Forbes Global CEO Conference ครั้งที่ 19 การรับมือกับข้อท้าทายและโอกาสจากการเปลี่ยนแปลง - Forbes Thailand

Forbes Global CEO Conference ครั้งที่ 19 การรับมือกับข้อท้าทายและโอกาสจากการเปลี่ยนแปลง

Forbes Global CEO Conference ครั้งที่ 19 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-16 ตุลาคม 2019 ที่สิงคโปร์ โดยมีผู้บริหารระดับซีอีโอ เจ้าของธุรกิจระดับโลก ผู้ประกอบการรายใหญ่ นักลงทุน และผู้นำทางความคิดประมาณ 500 คนมาร่วมพูดคุย และเสนอมุมมองในประเด็นหลักๆ ที่ส่งผลกระทบต่อโลก

โดยมีหัวข้อประจำปี คือ Transcending The Turbulenceที่ให้ความสำคัญกับการรับมือกับข้อท้าทาย และใช้โอกาสที่มาจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมากมายให้เป็นประโยชน์

การประชุมครั้งนี้มีวิทยากรชั้นนำที่มาร่วมแสดงความคิดเห็น ได้แก่ Lee Hsien Loong นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ Jack Ma ประธานกรรมการบริหาร Alibaba Group ผู้ก่อตั้ง Jack Ma Foundation และที่ปรึกษาด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ Eduardo Saverin ผู้ร่วมก่อตั้งและพาร์ทเนอร์ของ B Capital และ Steve Forbes ประธานและบรรณาธิการบริหารของ Forbes Media และอีกมากมาย
Forbes
Forbes Global CEO Conference
โดยมีสาระสำคัญของการประชุม ดังต่อไปนี้
Forbes
Lee Hsien Loong และ Steve Forbes
Lee Hsien Loong นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ กล่าวถึงประเด็น ผลกระทบจากสงครามการค้าว่าสงครามการค้า หมายถึงโอกาสที่น้อยลงของบริษัทต่างชาติที่จะเข้าไปลงทุนในจีน และส่งออกไปยังสหรัฐฯ หรือการลงทุนในสหรัฐฯ แล้วส่งออกไปยังจีน แต่ในทำนองเดียวกัน ก็ยังมีโอกาสที่คู่ค้าจากทั้งสองฝ่ายจะได้รับประโยชน์ที่พึงพอใจ โดยไม่มีฝ่ายใดรู้สึกเสียเปรียบ ซึ่งสิ่งนี้ คือ แก่นสำคัญของการค้าระหว่างประเทศ และเป็นปัจจัยที่โลกเจริญรุ่งเรืองเป็นระยะเวลาหลายสิบปี
Forbes
Steve Forbes และ Jack Ma
ขณะที่ Jack Ma ร่วมพูดคุยกับ Steve Forbes ในประเด็นด้านเทคโนโลยี ธุรกิจ และการทำกิจกรรมเพื่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ว่าผู้ประกอบการในแอฟริกามีความแตกต่างจากผู้ประกอบการในอีกหลายๆ ประเทศ เพราะพวกเขาก่อตั้งธุรกิจมา เพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงแอฟริกา เพื่อที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตคนในประเทศ ขณะที่หลายบริษัทก่อตั้งขึ้นมา เพื่อเสนอขายหุ้นให้บุคคลทั่วไป นอกจากนี้ Ma ยังได้กล่าวถึง การจัดตั้งองค์กรการกุศลโดยบริษัทสัญชาติจีนที่เพิ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้น ซึ่งในขณะนี้เขาเองก็ได้ทำการศึกษาแนวทางการดำเนินงานของหลายๆ แห่ง อาทิเช่น Rockefeller Foundation และ Bill & Melinda Gates Foundation เพื่อนำมาพัฒนามูลนิธิของตนเองที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2014
Forbes
Goh Hup Jin
และ Goh Hup Jin ประธานบริษัท Nipsea Holdings International Ltd และ Nipsea Pte แลกเปลี่ยนในประเด็นทุนนิยม 2.0 ว่าเรามักจะเข้าใจว่า เจ้าของทุน คือ ผู้ที่นำทุนออกจากสังคม เแต่ในความเป็นจริงแล้ว ทุนไม่ได้หายไปจากระบบเศรษฐกิจเลย เพราะบริษัทต่างๆ ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในมูลนิธิและกิจกรรมต่างๆ เพื่อตอบแทนสิ่งที่ได้รับกลับสู่สังคม นอกจากนี้ ภายในงานยังมีอีกหลายประเด็น ที่นำไปสู่ความปั่นป่วนของโลกในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นภูมิรัฐศาสตร์ของมหาอำนาจ การถ่วงดุลอำนาจของประเทศที่สามอย่างรัสเซีย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนวิกฤตผู้ลี้ภัย