เช่นเดียวกับ Amazon เว็บไซต์ขายของออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา ธุรกิจของ Ricky Wong คือ แพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซที่จัดจำหน่ายทุกอย่าง ตั้งแต่โซฟาจากอิตาลีไปจนถึงเฟอร์นิเจอร์จากจีน และสามารถครองส่วนแบ่งอันดับ 1 ของตลาดอี-คอมเมิร์ซในฮ่องกง
Hong Kong Television Network สร้างรายได้ด้วยการปล่อยเช่าพื้นที่ในห้างสรรพสินค้าออนไลน์อย่าง
HKTV mall ให้กับร้านค้าปลีก 4,200 แห่ง (จากการคำนวณครั้งล่าสุด) โดยที่ทางบริษัทจะทำหน้าที่จัดส่งสินค้าไปยังผู้บริโภคโดยตรง ส่วนร้านค้าปลีกแต่ละรายจะชำระค่าธรรมเนียมรายปีในอัตราระหว่าง 15,000-50,000 เหรียญฮ่องกง ขึ้นกับจำนวนผลิตภัณฑ์และส่วนแบ่งในการขาย
ขณะที่ห้างสรรพสินค้าทางกายภาพที่ใหญ่ที่สุดในเมืองอย่าง Harbour City ก็มีร้านค้าปลีกประมาณ 700 แห่งบนพื้นที่ 2 ล้านตารางฟุต
“รูปแบบธุรกิจออนไลน์นั้นคุ้มค่ากว่าในเชิงพื้นที่ โดยเฉพาะในฮ่องกงและโตเกียว ซึ่งค่าเช่าร้านค้าปลีกสูงมาก" Wong รองประธานและซีอีโอ Hong Kong Television Network กล่าว
ในฮ่องกงห้างสรรพสินค้าจำนวนมากมักตั้งอยู่ในย่านที่พักอาศัยหรือสำนักงาน ซึ่งเป็นปัจจัยที่ดึงดูดผู้บริโภคในท้องถิ่นอย่างมาก ทั้งยังขัดขวางการเติบโตของการค้าออนไลน์ แม้จะมีกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่หันมาให้ความสนใจซื้อของออนไลน์บนเว็บไซต์ต่างประเทศมากขึ้นก็ตาม แต่เมื่อเกิดโรคระบาดธรรมเนียมการชอปปิ้งที่เคยมีก็ถูกเรียบเรียงขึ้นใหม่อย่างรวดเร็ว
“โควิด-19 ได้บังคับให้ผู้ค้าปลีกและซัพพลายเออร์วางจำหน่ายสินค้าบนร้านค้าออนไลน์หรือ HKTV mall มากขึ้น ธุรกิจต่างๆ เริ่มเสนอทางเลือกทางออนไลน์ ซึ่งผมคิดว่านั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาซึ่ง ในอดีตแทบไม่มีอุปทานเลย มีเพียงอุปสงค์เท่านั้น” เขากล่าว
ในที่นี้
Ricky Wong อ้างอิงข้อมูลที่รวบรวมจากการดำเนินงานตลอด 6 ปีบริษัทนับตั้งแต่เริ่มจัดตั้งธุรกิจอี-คอมเมิร์ซว่า เมื่อผู้บริโภคเริ่มซื้อของออนไลน์แล้ว พฤติกรรมนี้จะกลายเป็นนิสัยที่พวกเขายึดติด และมีแนวโน้มว่าจะเลิกยาก
นับตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด-19 ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซได้เติบโตอย่างต่อเนื่อง บริษัทมียอดขายเพิ่มขึ้น 3 เท่าจากปี 2019 เป็น 1.4 พันล้านเหรียญฮ่องกง (180 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) และ 2 เท่าจากปี 2020 เป็น 2.88 พันล้านเหรียญฮ่องกง ส่งผลให้มีกำไรสุทธิ 183.6 ล้านเหรียญฮ่องกง ขณะที่ในปีก่อนหน้าขาดทุนอยู่ที่ 289.9 ล้านเหรียญฮ่องกง
ด้านหุ้นของ Hong Kong Television Network ปรับตัวสูงขึ้นเกือบ 2 เท่าในปีที่ผ่านมาเป็น 9.14 เหรียญฮ่องกง ส่งผลให้มูลค่าบริษัท ณ ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 1.1 พันล้านเหรียญ ขณะที่ในเดือนมกราคมแตะระดับสูงสุดที่ 1.9 พันล้านเหรียญเมื่อหุ้นของบริษัทซื้อขายอยู่ที่ 16.28 เหรียญฮ่องกง ทำให้ Wong ผู้มีสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ร้อยละ 44 เกือบขึ้นแท่นมหาเศรษฐีหน้าใหม่เลยทีเดียว
เมื่อย้อนความถึงที่มาของชื่อบริษัท นักช้อปออฟไลน์วัย 58 ระบุว่า อันที่จริงแล้วสาเหตุในการเริ่มต้นธุรกิจออนไลน์เมื่อ 6 ปีก่อนมาจากความโชคร้ายอย่างแท้จริง เนื่องจากเขาตั้งใจสร้างสตูดิโอผลิตรายการโทรทัศน์เต็มรูปแบบและอาคารสำนักงานแห่งใหม่ เพื่อขอใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ แต่กลับโดนปฏิเสธจากรัฐบาลฮ่องกง ด้วยเหตุนี้เขาจึงเปลี่ยนแผนการดำเนินธุรกิจไปที่การให้บริการอี-คอมเมิร์ซครบวงจร ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง
ปัจจุบัน บริษัทเป็นผู้ให้บริการขนส่งสินค้าที่ใหญ่ที่สุด ด้วยจำนวนรถบรรทุกมากกว่า 350 คัน ซึ่งในจำนวนนี้มีรถบรรทุก Isuzu ที่ติดตั้งห้องเย็นเพื่อถนอมคุณภาพอาหารจากสภาพอากาศในเมืองร้อน กล่าวได้ว่าพวกเขาจัดส่งสินค้าไปยังครัวเรือนต่างๆ มากกว่า DHL หรือ SF Express ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เซินเจิ้นเสียอีก
นอกจากนี้ HKTV mall ยังได้เปิดสาขาที่มีหน้าร้าน เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเข้ามารับออเดอร์และซื้ออาหารสดและอาหารแช่แข็งได้ โดยสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นสินค้าประเภทเดียวที่ทางบริษัทเป็นเจ้าของและวางขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์เอง และมีกระดาษชำระ และเบียร์และโค้กกระป๋องเป็นสินค้ายอดนิยม
“ของกินของใช้คือปัจจัยสำคัญที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ เพราะถ้าคุณไม่ได้ซื้อทุกวัน คุณก็จะต้องซื้อทุกสัปดาห์ และนี่คือสิ่งที่เราเรียกว่า ‘ตัวขับเคลื่อนการจราจร’ ในแต่ละวันจะมีคนมากกว่า 250,000 รายในฮ่องกงที่เข้าเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน HKTV mall ซึ่งสาเหตุหลักประการหนึ่งมาจากการที่เรามีสินค้าพวกนี้ และนี่เป็นสิ่งที่สร้างความแตกต่างระหว่างความสำเร็จและความล้มเหลว” Wong กล่าว พร้อมยกตัวอย่างการเข้าซื้อกิจการ
Whole Foods Market ของ Amazon และ
Sun Art Retail Group ผู้ให้บริการไฮเปอร์มาร์เก็ตในจีนของ Alibaba
สำหรับ Wong เขาบังคับให้ตัวเองจัดตั้งหน่วยงานสำหรับสินค้าอุปโภคบริโภค หลังจากข้อเสนอในการเข้าซื้อ
Welcome and ParknShop แพลตฟอร์มสินค้าอุปโภคออนไลน์ในฮ่องกงถูกปฏิเสธไป
ขณะนี้เขายังไม่ได้วางแผนที่จะเปิดตัวห้างสรรพสินค้าออนไลน์ใดๆ นอกฮ่องกง เพราะในมุมมองของเขา การค้าปลีกออนไลน์เป็นเรื่องเฉพาะของท้องถิ่น พฤติกรรมของลูกค้าแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงแม้ในประเทศที่ใช้ภาษาจีนเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นฮ่องกงไปจนถึงไต้หวัน มาเก๊า และกวางตุ้ง
อย่างไรก็ดี Wong ได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะพัฒนาเทคโนโลยีที่จำเป็นในการขับเคลื่อนห้างสรรพสินค้าดังกล่าวในที่อื่นๆ โดยมี HKTV mall เป็นห้างสรรพสินค้าออนไลน์แห่งแรกและแห่งเดียวที่เขาสร้างขึ้น แต่เขามีความหวังว่าจะสามารถนำความรู้ที่มีไปให้คำปรึกษากับนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ออนไลน์ทั่วโลกได้
ปัจจุบัน บริษัทมีทีมโปรแกรมเมอร์ 150 คนในฮ่องกงและไต้หวัน และกำลังอยู่ระหว่างการเดินหน้าติดตั้งระบบอัลกอริทึมที่ขับเคลื่อนด้วย AI และกลไกอื่นๆ อย่างครบวงจร ซึ่งความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีนี้จะมีส่วนช่วยในการลด “ต้นทุนการดำเนินการตามคำสั่งซื้อ” ของบริษัท ซึ่งรวมถึงต้นทุนแรงงานที่คิดเป็นมูลค่าราวร้อยละ 11.8 ของค่าใช้จ่ายสินค้าทั่วไป หรือลดลงกว่าร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับ 5 ปีก่อนที่เริ่มใช้หุ่นยนต์ AI และเทคโนโลยีอัตโนมัติเป็นครั้งแรก
"เราต้องการช่วยสร้างห้างสรรพสินค้าออนไลน์สำหรับเจ้าของบ้านออนไลน์ (ที่มีศักยภาพ) เรามีเทคโนโลยีที่จะช่วย เป็นเหมือนบริษัทรับเหมาก่อสร้างออนไลน์" Wong กล่าว
แปลและเรียบเรียงจากบทความ The Making Of Hong Kong’s Largest Online Landlord: HKTV เผยแพร่บน Forbes.com
อ่านเพิ่มเติม:
GLOCON ไตรมาสแรก 64 โตร้อยละ 6 อานิสงส์จาก WFH