สะบัดส่าหรีสู่เวทีสากล - Forbes Thailand

สะบัดส่าหรีสู่เวทีสากล

ส่าหรี (Sari) ที่มีมาแต่โบราณถึงคราวเฉิดฉายในโลกตะวันตก เริ่มจากที่นักแสดงสาว Zendaya ปรากฏตัวในชุดส่าหรีงานฝีมือสีน้ำเงินปักลวดลายระยิบระยับพร้อมบราเล็ตต์เป็นประกายในงานเลี้ยงยามค่ำคืน ณ Nita Mukesh Ambani Cultural Centre (NMACC) ที่เมืองมุมไบเมื่อเดือนเมษายน 2023


    ชุดดังกล่าวใช้เวลาตัดเย็บถึง 3,000 ชั่วโมงจากฝีมือการออกแบบของ Rahul Mishra ซึ่งถือเป็นนักสร้างสรรค์อาภรณ์ชาวอินเดียรายแรกที่ได้จัดแสดงโชว์คอลเล็กชันเสื้อผ้าอย่างเป็นทางการในงาน Paris Haute Couture Week ในปี 2020 โดยชุดที่ Zendaya สวมใส่ Rahul Mishra ยังนำไปต่อยอดออกแบบเป็นชุดสีชมพูและเงินในการจัดแสดงอาภรณ์ชั้นสูงของเขาที่ปารีสเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาอีกด้วย

Zendaya ในชุดส่าหรีฝีมือออกแบบของ Rahul Mishra

    ในงาน Cannes Film Festival ประจำปี 2022 นักแสดงสาว Deepika Padukone ดาวเด่นแห่ง Bollywood ได้อวดโฉมความงามของส่าหรีสีดำและทองฝีมือนักออกแบบชาวอินเดีย Sabyasachi Mukherjee

    จากนั้นในเดือนพฤษภาคม ส่าหรีก็ถึงคราวเปล่งประกายอีกครั้งที่งาน Met Gala ประจำปี 2023 เมื่อนางแบบชื่อดัง Naomi Campbell สวมชุดราตรีสีชมพูสไตล์ส่าหรีจาก Chanel จากคอลเล็กชันที่เปิดตัวครั้งแรกในปี 2010


Naomi Campbell ในชุดราตรีสไตล์ส่าหรีสีชมพู

    กระทั่งที่ปราสาทวินด์เซอร์ในการเฉลิมฉลองพระราชพิธีราชาภิเษกกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร นักธุรกิจหญิง Natasha Poonawalla ก็ยังเลือกสวมใส่ส่าหรีสีนู้ดแสนงดงามพร้อมบอดี้สูทของ Burberry

    ยามนี้ ส่าหรียิ่งฉายแสง ณ พิพิธภัณฑ์ Design Museum ของลอนดอนที่มีการจัดนิทรรศการ “The Offbeat Sari” ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มีการจัดแสดงอาภรณ์เก่าแก่ชนิดนี้โดยเฉพาะในพิพิธภัณฑ์นานาชาติและจะจัดแสดงโชว์อย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 17 กันยายน 2023

    ย้อนกลับไปราว 3,000 ปีก่อนคริสตกาล ส่าหรีดั้งเดิมนั้นประกอบด้วยแถบผ้าเพียงผืนเดียว (ทั่วไปแล้วมีความยาวระหว่าง 3-9 หลา) ซึ่งผ้าผืนนี้ไม่มีการเย็บใดๆ กล่าวกันว่าสามารถนุ่งส่าหรีได้ถึงร้อยวิธี

    สมัยก่อนนั้นศิลปะการนุ่งส่าหรีจะถูกส่งต่อจากแม่สู่ลูก แต่ทุกวันนี้มีวิดีโอสอนวิธีนุ่งผ้าส่าหรีมากมายบนโลกออนไลน์ให้ศึกษากันได้ไม่ยาก และมีกระทั่งส่าหรีสำเร็จรูปพร้อมสวมวางขายซึ่งช่วยลดความวุ่นวายในการนุ่งผ้าด้วยตัวเอง

    ส่าหรียังคงเป็นหนึ่งในเสื้อผ้าขายดีที่สุดในอินเดีย และผู้คนยังสวมใส่กันอย่างกว้างขวางทั้งในแถบชนบทและในสังคมเมือง แม้ปกติจะนิยมแต่งกันในโอกาสพิเศษและวันสำคัญทางศาสนา ด้วยรูปแบบของการสวมใส่ที่มีเนื้อผ้าขนาดไซส์เดียวแต่รองรับขนาดตัวของแต่ละคนได้หลากหลายทำให้ส่าหรีกลายเป็นสุดยอดอาภรณ์สำหรับทุกคน เพราะสามารถปรับตามรูปร่างของผู้สวมใส่ได้

    ชุดส่าหรีโดยส่วนใหญ่มักทำจากผ้า Cotton Silk และมีราคาเป็นมิตร เราสามารถพบเห็นร้านส่าหรี Cotton Silk ที่มีจำหน่ายตามท้องตลาดทั่วไปในอินเดียด้วยราคาเพียงชุดละไม่กี่เหรียญสหรัฐฯ เท่านั้น (แม้ว่าจะมีส่าหรีราคาแพงที่สุดที่ 3,931,627 รูปี หรือเกือบ 100,00 เหรียญ และน้ำหนัก 18 ปอนด์จากการประดับประดาอัญมณีเลอค่ากว่า 4,670 ชั่วโมงซึ่งเป็นงานหัตศิลป์)

    หัวหน้าภัณฑารักษ์แห่ง Design Museum อย่าง Priya Khanchandani คือผู้คัดสรรและจัดเตรียมส่าหรีสำหรับนิทรรศการ “The Offbeat Sari” ทั้งหมดมากกว่า 60 ชิ้น หลายชิ้นก็ขอยืมมาจากช่างทอผ้า ศิลปิน และนักออกแบบชาวอินเดียซึ่งมี Mishra, Sabyasachi Mukherjee และ Amit Aggarwal รวมอยู่ด้วย

    เป้าหมายของนิทรรศการที่จัดขึ้นคือการแสดงให้เห็นถึงการมีอยู่ของส่าหรีทั้งในฐานะเสื้อผ้าที่สวมใส่ได้จริง และสัญลักษณ์ในการเคลื่อนไหวเพื่อส่งเสริมประเด็นว่าด้วยสิทธิสตรี ตลอดจนเป็นการทดสอบการลองผิดลองถูกต่างๆ ว่าด้วยสไตล์ของผู้หญิงจากเอเชียใต้ที่ไร้พันธนาการในยุคโซเชียลมีเดีย

กลุ่มสตรี Gulabi Gang จากอินเดีย


    ผู้หญิงเหล่านี้มีความหลากหลาย เช่น Gulabi Gang กลุ่มสตรีจากชนบททางเหนือของอินเดียผู้เลือกสวมส่าหรีสีชมพูยามออกมาแสดงพลังต่อต้านความรุนแรงในครอบครัว นอกจากนี้ยังมีชาว Gen Z อย่าง Eshna Kutty นักเต้นสาวจากเมืองเดลีผู้เผยแพร่วิดีโอเล่นห่วงฮูล่าฮูปในชุดส่าหรี รวมถึง Urfi Javed นักแสดงหญิงและดาวเด่นบน Instagram ผู้สร้างสรรค์สไตล์ใหม่ๆ ตามต้องการ พาส่าหรีข้ามขีดจำกัด แม้บางครั้งจะก่อให้เกิดการถกเถียงกันก็ตาม


เติมลมหายใจให้อาภรณ์โบราณ

    นิทรรศการ The Offbeat Sari ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคนิคต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสรรค์ส่าหรีด้วยเช่นกัน ในขณะที่ผ้าทออย่างไหม ฝ้าย หรือโพลีเอสเตอร์เป็นวัสดุที่ยังคงความนิยมและใช้กันอย่างแพร่หลาย นักออกแบบหน้าใหม่ เช่น Rimzim Dadu กำลังพยายามเปิดมิติใหม่แห่งวงการสิ่งทอ ด้วยการใช้เส้นด้ายโลหะความละเอียดสูง เพื่อประยุกต์และยกระดับมรดกส่าหรี ก้าวใหม่นี้ยังนำความทันสมัยมาสู่ประเพณีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งทอของอินเดีย

    “เป็นไปได้ว่าส่าหรีกำลังถูกนำมาสร้างสรรค์ใหม่อย่างรวดเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ 5,000 ปี” Khanchandani กล่าวในข่าวประชาสัมพันธ์ที่มาพร้อมการจัดแสดงของ Design Museum “การเคลื่อนไหวนี้กลายเป็นหนึ่งในเรื่องราวสำคัญที่สุดของวงการแฟชั่นระดับโลก แต่น้อยคนนักจะรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับส่าหรีนอกจากชาวเอเชียใต้”


Priya Khanchandani ในนิทรรศการ The Offbeat Sari

    ส่าหรีเป็นที่นิยมในหมู่คนดังมานานแล้ว เช่น Madonna ที่งาน VH1 Vogue Fashion Awards ในปี 1998 หรือ Lady Gaga ในชุดราตรีส่าหรีสีขาวของ Tarun Tahiliani ประดับคริสตัล Swarovski ในปี 2011 (ปัจจุบันถูกนำมาจัดแสดงที่ Design Musuem ด้วย) นอกจากนี้ ยังมี Dua Lipa ที่สวมส่าหรีขณะท่องเที่ยวชัยปุระในอินเดียเมื่อปี 2018 กระนั้นก็ยังมีกรณีที่ดึงดูดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ด้วยเช่นกัน

    ในบทความ The grey area between cultural appropriation and appreciation โดย Vogue India ได้โจมตี Sarah Jessica Parker จากการที่เธอใช้คำว่า “ส่าหรี” ในซีรีส์ “And Just Like That” ตอน Diwali ซึ่งฉายในปี 2022 เสื้อผ้าที่เธอสวมไม่ใช่ส่าหรีแต่เป็นแลงก้า (Lehenga) ซึ่งเป็นชุดสามชิ้นพร้อมกระโปรง ไม่ใช่ผ้านุ่ง

    เช่นเดียวกัน Gwen Stefani จุดประกายความขัดแย้งจากความชอบแต้มจุดบินดิ (Bindi) กลางหน้าผากและสวมส่าหรีในช่วงปี 1990s จนปี 2022 เธอก็สร้างเรื่องอีกครั้งเมื่อเธอเสื้อคลุมส่าหรีไปเข้าร่วมงานฉลองคริสต์มาสประจำปีครั้งที่ 90 ณ Rockefeller Center ในนิวยอร์ก ทว่าในโอกาสนี้ อาภรณ์ฝีมือนักออกแบบจากมุมไบ Amit Aggarwal ที่เธอสวมกลับดึงดูดเสียงตอบรับที่ดีจากชุมชนแฟชั่นในอินเดีย

    “น่าปลื้มใจสุดๆ ที่ได้เห็น Stefani สวมชุดของเรา” Aggarwal เผยกับ CNN ในการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ “มันเปิดโอกาสให้เราได้แสดงผลงานหัตถศิลป์และเทคนิคต่างๆ ที่เราพัฒนาขึ้นบนเวทีอันกว้างใหญ่”

    Aggarwal เชื่อว่าส่าหรีเป็นที่ยอมรับในระดับสากลแล้ว “ส่าหรีไม่ได้ถูกจำกัดด้วยขอบเขตหรือกฏใดๆ อีกต่อไป ทั้งยังได้รับความรักจากทั่วโลก” เขากล่าว

ส่าหรีจากแบรนด์ Bodice


    “ความอเนกประสงค์และปรับเปลี่ยนได้มากมายทำให้สามารถสวมใส่ผ้าชิ้นนี้ได้หลากหลายแบบเพียงแค่เปลี่ยนวิธีการนุ่ง ส่าหรีไม่ควรถูกมองว่าเป็นเครื่องแต่งกายผิดธรรมดาหรือเป็นสิ่งแปลกอีกต่อไป ทว่าเป็นกระแสหลัก ผมคิดว่าช่างงดงามเหลือเกินที่ได้เห็นผู้คนชื่นชมและโอบรับชิ้นส่วนของวัฒนธรรมอื่นๆ และลบเลือนเส้นแบ่งต่างๆ เพื่อให้โลกใบนี้เล็กลงมา”

    นักออกแบบ Rimzim Dadu เห็นด้วย “การลองผิดลองถูกคือความจำเป็นพื้นฐานของมนุษยชาติ ใครสักคนจากที่ไหนสักแห่งเมื่อหลายพันปีก่อนตัดสินใจทดลองกับผ้ายาวห้าหลาเพื่อดูว่าจะสามารถนุ่งมันได้อย่างไร แล้วส่าหรีก็ถือกำเนิดขึ้น” เธอบอก CNN ทางอีเมล “ผ่านการทำซ้ำนับพันครั้งตลอดช่วงเวลาอันยาวนาน ดังนั้นฉันจะบอกว่าทั้งการอนุรักษ์และการทดลองใหม่ๆ กับส่าหรีต่างก็สำคัญอย่างยิ่งตราบเท่าที่ทั้งสองสิ่งนี้เป็นไปด้วยความเคารพซึ่งกันและกัน”


ประวัติศาสตร์แรงบันดาลใจ

    Dr.Phyllida Jay นักมานุษยวิทยาและผู้เขียนหนังสือ “Inspired by India” ชี้ว่าบรรดานักออกแบบที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ไม่ว่าจะผู้สร้างสรรค์อาภรณ์สัญชาติฝรั่งเศส Madame Gres, Jean Paul Gaultier และนักออกแบบชาวเลบานอน Elie Saab ต่างก็ได้แรงบันดาลใจจากส่าหรีทั้งสิ้น

    “หนังสือของฉันพยายามสืบย้อนกลับไปว่านวัตกรรมการออกแบบในศตวรรษที่ 20 ได้รับอิทธิพลจากส่าหรีอย่างไรบ้าง” เธอเล่า ในขณะที่หลายคนมองว่าส่าหรีเป็นของแปลกจากเมืองนอกหรือเป็นชุดแฟนซี Dr.Jay บอกว่านักออกแบบที่เคารพส่าหรีและใช้เวลาทำความเข้าใจมุมมองเทคนิคการนุ่งล้วนสร้างสรรค์ผลงานการตีความอันเป็นเลิศในระดับสากล

    ดูอย่างชุดราตรีส่าหรีของ Cristobal Balenciaga ที่โด่งดังเมื่อ Elizabeth Taylor สวมใส่ หรือเดรสเชิ้ตทิ้งชายที่ได้แรงบันดาลใจจากส่าหรีของ Gianfranco Ferre


ชุดราตรีส่าหรีออกแบบโดย Cristobal Balenciaga


    ในย่านเมย์แฟร์ซึ่งเป็นแหล่งชอปปิ้งลักชูรีของลอนดอน ร้านค้าปลีกสัญชาติอินเดียซึ่งรวบรวมสินค้าแบรนด์ต่างๆ มากมายอย่าง Pernias Pop-Up Shop มีคอลเล็กชันจากนักแบบชาวอินเดียราว 50 คน เจ้าของร้าน Abhishek Agarwal เผยกับ CNN ว่าไม่ได้มีแค่ชาวอินเดียพลัดถิ่นเท่านั้นที่มาซื้อส่าหรีจากร้านของเขา แต่ยังมีนักชอปจากนานาชาติอีกด้วย

    “วิสัยทัศน์ของเราคือการพาแฟชั่นอินเดียสู่สากล และสร้างพื้นที่ให้อุตสาหกรรมการออกแบบใหม่ล่าสุดของประเทศเราได้มีที่ยืน” เขากล่าว “เจตจำนงนี้ย่อมก้าวข้ามขอบเขตและวัฒนธรรมต่างๆ ได้อย่างง่ายดาย”

    ไม่ว่าจะบทท้องถนนในมุมไบและเดลี พรมแดงในนิวยอร์ก หอศิลป์ในลอนดอน หรือเวทีแฟชั่นในปารีส ความนิยมชมชอบส่าหรีมีแต่จะกว้างขวางขึ้นเท่านั้น

    “ยิ่งอินเดียขยับขยายอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ วัฒธรรมอันยิ่งใหญ่ของประเทศก็จะเป็นที่ยอมรับเช่นกัน” Gaurav Jai Gupta นักออกแบบสิ่งทอจากเดลีบอกกับ CNN ผ่านการสัมภาษณ์ทางอีเมล เขายังเสริมว่า “ผมยินดีอย่างยิ่งที่ผู้คนทั่วโลกจะสวมส่าหรี”

    แต่ความปรารถนาของเขาจะเป็นจริงหรือไม่ เวลาเท่านั้นที่เป็นเครื่องพิสูจน์



แปลและเรียบเรียงจาก How the world fell for the sari ซึ่งเผยแพร่บน cnn.com


อ่านเพิ่มเติม : Destination Unknown สร้างแผนการท่องเที่ยวสุดเร้าใจ

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine