Daymond John ในชุดแจ็กเก็ตหนังสีดำ ผูกเน็คไท กางเกงยีนส์สีน้ำเงิน และต่างหูเพชรเม็ดงาม ก้มศีรษะและหลับตาลงท่ามกลางสปอร์ตไลท์จากโรงละคร Apollo ใน Harlem “ผมใช้เวลาส่วนใหญ่ในการอธิษฐาน และผมมักจะอธิษฐานเพิ่มเติมเมื่อต้องขึ้นเวที” John เผยกับ Forbes
สำหรับงาน
Black Entrepreneurs Day ครั้งที่ 2 ประจำปี 2021 ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา John และทีมงาน ร่วมกับสปอนเซอร์หลักอย่าง
JPMorgan Chase และ
The General Insurance มอบเงินรางวัลมูลค่า 25,000 เหรียญสหรัฐฯ ให้กับสตาร์ทอัพของชาวอเมริกันผิวสี 10 แห่งที่ผ่านตาคณะกรรมการ Shaquille O'Neal, Kevin Hart, Tyra Banks และ Michael Strahan
ทว่าสิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้น คือ มีกว่า 6.6 ล้านคนที่ยอมเสียเงินเข้ามาดูทางออนไลน์ในช่วงโควิด-19
“นั่นเป็นสิ่งที่แปลกประหลาดเกี่ยวกับแรงจูงใจ ผู้คนยินดีที่จะจ่ายเงินเพื่อให้ได้มา และพวกเขาจะมีความต้องการมากขึ้นเสมอ”
ตลอดเส้นทางอาชีพการงานของเขา John เติบโตจากการเป็นพ่อค้าและเริ่มแบ่งปันแรงบันดาลใจให้กับผู้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังเหตุการณ์การฆาตกรรมของ
George Floyd และอิทธิพลของกระแส
Black Lives Matter ที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เพราะ Daymond John ในวัย 52 ปี มีเรื่องราวชีวิตที่น่าสนใจไม่แพ้วีรชนชาวอเมริกันสุดคลาสสิก เขาเติบโตขึ้นมาในย่านคนผิวสีของ Hollis ในมหานครนิวยอร์ก ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นอาชีพผู้ประกอบการ ด้วยการถักหมวกไหมพรมแฮนเมด หลังพบว่ามีสินค้าประเภทนี้จำหน่ายในราคาที่สูงเกินความเหมาะสม รวมถึงเสื้อยืดสกรีนคำว่า “เกิดอะไรขึ้นกับ Rodney King ผู้น่าสงสาร” ซึ่งอ้างอิงถึงวิดีโอที่บันทึกการทุบตีผู้ขับขี่รถยนต์ในปี 1991 โดยตำรวจ Los Angeles
หลังจากที่ John และเพื่อนอีก 3 คนเริ่มเบื่อหน่ายกับการที่ร้านค้าปลีกรายใหญ่ขายสินค้าฮิปฮอปให้แก่ลูกค้าผิวสี ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่คิดค้นไตล์นี้ตั้งแต่แรกเริ่ม พวกเขาก็ได้รวมตัวกันเปิดแบรนด์เสื้อผ้า
FUBU ในปี 1992 ซึ่งย่อมาจาก
For Us, By Us
ทว่าหนทางในช่วงแรกกลับไม่ได้ง่ายดายนัก เพราะเขาถูกปฏิเสธแหล่งเงินกู้จากธนาคารมากกว่า 12 แห่ง กระทั่งผู้เป็นแม่เห็นถึงความพยายามและโอกาสในการเติบโตในอุตสาหกรรมแฟชั่นจึงยอมนำบ้านไปจำนองกับธนาคาร เพื่อนำเงินจำนวน 100,000 เหรียญมาเป็นทุนในการสร้างบริษัท ซึ่งทุนก้อนนี้มีผลให้ FUBU มียอดขายทั่วโลกสูงถึง 6 พันล้านเหรียญเลยทีเดียว
ขณะที่การปรากฎตัวในโฆษณาทางทีวีปี 1997 ของแร็ปเปอร์
LL Cool J. พร้อมหมวกที่มีโลโก้ “For Us, By Us” ก็ได้ส่งผลให้บริษัทกอบโกยยอดขายสูงถึง 350 ล้านเหรียญในปีเดียวกัน
“ตัวย่อของบริษัท “เป็นคำกล่าวที่แข็งแกร่งจริงๆ”” Elena Romero ผู้ช่วยศาสตราจารย์จาก Fashion Institute of Technology กล่าว
“โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ดนตรีฮิปฮอปเปลี่ยนจากแนวเพลงที่มีชื่อเสียงในท้องถิ่นไปสู่ปรากฏการณ์ระดับสากล”
เช่นเดียวกับแบรนด์แฟชั่นหลายๆ แบรนด์ที่ต้องเดินทางมาถึงจุดอิ่มตัว
“เราพยายามหาเงินให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และทำเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้” ซึ่งมีส่วนทำให้เกิดการสะสมสินค้าคงคลังส่วนเกินมูลค่า "ประมาณ 22 ล้านเหรียญ”
“เราต้องการ... มอบให้กับคนที่ต้องการมัน (คนไร้บ้าน)”
Keith Perrin หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกล่าว “แต่นั่นกลับยิ่งทำให้เราเจ็บปวด เมื่อผู้คนเหล่านั้นไม่ต้องการสวมใส่เสื้อผ้าแบรนด์นี้อีกต่อไป”
ด้วยเหตุนี้ในปี 2003 FUBU จึงตัดสินใจเลิกจำหน่ายไลน์เสื้อผ้าในสหรัฐอเมริกา เหลือเพียงไลน์รองเท้าเท่านั้นที่ยังคงขายในประเทศต่อไป
กระทั่งเกิดการจับมือกันระหว่าง
FUBU กับ
Puma ในปี 2018 ซึ่งในมุมมองของ Krista Corrigon นักวิเคราะห์การค้าปลีกที่ EDITED เผยว่า "ช่วยให้ FUBU นำชื่อของพวกเขากลับคืนสู่ตลาดได้อย่างแท้จริง”
ด้าน John เองก็ได้รับโอกาสให้เป็นผู้ตัดสินสำหรับฤดูกาลแรกของ Shark Tank ซึ่งเป็นรายการที่ให้ผู้ประกอบการที่ต้องการเริ่มต้น หรือขยายกิจการมานำเสนอแผนธุรกิจ เพื่อโน้มน้าวนักลงทุนให้มาลงทุนในธุรกิจของตนเอง
ณ วันนั้น John เผยว่าเขาเกือบจะปฏิเสธข้อเสนอนี้ แต่ด้วยความคิดที่ว่า
“ทำไมผมต้องเป็นคนที่ทำงานหนักตลอดเวลา ทำไมผมไม่นำเงินของตัวเองไปทำงานแทน” ซึ่งนี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นให้เขานำเงินของตนเองมากกว่า 15 ล้านเหรียญไปลงทุนในสตาร์ทอัพ 107 แห่ง
โดยหนึ่งในการลงทุนที่เห็นผลอย่างงดงาม คือ บริษัทผู้ผลิตถุงเท้า
Bombas ที่มียอดขายในปีที่ผ่านมาถึง 200 ล้านเหรียญ
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่คู่หูผู้ร่วมก่อตั้ง
David Heath และ
Randy Goldberg มานำเสนอแผนธุรกิจบนเวที Shark Tank จน John ยอมลงทุน 200,000 เหรียญ เพื่อแลกกับสัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 17.5
“เราพึ่งเริ่มธุรกิจได้เพียงปีเดียว” Health ซีอีโอ Bombas กล่าว
“ฉะนั้นเราจึงไม่เคยคิดฝันว่าจะหาพาร์ตเนอร์ได้ดีไปกว่า Daymond”
หากพิจารณาจากจำนวนผู้คนที่ต่อแถวเรียงรายเพื่อเข้าไปในงาน Black Entrepreneur Day ที่ Apollo ก็คงไม่ต่างจากคู่หูที่อยู่เบื้องหลัง Bombas มากนักที่ต่างต้องการคำชี้แนะจาก John “ผมพยายามมองหาเหตุผลที่ทำให้ผู้คนมารวมตัวกันอยู่ที่นี่” John กล่าว
ด้วยรูปแบบโมเดลธุรกิจที่ไม่ต่างกันและหวังที่จะเห็นการลงทุนหลั่งไหลเข้าสู่ธุรกิจที่คนผิวสีเป็นเจ้าของมากขึ้น เพราะในช่วงเดือนแรกของการระบาดใหญ่ ธุรกิจที่มีเจ้าของเป็นคนผิวสีล้มละลายในอัตราประมาณ 2 เท่าของธุรกิจอื่น และต้องรับภาระหนี้สินในระดับที่สูงขึ้น เนื่องจากพวกเขาเริ่มต้นธุรกิจด้วยเงินทุนเฉลี่ย 35,000 เหรียญเทียบกับ 107,000 เหรียญของผู้ประกอบการรายอื่นๆ
ความพยายามของ John ครั้งใหม่จึงเริ่มต้นขึ้น ซึ่งเป็นช่วงเเวลาเดียวกับที่หลายๆ สถาบันหันมาสนับสนุนผู้ประกอบการผิวสีเพิ่มขึ้น อาทิ
Goldman Sachs ที่ริเริ่มโครงการ One Million Black Women ที่ทุ่มเงินลงทุนโดยตรง 10,000 ล้านเหรียญ และสนับสนุนกิจกรรมด้านการกุศลอีก 100 ล้านเหรียญเพื่อ “สนับสนุนโอกาสให้กับผู้หญิงผิวสีในช่วงเวลาสำคัญๆ ในชีวิต” ขณะที่
PepsiCo และ
Amazon ให้การฝึกอบรมผู้ประกอบการผิวสี เชื่อมต่อกับธุรกิจร่วมทุน และช่วยให้พวกเขาได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง
แม้ในวันนี้ความพยายามเหล่านี้จะเป็นการเริ่มต้นที่ดี แต่สำหรับคำอธิษฐานของ John เพื่อให้การ
"เสริมอำนาจทางเศรษฐกิจของคนผิวสีเป็นจริง" อาจจำเป็นต้องใช้เวลาและการสนับสนุนมากกว่านี้อีกหลายเท่าตัว
แปลและเรียบเรียงโดย ชญาน์นัทช์ ธนินท์พงศ์ภัค จากบทความ Daymond John Is On A Mission เผยแพร่บน Forbes.com
อ่านเพิ่มเติม:
Cortina Holdings ฉลอง 50 ปี มุ่งเป้าขยายธุรกิจนาฬิกาหรูในทวีปเอเชีย