ฝนปนฝุ่นยางสู่การคร่าชีวิตปลาแซลมอน - Forbes Thailand

ฝนปนฝุ่นยางสู่การคร่าชีวิตปลาแซลมอน

FORBES THAILAND / ADMIN
22 Mar 2023 | 06:11 PM
READ 3370

งานวิจัยที่เพิ่มขึ้นของนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกกำลังเฝ้าติดตามผลของแหล่งมลพิษจากยานยนต์ที่เชื่อมโยงกับการตายของปลาแซลมอนสายพันธุ์โคโฮในแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือ รวมทั้งยังส่งผลอันตรายต่อปลาสปีชีส์อื่นๆ


    บรรยากาศความหนาแน่นในแม่น้ำหลังจากฝนตกกระหน่ำลงอย่างหนักในแคลิฟอร์เนียเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ได้นำพาสายน้ำพัดผ่านมาสู่ The Golden State มลรัฐที่ได้รับฉายาว่าทุ่งหญ้าสีทองในยามหน้าฝนแล้ง

    อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำฝนหลายพันล้านแกลลอนยังได้ชะล้างเอามลพิษบนท้องถนนลงไปสู่แม่น้ำลำธารและมหาสมุทรแปซิฟิกทำให้เหล่านักวิทยาศาสตร์ นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่กำกับดูแลเกิดความกังวลต่อฝุ่นละอองอันเกิดจากยางล้อรถยนต์

    งานวิจัยที่เพิ่มขึ้นชี้ว่านอกจากสารเคมี 6PPD ที่ใช้ป้องกันการเสื่อมสภาพในยางรถยนต์ จะเป็นสาเหตุหลักของมลพิษจากไมโครพลาสติกแล้วมันยังทำปฏิกิริยากับโอโซนในชั้นบรรยากาศ เกิดเป็นสารพิษชนิดใหม่ที่นักวิทยาศาสตร์เรียกกันว่า 6PPD-Quinone 

    สารเคมีดังกล่าว ได้คร่าชีวิตปลาแซลมอนโคโฮและยังส่งผลอันตรายต่อปลาชนิดอื่นๆ จากปัญหาด้านการหายใจ ส่งผลให้ความเสียหายของปลาแซลมอนโคโฮซึ่งเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ในสหรัฐฯ เข้าสู่ขั้นวิกฤต

    ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่า ปลาแซลมอนโคโฮบริเวณชายฝั่งตอนกลางของแคลิฟอร์เนียกำลังใกล้สูญพันธุ์เข้าไปทุกที จากจำนวนที่มีกว่า 500,000 ตัว ในปี 1940 ได้ลดลงอย่างมากเหลือเพียงไม่กี่พันตัวในตอนนี้ หรือแม้แต่ในรัฐวอชิงตันเองที่มีความอุดมสมบูรณ์กว่าแคลิฟอร์เนียก็ยังมีจำนวนปลาแซลมอลโคโฮลดลงเหลือหนึ่งในสามของปี 2021 อยู่ที่ 200,000 ตัว 

 

   ข้อมูลดังกล่าวอ้างอิงจากสถาบัน Puget Sound และแม้ทางกลุ่มผู้ผลิตยางรถยนต์จะบอกว่าพวกเขากำลังติดตามปัญหาอย่างใกล้ชิด แต่ทว่าพวกเขากลับไม่รู้ว่าจะมีตัวเลือกที่ปลอดภัยกว่าการใช้สารเคมี 6PPD หรือไม่ หลังจากพวกเขาได้ใช้สารเคมีดังกล่าวมาเนิ่นนานหลายทศวรรษ

