Shunsaku Sagami นักเล่นไพ่นกกระจอกตัวยงใช้ทักษะอย่างการประเมินความเสี่ยง การสังเกตให้รอบคอบ และการคิดเชิงกลยุทธ์เพื่อเอาชนะคู่แข่ง ซึ่งก็ไม่ต่างจากวิธีการทำธุรกิจของเขา
เมื่อ 6 ปีก่อน ผู้ประกอบการคนนี้เสี่ยงดวงด้วยการเปิดบริษัทโบรกเกอร์ควบรวมและเข้าซื้อกิจการ (M&A) ที่มีเป้าหมายคือบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลางของญี่ปุ่น ซึ่งกิจการเหล่านี้มีเจ้าของสูงอายุและขาดผู้สืบทอดอยู่มาก Shunsaku Sagami ไม่ใช่คนแรกที่เล็งจับตลาดซึ่งธนาคารใหญ่ไม่อยากยุ่ง แต่เขาได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่าเขาสร้างความเปลี่ยนแปลงในตลาดที่ครอบครองโดยพวกรายใหญ่เจ้าเก่าได้
ปัจจุบัน M&A Research Institute Holdings อายุ 33 ปี เป็น 1 ใน 4 บริษัทจดทะเบียนแถวหน้าของญี่ปุ่นด้านการควบรวมและเข้าซื้อกิจการขนาดเล็กและขนาดกลาง (SME M&A) เมื่อวัดจากมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด และบริษัทนี้กำลังไล่แซงคู่แข่งอีก 3 รายคือ Nihon M&A Center, Strike และ M&A Capital Partners ทั้งในแง่การเติบโตของกำไรสุทธิและจำนวนข้อตกลงที่ทำสำเร็จต่อที่ปรึกษา 1 คน
บริษัทนี้ปิดดีล M&A ได้เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวในช่วง 6 เดือนจนถึงวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมาคิดเป็น 123 รายการ เทียบกับ Nihon M&A Center ที่ทำได้ 333 รายการ Strike 130 รายการ และ M&A Capital Partners 96 รายการ หุ้นบริษัทนี้วิ่งฉิวมาตั้งแต่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ Tokyo เมื่อปี 2022 โดยมีราคาเพิ่มขึ้น 4 เท่าจนถึงเดือนเมษายน ปี 2023 ที่ Sagami กลายเป็นเศรษฐีพันล้านด้วยมูลค่าหุ้นที่เขาถืออยู่ 73% ในเวลานั้น
และขณะที่เราตีพิมพ์บทความนี้เขาก็ยังรักษาสถานภาพไว้ได้ แม้สัดส่วนหุ้นของเขาจะลดลงเหลือ 53% ก็ตาม เนื่องจากบริษัทนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และเขาตัดสินใจขายหุ้นไปส่วนหนึ่งเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยเอกสารที่บริษัทยื่นต่อตลาดหลักทรัพย์ให้เหตุผลว่าเป้าหมายคือการเพิ่มสภาพคล่อง
สิ่งที่ทำให้ M&A Research Institute ได้เปรียบคือการใช้อัลกอริทึม AI จับคู่ผู้ขายกับผู้ซื้อ การใช้ซอฟต์แวร์ของบริษัทแปลงงานเอกสารเป็นดิจิทัล โครงสร้างค่าธรรมเนียมที่เรียบง่าย และการจ้างคนเพิ่มอย่างดุเดือด
“ผมไม่ได้คิดว่าโมเดลธุรกิจของเราสุดยอดอะไรมาก” ซีอีโอ Sagami กล่าว ณ สำนักงานใหญ่ของเขาในย่านธุรกิจ Marunouchi ที่คึกคักใน Tokyo เมื่อเดือนพฤษภาคม แต่เขาเสริมว่า “เราได้พัฒนาระบบที่แข็งแกร่งอย่างเหลือเฟือซึ่งคู่แข่งเลียนแบบยาก”
ตัวอย่างเช่น ซอฟต์แวร์ขั้นตอนการทำงานของบริษัทนี้ผ่านการ “ปรับปรุงแก้ไขมาแล้วกว่า 10,000 ครั้ง” จนบรรดาคู่แข่งที่ยังทำงานธุรการด้วยมือกันอยู่นั้น “ไม่มีทางตามทันแน่นอน” Sagami ซึ่งเรียนรู้การเป็นวิศวกรซอฟต์แวร์ด้วยตนเองกล่าว
ผลลัพธ์คือ M&A Research Institute กล่าวว่า บริษัทสามารถทำข้อตกลงสำเร็จ 1 งานโดยใช้เวลาเฉลี่ยไม่ถึง 7 เดือน ซึ่ง Shinji Tanioka นักวิเคราะห์ของ Macquarie ใน Tokyo กล่าวทางอีเมลว่า เมื่อเทียบกับรายอื่นในอุตสาหกรรมนี้ เวลาในการทำข้อตกลง SME M&A โดยเฉลี่ยคือ 10-12 เดือน
Tanioka กล่าวว่า ที่ปรึกษาของบริษัทนี้แต่ละคนปิดดีลได้ประมาณ 2 เท่าของจำนวนที่คู่แข่งทำได้ต่อปี นักวิเคราะห์รายนี้เขียนในรายงานปี 2023 ว่า การที่บริษัทนำข้อมูลมาใช้เพิ่มผลิตภาพนั้น “เป็นการพลิกโฉมกระบวนการค้นหาและดำเนินการ M&A ซึ่งเป็นงานหนัก”
เหตุผลอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้บริษัทนี้โตเร็วคือการจ้างคนเพิ่มอย่างดุเดือด Sagami ขยายทีมที่ปรึกษาเพิ่มขึ้น 1 ใน 3 เป็น 242 คนในช่วง 6 เดือนนับจนถึงสิ้นเดือนมีนาคม และเขายังมีแผนจะเพิ่มคนเกือบ 3 เท่าเป็น 700 คนภายในสิ้นเดือนกันยายน ปี 2026 ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลจากรายงานผลประกอบการของคู่แข่ง ณ วันที่ 31 มีนาคม Nihon M&A Center มีที่ปรึกษา 645 คน, Strike มี 241 คน และ M&A Capital Partners มี 187 คน
เมื่อ M&A Research Institute ได้ผู้ที่ต้องการจะขายกิจการแล้ว อัลกอริทึม AI จะจับคู่ผู้ขายกับผู้ที่มีแววว่าจะสนใจซื้อซึ่งมีรายชื่ออยู่ในฐานข้อมูลของบริษัท จากนั้นที่ปรึกษาซึ่งตามปกติแล้วจะทำหน้าที่เป็นตัวแทนให้ทั้งผู้ขายและผู้ซื้อในดีล SME M&A ก็จะช่วยเจรจาและดำเนินการซื้อขายจนเสร็จสิ้น
เป้าหมายของ Sagami คือบริษัทที่มีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านเยน (3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่า 2 ใน 3 ของการซื้อขายทั้งหมดที่เขาทำสำเร็จมาแล้วนับจนถึงสิ้นเดือนมีนาคม โดยที่ผู้ขายเกินครึ่งหนึ่งมาจากภาคการผลิต การก่อสร้าง เทคโนโลยีสารสนเทศ และการค้าส่งและค้าปลีก ซึ่งในบรรดาข้อตกลงที่ผ่านมามีการขายบริษัทไอทีมูลค่า (รายได้) 200 ล้านเยนที่ไร้ผู้สืบทอดให้แก่บริษัทคู่แข่งมูลค่า (รายได้) 1.5 หมื่นล้านเยนด้วย
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : 10 อันดับ มหาเศรษฐีอินเดีย ประจำปี 2024