Dixon กล่าวหลังเดินทางเยือน London ได้ 2 สัปดาห์ เวลานี้เขากักตัวอยู่ในอะพาร์ตเมนต์ที่โมนาโก นโยบาย work from home ของบริษัทต่างๆ และมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาลกระทบต่อความต้องการใช้พื้นที่ทำงานร่วมไวรัสโคโรนาระบาดลุกลามไปยังประเทศแล้วประเทศเล่า ทำให้ IWG ต้องปิดพื้นที่ให้เช่าหลายแห่งเป็นการชั่วคราวเพื่อทำความสะอาด ซึ่งรวมถึง 90 แห่งในประเทศจีน (บริษัทบอกว่า ตอนนี้ทุกแห่งกลับมาเปิดให้บริการตามปกติแล้ว) เมื่อกลางเดือนมีนาคม มีรายงานว่า Dixon เองยังต้องทำจดหมายถึงเจ้าของสถานที่ในสหราชอาณาจักรเพื่อขอคงค่าเช่าเป็นเวลา 3 เดือน แลกกับการขยายสัญญาเช่าไปอีก 3 เดือน ไม่กี่วันหลังจากนั้น เขาประกาศยกเลิกการจ่ายเงินปันผลงวดต่อไป พร้อมระงับแผนซื้อคืนหุ้น อันเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะ “ลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานจำกัดค่าใช้จ่ายทั้งในด้านการลงทุน การซ่อมบำรุง และขยายธุรกิจ และรักษากระแสเงินสดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม” ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนธุรกิจ เพื่อให้แน่ใจว่า บริษัทที่บริหารการเงินแบบอนุรักษ์นิยมของเขานั้นไม่เพียงแต่จะต้านทานโรคระบาดได้เท่านั้น แต่จะรอดพ้นมาได้อย่างแข็งแกร่งกว่าที่เคยอีกด้วย ซึ่งมีความเป็นไปได้ด้วย 2 เหตุผลด้วยกันคือ เขาเคยผ่านประสบการณ์นี้มาแล้วหลังจากที่เอาตัวรอดจากวิกฤตฟองสบู่ดอทคอม ที่ทำให้เขาเกือบต้องปิดกิจการเลยทีเดียว และอีกอย่างคือ เขาบริหารธุรกิจอย่างเป็นระบบ ตรงกันข้ามกับ WeWork ที่เดินตามตำราของ Silicon Valley คือ ทุ่มหมดหน้าตักเพื่อขยายกิจการ จนทำให้สูญรายได้ราว 2.2 พันล้านเหรียญจากที่เคยมีอยู่ 2.5 พันล้านเหรียญในเวลาเพียง 9 เดือนแรกของปี 2019   ขณะที่ Dixon วัย 60 ปี สร้าง IWG ขึ้นมาแบบไม่หวือหวาขนาดนั้น บริษัทของเขาเติบโตอย่างมั่นคง ให้ความสำคัญกับผลตอบแทนจากการลงทุนและกำไรที่เกิดขึ้นจริง แม้จะกว้านซื้อบริษัทคู่แข่งไปกว่า 30 แห่งตลอดทศวรรษที่ผ่านมา เมื่อปีที่แล้ว IWG มีรายได้จากการดำเนินงานสุทธิประมาณ 180 ล้านเหรียญ จากรายได้ 3.5 พันล้านเหรียญ นอกจากนี้ ยังทุ่ม 515 ล้านเหรียญเพื่อลงทุนในพื้นที่ให้เช่าสำหรับทำสำนักงานแห่งใหม่ๆ รวมถึงการซื้อคืนหุ้นมูลค่า 65 ล้านเหรียญ และจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นอีก 20 ล้านเหรียญ IWG มีเงินสดอยู่ในบัญชีราว 90 ล้านเหรียญกับหนี้สินสุทธิเล็กน้อย ซึ่งมีการชำระหนี้สินจำนวนมากในทุกๆ ปี ทำให้สถานการณ์ของ Dixon ยังคงมั่นคงในช่วงเวลาวิกฤตที่สุด “ผมเป็นคนขี้กลัว” Dixon บอก “ผมคิดว่าการทำธุรกิจมีอยู่วิธีเดียวคือ กลัวเข้าไว้ แม้จะต้องไขว่คว้าโอกาสต่างๆ แต่ก็ต้องมีความกลัวอย่างสมเหตุสมผลว่า ทุกสิ่งทุกอย่างอาจผิดพลาดได้” เขาเดิมพันว่า บริษัทต่างๆ จะยอมจ่ายเงินก้อนงามเพื่อเข้าถึงสถานที่ทำงานทั่วโลก หากมีคนคอยจัดการปัญหากวนใจต่างๆ ให้ ซึ่งการเดิมพันของเขาก็เป็นผล อย่างไรก็ตาม ธุรกิจนี้มีความอ่อนไหวสูงหากเกิดเหตุการณ์ที่สร้างความตื่นตระหนกระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น “9/11 โรคซาร์ส ไข้หวัดหมู แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิดพายุ เหตุกราดยิง หรืออะไรก็แล้วแต่ เราเจอมาหมดแล้ว” แต่ที่กระทบหนักสุดคือ ภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ดอทคอม ตอนนั้น Dixon เพิ่งจดทะเบียน IWG ใน London Stock Exchange และเริ่มเดินเครื่องเต็มกำลังในสหรัฐอเมริกา ก่อนที่ฟองสบู่เทคโนโลยีจะแตกในปี 2000 พร้อมกับฉุดความต้องการพื้นที่สำนักงานทรุดตัวลงไปด้วย ในเวลานั้น IWG สูญเงินเดือนละ 4 ล้านเหรียญเนื่องจากลูกค้าลดลง หุ้นตกลงอย่างรุนแรง ทำให้มูลค่าตามราคาตลาดของบริษัทหดตัวจากราว 3.1 พันล้านเหรียญ เหลือเพียง 55 ล้านเหรียญ Dixon เล่าย้อนให้ฟังว่า “เรากำลังจะลงเหวกันอยู่แล้ว” Dixon ยื่นขอฟื้นฟูกิจการในสหรัฐฯ เพื่อเจรจาเงื่อนไขการเช่าใหม่กับบรรดาเจ้าของสถานที่ เขาขายหุ้นที่ให้อำนาจควบคุมในธุรกิจทำกำไรในสหราชอาณาจักรออกไปให้กับบริษัทไพรเวท อิควิตี้ เพื่อนำมาเป็นทุนในการปรับโครงสร้าง ในปี 2004 เมื่อจัดการตัวเลขในบัญชีให้กลับมาเข้าที่เข้าทางได้แล้ว Dixon จึงเข้าซื้อ HQ Global คู่แข่งรายใหญ่ที่สุดของเขาที่ประสบภาวะล้มละลายอย่างรุนแรง ไม่นานนักเขาก็ซื้อธุรกิจในสหราชอาณาจักรกลับคืนมาได้สำเร็จ “พูดง่ายๆ คือเราดีดตัวออกมาเลย แต่นับจากนั้นมา เราก็มีมุมมองในการขยายธุรกิจอย่างระวังตัวแจ” ระหว่างการขยายธุรกิจ Dixon ก็ค่อยๆ เปลี่ยนให้เจ้าของสถานที่ต่างๆ เข้ามาเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ แทนที่จะเป็นเพียงผู้ขายธรรมดาๆ บางครั้ง IWG แบ่งรายได้หรือกำไรเพื่อแลกเปลี่ยนกับเงื่อนไขที่ดียิ่งขึ้น การเช่าของ IWG กว่า 1 ใน 4 มีความหลากหลายแบบนี้ จึงช่วยลดความเสี่ยงด้วยการยกประโยชน์บางส่วนให้แก่เจ้าของสถานที่ แต่ก็สร้างสภาวะกดดันให้แก่พวกเขายามตกอยู่ในสถานการณ์ลำบากด้วยเช่นกัน เมื่อไม่นานมานี้ เขาเริ่มหันมาสนใจการทำแฟรนไชส์ โดยหวังว่าจะเร่งการเติบโตผ่านการให้ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตช่วยขยายตลาดของ IWG ทั่วโลก โดยตั้งเป้ามีพื้นที่สำนักงานมากถึง 50,000 แห่งไม่เกินปี 2030 ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนและความเสี่ยงลงได้มากกว่าการลุยธุรกิจด้วยตัวเอง ในปีที่แล้ว Dixon เข้าทำสัญญาหลายฉบับเพื่อขายกิจการในญี่ปุ่น ไต้หวัน และสวิตเซอร์แลนด์ ให้กับผู้ที่ได้รับใบอนุญาต รวมแล้วเป็นเงินประมาณ 560 ล้านเหรียญ จนถึงวันนี้เขาเซ็นสัญญากับพันธมิตรแฟรนไชส์ไปอีก 28 รายแล้วเพื่อขยายกิจการในที่ต่างๆ เช่น ในประเทศเยอรมนี และกายอานา แต่แผนเหล่านี้ต้องหยุดชะงัก เนื่องจากไวรัสโคโรนาส่งผลกระทบอย่างแสนสาหัสต่อเศรษฐกิจโลก รวมถึงราคาหุ้น IWG ด้วย แต่สำหรับ Dixon ยังโชคดีเนื่องจากลูกค้าของ IWG ส่วนใหญ่ไม่ใช่ฟรีแลนซ์ หรือธุรกิจสตาร์ทอัพรายเล็ก แต่เป็นบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ เช่น HSBC และบริษัทขนาดกลางอย่าง Telos ที่กำลังมองหาสถานที่ทำงานต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉลี่ยแล้วบริษัทเหล่านี้เซ็นสัญญา 9 เดือนหรือ 1 ปีเต็ม โดยมีเพียง 10% เท่านั้นที่เซ็นสัญญาเป็นรายเดือนหรือไม่ถึงเดือน เมื่อเปรียบเทียบกับ 28% ที่ WeWork ในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรกแสดงให้เห็นว่า แม้กระทั่งก่อนไวรัสโคโรนาจะระบาด WeWork มีพื้นที่ให้เช่าเพียง 30% ที่สามารถสร้างกระแสเงินสดที่มั่นคงได้ ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้สำหรับบริษัทที่วางกลยุทธ์การเติบโตแบบก้าวกระโดด แต่สำหรับ IWG นั้น พื้นที่ให้เช่ากว่า 70% เป็นเครื่องมือสร้างรายได้อย่างมีเสถียรภาพ เนื่องจากแผนลงทุนในพื้นที่ใหม่ๆ รวมถึงการเข้าไปปรับปรุง จ่ายเงินปันผล และการซื้อหุ้นนั้นต้องพักไว้ก่อน เงินที่เข้ามาในช่วงนี้จึงจะช่วยพยุงกิจการไว้จนกว่าพายุจะสงบ ขนาดธุรกิจและผลงานของ IWG ยังทำให้ Dixon จะสามารถทบทวนการเจรจาสัญญาเช่าบางส่วนใหม่ เพื่อลดต้นทุนลงไปอีก Calum Battersby นักวิเคราะห์ในสหราชอาณาจักรผู้ดูแลหุ้นให้กับธนาคาร Berenberg Bank ใน Hamburg กล่าวว่า “ธุรกิจนี้มีการบริหารจัดการที่ดีมากและจะสามารถบรรเทาผลกระทบให้เกิดขึ้นน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้” นั่นคือสิ่งสำคัญ เพราะสุดท้ายแล้วไวรัสโคโรนาอาจเป็นประโยชน์ต่อผู้ให้บริการพื้นที่ให้เช่าแบบยืดหยุ่น ที่สามารถเอาตัวรอดได้นานพอจนสามารถกลับมาทำเงินได้รายงานจาก Zion Market Research ระบุว่า อุตสาหกรรมนี้ได้รับการคาดหมายว่าจะมีมูลค่าเพิ่ม 4 เท่าตัวไม่เกินปี 2027 แม้ในเวลานี้จะฟังดูมีความหวัง แต่โรคระบาดอาจผลักดันให้หลายคนมาสนใจใช้บริการพื้นที่ให้เช่าเหล่านี้เพิ่มขึ้น “บริษัทที่ยังไม่ได้ใช้พื้นที่เช่าแบบอเนกประสงค์ในเวลานี้ หลังจากเจอสถานการณ์อย่างนี้แล้วก็คงจะลังเลในการทำสัญญาเช่าระยะยาวไม่ว่าจะในรูปแบบใดก็ตาม” Laura Kozelouzek กล่าว เธอคือผู้ดำเนินกิจการ Quest Workspaces ซึ่งเป็นเครือข่ายพื้นที่ทำงานร่วมใน Florida และ New York “พวกเขาจะตระหนักถึงความสำคัญของความคล่องตัว เพราะไม่มีวันรู้เลยว่าอะไรจะเกิดขึ้น” “การเปลี่ยนแปลงเริ่มมีให้เห็นแล้ว แต่เหตุการณ์นี้จะยิ่งเป็นตัวเสริม” Dixon กล่าว พร้อมเตือนอย่างตรงไปตรงมาว่า “แต่ก่อนอื่นเราจะต้องผ่านวิกฤตนี้ไปให้ได้ก่อน”  
คลิกอ่านฉบับเต็ม "มองการณ์ไกล แล้วไปให้ถึง" ได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนสิงหาคม 2563 ในรูปแบบ e-magazine