หากนิยามของปี 2021 คือ การคาดเดาไม่ได้ นิยามของปี 2022 นี้ก็คงจะหนีไม่พ้น “ความไม่เที่ยง”
ราคาอาหารที่สูงขึ้นไปจนถึงการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน การขาดแคลนแรงงานในช่วงโควิด-19 และวิกฤตสภาพอากาศ ล้วนเป็นปัจจัยให้เกิดความไม่แน่นอนในภาคการผลิตอาหาร ซึ่ง McKinsey ได้ประมาณการว่า อาจก่อให้เกิดการเลิกจ้างงานภายในอุตสาหกรรมมากถึง 73 ล้านตำแหน่งภายในปี 2030
พบกับ
"สุดยอดเทคโนโลยีอาหารและเทรนด์ความยั่งยืนแห่งปี 2022" ที่จะทำให้คุณยืนหยัดผ่านวิกฤตเหล่านี้ไปได้
ขยะเป็น ‘ศูนย์’ ไม่ใช่แค่ง่าย แต่ยังสร้างผลกำไร
แม้แนวคิด Zero Waste จะมีมานานหลายปีแล้ว แต่การปรับปริมาณขยะให้เหลือศูนย์หรือไม่มีเลยยังคงเป็นเรื่องยากสำหรับใครหลายคน ซึ่งตามรายงานของ LA Times ระบุว่า
“การทำปุ๋ยหมักก็ไม่ต่างอะไรจากสงครามครูเสดครั้งต่อไป” เพราะก๊าซมีเทนที่ถูกปล่อยออกมาจากหลุมฝังกลบย่อมมีส่วนสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงไม่น่าแปลกที่กฎหมายของรัฐแคลิฟอร์เนียจะกำหนดให้ธุรกิจและบุคคลในรัฐแยกวัสดุอินทรีย์ออก และผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามจะต้องถูกปรับ
ปัญหาข้างต้นนี้จึงเป็นเสมือนประตูที่เปิดโอกาสให้ บริษัทกู้ภัยด้านอาหาร
Goodr ใช้ในการสร้างสรรค์นวัตกรรม ด้วยการผนวกเทคโนโลยีและข้อมูลในการจับคู่อาหารส่วนเกินกับผู้ที่ต้องการ ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้ารายใหญ่ที่ให้ความสนใจอย่าง
Hartsfield-Jackson Atlanta International Airport เข้าร่วมด้วย
“ท่ามกลางการระบาดใหญ่ทั่วโลกในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เราทุกคนต่างเห็นถึงปัญหาห่วงโซ่อุปทานขนาดใหญ่และผลกระทบที่พวกเขามีต่อสังคมของเรา” Jasmine Crowe ซีอีโอ Goodr กล่าว
“ตอนนี้ผู้คนตระหนักถึงคุณค่าของสินค้าทุกชิ้นและความสำคัญของการลดปริมาณขยะให้เป็นศูนย์มากขึ้นกว่าเดิม”
'Re-Regionalization' ระบบอาหาร
ราคาอาหารและค่าขนส่งที่สูงขึ้นทำให้การซื้อสินค้าในท้องถิ่นยิ่งกลายเป็นสิ่งที่น่าดึงดูดและประหยัดค่าใช้จ่าย จึงไม่น่าแปลกใจที่โครงการสมัครสมาชิกกับฟาร์มหรือ
“CSAs” สำหรับผลิตผลและเนื้อสัตว์มีการเติบโตสูงเป็นประวัติการณ์ในปี 2020 และ 2021
อย่างไรก็ดี ราคาเนื้อสัตว์ที่ปรับตัวสูงขึ้นกว่าร้อยละ 20 กลับไม่ได้เป็นผลดีต่อเจ้าของฟาร์มมากนัก เพราะกว่าร้อยละ 85 ของอุตสาหกรรมกลับอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้บรรจุหีบห่อเนื้อสัตว์ที่ใหญ่ที่สุด 4 ราย ได้แก่ Tyson, Cargill, JBS และ National Meatpacking
ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเรื่องยากสำหรับเกษตรกรรายย่อยที่จะเข้าถึงความสามารถในการดำเนินการและควบคุมห่วงโซ่อุปทานของตนได้มากขึ้น ประธานาธิบดี Biden จึงได้ประกาศการลงทุน 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในโรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์ระดับภูมิภาค พร้อมร่างกฎหมายเพื่อกระตุ้นให้เกิดโอกาสทางการตลาดสำหรับสตาร์ทอัพรายใหม่ เช่น
Southwest Black Ranchers และ
99 Counties
ด้าน Nick Wallace ผู้ร่วมก่อตั้งและซีโอโอ 99
Counties จากรัฐ Iowa เล่าว่า
“สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากโควิดก็คือความสำคัญของสุขภาพ และวิธีที่ดีที่สุดในการดูแลคนในท้องถิ่น ก็คือการปลูกอาหารในท้องถิ่น”
การขาดแคลนแรงงานผลักดันให้เกิดทางเลือกมากมาย
ท่ามกลางการชะลอตัวของการย้ายถิ่นฐาน ปัญหาสภาพแวดล้อมด้านการทำงาน และแรงกดดันเรื่องค่าแรง ส่งผลให้ผู้นำธุรกิจและผู้กำหนดนโยบายต้องออกมาป้องกันปัญหาที่อาจกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตในฟาร์ม ในโรงงาน และในธุรกิจผู้ให้บริการด้านอาหารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ดังที่เห็นได้ชัดในปี 2021 ที่มีเหตุการณ์เคลื่อนไหวที่โดดเด่นหลายอย่างในอุตสาหกรรมอาหาร อาทิ การนัดหยุดงานของพนักงาน
Kellogg และการรวมตัวของพนักงาน
Starbucks ในเมือง Buffalo รัฐนิวยอร์ก เพราะค่าแรงขั้นต่ำไม่ได้สอดคล้องกับความต้องการขั้นพื้นฐาน
ด้วยเหตุนี้
ESOP (Employee Stock Ownership Plan) จึงอาจเป็นวิธีสร้างความมั่งคั่งให้กับพนักงานรายบุคคล โดยการมอบสิทธิ์ความเป็นเจ้าของในบริษัทของตนเอง ซึ่งล่าสุดนักลงทุนอย่าง
Apis and Heritage ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดย Rockefeller และ Skoll Foundation ก็ได้ให้ทุนสำหรับการเปลี่ยนผ่านไปใช้ ESOP สำหรับธุรกิจที่มีพนักงานผิวสี
บรรจุภัณฑ์ปลอดพลาสติก
ชาวอเมริกันผลิตขยะพลาสติก 42 ล้านตันต่อปี หรือมากกว่าจีน 2 เท่า ทว่ากลับมีพลาสติกเพียงร้อยละ 2 เท่านั้นที่ถูกนำไปรีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพเทียบเท่ากัน
อันที่จริงแล้ว บริษัทบรรจุภัณฑ์ปลอดพลาสติก ซึ่งผลิตจากพืชแห่งหนึ่งเพิ่งได้รับสถานะยูนิคอร์นในช่วงปลายปี 2021 ทั้งยังได้รับกระแสตอบรับจากบริษัทรายใหญ่อย่าง McDonalds, Costco และ Conagra
"เราเห็นความต้องการอย่างมากสำหรับโซลูชันจากพืชเพื่อทดแทนพลาสติก และในปี 2022 ผลิตภัณฑ์นี้จะยังคงได้รับแรงผลักดันจากปัจจัย 3 ประการ ได้แก่ ความต้องการของผู้บริโภค กฎระเบียบที่เข้มงวดเกี่ยวกับพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง และองค์กรที่มีเป้าหมายด้านความยั่งยืนในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยให้ความสำคัญกับการกำจัดพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวและพร้อมค้นหาทางเลือกอื่น” Troy Swope ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอ Footprint กล่าว
คุณเองก็กินถ้วยโยเกิร์ตของคุณได้
เป็นเวลากว่า 1 ทศวรรษที่ Gary Hirshberg ผู้ก่อตั้ง Stonyfield Farm เคยพูดไว้ว่า
“เราจะชนะสงครามพลาสติกได้ ก็ต่อเมื่อเราสามารถกินถ้วยโยเกิร์ตของเราได้”
ล่าสุด ในปี 2022 New York Times ก็ได้สะท้อนให้เราเห็นว่า ตลาดบรรจุภัณฑ์ที่กินได้เติบโตกว่าร้อยละ 5% และอาจมีมูลค่าแตะ 2 พันล้านเหรียญภายในปี 2030
ด้านนักลงทุน Milena Bursztyn ซึ่งให้ความสนใจประเด็นดังกล่าวอย่างใกล้ชิดเล่าว่า “ในช่วงที่ผ่านมาสตาร์ทอัพหลายแห่งหันมาใช้วัสดุจากธรรมชาติ เช่น สาหร่ายและไบโอโพลีเมอร์ เพื่อเสนอทางเลือกบรรจุภัณฑ์ที่รับประทานได้” อาทิ
Xampla,
Decomer Technology,
Notpla และ
Loliware
พืชเป็นหลัก
‘อาหารจากพืช' เหล่านี้ทำขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพในกรรมวิธีที่แตกต่างกัน บางชนิดเป็นแบบเซลลูลาร์ บางชนิดเป็นแบบการหมัก และหลายแบบเป็นส่วนผสมของทั้ง 2 อย่าง ซึ่งล้วนแล้วแต่ให้คุณค่าทางโภชนาการเทียบเท่าหรือดีกว่าโปรตีนจากสัตว์เลยทีเดียว
“ผู้บริโภคจำนวนมากกำลังมองหาที่จะผลิตภัณฑ์จากพืช และเรากำลังเติมเต็มช่องว่างเหล่านั้นด้วยขนุน” Annie Ryu ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ Jack & Annie กล่าว
“ขนุนเป็นพืชที่มีเนื้อมากที่สุด ทั้งยังให้รสสัมผัสที่มีความมันไม่ต่างจากเนื้อสัตว์”
เช่นเดียวกับผู้ผลิตรายอื่นๆ เช่น
Akua ซึ่งทำเบอร์เกอร์จากสาหร่ายทะเล และ
Adda Veggie ที่จับมือกับ
Imperfect Foods ปรุงอาหารจากผักทั้งจาน
ความต่อเนื่องของเทรนด์จากปี 2021
เมื่อพิจารณาเทรนด์ของอาหารในปีที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าแนวโน้มเหล่านี้จะยังคงดำเนินต่อไปในปี 2022 ซึ่งครอบคลุมถึงประเด็นการเติบโตทางดิจิทัลที่เพิ่มขึ้น และพฤติกรรมใหม่ๆ ของผู้บริโภคเช่น การยอมรับอาหารแช่แข็งเพิ่มมากขึ้น การขยายตัวของแบรนด์ที่ใช้จุดแข็งด้านวัฒนธรรม และความต้องการที่เพิ่มขึ้นสำหรับอาหารจากพืช
แปลและเรียบเรียงจากบทความ Here Are The Top Food Tech And Sustainability Predictions For 2022 เผยแพร่บน Forbes.com
อ่านเพิ่มเติม:
อภิรักษ์ โกษะโยธิน พา V Foods เข้าตลาดฯ หยั่งรากธุรกิจอาหารจากพืช