แต่ประเด็นเหล่านี้กลับเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถคาดการณ์แนวโน้มที่จะเกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน เทียบเท่าอีก 3 ประเด็นที่กำลังจะกล่าวถึงต่อไปนี้ ประเด็นแรก คือ พัฒนาการอันก้าวกระโดดของเทคโนโลยี โลกกำลังถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างรวดเร็วและรุนแรง ซึ่งถึงแม้ว่าหุ่นยนต์จะไม่ได้เข้าครองโลกในเร็ววันนี้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เทคโนโลยีมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในทุกภาคส่วน ทั้งธุรกิจ อุตสาหกรรม อาชีพ สภาพบ้านเมือง ตลอดจนการทหาร เพราะฉะนั้นแล้วคนที่รู้เท่าทันนวัตกรรมเหล่านี้เท่านั้น ที่จะสามารถก้าวไปสู่จุดสูงสุดได้ ประเด็นที่สอง คือ โครงสร้างประชากรโลก ที่มีสัดส่วนประชากรวัยทำงานลดลง ดังจะเห็นได้จากที่ในปี 1999 เป็นปีสุดท้ายที่อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ สูงกว่าร้อยละ 4 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่อายุเฉลี่ยของประชากรในประเทศ คือ 35 ปี เช่นเดียวกับในญี่ปุ่น ที่เศรษฐกิจเริ่มชะลอตัวหลังจากปี 1990 เมื่ออายุเฉลี่ยของประชากรเริ่มมากกว่า 35 ปี โดยปัจจุบัน ญี่ปุ่นมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 46 ปี ซึ่งมีสาเหตุมาจากอัตราการเกิดที่ลดลง สำหรับประเทศจีน อายุเฉลี่ยได้แตะเลข 35 เมื่อปี 2012 โดยมีสาเหตุจากอัตราการเกิดรายปีที่ลดลงไปถึงหนึ่งในสาม และคาดว่าจะมีประชากรเข้าสู่วัยผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2030 และ 2040 อาจมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 43 ปี และ 47  ปีตามลำดับ ซึ่งการมีสัดส่วนผู้สูงวัยที่เพิ่มมากขึ้นนี้จะนำมาซึ่งผลกระทบในหลายด้าน เช่น ปัญหาด้านสุขภาพ ในที่นี้ Michael Milken นักลงทุนชาวอเมริกาคาดการณ์ว่า ในปี 2050 ประชากรในจีนกว่า 150 ล้านคนจะเป็นโรคเบาหวาน ด้วยเหตุนี้ จึงกล่าวได้ว่า ประเทศที่มีอายุเฉลี่ยของประชากรระหว่าง 25-35 ปี มีโอกาสที่จะเติบโตได้อย่างรวดเร็ว หากมีระบบการศึกษาที่ดี ประกอบกับข้อกฎหมายที่ผลักดันให้เกิดการลงทุนและการขยับสถานะทางสังคม เพราะฉะนั้นแล้วประเทศที่มีอายุเฉลี่ยที่ 27 ปี อย่างอินเดีย อินโดนีเซีย และเวียดนามจึงควรมีอนาคตที่ดีกว่านี้ อย่างไรก็ดี แม้ว่าอายุเฉลี่ยของประชากรในสหรัฐฯ จะเริ่มเข้าสู่เลข 40 ในเวลาอันใกล้นี้ (ปัจจุบันอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 38.6 ปี) แต่สหรัฐฯ ยังมีกลุ่มคนอีก 2 กลุ่ม ได้แก่ มิลเลนเนียล และ Gen Z ด้วยสัดส่วนร้อยละ 44 ของประชากรภายในประเทศที่กำลังจะเข้าสู่วัยทำงาน ซึ่งเป็นการชี้ให้เห็นแนวโน้มที่ดีในอนาคต และประเด็นสุดท้าย คือ การใช้ชีวิตแบบชุมชนเมือง กล่าวคือ ประมาณร้อยละ 55  ของประชากรโลก หรือราว 4 พันล้านคนพำนักอาศัยอยู่ในเมือง และคาดการณ์ว่าในปี 2050 นี้ ประชากรเมืองจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นถึง 6 พันล้านคน ทั้งนี้ หากพิจารณาโดยตัดข้อท้าทายต่างๆ ออกไป จะสะท้อนให้เห็นถึง โอกาสในการเติบโตของหลากหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็น อาหาร น้ำ ที่อยู่อาศัย กาคมนาคม พลังงาน สุขภาพ การศึกษา และการกำหนดนโยบาย ซึ่งเป็นไปได้ว่า ในอนาคตอาจจะมีบริษัทที่ยังไม่มีอยู่ในปัจจุบันเข้ามากอบโกยผลประโยชน์จากการขยายตัวของเมือง และเติบโตได้มากเท่า Microsoft ก็เป็นได้ แปลและเรียบเรียงโดย ชญาน์นัทช์ ธนินท์พงศ์ภัค จากบทความ Forbes Global CEO Conference: Key Insights And Highlights และ Buckle Up: Three Key Trends Driving Global Economic Turbulence เผยแพร่บน Forbes.com อ่านเพิ่มเติม: การชิงส่วนแบ่งในตลาดอินโดนีเซียของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซและฟินเทค