การชิงส่วนแบ่งในตลาดอินโดนีเซียของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซและฟินเทค - Forbes Thailand

การชิงส่วนแบ่งในตลาดอินโดนีเซียของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซและฟินเทค

FORBES THAILAND / ADMIN
02 Nov 2020 | 06:30 PM
READ 4342

อินโดนีเซีย เป็นประเทศที่ยังได้รับความสนใจจากนักลงทุน โดยเฉพาะธุรกิจที่กำลังปรับตัวสู่แพลตฟอร์มดิจิทัล อย่างอี-คอมเมิร์ซและฟินเทค ซึ่งเป็นผลมาจากเสถียรภาพทางการเมือง ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ และความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ท่ามกลางข้อท้าทายจากผลกระทบของภาวะการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 

ปัจจุบัน Gojek, Grab และ Shopee ซึ่งเป็นบริษัทอี-คอมเมิร์ซรายใหญ่กำลังเพิ่มมูลค่าการลงทุน เพื่อต่อยอดธุรกิจของตนเองในอินโดนีเซีย เนื่องจากเป็นประเทศที่มีตลาดใหญ่มาก ด้วยจำนวนประชากรที่มากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก และมีแนวโน้มว่าจะมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นในอนาคต

ล่าสุด ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 Gojek สตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์น ที่มีมูลค่าพันล้านเหรียญแห่งแรกในอินโดนีเซีย ได้รับเงินทุนจาก Facebook และ Paypal เพิ่มขึ้นอีก 1.2 พันล้านเหรียญ เพื่อขยายการเข้าถึงบริการในตลาดที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว

โดย Gojek ก่อตั้งขึ้นในปี 2009 โดย Nadiem Makarim ในฐานะแพลตฟอร์มให้บริการเรียกรถจักรยานยนต์ (GoRide) ก่อนที่จะขยายเครือข่ายการให้บริการให้ครอบคลุมบริการส่งอาหาร (GoFood) บริการรับ-ส่งพัสดุ (GoSend) และบริการอี-วอลเลท (GoPay) จนเรียกได้ว่าเป็น Super-App ที่มอบความสะดวกสบายและโซลูชั่นต่างๆ เพื่อช่วยตอบโจทย์ในชีวิตประจำวันของผู้ใช้บริการ

อินโดนีเซีย
คนขับ Gojek นำส่งอาหารอย่างคึกคักท่ามกลางการแพร่ระบาดโควิด-19 ใน Bogor, Indonesia

ทั้งนี้ จากการรายงานของ CB Insights ได้แสดงให้เห็นว่า ในปี 2020 Gojek มีมูลค่าสูงถึง 10 พันล้านเหรียญเป็นที่เรียบร้อย โดยมีเครือข่ายการให้บริการครอบคลุมทั้งหมด 4 ประเทศ ได้แก่ เวียดนาม สิงคโปร์ ไทย และฟิลิปปินส์

อย่างไรก็ดี ด้วยสถานการณ์ในปัจจุบันที่การเปลี่ยนแปลงต่างๆ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และการแข่งขันชิงส่วนแบ่งในตลาดอี-อีคอมเมิร์ซก็มาจากทุกทิศทาง ดังจะเห็นได้จากการที่ ไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ Shopee แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจากสิงคโปร์ ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารของบริษัท Sea Ltd. มีส่วนแบ่งในตลาดอีคอมเมิร์ซของอินโดนีเซียมากที่สุด ด้วยยอดขายเฉลี่ยต่อวันที่สูงถึงร้อยละ 130 จากการรายงานของบริษัทวิจัย Iprice

ขณะที่คู่แข่งอีคอมเมิร์ซในท้องถิ่น อย่าง Tokopediac และ Bukalapak ครองอันดับ 2 และ 3 ตามลำดับ ส่วน Lazada บริษัทลูกของ Alibaba รายใหญ่ในธุรกิจอีคอมเมิร์ซของจีน ครองส่วนแบ่งตลาดอินโดนีเซียเป็นอันดับที่ 4

ทั้งนี้ สถานการณ์การแข่งขันที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน นับว่าเป็นไปตามการคาดการณ์ที่ตีพิมพ์ในผลงานวิจัยของ Google /Gfk digital wallet เมื่อ 3 ปีก่อน ระบุว่า อินโดนีเซียเป็นตลาดเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าสูงที่สุด” ด้วยจำนวนผู้บริโภคในประเทศที่มีศักยภาพในด้านกำลังซื้อค่อนข้างมาก แต่ยังไม่มีผู้ขายที่เข้ามาเจาะตลาดเพื่อทำการแข่งขัน เพราะฉะนั้นผู้ค้ารายไหนที่สามารถเข้าถึงตลาดได้เร็วที่สุด ย่อมสามารถกอบโกยรายได้ในมูลค่ามหาศาล อีกทั้งตลาดภายในประเทศนี้ยังมีแนวโน้มว่าจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต

มากกว่านั้น รายงานของ iPrice และ App Annie ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยชี้ให้เห็นว่า ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาจนถึงเดือนมิถุนายน 2020 แอปพลิเคชันทางการเงินภายในประเทศอินโดนีเซียเติบโตขึ้นกว่าร้อยละ 70 เพราะผู้บริโภคเลือกที่จะใช้อี-วอลเลท ซึ่งเป็นช่องทางการชำระเงินแบบไร้สัมผัสกันมากขึ้น เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาด

โดยในที่นี้ Ipsos Media บริษัทวิเคราะห์ทางการตลาด  พบว่า GoPay ของ Gojek ครองส่วนแบ่งในตลาดสูงที่สุดเหนือคู่แข่งรายอื่นๆ ที่อัตราร้อยละ 60

ขณะที่ Ovo ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารของบริษัทข้ามชาติสัญชาติอินโดนีเซียอย่าง  Lippo และปรากฎอยู่บนแพลตฟอร์ม Tokopedia และ Grab มีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 29  และท้ายที่สุด คือ  Dana ซึ่งได้รับเงินลงทุนจาก Ant Financial และเป็นพันธมิตรกับ Bukalapak ครองสัดส่วนในตลาดอยู่ที่ร้อยละ 9

อินโดนีเซีย
คนขับ GrabFood เข้าคิวรอรับอาหารจากร้าน Nanik ใน Jakarta, Indonesia

อย่างไรก็ดี การแข่งขันในอี-วอลเลทจะยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น จากการที่ทุกแพลตฟอร์มพยายามออกส่วนลดเพื่อดึงดูดผู้บริโภค ยกตัวอย่างเช่น Shopee ที่ได้ชักชวนให้ลูกค้าชำระเงินผ่านทาง ShopeePay ด้วยการมอบส่วนลดมากมาย

โดยในเดือนกรกฎาคม 2020 ที่ผ่านมา Sea ได้เผยว่า ยอดคำสั่งซื้อในอินโดนีเซียที่ชำระผ่านทาง ShopeePay มีมากถึงร้อยละ 45 แต่ในขณะเดียวกัน หากพิจารณาในส่วนของกำไร ก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าจัดจำหน่าย (EBITDA) ในไตรมาสที่ 2 ของปี จะพบว่า บริษัทขาดทุนเป็นมูลค่าสูงถึง 415 ล้านเหรียญในการเปิดให้บริการฟินเทคดังกล่าว ซึ่งนับว่าขาดทุนมากกว่าในไตรมาสเดียวกันเมื่อปีที่แล้วที่มีมูลค่าอยู่ที่ 266 ล้านเหรียญ

ในขณะเดียวกัน การแข่งขันระหว่าง Super App อย่าง Gojek และ Grab เพื่อชิงส่วนแบ่งในตลาดกลับนำมาซึ่งแรงกดดันให้ทั้งคู่ต้องบริหารต้นทุนให้ดียิ่งขึ้น ทั้งในด้านต้นทุนคงที่และต้นทุนทางการตลาด ดังจะเห็นได้จากการรายงานของ Crunchbase ที่ระบุว่า ปีนี้ Grab ได้เพิ่มเงินลงทุนกว่า 1 พันล้านเหรียญ

ทั้งนี้ ข่าวความคืบเกี่ยวกับการควบรวมกิจการระหว่าง Grab และ Gojek ในการประชุมครั้งล่าสุดนี้ สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า Masayoshi Son ผู้ก่อตั้ง Softbank Group และนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดของ Grab ตัดสินใจสนับสนุนให้ดำเนินการควบรวมคู่แข่งดังกล่าวเข้าด้วยกัน ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะมาจากวิกฤตโควิด-19  ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อรายได้และมูลค่าของทั้งสองกิจการ

นอกจากประเด็นข้างต้น ยังมีอีกหนึ่งประเด็นที่นักลงทุนควรทราบเกี่ยวกับการการลงทุนในอินโดนีเซีย คือ โดยภาพรวมของตลาดภายในประเทศนี้มีการแข่งขันที่รุนแรง และมีแนวโน้มว่าจะเติบโตอย่างรวดเร็วกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดอื่นๆ ในโลก

