พบรักหรือหนักใจ? กับ Lark แพลตฟอร์มสานสัมพันธ์พนักงาน TikTok - Forbes Thailand

พบรักหรือหนักใจ? กับ Lark แพลตฟอร์มสานสัมพันธ์พนักงาน TikTok

Lark ซอฟต์แวร์สำหรับพนักงาน TikTok ที่นอกจากจะมีไว้ใช้ในการแชตที่ทำงาน ฝากไฟล์เอกสาร ดูปฏิทิน และประชุมออนไลน์แล้ว ยังมีพื้นที่สำหรับโฆษณาส่วนตัวของพนักงานเคียงข้างอัปเดตต่างๆ ของทางบริษัท


    ทุกเช้า พนักงาน TikTok นับพันคนทั่วโลกจะเริ่มต้นวันด้วยการลงชื่อเข้าสู่ Lark แพลตฟอร์มพื้นที่สำหรับทำงานพัฒนาโดยบริษัทแม่อย่าง ByteDance บนหน้าแรกของ Lark ที่มีหัวว่า “Workplace” พวกเขาจะได้รับแจ้งเตือนจากฟอรัมเครือข่ายภายในองค์กรที่เรียกว่า ByteMoments ซึ่งจะมีช่องต่างๆ แยกย่อยออกไป เช่น “ByteDance updates”, “Work Discussions”, “Product Feedback” และอีกหนึ่งคือ “Meet Cute”

    บนช่อง Meet Cute พวกเขาจะได้พบกับบรรดาโพสต์เผยแพร่โดยพนักงานอวดสมาชิกครอบครัว เพื่อนฝูง และคนที่รู้จักแก่เพื่อนร่วมงานในฐานะว่าที่คู่รักโรแมนติก โพสต์เหล่านี้ปกติจะมีรูปถ่ายของบุคคลนั้น ที่มักมาพร้อมกับรายละเอียดของ ส่วนสูง น้ำหนัก และคุณสมบัติอื่นๆ

    “Meet Cute มีไว้เพื่อแนะนำเพื่อนข้างนอกให้เพื่อนร่วมงานชาว ByteDance รู้จัก ห้ามโพสต์ข้อมูลส่วนตัวของบุคลากรภายในเด็ดขาด รวมถึงตัวคุณเองด้วย” คือข้อความอธิบายด้านบนสุดของช่อง หน้าเพจยังบอกด้วยว่าได้สร้าง “ช่วงเวลาพิเศษ” กว่า 420 ครั้ง และสะสม “ปฏิสัมพันธ์” กว่า 11,500 ครั้ง

    ใต้โพสต์คือพื้นที่ที่พนักงาน TikTok และ ByteDance แสดงความคิดเห็นประเมินผู้คนที่ถูกแนะนำว่าเหมาะสมจะเป็นคู่รักหรือไม่ ในความคิดเห็นที่มีข้อความตอบกลับยาวเหยียว ชายหลายคนจะมาแบ่งประเภทผู้หญิงซึ่งเป็นญาติของเพื่อนร่วมงานในฐานะ “P0” โดยคำนี้เป็นศัพท์ในแวดวงเทคโนโลยี ปกติแล้วหมายถึงงานสำคัญสูงสุด บางครั้งพวกผู้ชายก็จะอภิปรายกันเรื่องน้ำหนักของผู้หญิง มีการเกทับกันว่า “แฟนฉันน่ะผอมกว่าแฟนนายอีก (พร้อมอีโมติคอนยิ้มแย้ม)”


แพลตฟอร์มทำงาน Lark ซึ่งมีบริษัทชั้นนำใช้บริการมากมาย


    ส่วนใหญ่แล้ว ผู้ใช้งาน ByteMoments คือพนักงานในจีน ซึ่งอ้างอิงจากข่าวภาษาจีนบน Tech Planet แล้ว ยังมีบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่รายอื่นที่เปิดพื้นที่ฟอรัมหรือบริการสื่อรักแก่พนักงานของตัวเองเช่นกัน ในจำนวนนั้นมี Alibaba, Meituan และ Huawei