    “มันเปรียบเสมือน DDT หรือยาฆ่าแมลงสำหรับกลุ่มคนรุ่นเรา” David Troutt หัวหน้าฝ่ายทรัพยากรธรรมชาติจาก Nisqually Tribe ในวอชิงตันบอกกับ Forbes “เจ้าสิ่งนี้มันกำลังคร่าชีวิตปลาแซลมอนทุกครั้งที่ฝนตกฝนในภูมิภาค Puget Sound เราไม่สามารถนิ่งเฉยต่อสิ่งที่เกิดขึ้นได้”

    กว่าครึ่งทศวรรษ ที่กฎหมายควบคุมด้านมลพิษบังคับให้ผู้ผลิตรถยนต์ต้องสร้างตัวกรองไอเสียเมื่อเครื่องยนต์เผาไหม้น้ำมันเบนซินและเชื้อเพลิงดีเซลเพราะมีการค้นพบว่ามันเป็นอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม 

    ในปัจจุบันเริ่มมีการหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าและรถบรรทุกที่นอกจากจะช่วยลดสารคาร์บอนที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนแล้วก็น่าจะช่วยขจัดปัญหาด้านมลพิษจากท่อไอเสียให้หมดไปได้ในอนาคต 

    อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังไม่มีข้อบังคับเกี่ยวกับฝุ่นละอองที่ล่องลอยอยู่ในอากาศและน้ำอันมีสาเหตุเกิดมาจากยางรถยนต์จำนวนหลายพันล้านเส้นของยานพาหนะทั่วโลก

    “จากการประมาณการล่าสุด มีปริมาณฝุ่นจากยางรถยนต์ที่เกิดขึ้นจากทั่วโลกราว 6 ล้านตัน” Nick Molden ในฐานะ CEO และผู้ก่อตั้ง Emissions Analytics บริษัทวิจัยยานยนต์อิสระในเมืองออกซ์ฟอร์ดของประเทศอังกฤษกล่าว 

    ขอบเขตความเสี่ยงด้านสุขภาพจากฝุ่นเหล่านี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัย แต่ “เรารู้ว่ามันทำมาจากน้ำมันที่มีอยู่เยอะมากๆ และรู้ว่ามีสารเคมีหลายตัวอยู่ในนั้น ซึ่งนั่นเป็นสิ่งไม่ดีเลย นี่จึงเป็นสาเหตุที่เรากังวลอย่างมาก”


    ผลกระทบที่รุนแรงของฝุ่นจากยางรถยนต์ต่อสัตว์ทะเลในอ่าวซานฟรานซิสโกได้นำพาความกังวลอย่างมากมาสู่เหล่านักนิเวศวิทยา Rebecca Sutton นักวิทยาศาสตร์อาวุโสจาก San Francisco Estuary Institute กล่าว “มันคือองค์ประกอบใหญ่ของมลพิษจากไมโครพลาสติก และยังมีส่วนประกอบทางเคมีหลายชนิดที่เป็นพิษ” และเธอยังเสริมด้วยว่ามันเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดมลพิษในบริเวณดังกล่าว

    ปริมาณการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของไมโครพลาสติกที่ผลิตจากปิโตรเลี่ยมหรือน้ำมันดิบกำลังปนเปื้อนในแม่น้ำ มหาสมุทรทั่วโลก และบริเวณ Great Lakes ของสหรัฐฯ ถือเป็นประเด็นที่มีการวิจัยและให้ความสำคัญอย่างมาก 

    แต่ทั้งนี้ ก็ยังไม่สามารถทำความเข้าใจต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ทั้งหมด ตัวอย่างหนึ่งของสิ่งปนเปื้อนนี้ก็คือเม็ดพลาสติก polyethylene microbeads ที่พบได้ในเครื่องสำอาง อย่าง ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด และยาสีฟัน ที่ถูกสั่งห้ามใช้ในสหรัฐฯ 

