'Mankind Pharma' ก้าวที่ยิ่งใหญ่ของธุรกิจยาในอินเดีย - Forbes Thailand

'Mankind Pharma' ก้าวที่ยิ่งใหญ่ของธุรกิจยาในอินเดีย

FORBES THAILAND / ADMIN
11 Mar 2024 | 09:00 AM
READ 1666

​หลังจากเสนอขายหุ้น IPO ครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของอินเดียในปี 2023 ผู้ก่อตั้ง Mankind Pharma ก็เตรียมขับเคลื่อนบริษัทให้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำ 1 ใน 3 ด้านยอดขายของอินเดีย


    Rajeev Juneja เล่าถึงวันแรกที่เริ่มเข้าสู่วงการเภสัชกรรมเมื่อปี 1984 ตอนนั้นเขาอายุ 19 ปี และตัดสินใจลาออกจากมหาวิทยาลัยเพื่อมาเป็นตัวแทนขายยาให้บริษัทผลิตยาสามัญที่เขาร่วมกันก่อตั้งกับครอบครัว Ramesh พี่ชายเขาออกคำสั่งชัดมากคือ ให้เขาออกจากบ้านตอน 8 โมงครึ่งและห้ามกลับบ้านก่อน 4 ทุ่ม โดย Rajeev ต้องไปสร้างเครือข่ายกับพวกเจ้าหน้าที่วิทยาลัยแพทย์ใกล้บ้านของครอบครัวเขาในเมือง Meerut ทางเหนือของอินเดีย “2 วันแรกผมไม่กล้าเข้าไปพบหมอเลยสักคน” เขาเล่า แต่เขาค่อยๆ มั่นใจมากขึ้น และเริ่มเดินตามพวกตัวแทนขายยาคนอื่นๆ เพื่อดูว่าพวกเขาพูดคุยกับแพทย์และนำเสนอสื่อส่งเสริมการขายกันอย่างไร

    ข้ามมาถึงปี 2023 ตอนนี้ Ramesh วัย 68 ปี เป็นประธานกรรมการ และ Rajeev วัย 58 ปี เป็นรองประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการของ Mankind Pharma แห่ง Delhi ซึ่งได้เสนอขายหุ้น IPO ครั้งใหญ่ที่สุดจนถึงวันนี้ไปเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยวัดจากมูลค่าจากเปิดการซื้อขายหุ้นครั้งแรกทั้งในตลาดหลักทรัพย์ BSE (ชื่อเดิมคือ Bombay Stock Exchange) และ National Stock Exchange (NSE) โดยทำเงินให้ผู้ถือหุ้นเดิมไปได้ 4.33 หมื่นล้านรูปี (715 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) รวมถึงครอบครัว Juneja ซึ่งขายหุ้นไปบางส่วนด้วย โดยราคาหุ้นของ Mankind พุ่งขึ้นมา 62% แล้วนับตั้งแต่ตอนนั้นไปอยู่ที่กว่า 1,700 รูปีต่อหุ้น โดยมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดกว่า 7 แสนล้านรูปี (ณ ช่วงปลายเดือนกันยายนปี 2023)  Ramesh, Rajeev และสมาชิกครอบครัวคนอื่นๆ ยังถือหุ้นส่วนใหญ่ในบริษัท ทรัพย์สินของพวกเขาทะยานขึ้น 64% เป็น 6.9 พันล้านเหรียญในช่วงปี 2022  ทั้งนี้การนำหุ้นเข้าจดทะเบียนเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยดันให้พวกเขาก้าวเข้าติดทำเนียบ India’s 100 Richest ในอันดับที่ 29 

    สิ่งที่ช่วยให้นักลงทุนมั่นใจในความสามารถการทำกำไรของบริษัทนี้อยู่ไม่น้อยเลยคือ เป้าหมายของพี่น้อง Juneja ที่จะพา Mankind ไปสู่การเป็นบริษัทยาที่มียอดขายสูงที่สุดใน 3 อันดับแรกในอินเดียให้ได้ (ด้วยยอดขายในประเทศ) ปัจจุบัน 3 อันดับแรกคือ บริษัทสัญชาติอินเดีย Sun Pharmaceutical Industries ที่ก่อตั้งโดยเศรษฐีพันล้าน Dilip Shanghvi ตามมาด้วย AbbottIndia บริษัทลูกของ Abbott Laboratories จากสหรัฐฯ และบริษัทในท้องถิ่นอีกแห่งคือ Cipla ซึ่งควบคุมโดยเศรษฐีพันล้าน Yusuf Hamied (มีรายงานว่า Torrent Pharmaceuticals ผู้เล่นอันดับ 8 ของพี่น้องเศรษฐีพันล้าน Sudhir กับ Samir Mehta กำลังพูดคุยกับบริษัทไพรเวทอิควิตี้หลายแห่งเพื่อเสนอซื้อกิจการ Cipla แต่ทั้งสองบริษัทไม่แสดงความเห็นเรื่องนี้)

Rajeev Juneja รองประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการของ Mankind Pharma


    Iqvia บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลจากสหรัฐฯ ระบุว่า ตอนนี้ Mankind มีรายได้เป็นอันดับ 4 ในตลาดยาสามัญในประเทศและมีปริมาณขายสูงสุดอยู่ในอันดับ 3 โดย Iqvia กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปี 2022 จนถึงวันที่ 31 มีนาคม ปี 2022 ยาสามัญแบบมีแบรนด์หรือยาที่ไม่อยู่ภายใต้สิทธิบัตรยา ซึ่งแต่ละบริษัทผลิตขายได้โดยใช้ชื่อการค้าของตัวเองนั้นคิดเป็น 96% ของยอดขายในตลาดยาของอินเดีย และพี่น้อง Juneja ซึ่งทำรายได้กว่า 1 พันล้านเหรียญต่อปี และมีตัวแทนขาย 15,000 คนกำลังวางแผนเพื่อจะขึ้นเป็น 1 ใน 3 อันดับแรกให้ได้ 

    “ถ้าพูดว่าเราอยากเป็นบริษัทยาอันดับ 1 ในอินเดียให้ได้ก็คงจะโอ้อวดไปหน่อย” Ramesh กล่าวเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาระหว่างนั่งให้สัมภาษณ์ข้างกันกับ Rajeev ณ สำนักงานใหญ่ของบริษัทในเขตอุตสาหกรรมของ Delhi  “แต่เราไปถึงอันดับ 3 หรืออันดับ 2 ได้ในอีกไม่กี่ปีแน่นอน” เขาคาดการณ์ แต่กระนั้นเขาปฏิเสธที่จะพูดถึงเป้าหมายรายได้

    Mankind มีโรงงาน 25 แห่งซึ่งผลิตยากว่า 1,000 รายการภายใต้แบรนด์หลัก 36 แบรนด์ที่ใช้รักษาตั้งแต่อาการปวดและการติดเชื้อไปจนถึงอาการโรคหัวใจและเบาหวาน และยังมีแบรนด์ผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพสำหรับผู้บริโภคที่บริษัทพัฒนาเอง เช่น ถุงยางอนามัย ชุดทดสอบการตั้งครรภ์ และผลิตภัณฑ์รักษาสิว บริษัทมีศูนย์วิจัยและพัฒนา 6 แห่ง และว่าจ้างนักวิทยาศาสตร์กว่า 600 คน

    Mankind ปรับกลยุทธ์ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเพื่อจะชิงตำแหน่งสามอันดับแรกให้ได้ โดยมีทั้งการเล็งเป้าหมายกลุ่มแพทย์เฉพาะทางในเมืองใหญ่ที่สุดของอินเดีย ขายยารักษาโรคเรื้อรังซึ่งแพทย์ต้องสั่งในระยะยาวเมื่อเทียบกับโรคเฉียบพลันที่ใช้ยาในระยะสั้น และเพิ่มความแข็งแกร่งให้สายธุรกิจผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพสำหรับผู้บริโภค “รูปแบบของความเจ็บป่วยกำลังเปลี่ยนไป และโรคที่เกิดจากวิธีการใช้ชีวิตก็มีมากขึ้นเช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคหัวใจและหลอดเลือดและโรคทางเดินหายใจ” Rajeev กล่าว “เราจึงเปลี่ยนแนวทางของเราด้วย”

    นักวิเคราะห์หลายรายกล่าวว่า หุ้นของ Mankind ได้ประโยชน์จากการเป็นบริษัทเภสัชกรรมขนาดใหญ่เพียงรายเดียวในตลาดหลักทรัพย์ที่เน้นเฉพาะธุรกิจในประเทศ “ผู้เล่นที่เน้นตลาดในบ้านอย่าง Mankind ได้เปรียบตรงที่อินเดียเป็นตลาดที่มองเห็นได้ชัดเป็นอย่างดีและยังคาดการณ์สูงของรายได้ที่จะได้มา” Akolkar กล่าว “บริษัทนี้ไม่ต้องเผชิญความกดดันเรื่องราคาและปัญหาจากหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องกับสหรัฐฯ” 

    เมื่อเราถามเรื่องการส่งออก Rajeev ยังยืนยันหนักแน่นว่า “เราจะเน้นตลาดในประเทศเสมอ” เขากล่าว “ถ้าเราสร้างผลิตภัณฑ์ที่ซับซ้อน ผลิตยาก และมีความแตกต่างอย่างชัดเจนได้ การส่งออกก็จะเป็นประโยชน์” และเสริมว่า “แต่ถ้าไม่ใช่อย่างนั้น มันก็เป็นแค่สินค้าทั่วไป เราไม่อยากเสี่ยงทำให้กำไรลดลง”  ตลาดในบ้านยังเหลือพื้นที่ให้เติบโตได้อีกมาก ข้อมูลจาก Iqvia และ Macquarie Research ชี้ว่า ยอดจับจ่ายซื้อเภสัชภัณฑ์ของชาวอินเดียอยู่ที่ 16 เหรียญต่อหัว ส่วนตลาดเกิดใหม่อื่นๆ อยู่ที่ 100 เหรียญต่อหัว และประเทศพัฒนาแล้วอยู่ที่ 650 เหรียญต่อหัว

    การเดินทางสายเภสัชกรรมของครอบครัว Juneja เริ่มต้นในปี 1974 เมื่อ Ramesh ลูกคนที่ 2 จาก 5 คน และเป็นพี่ชายคนโตในกลุ่มลูกชาย 3 คนเริ่มทำงานเป็นตัวแทนขายยาให้บริษัทยาเล็กๆ ใน Delhi หลังจากเรียนปริญญาตรีด้านวิทยาศาสตร์ที่ Deva Nagri College ในเมือง Meerut 1 ปีต่อมาเขาได้เป็นตัวแทนขายระดับเขตให้บริษัท Lupin แห่งเมือง Mumbai ที่ควบคุมโดยครอบครัว Gupta ซึ่งปัจจุบันเป็นบริษัทอันดับ 7 ในตลาด

    เขาลาออกจาก Lupin ในปี 1983 แล้วชวน Rajeev กับน้องชายอีกคนชื่อ Greesh พี่สาวชื่อ Prabha Arora และหุ้นส่วนที่เป็นคนนอกอีกคนร่วมกันก่อตั้งบริษัทยา BestoChem ซึ่ง Rajeev เริ่มต้นชีวิตการทำงานที่นั่น ต่อมาในปี 1995 Ramesh, Rajeev และสามีของ Prabha ชื่อ Prem Kumar Arora ลาออกจาก BestoChem และลงทุนร่วมกัน 5 ล้านรูปีเพื่อเปิดตัว Mankind ซึ่งเป็นบริษัทที่พวกเขาเริ่มก่อตั้งเมื่อสี่ปีก่อนหน้านั้น ปัจจุบัน Greesh ยังเป็นกรรมการของ BestoChem ใน Delhi ซึ่งไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์


    Mankind เริ่มต้นด้วยตัวแทนขาย 25 คนทำหน้าที่ขายยาระงับปวดและยาปฏิชีวนะ แล้วทศวรรษต่อมาก็ขยับมาขายยาเบาหวานและความดันโลหิต ในปี 2007 บริษัทออกถุงยางอนามัยชื่อ Manforce ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพสำหรับผู้บริโภคแบรนด์แรกที่บริษัทพัฒนาเอง ในปีเดียวกันบริษัทไพรเวทอิควิตี้ ChrysCapital จากประเทศมอริเชียสเข้ามาซื้อหุ้น 11% ด้วยราคา 850 ล้านรูปี โดยประเมินมูลค่า Mankind ไว้ 7.7 พันล้านรูปี จากนั้นก็ขายหุ้นไปในปี 2015 ให้บริษัทไพรเวทอิควิตี้ Capital International Group จากสหรัฐฯ โดยได้กำไร 14 เท่า 3 ปีต่อมา ChrysCapital กลับมาซื้อหุ้น 10% ด้วยมูลค่าประเมินสูงเป็นเท่าตัวจากเมื่อปี 2015 แล้วขายหุ้น 2.5% ไปในการเสนอขายหุ้น IPO เมื่อเดือนพฤษภาคม แต่ยังถือไว้ 7.5% และ Capital International ก็ขายหุ้นไปในช่วง IPO เช่นกัน แต่ก็ยังถือหุ้นอยู่อีก 6%

    “ตอนที่เราลงทุนครั้งแรกในปี 2007 เราเดิมพันกับความสามารถการเป็นผู้ประกอบการของ Ramesh Juneja” Sanjiv Kaul หุ้นส่วนของ ChrysCapital กล่าวและเสริมว่า สำหรับการลงทุนครั้งที่ 2 นั้น พวกเขาสนใจผู้บริหารรุ่นใหม่ที่นำโดย Rajeev “ขณะที่ Ramesh Juneja ยังคงรับบทบิดาต่อไปก็ได้ Rajeev มาเป็นคนที่ใช่ ในตำแหน่งที่ใช่ ในเวลาที่ใช่ด้วย” เขากล่าว Ramesh ยังเข้าสำนักงานวันละ 5-6 ชั่วโมง แต่ยกงานบริหารทั่วไปให้ Rajeev และผู้นำรุ่นใหม่ ซึ่งรวมไปด้วย Sheetal ซีอีโอวัย 47 ปี ลูกชายของ Prem, Arjun ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการวัย 37 ปี ลูกชายของ Ramesh และ Chanakya ผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีวัย 27 ปี ลูกชายของ Rajeev

    Ramesh พยายามไม่หลงระเริงกับความสำเร็จของครอบครัว “เท้าคุณควรติดดินอยู่เสมอ” เขากล่าว “เราเริ่มต้นมาจากล่างสุดของพีระมิด ทุกอย่างที่เราทำก็เพื่อความอยู่รอด” 


เรื่อง: Anuradha Raghunathan เรียบเรียง: ธรรดร โสตถิอำรุง ภาพ: Nishanth Radhakrishnan 




เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : เศรษฐีใจบุญแห่งเอเชีย ประจำปี 2023

คลิกอ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ในรูปแบบ e-magazine