อย่างไรก็ดี Goldman Sachs คาดการณ์ว่า ในปีนี้ GDP ของประเทศจะลดลงถึงร้อยละ 1.4 และจะกลับมาที่ร้อยละ 6.3 และร้อยละ 5 ในปี 2021 และ 2022 ตามลำดับ ซึ่งตัวเลขการประเมินข้างต้นนี้ มีปัจจัยมาจากการที่อินโดนีเซียมีจำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตมากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก หรือราว 171 ล้านคน ด้วยโครงสร้างประชากรที่มีวัยรุ่นที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีสูง ประกอบกับสัดส่วนชนชั้นกลางที่เพิ่มมากขึ้น เป็นเหตุให้ Goldman จัดอันดับให้ตลาดอี-คอมเมิร์ซของอินโดนีเซียมีขนาดใหญ่กว่าบราซิล อินเดีย และรัสเซีย

อีกทั้ง จากการรายงานเศรษฐกิจอินเทอร์เน็ตของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประจำปี 2019 ยังระบุว่า เศรษฐกิจอินเทอร์เน็ตของประเทศนี้ จะมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นถึง 3 เท่าจาก 40 พันล้านเหรียญในปี 2019 สู่ 130 พันล้านเหรียญในปี 2025

โดยสาเหตุของการเติบโตอย่างก้าวกระโดดนี้ มีที่มาจากโครงสร้างการตลาดภายใน ที่ประกอบด้วยผู้ค้ารายย่อยจำนวนมาก ซึ่งอยู่ในรูปแบบซุ้มขายของ (Warungs) กว่าร้อยละ 70 ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ จึงทำให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ที่เข้ามาเจาะตลาดนี้สามารถจับกลุ่มผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว อ้างอิงจากบริษัทลงทุน CLSA

อินโดนีเซีย
ซุ้มขายของ (Warungs) จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปที่ใช้ในชีวิตประจำวัน

ในอีกด้านหนึ่ง การเข้ามาของอี-คอมเมิร์ซและฟินเทค ก็นับเป็นการบุกเบิกนวัตกรรมให้แก่ธุรกิจค้าปลีกต่างๆ เช่นกัน ผ่านทางการยกระดับระบบการจัดการคลังสินค้าให้ดียิ่งขึ้น การเพิ่มมูลค่าของสินค้า ตลอดจนการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบันทึกกระบวนการจัดซื้อที่สะดวกสบาย และทำให้ผู้ค้ารายย่อยมีเครดิตในการกู้ยืมเงินในอนาคต

ด้วยเหตุที่ การเข้ามาของฟินเทคได้เอื้อประโยชน์ให้กับกว่าร้อยละ 60 ของประชากรที่ไม่มีบัญชีธนาคาร โดยช่วยให้พวกเขาสามารถเข้าถึงเงินกู้มูลค่าต่ำได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย ผ่านทางการทำธุรกรรมบนแพลตฟอร์มที่จะเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือในการกู้ยืมเงินผ่านระบบที่เรียกว่า P2P (Peer to Peer) บนเทคโนโลยีบล็อกเชน  เพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าหนี้หรือลูกหนี้ถูกโกง ซึ่งระบบทั้งหมดนี้จะไม่ผ่านตัวกลางอย่างธนาคาร

มากกว่านั้น การลงทุนของ Facebook ในอินโดนีเซีย ยังเป็นการเปิดทางที่จะรวม Gopay เข้าสู่แอปพลิเคชัน WhatsApp อีกทั้งยังทำให้ Facebook และ Paypal สามารถเข้าสู่อี-มันนี ซึ่งตามกฎหมายอินโดนีเซียห้ามมิให้บริษัทที่มีอัตราส่วนการถือครองของต่างชาติมากกว่าร้อยละ 49 กระทำฝ่ายเดียวได้ 

ในที่นี้ จึงหมายความว่า ผู้ใช้บริการ Gojek ที่ปัจจุบันมีจำนวนมากกว่า 170 ล้านคนสามารถเข้าถึงเครือข่ายของ Paypal ที่มีอยู่ทั่วโลกและครอบคลุมธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมกว่า 25 ล้านราย ผ่านทางระบบการชำระเงินออนไลน์ได้แล้ว

แปลและเรียบเรียงโดย ชญาน์นัทช์ ธนินท์พงศ์ภัค จากบทความ  E-Commerce and Fintech Players Fight For Share in Indonesia’s Hot Market เผยแพร่บน Forbes.com อ่านเพิ่มเติม: Eric Yuan ผู้ก่อตั้ง Zoom ทรัพย์สินเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าใน 3 เดือน