    เนื่องมาจากกฎหมายที่ออกโดยอดีตประธานาธิบดี Barack Obama ในปี 2015 การศึกษาหลายชิ้นยังแสดงให้เห็นว่าอนุภาคของเม็ดพลาสติกที่มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร ถูกดูดซึมโดยปลาและสัตว์ทะเลมานานแล้ว แต่ทั้งนี้ งานวิจัยชิ้นใหม่ยังพบด้วยว่าเริ่มเจอสารปนเปื้อนดังกล่าวอยู่ในผักและผลไม้ของด้วย


- ท้ายที่สุด -


    สัญญาณแรกของสงครามฝุ่นจากยางรถยนต์ได้เริ่มต้นขึ้นในปีนี้ที่แคลิฟอร์เนียซึ่งถือเป็นตลาดรถยนต์ชั้นนำของสหรัฐ และยังถือเป็นรัฐที่สั่งให้ผู้ผลิตรถยนต์ใช้ Catalytic Converter เพื่อกรองควันในท่อไอเสียก่อนจะมีกฏหมายใช้กันทั้งประเทศในช่วงทศวรรษที่ 1970 อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นในคราวนี้

    ทาง Department of Toxic Substances (DTSC) ในแคลิฟอร์เนียคาดหวังให้กฎข้อบังคับใช้เริ่มมีผลเป็นครั้งแรกในวันที่ 1 กรกฎาคม 2023 โดยต้องการให้ผู้ผลิตยางรถยนต์ที่ใส่สาร 6PPD มาขึ้นบัญชีกับทางรัฐว่าสินค้าดังกล่าวเป็น “Priority Product” ที่ถึงแม้จะไม่ได้ถูกห้ามใช้โดยตรง 

    แต่ “ต้องการให้ผู้ผลิตที่ใช้สาร 6PPD ต้องแจ้งกับทาง DTSC ด้วย” พร้อมกระตุ้นให้พวกเขาเริ่มหาสิ่งทดแทนหรือทางออกเพื่อขจัดสารพิษของเคมีชนิดดังกล่าว

    แนวทางดังกล่าวถือเป็นกฏระเบียบเบื้องต้นที่มีอยู่ข้อเดียวเกี่ยวกับการแก้ปัญหามลพิษจากยางรถยนต์ที่มีอยู่ ณ ปัจจุบัน 


    Air Resources Board หรือ ARB ถือเป็นหน่วยงานส่งเสริมและปกป้องสุขภาพ สวัสดิภาพ และทรัพยากรอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพจากปัญหามลพิษทางอากาศในแคลิฟอร์เนีย ได้ผลักดันกฏระเบียบว่าด้วยมลพิษจากยานยนต์ที่เข้มข้นที่สุดของประเทศจนจุดชนวนให้เกิดการเปลี่ยนไปสู่การใช้รถยนต์ไฟฟ้าบอกกับ Forbes ว่า ยังไม่ถึงเวลาอันสมควรที่จะตั้งกฎควบคุมเกี่ยวกับฝุ่นจากยางรถยนต์ เบรค และมลพิษอื่นๆ ที่ไม่ได้มาจากท่อไอเสีย 

    โดย ARB “ยังอยู่ในขั้นตอนวิจัยไอเสียจากเบรคและยางล้อรถ ตลอดจนผลกระทบซึ่งอาจเกิดจากไอเสียเหล่านี้” Melanie Turner โฆษกกล่าว

    เช่นเดียวกับ แผนกวิทยาศาสตร์ของ Environmental Protection Agency (EPA) ของสหรัฐ ก็กำลังศึกษาประเด็นนี้และได้ร่วมมือกับ “กลุ่มวิจัยอื่นๆ เพื่อค้นหาวิธีการตรวจวัดไอเสียจากเบรคและยางล้อรถ” Dominique Joseph โฆษกกล่าว “ข้อมูลนี้ในท้ายที่สุดแล้วจะถูกรวมไว้ในเครื่องมือสร้างแบบจำลองของ EPA”

    กฎระเบียบใหม่ของทาง EPA ว่าด้วยมลพิษจากเขม่าควันที่ออกมาในเดือนมกราคม 2023 ไม่ได้รวมถึงฝุ่นจากยางรถยนต์ แต่จะเน้นไปยังฝุ่นละอองจากแหล่งต่างๆ เช่น ปล่องควัน ท่อไอเสียรถยนต์ และโรงไฟฟ้า

    “งานวิจัยของเราชี้ให้เห็นว่าปลาแซลมอนเสี่ยงสูญพันธุ์ลำดับถัดมาคือสตีลเฮด และถัดมา คือชินุค” Jenifer McIntyre ผู้ช่วยศาสตราจารย์ Washington State University กล่าว 

    นักชีววิทยามองว่านี่ถือเป็นการละเลยที่รุนแรงมาก กฏระเบียบใหม่ของแคลิฟอร์เนียที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้แลดูจะอ่อนแอ “ไร้พลัง” ได้สร้างความผิดหวังให้แก่นักพิษวิทยาทางน้ำ Jennifer McIntyre ซึ่งในตอนแรกเธอคิดว่าข้อบังคับนี้จะมีผลบังคับให้ทุกอุตสาหกรรมสร้างความเปลี่ยงแปลง แต่พวกเขากลับไม่ได้ถูกเรียกร้องให้กระทำการใดๆ ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นเลย


Jenifer McIntyre ผู้ช่วยศาสตราจารย์ Washington State University


    “ผู้คนอาจจะตัดเรื่องปลาแซลมอนโคโฮทิ้งไปแล้วบอกว่า บางทีเราอาจจะไม่ต้องการแซลมอนโคโฮก็ได้ แต่พวกเราได้ศึกษาน้ำฝนท่วงขังมาสองทศวรรษแล้ว และผลการวิจัยของเรายังชี้ให้เห็นว่าปลาแซลมอนที่เสี่ยงสูญพันธุ์ลำดับถัดมาคือสตีลเฮด และต่อมาคือ ชินุค” McIntyre เล่า 

    “การศึกษาอื่นๆ ยังบอกว่าทั้งสองสปีชีส์มีความเสี่ยง ซึ่งอีกชนิดที่มีความเสี่ยงด้วยเช่นกันก็คือปลาเทราต์บรูค” งานวิจัยในประเทศญี่ปุ่นก็พบว่าสปีชีส์ของปลาชาร์ ซึ่งเป็นปลาที่คล้ายกับแซลมอน ก็ได้รับผลกระทบจาก 6PPD-Quinone เช่นกัน เธอบอก

    ขณะที่ Sarah Amick รองประธานและที่ปรึกษาอาวุโสของ U.S. Tire Manufacturers Association (USTMA) ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงวอชิงตันดีซี ได้คอยวิ่งเต้นให้บริษัทต่างๆ รวมถึง Bridgestone Goodyear และ Michelin บอกว่า กลุ่มบริษัทผู้ผลิตยางรถยนต์ “ล้วนใส่ใจต่อปัญหาสารเคมีดังกล่าวอย่างลึกซึ้ง”

    เธอกล่าวว่า แม้ USTMA จะประเมินความเสียหายต่ออุตสาหกรรมยางรถยนต์ไว้ที่ 171 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ก็ยังสนับสนุนให้ทางแคลิฟอร์เนียขึ้นบัญชียางรถยนต์ที่มีสาร 6PPD เป็น Priortity Product เพื่อเริ่มต้นกระบวนการสรรหาสิ่งทดแทนที่มีศักยภาพที่ดีกว่า แต่ทั้งนี้ เธอไม่ได้บอกว่ากลุ่มผู้ผลิตจะสามารถหาสารเคมีอื่นๆ มาทดแทนการใช้ 6PPD ได้เมื่อไร


- นักสืบแซลมอน -


    ด้วยการร่วมมือกับนักวิทยาศาสตร์ซึ่งมี Ed Kolodziej จาก University of Washington และนักวิจัยจาก National Oceanic and Armospheric Administration และ U.S. Fish & Wildlife Service ทาง McIntyre ได้สืบสวนหาสาเหตุการตายของปลาแซลมอนมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2000 ทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งของทีมที่ค้นพบความเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมของ 6PPD 

    หลังการศึกษาสารเคมีในน้ำฝนที่ไหลผ่านถนนอย่างละเอียดเป็นเวลาหลายปี งานสืบสวนทางวิทยาศาสตร์ได้ชี้ให้เห็นว่าสาร 6PPD-Quinone ซึ่งแต่เดิมยังไม่เป็นที่รู้จักนั้น คือ ตัวการร้าย 

    ซึ่งในกรณีของปลาแซลมอนโคโฮ สารประกอบที่เป็นพิษนี้ก่อให้เกิดปัญหาทางการหายใจที่ทำให้ปลามีอาการเหมือนหายใจไม่ออก แต่ทว่าสาเหตุการตายที่แท้จริงของปลานั้นยังคงอยู่ระหว่างการวิจัย

    McIntyre พร้อมด้วย Troutt จาก Nisqually Tribe ได้เข้าร่วมอภิปรายอย่างจริงจังเกี่ยวกับมลพิษจากยางรถยนต์ในการประชุมอย่างเป็นทางการของ House of Representatives Natural Resources Committee ในเดือนกรกฎาคมปี 2021 

    ซึ่งมี Katie Porter ตัวแทนพรรค Democrat จากเออร์ไวน์ แคลิฟอร์เนีย ดำรงตำแหน่งคณะอนุกรรมการด้านการกำกับดูแลและตรวจสอบ ซึ่งปัญหานี้ยังเป็นหนึ่งในความสนใจของ Porter ที่เพิ่งประกาศว่าจะลงชิงตำแหน่งในวุฒิสภาปี 2024

    นอกเหนือจากความเกี่ยวข้องของสาร 6PPD-Quinone กับการตายของปลาแซลมอนแล้ว Porter ยังบอกกับ Forbes ผ่านทางอีเมลว่า เธอยังมีความกังวลเกี่ยวกับอันตรายต่อสุขภาพที่อาจเกิดจากยางปูพื้นเก่าๆ บนสนามเด็กเล่น และจากการประชุมอย่างเป็นทางการในคราวนั้น 

    “เราได้รู้ว่าสารเคมีชนิดนี้คือปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการดำรงอยู่ของปลาแซลมอนโคโฮ ซึ่งถือเป็นภัยต่อเศรษฐกิจท้องถิ่น และทำร้ายชุมชน” เธอกล่าว

    “หน่วยงานของเรากำลังประเมินถึงการดำเนินงานในขั้นตอนถัดไป รวมถึงความเป็นไปได้ในการออกกฏหมาย” Porter ว่า “ฉันขอปฏิญาณตนในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งรัฐ ท้องถิ่น และชุมชนในการทำภารกิจพิทักษ์และฟื้นฟูชีวิตให้แก่ประชากรแซลมอนโคโฮ”



    ในขณะที่ยานยนต์ขนาดใหญ่สร้างฝุ่นละอองจากยางรถยนต์มากกว่า แต่ทว่ายางสำหรับรถบรรทุกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดกลับไม่ค่อยเป็นปัญหาเพราะใช้ยางธรรมชาติในการผลิต Molden กล่าวว่า “เรารู้ว่ายางล้อของรถขนาดใหญ่โดยปกติแล้วจะเป็นพิษน้อยกว่ายางของล้อรถขนาดเล็ก เพราะต้องใช้ยางธรรมชาติปริมาณมากเพื่อให้ได้สมรรถนะตรงตามต้องการ”

    อย่างไรก็ตาม นั่นอาจจะไม่ใช่ทางออกที่ดีสำหรับตลาดรถยนต์ขนาดใหญ่สำหรับบรรทุกผู้โดยสารโดยสาเหตุหลักมาจาก “การขาดแคลนยางธรรมชาติ” เขากล่าว

    การศึกษาโดยองค์กรด้านการร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจในปารีสพบว่ารถยนต์ไฟฟ้าสามารถสร้างมลพิษจากยางล้อรถและเบรคได้มากกว่ารถยนต์แบบเดิม 

    “เพราะแบตเตอรี่ที่ใช้ในรถยนต์ไฟฟ้ามีน้ำหนักมาก จึงเป็นเรื่องธรรมดาหากรถยนต์ไฟฟ้าทั้งคันจะหนักกว่ารถยนต์ปกติ โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าที่วิ่งได้ระยะทางไกลขึ้นก็ยิ่งต้องมีแผงแบตเตอรี่ที่ใหญ่ขึ้น”

    ทั้งนี้ รูปแบบของรถ Tesla ในปัจจุบันซึ่งถือเป็นแบรนด์ผู้จำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำของโลกได้สะท้อนการศึกษานี้ โดยรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นยอดนิยมอย่าง Model Y SUV มีน้ำหนักเกิน 4,500 ปอนด์ ซึ่งมากกว่า CR-V ของ Honda ที่มีขนาดเท่ากันแต่ใช้พลังงานเชื้อเพลิง 

    อีกทั้งรถกระบะไฟฟ้า Cybertruck ที่ Elon Musk เตรียมจะปล่อยออกจำหน่ายปลายปี 2023 นี้ อาจมีน้ำหนักแตะ 8,500 ปอนด์ ท้าทาย Hummer SUV ของ General Motors ที่มีน้ำหนักมหาศาลถึง 9,000 ปอนด์

    สำหรับตลาดรถยนต์ในสหรัฐที่ถูกครอบครองโดยรถ SUV และรถกระบะ ฝุ่นจากยางรถยนต์จึงถูกมองเป็นปัญหาหลักที่มากขึ้นตามไปด้วย “ดูเหมือนจะถูกผ่อนปรนมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่เพราะการหันมาใช้ยานพาหนะในรูปแบบไฟฟ้า - 

    แต่ตัวน้ำหนักตัวรถหนักกว่าเดิม - ขณะที่สมรรถภาพโดยรวมอื่นๆ ทุกอย่างเท่าเดิม และมลพิษจากยางรถยนต์กลับมีเพิ่มมากกว่า – แม้การปล่อยมลพิษจากท่อไอเสียจะลดลง” Molden กล่าว

- แนวทางแก้ไข -


    เนื่องด้วยยังไม่มีสารทดแทน 6PPD ที่ไม่เป็นพิษ อุตสาหกรรมยางรถยนต์จึงแนะนำให้ทำถนนเรียบขึ้นและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมอื่นๆ แต่นั่นไม่ใช่วิธีการแก้ไขระยะสั้นที่ตรงจุดสำหรับปัญหาที่เริ่มจะปะทุเป็นวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม 

    อย่างไรก็ตามภาคเอกชนบางส่วนกำลังดำเนินการเพื่อหาหนทางกันอย่างแข็งขัน Tyre Collective ธุรกิจ Startup ที่ก่อตั้งขึ้นในลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยกลุ่มคนรุ่นใหม่ 3 ราย ได้แก่ Cheng, Richardson และ Anderson ซึ่งเคยมีรายชื่อติดอยู่ใน Forbes 30 Under 30 โดย Forbes ได้จัดทำรายชื่อนักสร้างนวัตกรรมคนรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จและมีอายุน้อยกว่า 30 ปี 

    โดยตอนนี้ ทั้งสามคนกำลังพัฒนาระบบการกรองไอออนิกตัวแรกสำหรับจับฝุ่นจากยางล้อรถยนต์ ซึ่งได้มีการเริ่มต้นทดสอบกับรถรับส่งสินค้าไฟฟ้าขนาดเล็ก ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดตัวสินค้าเพื่อจำหน่ายได้ในปี 2024 

    นอกจากนี้ Enso Tyres ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศอังกฤษเช่นเดียวกันก็เปิดเผยว่ากำลังพัฒนาลายดอกยางที่สร้างขึ้นเป็นพิเศษสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า และกล่าวว่ามันจะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นโดยทำให้เกิดฝุ่นน้อยลง

    ด้าน Niqually Tribe ในกรุงวอชิงตันเองก็ได้เริ่มโครงการนำร่องร่วมกับ Long Live The Kings องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในซีแอตเทิลเพื่อกรองสารเคมี 6PPD และ 6PPD-Quinone ออกจากน้ำฝนท่วมขังที่ไหลลงสู่แหล่งน้ำที่อยู่อาศัยของปลาแซลมอนโคโฮ

    “เราได้ทำการติดตั้งระบบที่ดักน้ำฝนจากถนนให้ไหลผ่านระบบกรอง Bioremediation compost-based" Troutt เล่า “เรามีบันทึกผลการทดลองหนึ่งปี และมันชี้ให้เห็นความสำเร็จในการกรอง 6PPD แต่นี่เป็นเพียงจุดเดียวในกราฟและเราต้องการมากกว่านี้”


- “สิ่งที่ง่ายที่สุด” -


    การค้นพบผลกระทบที่สารเคมี 6PPD มีต่อปลาแซลมอนดูจะไม่ใช่ปัญหาเพียงหนึ่งเดียว และเป็นไปได้ว่ายังมีหายนะทางสิ่งแวดล้อมอีกมากมายที่มากับฝุ่นจากยางรถยนต์ Hugo Richardson ผู้ก่อตั้งและ CTO ของ Tyre Collective กล่าว

    “6PPD เป็นหนึ่งในสารเคมีตัวแรกๆ ที่ถูกเพ่งเล็งในแง่ที่จะต้องเริ่มมีข้อบังคับอะไรสักอย่างออกมามาควบคุม...แต่ยางล้อรถยนต์ที่ผลิตขึ้นมามีสารเคมีต่างๆ และไมโครพลาสติกผสมอยู่ไม่หลายพันก็หลายร้อยชนิด” เขาเล่าต่อเนื่อง 

    “เรายังไม่รู้ทั้งหมดเกี่ยวกับพวกสารเคมีเหล่านั้น ซึ่งตอนนี้ 6PPD คือเป้าหมายที่น่าจะแก้ไขง่ายที่สุด แต่ก็ยังคงเป็นปัญหาที่รุนแรงมาก และในอนาคตก็ยังไม่ชัดเจนว่าปัญหาเหล่านี้จะไปสิ้นสุดที่ตรงไหน”

    ผลของสารเคมี 6PPD ต่อมนุษย์นั้นยังไม่ปรากฏให้เห็นเด่นชัด แม้ว่าการวิจัยในประเทศจีนจะตรวจพบร่องรอยของสารดังกล่าวในตัวอย่างปัสสาวะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีความเข้มข้นสูงในสตรีมีครรภ์ McIntyre จาก Washington State กล่าว

    “ผมคิดว่าเราคงจะรู้ในเร็วๆ นี้ว่ามันมีผลกระทบอย่างมากต่อสุขภาพของพวกเรา และคงต้องรอตอนนั้นแหละถึงจะมีใครทำอะไรสักอย่าง” Troutt กล่าว “มีผู้คนที่ตระหนักเรื่องปลาแซลมอนโคโฮ แต่เราต้องทำอะไรสักอย่าง เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ตอนนี้กำลังทำลายระบบนิเวศ”

ปลและเรียบเรียงโดย พรรณราย ดวงดีเด่น จากบทความ Car Tire Dust Is Killing Salmon Every Time It Rains ซึ่งเผยแพร่บน forbes.com


ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine