แม้โลกทุนนิยมจะเต็มไปด้วยความมั่งคั่งและเงินตรา แต่เบื้องหลังยังมีเรื่องราวความฝัน ความหวัง และความทุ่มเทของผู้บุกเบิกธุรกิจต่างๆ ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ Forbes นิตยสารด้านธุรกิจที่ก่อตั้งเมื่อ 107 ปีก่อน ที่เกิดขึ้นเพื่อบอกเล่าเส้นทางของธุรกิจ แรงบันดาลใจ และตีแผ่มุมมองที่แตกต่างส่งตรงถึงผู้อ่านในทุกยุคสมัย
นับตั้งแต่การก่อตั้งเมื่อปี 1917 ปัจจุบัน Forbes ถือเป็นสื่อที่ทรงอิทธิพลที่ได้ขยับขยายไปในระดับนานาชาติ มีลิขสิทธิ์ 44 ฉบับ ใน 77 ประเทศ และเข้าถึงผู้อ่านกว่า 150 ล้านคนทั่วโลก
จากนักข่าวผู้ไม่หยุดนิ่ง สู่จุดกำเนิด Forbes สื่อธุรกิจระดับโลก
Bertie Charles Forbes (B.C. Forbes) ผู้ก่อตั้งนิตยสาร Forbes เกิดในสก็อตแลนด์เมื่อปี 1880 แม้พื้นฐานทางบ้านจะเป็นช่างตัดเสื้อ แต่เขากลับมีพรสวรรค์ทางภาษามาตั้งแต่เด็ก กระทั่งอายุได้ 14 ปี B.C. Forbes เริ่มเรียนรู้การจดชวเลขด้วยตนเอง และเข้าฝึกงานกับหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นอย่าง Dundee Courier ที่ทำให้เขาได้เรียนรู้งานข่าวทุกด้าน
หลังจบการศึกษาจาก University College of Dundee ในปี 1897 ด้วยวัยเพียง 17 ปี เขาเริ่มต้นเส้นทางอาชีพนักข่าวและนักเขียนอย่างเป็นทางการในสก็อตแลนด์ ก่อนจะย้ายไปที่เมือง Johannesberg ในแอฟริกาใต้ในปี 1902 ในตำแหน่งนักข่าวอาวุโสของหนังสือพิมพ์ Standard and Diggers’ News และร่วมก่อตั้งหนังสือพิมพ์ Rand Daily Mail
และ 2 ปีหลังจากนั้น B.C. Forbes ได้หวนกลับไปยังสก็อตแลนด์ ในช่วงนี้เองที่เขาเริ่มสนใจด้านธุรกิจ ทำให้เขาตัดสินใจเดินทางไปยังเมืองนิวยอร์ก ที่เขามองว่าเป็น ‘เมืองหนังสือพิมพ์ที่ดีที่สุดในโลก’ ซึ่งการเริ่มต้นใหม่ในสหรัฐอเมริกาไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ B.C. Forbes ก็ไม่ย่อท้อ ในช่วงแรกเขาเลือกจะไม่รับค่าจ้างงานเพื่อพิสูจน์ตนเอง กระทั่งได้รับตำแหน่งนักข่าวประจำของ The Journal of Commerce ในที่สุด
ความโดดเด่นของ B.C. Forbes คือ ข่าวที่ลงลึกในรายละเอียดสำคัญ และดึงประเด็นต่างๆ มาบอกเล่าได้อย่างมีเสน่ห์ ซึ่งทำให้ชื่อเสียงและหน้าที่การงานของเขาเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนได้รับการชักชวนจาก William Randolph Hearst เจ้าพ่อวงการสื่อให้ B.C. Forbes มาเป็นนักข่าวสายการเงินให้กับหนังสือพิมพ์ New York American เปิดโอกาสให้เขาได้แสดงศักยภาพอย่างเต็มที่และได้รับค่าตอบแทนกว่า 185,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อปี
ทว่าเพื่อสานต่อความฝัน B.C. Forbes จึงตัดสินใจลาออก และในเดือนกันยายนปี 1917 นิตยสาร Forbes ฉบับแรกจึงได้วางแผงพร้อมพาดหัวว่า ‘Devoted to Doers and Doings’ ซึ่งแสดงตัวตนของ Forbes ได้เป็นอย่างดี โดย Doers and Doings ยังเคยถูกวางไว้เป็นชื่อนิตยสาร ก่อนจะมีผู้โน้มน้าวให้ B.C. Forbes เลือกใช้นามสกุลของตัวเองแทน
นิตยสาร Forbes เป็นรายปักษ์ที่จะออกเล่มใหม่ทุก 2 สัปดาห์ ราคาเล่มละ 15 เซนต์ B.C. Forbes มักเล่าเรื่องราวของผู้นำธุรกิจที่น่าสนใจมากมาย และเชื่อว่าการแบ่งปันเรื่องราวเหล่านั้นเป็นเสมือนการส่งต่อบทเรียนต่างๆ
ขณะเดียวกันนิตยสาร Forbes ยังวิพากษ์วิจารณ์ถึงการบริหารงานที่ไร้ประสิทธิภาพ หรือการข่มเหงพนักงานในองค์กร สะท้อนถึงปณิธานในการทำสื่อที่ B.C. Forbes เคยเขียนไว้ในนิตยสาร Forbes ฉบับแรกว่า “ธุรกิจแต่เดิมนั้นกำเนิดขึ้นเพื่อสร้างความสุข ไม่ใช่เพื่อกอบโกยเงินนับล้าน” ซึ่งกลายเป็นปณิธานของนิตยสาร Forbes เสมอมา
ล้มแล้วลุก ฝ่าวิกฤตเพื่อยืนหยัด
ต่อมา Forbes ได้รับเสียงตอบรับอย่างล้นหลามจากผู้อ่าน กระทั่ง William Randolph Hearst มาขอซื้อกิจการ แต่ B.C. Forbes กลับปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นทางเลือกที่ถูกต้องหรือไม่ เพราะหลังจากนั้น Forbes ต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression) ที่ฉุดให้สถานะทางการเงินของบริษัทฯ ดิ่งฮวบ ทำให้ B.C. Forbes ต้องนำค่าจ้างงานภายนอกมาต่อลมหายใจให้นิตยสารของตัวเอง
แม้ Forbes จะผ่านพ้นวิกฤตมาได้อย่างหวุดหวิด แต่กลับต้องเจอการแข่งขันที่รุนแรง ในยุคนั้นมีทั้ง Business Week ที่เน้นการทำข่าว และ Fortune มุ่งเน้นการวิเคราะห์บริษัทต่างๆ เชิงลึก ทำให้ Forbes ซึ่งเน้นข้อมูลเชิงบุคคลมีความน่าสนใจน้อยลง ยอดโฆษณาเองก็น้อยลงด้วย ทั้ง B.C. Forbes และลูกชายคนโตอย่าง Bruce Charles Forbes พยายามหาทางแก้ปัญหา แต่ก็ไม่สำเร็จ
กระทั่ง Malcolm Stevenson Forbes (MSF) ลูกชายคนรองเข้ามาปรับแผนงานใหม่ในปี 1946 ทั้งการจ้างพนักงานประจำ เปิดตัว The Forbes Investor จดหมายข่าวพร้อมบทวิเคราะห์หุ้นรายสัปดาห์ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก และทำให้นิตยสารมีเงินทุนพอจะเดินหน้าต่อ จากนั้นยังก่อตั้งสถาบัน Forbes Investors Advisory Institute เพื่อวิจัยและให้ข้อมูลด้านการลงทุน ที่สร้างกำไรได้ถึง 51,000 เหรียญสหรัฐต่อปีก่อนปี 1950
นอกจากนี้ MSF ยังริเริ่ม การจัดอันดับบริษัทในสหรัฐฯ ในปี 1948 ซึ่งกลายมาเป็นไฮไลต์ของนิตยสาร Forbes โดยเกิดขึ้นก่อนการจัดอันดับบริษัทสหรัฐฯ Fortune 500 ถึง 5 ปี
ถัดมา MSF ต่อยอดสู่ ‘การจัดทำเนียบมหาเศรษฐี’ ด้วยข้อมูลที่เจาะลึกและน่าเชื่อถือทำให้นิตยสาร Forbes เติบโตอย่างก้าวกระโดดควบคู่ไปกับมูลค่าทรัพย์สินของบริษัทฯ ที่พุ่งแตะ 250 ล้านเหรียญ ควบคู่ไปกับยอดขายโฆษณาที่เพิ่มขึ้น
จนทุกวันนี้การจัดอันดับกลายเป็นเอกลักษณ์สำคัญของ Forbes ที่เชื่อมโยงกับการประสบความสำเร็จในโลกธุรกิจ
บุกเบิกบนออนไลน์ สร้างโอกาสครั้งใหม่
ช่วงกลางทศวรรษ 1990 ท่ามกลางกระแสอินเทอร์เน็ตที่ขยายวงกว้าง แต่สื่อสิ่งพิมพ์หลายสำนักยังไม่เห็นความสำคัญของการทำเว็บไซต์ กลับกลายเป็นพื้นที่ให้ Steve Forbes ทายาทรุ่นที่ 3 (ลูกชายของ MSF) ได้หาลู่ทางให้กับ Forbes โดยปี 1996 ได้บุกเบิก Forbes.com ที่ไม่เพียงนำเนื้อหาในนิตยสารมาเผยแพร่ แต่ยังสร้างสรรค์บทความใหม่ๆ สำหรับออนไลน์โดยเฉพาะ แม้ช่วงแรกจะขาดทุนอยู่หลายปี แต่ในท้ายที่สุดก็พลิกสร้างผลกำไรได้
โชคไม่เข้าข้าง Forbes นักเมื่อการลงทุนด้านเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตมหาศาล ทำให้ยามขาลงของอุตสาหกรรมเทคฯ มาเยือน Forbes จึงเจ็บหนักกว่าใครเพื่อน โดยรายได้ตกลงถึง 26% ในปี 2001 ทว่าการเลือกเปิดเส้นทางออนไลน์ไม่ใช่ทางเลือกที่ผิด และประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่อย่าง Jim Spanfeller ก็ดำเนินการเพื่อใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์ออนไลน์ต่างๆ ของบริษัทให้ได้มากที่สุด เช่น การเพิ่มศักยภาพของโฆษณาออนไลน์ให้ตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น
กระทั่งปี 2003 Forbes ได้เขย่าโลกธุรกิจอย่างรุนแรงอีกครั้งผ่านการเปิดตัว Forbes 2000 หรือทำเนียบบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลก ขณะที่ในปีถัดมาได้ยกเลิกการจัดอันดับบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ ไป ซึ่งสะท้อนว่า Forbes มองเห็นคลื่นลูกใหม่ของธุรกิจระดับนานาชาติที่เกิดขึ้นทั่วโลก และนำหน้าคู่แข่งอย่าง Fortune ที่มีทำเนียบ Fortune 500 ซึ่งจัดอันดับบริษัทในสหรัฐฯ
ปัจจุบัน Forbes อยู่ภายใต้การบริหารของบริษัทด้านการลงทุนจากฮ่องกง Integrated Whale Media Investments ที่เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่นับตั้งแต่ปี 2014 ขณะที่ประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนปัจจุบันของ Forbes คือ Mike Federle ส่วนทายาทสายตรงจาก B.C Forbes อย่าง Steve Forbes ยังคงดำรงตำแหน่งบรรณาธิการใหญ่ โดยมีทีมงาน Forbes ที่ยังคงมุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลงานคุณภาพอย่างต่อเนื่อง
แหล่งที่มา:
The Inaugurative Forbes Magazine
Forbes: What it is, History, Considerations
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : 10 อันดับมหาเศรษฐีโลก ประจำปี 2024
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine