Janice Lee ซีอีโอแห่ง Viu ยกเลิกการสตรีมมิ่งในรูปแบบโมเดลรายการเดียวกันในทุกตลาด จนมีผู้ใช้รายเดือนกว่า 60 ล้านคนทั่วภูมิภาคและนอกภูมิภาค แซงหน้ายักษ์ใหญ่ระดับโลกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
6 ปีนับตั้งแต่ Viu เปิดตัวที่ PCCW ของเศรษฐีพันล้าน Richard Li ซีอีโอ Janice Lee ได้พา Viu แซงหน้าบรรดาบริษัทสตรีมมิ่งยักษ์ใหญ่ในตลาดเอเชียบางรายไปแล้ว ซึ่งรวมถึง Netflix แม้ว่าบริษัทสัญชาติอเมริกันแห่งนี้จะทุ่มทุนขยายกิจการในเอเชียด้วยก็ตาม ข้อมูลจาก Media Partners Asia (MPA) ณ สิ้นปี 2021 ระบุว่า Viu มีผู้ใช้งานในรูปแบบสมาชิกจ่ายเงิน 7 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้านั้นถึง 70% ทำให้บริษัทจากฮ่องกงแห่งนี้เป็นผู้ให้บริการสตรีมมิ่งที่มีสมาชิกแบบจ่ายค่าบริการมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และฮ่องกง ขยับเข้าใกล้ Disney Plus (7.2 ล้านคน) เข้ามาทุกที โดยรวมแล้ว Viu มีฐานผู้ชมรายเดือนประจำในปัจจุบันเกือบ 60 ล้านคน กระจายอยู่ในตลาด 16 แห่ง ซึ่งรวมถึงตะวันออกกลางและแอฟริกาใต้

บริการสตรีมมิ่งรูปแบบสมัครสมาชิกส่วนใหญ่ในเอเชียอาคเนย์มักเป็นรายการภาษาอังกฤษ หรือไม่ก็เรื่องราวจากฝั่ง Hollywood แต่ Viu ตอบสนองความต้องการของผู้ชมในภูมิภาคนี้ ด้วยกลิ่นอายแห่งทวีปเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นรายการโทรทัศน์หรือภาพยนตร์จากเกาหลีใต้ รวมถึงรายการภาษาญี่ปุ่นและภาษาจีน จนสามารถดึงส่วนแบ่งตลาดมาครองได้สำเร็จ จากนั้นได้พัฒนาเนื้อหาที่คงความเป็นท้องถิ่นอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ชมในตลาดใหญ่ที่สุดอย่างประเทศไทยและอินโดนีเซีย รวมไปถึงตลาดฟิลิปปินส์และมาเลเซีย “หลายคนบอกว่า รายการของเราเหมือนกับทีวีเกาหลีใต้ ซึ่งแม้จะเป็นบริการส่วนใหญ่และเป็นจุดเริ่มต้นของเราก็จริง แต่เราไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น” Lee วัย 51 ปีกล่าว”
- สร้างในเอเชียเพื่อชาวเอเชีย -
Janice Lee ใช้ตำราที่ว่า “สร้างในเอเชียเพื่อชาวเอเชีย” โดยยังคงเนื้อหาส่วนที่มีโฆษณาแต่ไม่คิดค่าบริการไว้พร้อมๆ กับบริการเนื้อหาเฉพาะสำหรับสมาชิก ขณะเดียวกัน PCCW ซึ่งเป็นบริษัทแม่เปิดเผยว่า เมื่อปีที่แล้ว Viu มีรายได้เติบโต 37% มาอยู่ที่ 1.1 พันล้านเหรียญฮ่องกง (142 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) หรือคิดเป็นสัดส่วน 75% ของรายได้จากธุรกิจสตรีมมิ่งออนไลน์ในรูปแบบ OTT (บริการเผยแพร่เนื้อหาข้อมูลผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต) ของ PCCW ซึ่งอยู่ที่ 190 ล้านเหรียญ
อย่างไรก็ตาม Lee เชื่อว่าการขยายกิจการนั้นมีต้นทุนเสมอ ช่วงปลายปี 2019 หรือเพียงไม่กี่เดือนก่อนจะเกิดการล็อกดาวน์ในวงกว้างจากการระบาดของโรคโควิด-19 จนส่งผลให้ความต้องการบริการสตรีมมิ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น Viu ตัดสินใจยุติการให้บริการในอินเดีย ซึ่งเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูง ครองตลาดโดยคู่แข่งอย่าง Hotstar ของ Disney รวมทั้ง Netflix และ Prime Video ของ Amazon เนื่องจากไม่เห็นโอกาสทำกำไรที่ชัดเจนนัก หลังจากที่เพิ่งทำเงินลงทุนจำนวนหนึ่งจมหายไป

“ไม่มีลูกแก้ววิเศษที่ไหนจะบอกได้ว่า ตลาดไหนที่จะประสบความสำเร็จ คุณจะต้องหมั่นตรวจสอบและแก้ไข” เธอมีคติประจำใจว่า “ถ้าจะล้มก็ล้มให้ไว ลุกขึ้นให้ได้ แก้ไขให้ทัน”
Lee มาร่วมงานกับ PCCW ในปี 2003 Viu ภายใต้การบริหารของ Lee มีรายได้เพิ่มขึ้นจนสามารถช่วยให้ธุรกิจ OTT ของ PCCW ลดการขาดทุน EBITDA ลงเหลือ 2.9 ล้านเหรียญเมื่อปีที่แล้ว จาก 19.5 ล้านเหรียญในปี 2020 และขยับเข้าใกล้จุดคุ้มทุน
- สมรภูมิคู่แข่งระดับโลก -
Viu ไม่เพียงแต่จะต้องเผชิญหน้ากับคู่แข่งระดับโลกที่มีเงินทุนมหาศาลเท่านั้นแต่ยังมีคู่แข่งร่วมภูมิภาคที่พร้อมจะเปิดศึกแย่งตัวสมาชิก และช่วงชิงเทคโนโลยีและเนื้อหาในท้องถิ่นนั้นๆ เมื่อกลางปี 2020 Tencent ของจีนซึ่งให้บริการสตรีมมิ่งระหว่างประเทศผ่าน WeTV เข้าซื้อธุรกิจของ Iflix ของมาเลเซีย โดยมุ่งหวังที่จะก้าวเข้าสู่ตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังจากที่ Patrick Grove นักธุรกิจสายอินเทอร์เน็ตผู้ร่วมก่อตั้ง Iflix มาได้ 6 ปีประสบปัญหาหนี้สินที่เพิ่มขึ้นจากความพยายามขยายกิจการอย่างรวดเร็วในภูมิภาค
ในปีเดียวกันนั้นเอง Coupang ธุรกิจค้าปลีกออนไลน์ของเกาหลีใต้เข้าซื้อกิจการของ Hooq ซึ่งเป็นการร่วมลงทุนระหว่าง Singtel, Sony Pictures และ Warner Brothers ที่ได้เข้าสู่กระบวนการเลิกกิจการไปเรียบร้อยแล้วท่ามกลางการแข่งขันอย่างดุเดือดและต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น

ในสมรภูมิการแข่งขันบริษัทต่างๆ กำลังคิดค้นแนวทางใหม่ๆ เพื่อดึงดูดและรักษาฐานลูกค้าบนแพลตฟอร์มของตนเอง
เพื่อนำหน้าคู่แข่ง Viu ได้เพิ่มการผลิตคอนเทนต์ของตัวเองเป็นจำนวนมากอย่าง Viu Original Studio เตรียมปล่อยผลงานกว่า 30 รายการในปีนี้ ซึ่งรวมถึงคอนเทนต์ที่ผลิตเป็นภาษาต่างๆ 6 ภาษาด้วยกัน นอกจากนี้ พวกเขายังผลิตรายการภาษาเกาหลีและภาษาจีนเพิ่มขึ้น โดยมีเป้าหมายคือ ผู้ชมทั่วทั้งทวีปเอเชีย ก่อนหน้านี้ Viu ซึ่งมีคู่แข่ง เช่น TrueID ของไทย และ Vidio ของอินโดนีเซียด้วยนั้น ได้ว่าจ้างบริษัทโปรดักชั่นในท้องถิ่นผลิตผลงานเกือบ 300 รายการ
เมื่อเดือนมกราคม Viu ประกาศผ่านแถลงการณ์ว่า Viu Original Studio ซึ่งบริหารโดย Felix To ผู้คร่ำหวอดในอุตสาหกรรมฮ่องกง นั้นจะช่วยให้ Viu “เพิ่มความสำคัญกับการสร้างสรรค์เนื้อหาของตนเองได้มากขึ้น พร้อมกับพัฒนาทรัพย์สินทางปัญญาที่จะดึงดูดผู้ชมทั้งในระดับภูมิภาคและในระดับโลก”
กลยุทธ์เนื้อหาท้องถิ่นของ Viu ยังดึงดูดผู้ชมในตลาดต่างๆ เช่น แอฟริกาใต้ด้วย โดยมีการฉาย Ugly Betty ซีรีส์แนวตลกเกี่ยวกับเลขานุการประจำนิตยสารแฟชั่นและเจ้าของรางวัล Golden Globe ที่โด่งดังในหลายประเทศ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา Viu ยังจับมือเป็นพันธมิตรกับบริษัทโปรดักชั่นและสถานีโทรทัศน์ในท้องถิ่นเปิดตัว uBettina Wethu ซีรีส์แนวตลกดราม่าที่ใช้นักแสดงท้องถิ่นมากความสามารถ ออกอากาศทั้งทาง Viu และสถานีโทรทัศน์ในประเทศไปพร้อมๆ กัน จนกลายเป็นรายการโทรทัศน์ที่มีผู้ชมมากที่สุดรายการหนึ่งของแอฟริกาใต้ที่เริ่มออกฉายในเดือนนั้นด้วยจำนวนผู้ชม 2.5 ล้านคน
Viu ไม่เพียงแต่สร้างสรรค์เนื้อหารายการที่ตอบโจทย์ในแต่ละประเทศเท่านั้น แต่ยังมุ่งสนองความต้องการได้ในหลายประเทศ หรือแม้กระทั่งทั่วทั้งทวีปเอเชีย “ผู้ใช้บริการมีความรอบรู้มากขึ้น เปิดใจกว้างมากขึ้น เราเห็นแล้วว่ารายการของประเทศไทยได้รับความนิยมนอกประเทศด้วย เช่นเดียวกับรายการจากอินโดนีเซียและมาเลเซียที่มีผู้ชมข้ามตลาดกันในกลุ่มนี้” Lee กล่าว
เรื่อง: JESSICA TAN เรียบเรียง: รัน-รัน ภาพ: LUCAS SCHIFRES
อ่านเพิ่มเติม:
>> ศึกของ Palmer Luckey เศรษฐีพันล้านผู้ร่วมก่อตั้ง Anduril
>> เผยบริษัท Sportradar จับคอร์รัปชันพนันให้งานบอลโลก 2022