    อย่างไรก็ตาม ByteMoments ถูกใช้งานโดยพนักงาน TikTok จากทั่วโลก ไม่ว่าจะในสหรัฐอเมริกาและสถานที่อื่นๆ อีกมากมายซึ่งต้องพึ่งพาแพลตฟอร์มดังกล่าวสำหรับทำงาน พนักงาน TikTok สามรายเผยความรู้สึกกับ Forbes ว่า การที่บริษัทเข้ามามีบทบาทหาคู่ให้คนในองค์กรนั้นดูจะเป็นการล่วงล้ำขอบเขตความเป็นส่วนตัว

    Lik Sam Chan ศาสตราจารย์แห่ง Chinese University of Hong Kong ผู้ศึกษาแอปพลิเคชันคู่รักของจีนกล่าวว่า เขาไม่เคยได้ยินเกี่ยวกับโปรแกรมเหล่านี้มาก่อน แต่ก็ไม่แปลกใจเมื่อรับรู้ถึงการมีอยู่ของพวกมัน ก่อนจีนจะเปิดประเทศช่วงปลายยุค 80s มีระบบที่เรียกว่า Danwei ซึ่งเป็นศูนย์กลางชีวิตของคนหนุ่มสาวส่วนใหญ่ ทั้งยังเป็นพื้นที่สำหรับงานอาชีพของพวกเขา รวมถึงเป็นองค์กรทางสังคมที่ให้บริการจัดหาคู่แก่ประชาชนอีกด้วย

    Chan เผยว่าตอนนี้หลายบริษัทกำลังสวมบทบาทแบบเดียวกันนั้นในชีวิตของพนักงาน ในบริษัทเทคโนโลยีที่น่าดึงดูดหลายแห่ง พนักงานสามารถชอปปิ้ง รับประทานอาหาร และสังสรรค์กันโดยไม่ต้องหยุดงาน “หากคุณหาคู่นอกบริษัทไม่ได้เพราะคุณเอาแต่มาทำงาน ก็ลองมองดูคนในบริษัทเสียเลยสิ ผมคิดว่านั่นคือเหตุผลที่บริการเหล่านี้ถือกำเนิดขึ้น” เขาเสริมด้วยว่าโรงงานหลายแห่งในจีนเองก็มีบริการหาคู่ให้พนักงานด้วยเช่นกัน

    บริษัทยักษ์ใหญ่ใน SIlicon Valley ก็คล้ายคลึงกับบริษัทเทคโนโลยีที่จีน ทั้ง Apple, Meta และ Google ต่างสร้างพื้นที่สำนักงานอย่างยิ่งใหญ่ มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ พร้อมสรรพ ไม่ว่าจะเป็นสระว่ายน้ำส่วนตัว โรงภาพยนตร์ และสวนสาธารณะพร้อมก๊อกน้ำชา หรือกระทั่งร้านอาหารแสนฟุ่มเฟือยที่เข้าใช้บริการได้ฟรี มีแอลกอฮอล์ รวมถึงการคมนาคมแบบส่วนตัวไปกลับที่ทำงานในแต่ละวัน

    ในทุกวัฒนธรรม สิ่งจูงใจนั้นเรียบง่ายกว่าที่คิด หากคุณสามารถดึงดูดพนักงานอ่อนวัยมากความสามารถมาเข้าร่วม และทำให้พวกเขารู้สึกอยากทำงานด้วยได้ พวกเขาก็จะทำงานกับคุณนานขึ้น หนักขึ้น ทำให้งานกลายเป็นส่วนหลักของชีวิตและตัวตนมากขึ้น

    บริษัทเทคโนโลยีในสหรัฐฯ หลายรายยังมีเครือข่ายสังคมภายในองค์กรรูปแบบเฉพาะตัว อาจสร้างบนซอฟต์แวร์ขององค์กรเอง (เช่น Workplace ของ Facebook) หรือเครื่องมือภายนอกก็ได้ (เช่น Forbes ใช้ Slack) ทว่าบริษัทเหล่านี้โดยปกติแล้วจะไม่อำนวยพื้นที่สำหรับความรักบนแพลตฟอร์มการทำงาน เป็นไปได้ว่าเพราะอาจทำให้พนักงานรู้สึกเหมือนได้รับแรงกดดันทางเพศหรืออึดอัด

    Chan บอกด้วยว่าหลายบริษัทในจีนก็เหมือนกับที่สหรัฐฯ คือห้ามความสัมพันธ์รักโรแมนติกระหว่างพนักงาน ซึ่งอธิบายได้ว่าเหตุใด BytesMoments จึงอนุญาตให้พนักงานโพสต์โฆษณาอวดเพื่อนหรือญาติได้ แต่ไม่ให้ลงข้อมูลของตัวเอง ทั้งนี้ทั้งนั้นที่บริษัทใหญ่โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ความสัมพันธ์ระหว่างคนในองค์กรไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร

    พนักงาน ByteDance ในอเมริกาจำนวนหนึ่งบอกเล่าแก่สาธารณะว่าสำนักงานใหญ่ที่จีนส่งอิทธิพลต่อประสบการณ์ทำงานของพวกเขาอย่างไรบ้าง บนบล็อกหนึ่งซึ่งเผยแพร่ในปี 2022 อดีตพนักงาน ByteDance นาม Melody Chu เขียนเกี่ยวกับช่วงเวลาหนึ่งปีครึ่งที่ TikTok ซึ่งนับเป็นประสบการณ์กับบริษัทที่มีสำนักงานใหญ่อยู่นอกสหรัฐฯ ครั้งแรกของเธอ

    “เราเคยชินกับสำนักงานใหญ่ที่ Silicon Valley หรืออย่างน้อยก็ในสหรัฐฯ ภูมิภาคอื่นๆ ที่มีไทม์โซนเดียวกัน หรือภูมิภาคที่มีมาตรฐานด้านวัฒนธรรมและภาษาตรงกัน ที่ TikTok คือคนละโลกเลย” เธอเพิ่มเติมว่าสิ่งต่างๆ มักตกหล่นไปในการแปลภาษา “การสื่อสารผิดพลาดรุนแรงมาก”

    แต่สำหรับ Chu แล้ว “แก่นหลักของปัญหามาจากการที่ ByteDance นำระบบและวัฒนธรรมการทำงานที่ใช้ในจีนมาใช้กับทีมที่อเมริกา บังคับให้ทีมต้องพึ่งพาและขึ้นตรงต่อผู้จัดการและหัวหน้าในจีนเท่านั้น”

    TikTok และ ByteDance ปฏิเสธจะแสดงความคิดเห็น ณ ตอนนั้น แต่หลัง Forbes เผยแพร่บทความนี้ Jodi Seth โฆษกของ ByteDance ก็ส่งแถลงการณ์มาทางอีเมล ดังนี้

    “เราคำนึงถึงความต่างด้านวัฒนธรรมขณะสร้างแอปพลิเคชันภายในองค์กรอย่าง ByteMomnts ฟังก์ชัน Meet Cute ถูกออกแบบมาเป็นตัวเลือกแก่พนักงานในจีนแผ่นดินใหญ่โดยเฉพาะเท่านั้น ตลอดสองถึงสามสัปดาห์ที่ผ่านมา ข้อผิดพลาดทางเทคนิคโดยรวมทำให้พนักงานของตลาดอื่นเพิ่มช่องดังกล่าวเข้าไปใน ByteMoments ของพวกเขาได้ ข้อผิดพลาดนี้ได้รับการแก้ไขแล้ว”

    สำหรับการตอบสนองต่อคำถามที่ตามมาว่า ByteMoments แสดงโพสต์การสื่อรักแก่พนักงานในสหรัฐฯ เมื่อปี 2022 ได้อย่างไร Seth อธิบายว่า “เราคาดว่าคุณกำลังกล่าวถึง ByteMoments เวอร์ชั่นเก่าซึ่งมีพนักงานเพียงหยิบมือนอกจีนแผ่นดินใหญ่เข้าถึง และตอนนี้ก็ถูกยกเลิกไปแล้ว แอปพลิเคชัน ByteMoments ตอนนี้เป็นเวอร์ชั่นใหม่โดยมีกลุ่มที่ออกแบบมาเพื่อพนักงานในจีนแผ่นดินใหญ่โดยเฉพาะ”

    ที่จีน ByteDance เปิดเผยบทบาทการเป็นแม่สื่อสำหรับพนักงานมาโดยตลอดอด โพสต์ในปี 2020 โดยบัญชี “วัฒนธรรมแบรนด์” ทางการของทางบริษัทซึ่งเผยแพร่บนเว็บไซต์ข่าว Jinri Toutiao มีการประกาศถึงบริการหาคู่ภายในชื่อว่า “Taro Project” (Tech Planet เสริมว่าบริการนี้มีอีกชื่อคือ “175 Project” เนื่องจากผู้หญิงมักต้องการผู้ชายที่สูงอย่างน้อย 175 เซนติเมตร)

    พาดหัวของโพสต์เขียนว่า “พนักงานของ Byte ทุกคนคือแม่สื่อผู้มีส่วนในการสร้างสรรค์แพลตฟอร์มจับคู่ที่พึ่งพาได้ที่สุดบนอินเทอร์เน็ต” พร้อมโฆษณาอัตราส่วนชายต่อหญิงเป็นตัวเลข 1:9 และแนะนำผู้เข้าร่วมใช้ “มองการหาคู่เป็น OKR” ย่อมาจาก “Objective and Key Result” ระบบการตั้งเป้าหมายในการทำงานที่ใช้กันอย่างแพร่หลายใน Silicon Valley

    ศาสตราจารย์ Chan จาก Chinese University of Hong Kong ชี้ว่าการให้ความสำคัญกับการหาคู่รักขององค์กรสะท้อนความคาดหวังแบบจีนที่ควรมีคู่ควรก่อนอายุ 20 ปลาย หรือไม่ก็ถูกสังคมตราหน้าว่า “ช้าไปเสียแล้ว” โดยเฉพาะผู้หญิง


รักในที่ทำงาน โรแมนติกหรืออึดอัด?


    สำหรับพนักงาน TikTok บางคน การมีอยู่ของ ByteMoments ในฐานะส่วนหนึ่งของวันทำงานก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างวัฒนธรรมภายในบริษัทและภาพลักษณ์ภายนอก ทางบริษัทหลุดออกนอกเส้นทางในพัฒนาการไมตรีกับผู้สร้างสรรค์บนแอปพลิเคชันซึ่งเป็นชาวเควียร์ คนที่ไม่ใช่คนขาว และคนที่อัตลักษณ์ทางเพศไม่สอดคล้องกับบทบาททางเพศที่สังคมคาดหวัง

    เมื่อ TikTok ส่งกลุ่มผู้สร้างสรรค์ผลงานไปยังเมืองวอชิงตันดีซีเมื่อเดือนมีนาคมปี 2022 ในนามของบริษัท กลุ่มคนดังกล่าวมีทั้งเยาวชน เควียร์ มีเชื้อชาติที่หลากหลาย และเป็นตัวแทนของ Gen Z หัวก้าวหน้าซึ่งไม่เคยหาจุดยืนบนแพลตฟอร์มคู่แข่งอื่นๆ อย่าง Facebook และ Instagram ได้โดยแท้จริง

    ทว่าพนักงานของ TikTok กลับเผยว่าที่ทำงานของพวกเขาไม่ได้แสดงออกถึงการสนับสนุนความหลากหลายและความเสมอภาคทางเพศดังเช่นที่ปรากฏบนแอป ในปี 2020 รายงานข่าวจาก The Intercept เล่าว่าทางบริษัทบอกให้ผู้ตรวจสอบเนื้อหาระงับโพสต์จากผู้คนที่มี รูปร่างผิดปกติ, ใบหน้าอัปลักษณ์ และลักษณะทางกายภาพอื่นๆ

    ในปี 2022 ทางบริษัทลดตำแหน่งผู้บริหารทีมอีคอมเมิร์ซในลอนดอนคนหนึ่ง หลังจาก Financial Times เปิดโปงเขาบอกเคยพูดกับพนักงานว่า “ไม่เชื่อ” ในการลาเพื่อปฏิบัติหน้าที่มารดา (Maternity Leave)

    ในปี 2023 ผู้บริหารอีกคนจากสำนักงานเดียวกันก็กระทำการไม่เหมาะสมกับสตรีในที่ทำงาน โดยมีผู้หญิงสี่คนบอกเรื่องนี้กับทาง Financial Time

    อย่างไรก็ตาม ByteMoments ก็เหมือนกับแพลตฟอร์มอื่นๆ ที่อนุญาตให้ผู้ใช้งานสร้างเนื้อหาได้ คือถือว่ามีส่วนในการเลือกปฏิบัติ เมื่อเร็วๆ นี้ พนักงานบางส่วนแสดงความคิดเห็นให้ร้ายเกี่ยวกับชาวญี่ปุ่น หลายโพสต์อ้างถึงการที่ญี่ปุ่นปล่อยน้ำเสียที่บำบัดสารกัมมันตรังสีแล้วลงสู่มหาสมุทร โดยชี้ว่าการกระทำนั้นส่งผลให้ประเทศเกาะแห่งนี้รวมถึงอาหารของพวกเขาแปดเปื้อน

    มีคนหนึ่งเลยเถิดถึงขึ้นกล่าวหาว่าการรับประทานอาหารญี่ปุ่นจะทำให้ “เริ่มกลายพันธุ์” และ “ชนชาติที่สูงส่งกว่าต้องกินอาหาร” ใต้โพสต์นั้น พนักงานอีกคนร่วมแสดงความคิดเห็นว่า “เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ในสาธารณะ” ซึ่งชัดเจนว่าเป็นความพยายามทดสอบทัศนคติเหยียดเชื้อชาติของเจ้าของโพสต์

    บนช่อง Meet Cute ของ ByteMoments ทางบริษัทเตือนผู้ใช้งานว่า ByteMoments คือแพลตฟอร์ม ไม่ใช่บริการ ดังนั้นจึงไม่มีส่วนรับผิดชอบให้แน่ใจว่าเนื้อหาบนโพสต์ต่างๆ นั้นถูกต้องหรือไม่

    หนึ่งในพนักงานจากทีม “วัฒนธรรมองค์กร” เขียนโพสต์เตือนเพื่อนร่วมงามให้ป้องกันตัวเองขณะนัดพบคนแปลกหน้า คำเตือนนี้ถูกนำมาย้ำอีกครั้งในหน้าแนะนำของ Meet Cute

    “พึงระวังขณะมีส่วนร่วมกับโพสต์ต่างๆ” ข้อความเขียนไว้ “ทางบริษัทไม่มีส่วนรับผิดชอบในการไกล่เกลี่ยหรือความขัดแย้งใดๆ”



แปลและเรียบเรียงจาก TikTok Has A Matchmaking Service For Employees To Set Up Their Colleagues ซึ่งเผยแพร่บน Forbes



อ่านเพิ่มเติม : 10 อันดับ สุดยอดครีเอเตอร์ ประจำปี 2023

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine