“คาร์บอนเครดิต” ความท้าทายใหม่ภาคธุรกิจไทย - Forbes Thailand

“คาร์บอนเครดิต” ความท้าทายใหม่ภาคธุรกิจไทย

    ความกังวลกับภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในโลกที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนเร่งวางระเบียบโลกใหม่ภายใต้การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยประเทศไทยเองได้วางเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 และจะบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ในปี 2608 ซึ่งเป็นโอกาสและความท้าทายสำหรับภาคธุรกิจที่ต้องปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น


    ปัจจุบันสังคมโลกและไทยตื่นตัวในเรื่องก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น โดยจากผลสำรวจ 500 บริษัทในสหรัฐอเมริกาพบว่า บริษัทจำนวน 88% ให้ความสำคัญเรื่องความยั่งยืน และ 73% เชื่อว่าแนวคิดเรื่องความยั่งยืน (Environmental, Social, and Corporate Governance หรือ ESG) ส่งผลต่อการดำเนินงานของบริษัทในระยะยาว สำหรับบริษัทไทย 92% จากบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 800 บริษัทมีนโยบายเรื่องความยั่งยืน และมีการวางแผนธุรกิจ กลยุทธ์ ตลอดจนกิจกรรมต่างๆ ที่สอดรับกับความยั่งยืนรวมถึงทิศทางของการลงทุนในตลาดเงิน ตลาดทุน

    ขณะที่ข้อมูลกองทุนการเงินทั่วโลกกว่า 5,000 กองทุนมีการลงทุนในหุ้นยั่งยืน คิดเป็นมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) ของกองทุนต่างๆ รวมมูลค่ามากกว่า 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้จัดทำดัชนีหุ้นยั่งยืน (Thailand Sustainability Investment หรือ THSI) ซึ่งจากจำนวน 169 บริษัท มี 118 บริษัทที่ดำเนินการเรื่องความยั่งยืน

    

โอกาสของตลาดคาร์บอนเครดิต

    

    สำหรับบริษัทที่ดำเนินการเรื่องความยั่งยืนไม่ได้ส่งผลเพื่อโลกและสิ่งแวดล้อมเท่านั้น
แต่ยังมีผลต่อกำไรของบริษัทที่ดีขึ้นจากการลดของเสีย (waste) การประหยัดพลังงาน การเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ และเป็นโอกาสทางธุรกิจด้วย เพราะจากข้อกำหนดเรื่อง Net Zero Emissions ทำให้ประเทศพัฒนาแล้วตื่นตัวเรื่องการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และมีพัฒนาการจากข้อกำหนดที่ว่ามาอย่างต่อเนื่อง จนเกิดเป็นตลาดแลกเปลี่ยน “คาร์บอนเครดิต” ขึ้นระหว่างภาคธุรกิจกันเองและระหว่างประเทศผลจากความตื่นตัวที่มีมากขึ้นนั้นทำให้เกิดการผลักดันมาจากหลายทาง 

    อย่างล่าสุดคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ได้กำหนดแผนการทำงานเพื่อสนับสนุนเป้าหมายดังกล่าว เกิดเป็น “European Green Deal” และมาตรการล่าสุดที่กำลังจะนำมาใช้คือมาตรการ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) เป็นมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป กำหนดราคาสินค้านำเข้าบางประเภทเพื่อคัดกรองและป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือน-กระจกสูงเข้ามาในกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป European Union (EU) สำหรับอุตสาหกรรมกลุ่มแรกๆ ที่ต้องเริ่มรายงานการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในเดือนตุลาคมนี้ ได้แก่ กลุ่มธุรกิจปูนซีเมนต์ ปุ๋ย เหล็ก อะลูมิเนียม และพลังงาน เป็นต้น

    ในปี 2566 ประเทศไทยมีการตื่นตัวเรื่องการซื้อขายคาร์บอนเครดิตมากขึ้น โดยมีบริษัทใหญ่ๆ เข้ามาร่วม และคาดว่ามีความต้องการซื้อขายคาร์บอนเครดิตไม่ต่ำกว่า 14 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากช่วง 4-5 ปีก่อน ที่มีการซื้อขายกันอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านตันเท่านั้น โดยปัจจุบันในไทยมีโครงการเกี่ยวกับคาร์บอนเครดิต 144 โครงการ มีบริษัทที่เป็นเจ้าของ 108 บริษัท คาดว่าจะมีมูลค่าการซื้อขายคาร์บอนเครดิตอยู่ที่ 128 ล้านบาท จากทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ที่ได้ลงนามซื้อขายคาร์บอนเครดิตในนามรัฐบาลต่อรัฐบาลกับประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ในโครงการ EV Bus เป็นต้น

    

แรงกดดันต่อธุรกิจไทยรุนแรงขึ้น

    

    ตลาดคาร์บอนเครดิตในภาพใหญ่นั้นมีอยู่ 2 ตลาด คือ ตลาดภาคบังคับ ซึ่งรัฐบาลเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์ และตลาดภาคสมัครใจ โดยประเทศไทยอยู่ในกลุ่มตลาดภาคสมัครใจ ที่แม้จะไม่มีบทลงโทษออกมา แต่ปัจจุบันธุรกิจไทยเองก็ต้องเจอแรงกดดันในหลายมิติ ด้าน Wave BCG ซึ่งดำเนินธุรกิจด้านคาร์บอนเครดิตครบวงจรให้ข้อมูลว่า แรงกดดันระดับแรกนั้นเป็นแรงกดดันระหว่างประเทศจากการที่ไทยไปมีข้อตกลงระหว่างประเทศไว้แล้ว ซึ่งหากไทยไม่เดินหน้าก็จะกระทบต่อภาพลักษณ์ในสายตาชาวโลก

    สำหรับแรงกดดันระดับที่สอง มีความชัดเจนแล้วว่า CBAM จะเปิดตัวในเดือนตุลาคมปีนี้ แม้ระยะแรกที่จะดำเนินการคือการเก็บข้อมูล แต่ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า สำหรับสินค้าส่งออกไป EU จะมีข้อกำหนดมาตรฐานการส่งคาร์บอนต่อชิ้น ซึ่งหากสินค้าใดเกินค่ามาตรฐานก็จะต้องเสียค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น เป็นค่าธรรมเนียมที่คิดจากราคาตลาดคาร์บอนใน EU ซึ่งมีราคาสูงกว่าไทย และไม่ใช่เพียงแค่ใน EU เท่านั้น หลายๆ ประเทศก็จะมีมาตรการที่คล้ายคลึงกันนี้มากขึ้น รวมถึง carbon tax ซึ่งในอนาคตไทยเองก็จะมีเรื่องนี้เช่นกันแต่ในเวลานี้เองไทยก็กำลังเผชิญกับแรงกดดันที่มากขึ้นแล้ว เช่น อันดับบัญชีผู้ค้า vendor list ลดลง จากการที่คู่ค้าต่างประเทศหลายรายเริ่มมีการตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกันมากขึ้น ธุรกิจไทยที่เป็นซัปพลายเชนก็อาจได้รับผลกระทบในเรื่องนี้ ด้านการลงทุน กองทุนต่างประเทศหลายกองทุนเริ่มคำนึงถึงคะแนนด้าน ESG หากไม่แข็งแกร่งพอกองทุนดังกล่าวก็ไม่สามารถลงทุนในบริษัทนั้นๆ ได้

    ส่วนแรงกดดันระดับที่สามเป็นแรงกดดันจากภายในประเทศเอง ที่ในปัจจุบันหลายหน่วยงานในไทย เช่น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เริ่มมีการกำหนดให้บริษัทเปิดเผยข้อมูลมากขึ้น รวมถึงการวางเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ตลอดจนการดำเนินกิจกรรมด้าน ESG เรื่องเหล่านี้ยังเป็นภาคสมัครใจ แต่หากมองไปในอนาคต กรณียังไม่มีความคืบหน้า ก็มีความเป็นไปได้ว่าตลาดจะยกระดับสู่ภาคบังคับเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายที่ประเทศได้ไปสัญญาไว้ หากมองกันตามความเป็นจริงแล้ว เหล่านี้เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยากในอนาคต องค์กรและภาคธุรกิจไทยจำเป็นต้องเร่งปรับตัวอย่างรวดเร็วเสียแต่วันนี้ เพื่อก้าวข้ามความท้าทายไปสู่โอกาสภายใต้กฎระเบียบโลกใหม่


    

    อ่านเพิ่มเติม : วราวิช ฉิมตะวัน PLT โตฝ่าคลืนทะเลไทย

    คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมิถุนายน 2566 ในรูปแบบ e-magazine