เหล่านักรณรงค์ต่างวิพากวิจารณ์ถึงลิทธิการล่าอาณานิคมในรูปแบบใหม่โดยกลุ่มประเทศที่มั่งคั่งและเจ้าหนี้เอกชนต่างวางกับดักให้กลุ่มประเทศลูกหนี้ต้องพึ่งพาพลังงานเชื้อเพลิงจากฟอสซิล
แรงกดดันจากการจ่ายหนี้บีบบังคับให้กลุ่มประเทศยากจนยังคงต้องลงทุนในโครงการเชื้อเพลิงฟอสซิลต่อไป เพื่อหาเงินมาชำระหนี้ซึ่งหนี้เหล่านี้มักเป็นเงินที่กู้ยืมมาจากชาติที่ร่ำรวยกว่าและสถาบันการเงินต่างๆ อ้างอิงจากผลวิเคราะห์ใหม่ล่าสุดจากองค์กรรณรงค์ต่อต้านหนี้ Debt Jus-tice และพันธมิตรในประเทศที่ได้รับผลกระทบ
องค์กรดังกล่าวเรียกร้องให้เจ้าหนี้ทั้งหลายยกเลิกหนี้สินทั้งหมดแก่บรรดาประเทศที่กำลังเผชิญวิกฤต โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเชื่อมโยงกับโครงการเชื้อเพลิงฟอสซิลต่างๆ
“ระดับหนี้สูงเป็นกำแพงสำคัญที่ขวางกั้นการเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในหลายๆ ประเทศเขตซีกโลกใต้” Tess Woolfenden เจ้าหน้าที่นโยบายอาวุโสแห่ง Debt Justice เผย
“หลายประเทศติดกับการแสวงหาผลประโยชน์จากเชื้อเพลิงฟอสซิลในการสร้างรายได้เพื่อจ่ายหนี้ ในขณะที่โครงการเชื้อเพลิงฟอสซิลมักไม่อาจสร้างรายได้มากดังคาด ผลักให้ประเทศเหล่านั้นต้องเผชิญหนี้สินหนักกว่าเก่า กับดักร้ายกาจนี้ต้องหมดไปเสียที”
อ้างอิงจากรายงาน หนี้ของบรรดาประเทศซีกโลกใต้เพิ่มสูงขึ้นถึง 150% ตั้งแต่ปี 2011 และ 54 ประเทศกำลังตกอยู่ในวิกฤตหนี้สิน สืบเนื่องจากต้องชำระหนี้สูงกว่าการรับมือวิกฤตสภาพภูมิกาศถึงห้าเท่า
ความเสียหายหลังพายุไซโคลนเฟรดดี้พัดถล่มโมซัมบิกเมื่อต้นปี 2023 ที่ผ่านมา
Daniel Ribeiro ผู้ประสานงานโครงการ Justica Ambiental แคมเปญด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศโมซัมบิกกล่าวว่า ภาระหนี้สินของประเทศแห่งนี้ทวีขึ้นเป็นเท่าตัวเพราะการกู้เงินกับธนาคารในลอนดอนเมื่อปี 2013 ซึ่งไม่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา โดยมาพร้อมโครงการหารายได้จากการค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติของประเทศ
Ribeiro เล่าว่าโมซัมบิกไถลลงสู่วังวนวิกฤตหนี้สินเมื่อราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติตกลงในปี 2014-2016 แต่หนทางแก้ปัญหาจากเจ้าหนี้นานาชาติที่ยื่นมือช่วยเหลือ คือโมซัมบิกต้องพึ่งพาเงินกู้ซึ่งจะมีการชำระคืนผ่านรายได้จากก๊าซธรรมชาติในอนาคต
“หนี้สินจากเชื้อเพลิงฟอสซิลกลายเป็นโครงสร้างซึ่งจะชำระคืนด้วยเชื้อเพลิงฟอสซิล ก่อให้เกิดวงจรอุบาทว์ของการต้องก้าวไปข้างหน้าและต้องรับผลสืบเนื่องหนักหนาสาหัสจากการปฏิเสธจะใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลต่อไป” Ribeiro กล่าว
ประเทศซูรินาเมเผชิญสถานการณ์เดียวกันหลังไม่ยินยอมชำระหนี้ โดยเมื่อปี 2020 ซูรินาเมตกลงในสัญญาที่ให้สิทธิเจ้าหนี้ครอบครองรายได้จากน้ำมันของประเทศแห่งนี้ 30% จนถึงปี 2050
Sharda Ganga ผู้อำนวยการกลุ่มประชาสังคมซูรินาเม Projekta กล่าวว่า พวกเขาหวังว่าข้อตกลงนี้จะยังคงอยู่ในพันธกิจเรื่องสภาพภูมิอากาศของประเทศ
Ganga อธิบายว่า “ยิ่งหนี้ของเรายั่งยืนน้อยลงเท่าใด ก็ยิ่งมีอิทธิพลครอบงำการตัดสินนโยบายต่างๆ และส่งผลกระทบต่อชีวิตของพลเมืองในประเทศทุกด้านที่เป็นไปได้ การหาเงินให้ได้เร็วที่สุดเพื่อนำมาจ่ายหนี้กลับกลายมามีความสำคัญอันดับหนึ่ง ซึ่งหมายความว่าไม่มีที่เหลือสำหรับสิ่งยุ่งยากและต้องใช้ความอดทนอย่างความยั่งยืนหรือความเป็นธรรมทางภูมิอากาศ
“ความจริงคือ นี่ถือเป็นลัทธิล่าอาณานิคมรูปแบบใหม่ เราแลกเปลี่ยนผู้นำคนหนึ่งกับกฎกติกาจากเจ้าหนี้ที่โดยพื้นฐานก็ครอบครองสิ่งที่เป็นของเราไปเรียบร้อยแล้ว ความต่างอย่างเดียวคือครั้งนี้เราเซ็นสัญญาด้วยมือตัวเอง”
นักรณรงค์เรียกร้องให้มีการยกเลิกหนี้ในประเทศกำลังพัฒนา
Leandro Gomez นักรณรงค์ด้านการลงทุนและสิทธิจากมูลนิธิ Environment and Natural Resources Foundation (FARN) ในประเทศอาร์เจนตินาเผยว่า ประเทศของเขาถูกลิดรอนอำนาจอธิปไตยในการเปลี่ยนผ่านจากเชื้อเพลิงฟอสซิล และต้องจ่ายเงินบางส่วนให้กับบรรดาบริษัทเชื้อเพลิงฟอสซิลต่างๆ ผลักดันโครงการขุดเจาะน้ำมันดิบ และยกเลิกโครงการพลังงานหมุนเวียน
รายงานยังชี้ว่าประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจำเป็นต้องได้รับเงินช่วยเหลือให้เปล่ามากกว่านี้ เนื่องจากหลายประเทศถูกผลักสู่กับดักหนี้จากการจ่ายค่าฟื้นฟูต่างๆ หลังประสบภัยพายุไซโคลนและน้ำท่วม
ประเทศปากีสถานได้รับเงินช่วยเหลือ 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ หลังเผชิญน้ำท่วมใหญ่เมื่อปีี 2022 ที่ผ่านมา ทว่าส่วนใหญ่มาในรูปแบบของเงินกู้ยืม ในขณะที่สัดส่วนหนี้สินจากผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศโดมินิกาขยับขึ้นจาก 68% สู่ 78% หลังพายุเฮอร์ริเคนมารีอาพัดถล่มเมื่อปี 2017
Mae Buenaventura จากกลุ่ม Asian Peoples Movement on Debt and De-velopment (APMDD) กล่าวว่า
“วิกฤตการณ์สภาพภูมิอากาศและหนี้สินปะทุจากระบบเดียวกัน ซึ่งมีพื้นฐานมาจากการที่ฝั่งซีกโลกเหนือขูดรีดทรัพยากรมนุษย์ เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอย่างทารุณเพื่อเติมเต็มการขับเคลื่อนผลกำไรและความละโมบ”
นอกจากนี้ เธอยังกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า การยกเลิกหนี้สินคือวิธีการเล็กน้อยที่สุดที่ประเทศร่ำรวยและเจ้าหนี้สามารถทำได้
แปลและเรียบเรียงจาก Rich countries trap poor nations into relying on fossil fuels ซึ่งเผยแพร่บน theguardian.com
อ่านเพิ่มเติม : การจัดอันดับ 50 มหาเศรษฐีสิงคโปร์ ประจำปี 2023
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine Magazine