Best Under A Billion: สุดยอดบริษัทมหาชนรายได้ต่ำกว่าพันล้านแห่งเอเชีย ปี 2022 - Forbes Thailand

Best Under A Billion: สุดยอดบริษัทมหาชนรายได้ต่ำกว่าพันล้านแห่งเอเชีย ปี 2022

FORBES THAILAND / ADMIN
11 Aug 2022 | 12:44 PM
READ 3983

เมื่อมาตรการควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ในเอเชียแปซิฟิกเริ่มผ่อนตัวลง ผู้คนเริ่มคุ้นชินกับ new normal มากขึ้น เหล่าบริษัทมหาชนผู้ติดโผ Best Under A Billion ประจำปีนี้ก็สะท้อนให้เห็นถึงการจับจ่ายที่รอบคอบกว่าเคย

ในขณะที่เมื่อปีก่อน บริษัทมหาชนมาแรงคือบริษัทกลุ่มผู้ให้บริการด้านสุขภาพ และบริษัทเภสัชภัณฑ์ แต่ในสถานการณ์ที่เรื่องโรคระบาดไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวที่สุดอีกต่อไป และผู้คนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติกันมากขึ้น เหล่าผู้ผลิตเสื้อผ้า ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้าผู้บริโภค ธุรกิจบันเทิง และอีกมากมายก็กลับมาโลดแล่น โดยในทำเนียบ Best Under A Billion ปีนี้ มีบริษัท 75 บริษัทที่หลายคนคุ้นชื่อจากการจัดอันดับในปีที่แล้ว สะท้อนให้เห็นถึงความยืดหยุ่นของบริษัทเหล่านี้ในโลกที่หมุนเร็ว เช่น Aspeed จากไต้หวันที่ติดทำเนียบนี้มา 9 ปีติด

ในบทความนี้ เราได้ชูบริษัทมหาชนที่โดดเด่น 8 บริษัทที่แสดงให้เห็นถึงการกลับมาฟื้นตัวของสภาพเศรษฐกิจหลังโควิดได้เป็นอย่างดี

Bafang Electric

ประเภทธุรกิจ: อุปกรณ์ไฟฟ้า ประเทศ: จีน มูลค่าตลาด: 3.51 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ยอดขาย: 409 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

จักรยานไฟฟ้ากลายเป็นไอเท็มสุดฮอตในช่วงสถานการณ์โรคระบาดเมื่อผู้คนต่างก็มองว่าการปั่นจักรยานเป็นการออกกำลัง และการเดินทางทางเลือก เทรนด์ดังกล่าวปั่นให้ยอดขายของ Bafang Electric บริษัทยานยนต์ไฟฟ้าและผู้ผลิตแบตเตอรี่จากพุ่งขึ้นถึงร้อยละ 90 อีกทั้งกำไรสุทธิของทางบริษัทยังเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 50 อีกด้วย นอกจากนี้ ล่าสุด ทางบริษัทก็ได้เปิดตัวโรงงานผลิตใหม่ในโปแลนด์เพื่อเป็นการตอบสนองความต้องการของกลุ่มตลาดยุโรป 

 

Dollar Industries

ประเภทธุรกิจ: สิ่งทอ ประเทศ: อินเดีย มูลค่าตลาด: 389 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ยอดขาย: 181 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

หลังจากธุรกิจเทรด และซัพพลายกลับมาฟื้นตัว ผู้ผลิตผ้าจากอินเดีย Dollar Industries ก็ปิดปีงบประมาณเมื่อเดือนมีนาคมไปด้วยยอดขายที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 30 และกำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 72 นอกจากจะมีการเพิ่มผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าผู้หญิงแล้ว ล่าสุด ทางบริษัทได้เปิดโกดังใหม่ รวมถึงได้มีการนำเครื่องจักรปั่นผ้ามาใช้เพิ่มอีกด้วย

 

Gift Holdings

ประเภทธุรกิจ: อาหาร ประเทศ: ญี่ปุ่น มูลค่าตลาด: 164 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ยอดขาย: 125 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

เมื่อทางญี่ปุ่นยกเลิกมาตรการจำกัดโควิด-19 และลูกค้ากลับมานั่งทานที่ร้านมากขึ้น บริษัทราเมงแห่งนี้มียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 22 แตะ 124 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเมื่อปีที่แล้ว ทางกลุ่มได้บริหารจัดการร้านอาหาร 602 สาขาทั่วญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นจาก 519 สาขาในปี 2020โดยเป็น 147 สาขาของทางกลุ่มบริษัทโดยตรง

 

Globe International

ประเภทธุรกิจ: สิ่งทอ ประเทศ: ออสเตรเลีย มูลค่าตลาด: 147 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ยอดขาย: 199 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ผู้ผลิตเสื้อผ้า รองเท้า และสเก็ตบอร์ดจากออสเตรเลียรายนี้มียอดขายถึง 199 เหรียญ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 75 เมื่อ ​3 ตลาดหลักของทางบริษัทซึ่งประกอบไปด้วยออสเตรเลีย อเมริกาเหนือ และยุโรป นับว่าเป็นปีที่บริษัทสามารถทำกำไรได้สูงสุดเป็นปรากฏการณ์ ณ ปัจจุบัน ทางบริษัททำการขายในกว่า 100 ประเทศทั่วโลก

   

JYP Entertainment

ประเภทธุรกิจ: บันเทิง ประเทศ: เกาหลีใต้ มูลค่าตลาด: 1.57 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ยอดขาย: 169 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

เมื่อมาตรการควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ในเกาหลีใต้เริ่มผ่อนลง เหล่าธุรกิจบันเทิงทั้งหลายก็กลับมามีรายได้จากคอนเสิร์ตและอีเวนต์สดอีกครั้ง โดยนี่ส่งผลให้ในปี 2021 ทางบริษัทมียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 34 อีกทั้ง กำไรสุทธิของทางบริษัทยังเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวอีกด้วย ศิลปิน K-pop หลักของทางค่าย ประกอบไปด้วย บอยแบนด์อย่าง 2PM และเกิร์ลกรุป Twice

 

Sappe

ประเภทธุรกิจ: อาหาร ประเทศ: ไทย มูลค่าตลาด: 302 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ยอดขาย: 108 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

บริษัทเครื่องดื่มสัญชาติไทย Sappe มียอดขายที่โตขึ้นถึงร้อยละ 12 เมื่อปีที่แล้วเนื่องจากการส่งออกกลับมาคึกคัก โดยทาง Sappe ส่งออกไปยัง 98 ประเทศทั่วโลก นอกจากนี้ ทางบริษัทยังเริ่มขยายธุรกิจไปยังกลุ่มสินค้ากัญชาและกัญชงอีกด้วย

 

Sido Muncul

ประเภทธุรกิจ: ยาแผนโบราณ ประเทศ: อินโดนีเซีย มูลค่าตลาด: 2.04 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ยอดขาย: 281 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

เมื่อปีที่แล้ว ผู้ผลิตยาสมุนไพรและอาหารเสริมจากอินโดนีเซียมียอดขายเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 21 แตะ 281 ล้านเหรียญ อีกทั้ง ทางบริษัทยังได้เผยด้วยว่า การที่ผู้คนหันมาสนใจเทรนด์เกี่ยวกับสุขภาพและชีวจิต ช่วยผลักให้ความต้องการผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มของทางบริษัทก็พุ่งสูงขึ้นอีกด้วยเช่นกัน

 

The Hour Glass

ประเภทธุรกิจ: เทรดดิ้ง ประเทศ: สิงคโปร์ มูลค่าตลาด: 1.23 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ยอดขาย: 766 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ยอดขายของรีเทลเลอร์นาฬิกาหรูจากสิงคโปร์รายนี้พุ่งขึ้นจากปีที่แล้วถึงร้อยละ 40 นอกจากนี้ กำไรสุทธิของทางบริษัทยังเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 86 อีกด้วย ทั้งนี้ เนื่องมาจากเหล่านักช็อปที่ต้องอยู่แต่ในบ้านมานานรู้สึกคันไม้คันมืออยากใช้จ่ายกันมากขึ้นนั่นเองโดย The Hour Glass คือผู้จำหน่ายนาฬิกาหรูแบรนด์ต่างๆ ตั้งแต่ Rolex, Patek Philippe และ Audemars Piguet มีบูติก 50 สาขาทั่วเอเชียแปซิฟิก

แปลและเรียบเรียงโดย ทัตชญา บุษยากิตติกร จากบทความ Forbes Asia’s Best Under A Billion 2022 เผยแพร่บน Forbes.com

อ่านเพิ่มเติม: “America’s Richest Self-Made Women” สตรีผู้สร้างฐานะด้วยตัวเองซึ่งมั่งคั่งที่สุดในสหรัฐอเมริกา ประจำปี 2022


ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine