Jessica Tan หลอมรวม Ping An Insurance สู่เทคโนโลยี - Forbes Thailand

Jessica Tan หลอมรวม Ping An Insurance สู่เทคโนโลยี

FORBES THAILAND / ADMIN
15 Aug 2018 | 11:20 AM
READ 13036

Jessica Tan สอดส่องดูแลการเติบโตอันกว้างไกลและควบคู่กันในด้านบิ๊กดาต้าของ Ping An ยักษ์เอกชนจีน

Ping An Good Doctor ตัวกลางให้บริการสุขภาพที่มีผู้ใช้บริการกว่า 30 ล้านรายต่อเดือน และเพิ่งเปิดไอพีโอในฮ่องกง ระดมทุนไปได้ถึง 1.1 พันล้านเหรียญ (photo credit: scmp.com)
Ping An Insurance คือบริษัทประกันภัยรายใหญ่ที่สุดของจีน มูลค่าตลาดของบริษัทอยู่ที่ 1.80 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 74% จากมาตรฐานเก่าแก่ของประเทศอย่างบริษัท China Life และสูงกว่า 64% จาก AIA บริษัทประกันภัยที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นรายใหญ่ที่สุดแห่งเอเชีย ด้วยการวัดเช่นนี้ Ping An จึงเป็นบริษัทประกันภัยรายใหญ่ที่สุดในโลก ยกเว้นแค่ Berkshire Hathaway ในการทำความเข้าใจตัวเลขอันน่าตะลึงเหล่านี้ ต้องมองออกไปจากธุรกิจประกันภัยอันน่าเบื่อหน่ายและเข้าไปสู่อาณาจักรแห่งเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งกิ่งก้านสาขานั้นแผ่เข้าไปในทุกองค์ประกอบของอี-คอมเมิร์ซจีน  สตาร์ทอัพ 10 แห่งที่บริษัทวางไข่สร้างขึ้นมาในช่วง 6 ปีที่ผ่านมานี้ ได้แผ่กิ่งก้านขยายไปทั่วอาณาบริเวณ เครื่องยนต์และเครื่องบ่มเพาะนี้คือเครือธุรกิจฟินเทคที่บริษัทเป็นเจ้าของเองทั้งหมด ชื่อ Ping An Technology จากแหล่งต้นน้ำสายนี้ สตาร์ทอัพมากมายได้ถือกำเนิดขึ้น ที่รวมถึง Lufax ผู้ให้บริการกู้ยืมระหว่างบุคคลกับบุคคล Ping An Good Doctor ตัวกลางให้บริการสุขภาพที่มีผู้ใช้ประจำรายเดือนกว่า 30 ล้านราย Ping An Healthcare Technology แอพพลิเคชั่นมือถือสำหรับนัดหมายกับโรงพยาบาล นอกจากนั้นยังมีมีแอพพลิเคชั่นระหว่างธุรกิจกับธุรกิจด้วยเช่นกันคือ OneConnect ซึ่งเชื่อมธนาคารและสถาบันนอกภาคการเงิน 2,400 แห่งไว้ด้วยกัน ผู้ควบคุมเทคโนโลยีของ Ping An คือ Jessica Tan ชาวสิงคโปร์วัย 41 ปี เธอเข้าร่วมบริษัทในปี 2013 โดยมาจาก McKinsey หลังทำงานในฐานะที่ปรึกษามานาน 13 ปี และเป็นเบอร์ 2 ของบริษัทรองจากผู้ก่อตั้งและซีอีโอ Peter Ma หากกล่าวอย่างเป็นทางการล่ะก็ Tan คือรองซีอีโอ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูล
Peter Ma ผู้ก่อตั้งบริษัท Ping An Insurance เมื่อ 29 ปีก่อน (photo credit: AFP)
Ma ก่อตั้งบริษัทในปี 1988 ด้วยกลุ่มคนราว 12 คน และผู้ถือหุ้นรุ่นก่อตั้งอย่างธนาคาร China Merchants Group (บริษัทรัฐวิสาหกิจจีน) และธนาคาร ICBC ซึ่งเป็นธนาคารรายใหญ่ที่สุดของจีน  ในปี 2002 HSBC ได้ซื้อหุ้นเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่สุดรายเดียว แต่ภายหลังได้ถ่ายโอนหุ้นทั้งหมด 16% ให้กับ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ด้วยมูลค่า 9.4 พันล้านเหรียญซึ่งทำให้กลุ่มธุรกิจไทยรายนี้กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่สุดของบริษัท ด้วยวุฒิปริญญาโทจาก MIT ด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและวิทยาการคอมพิวเตอร์ของ Tan เธอจึงได้กำกับดูแลการเติบโตของทีมเทคโนโลยีของ Ping An จากจำนวน 3,000 คนไปเป็นกว่า 22,000 คน บริษัทแข่งขันในแวดวงที่มียักษ์เทคโนโลยีจีนเข้าร่วมด้วย อย่าง Alibaba มี Ant Financial และ Tencent ก็มีแพลตฟอร์ม WeChat แต่ Tan กล่าวว่า ขนาดธุรกิจประกันภัยของ Ping An ทำให้บริษัทได้เปรียบ เธอพูดคุยกับ Forbes Asia จากสำนักงานนานาชาติของบริษัทที่ตึกระฟ้า IFC ในฮ่องกง ดังนี้ รายได้หรือกำไรของกลุ่มบริษัทจำนวนมากน้อยเพียงใดที่ถือว่าได้มาจากการริเริ่มนำระบบออนไลน์มาใช้ มี 2 อย่าง อย่างแรกคือส่วนแบ่งกำไร 16.4% ของกลุ่มบริษัทที่ได้มาโดยตรงจากธุรกิจ (สตาร์ทอัพ) ด้านเทคโนโลยี 10 แห่งของบริษัทเอง อีกอย่างหนึ่งก็คือลูกค้าที่ใช้บริการด้านการเงินรายใหม่จำนวน 36-40% ที่เราได้มาจากแอพฯ บนโทรศัพท์มือถือ อะไรอยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนโฉมของ Ping An ไปเป็นกลุ่มบริษัทประกันที่มีการใช้เทคโนโลยีมาเป็นหลักในการดำเนินธุรกิจ เมื่อ 5 ปีที่แล้วเรามีทีมงานดูแลเรื่องการจดจำใบหน้าเป็นของเราเอง เมื่อ 4 ปีที่แล้วเราเริ่มต้นพัฒนาเรื่องวอยซ์พริ้นต์ หรือกราฟแสดงลักษณะเสียงพูดของคน ตราบใดที่เรามีเสียงความยาว 20 วินาที เราก็สามารถแปลงเสียงนั้นให้กลายเป็นเมตริกซ์ทางคณิตศาสตร์ที่มีลักษณะเฉพาะไม่ซ้ำกันเช่นเดียวกับลายพิมพ์นิ้วหัวแม่มือของแต่ละคน สมองของคนเราสามารถจดจำเสียงของผู้คนได้เพียง 150 คน แต่ระบบของเราสามารถแยกแยะเสียงที่แตกต่างกันของคนได้มากถึง 100,000 คน ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ระบบของเราสามารถรับรู้การแสดงออกทางสีหน้าที่เกิดขึ้นแม้เพียงเล็กน้อยได้ เรานำเทคโนโลยีนี้มาใช้จริงในการสัมภาษณ์ผู้ขอสินเชื่อผ่านแอพฯ บนโทรศัพท์มือถือ โดยผู้ประเมินการให้สินเชื่อของเราจะสุ่มถามคำถามต่างๆ เพื่อดูว่าผู้กู้กำลังพูดโกหกอยู่หรือไม่ เทคโนโลยีดังกล่าวมีอัตราการคาดเดาที่แม่นยำมากกว่า 80% ในฐานะผู้ให้บริการทางการเงินและผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพ เราต้องสามารถยืนยันตัวตนของลูกค้าของเราได้ บริษัทของคุณมีความสามารถพิเศษในการจัดการจราจรในเมืองใหญ่หรือ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ของเราที่ครอบคลุม 360 เมืองในประเทศจีนเป็นตัวช่วยสำคัญ เมื่อเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ในประเทศจีน ผู้ขับขี่จะต้องอยู่ในที่เกิดเหตุเพื่อรอตำรวจจราจรมาชี้ขาดว่าฝ่ายผิดจะต้องจ่ายค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินเท่าใด จากจำนวน 90% ของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น พนักงานฝ่ายตรวจสอบของเราจะมาถึงจุดเกิดเหตุภายในเวลา 5-10 นาที เร็วกว่ารถพยาบาลหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียอีก เพราะระบบปัญญาประดิษฐ์ของเราสามารถทำนายได้ว่าอุบัติเหตุมักจะเกิดขึ้นที่ใด และสามารถคาดการณ์ถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดอุบัติเหตุขึ้นในแต่ละช่วงเวลา ช่วงสัปดาห์ หรือในสภาพอากาศแต่ละรูปแบบ  แทนที่จะต้องรอจนกว่าตำรวจจราจรจะมา ผู้ขับขี่สามารถถ่ายภาพอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น อัปโหลดภาพถ่าย และโมดูลปัญญาประดิษฐ์ของเราจะทำการวิเคราะห์ความรุนแรงของความเสียหายที่เกิดขึ้น และ (กำหนด)ค่าเสียหายอย่างตรงไปตรงมาที่สุด การขายพ่วงเป็นลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งของแวดวงการเงินในจีน แต่ละแอพฯ ของเราเป็นเหมือนประตูมหัศจรรย์ที่เปิดไปสู่พอร์ทัลหนึ่งเดียวอันนี้ ซึ่งเชื่อมโยงระบบหลายร้อยระบบ (ของเรา) เข้าด้วยกัน แนวคิดของเราคือ “ลูกค้า 1 คน ผลิตภัณฑ์หลายอย่าง รวมศูนย์ซื้อขาย และรวมทุกอย่างไว้ในบัญชีเดียว” อย่างไรก็ตาม เรามีกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดเกี่ยวกับการขายพ่วงโดยห้ามโทรศัพท์ก่อกวนลูกค้า หน่วยธุรกิจหนึ่งจะไม่สามารถให้ข้อมูลลูกค้ากับหน่วยธุรกิจอื่นๆ ได้ คุณมีแผนที่จะขยายธุรกิจออกไปนอกประเทศจีนหรือไม่ เราเชื่อว่าโมเดลธุรกิจและเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่สามารถทำซ้ำได้ สถาบันการเงินจากต่างประเทศก็กำลังใช้บริการ OneConnect ของเรา ซึ่งเหมาะกับการประเมินความเสี่ยงของลูกค้ารายย่อย แพลตฟอร์ม OneConnect และ Lufax ของเราที่ให้บริการสินเชื่อระหว่างบุคคลต่อบุคคลได้เปิดสำนักงานในสิงคโปร์แล้ว เป้าหมายสุดท้ายของ Ping An คืออะไร บริษัทมีแผนการที่เป็นรูปเป็นร่างในการมุ่งไปสู่เป้าหมายอย่างไร ในอีก 10 ปีข้างหน้า เราต้องการนำเสนอทั้งบริการทางการเงินและความเชี่ยวชาญทางเทคโนโลยี ในช่วงแรกที่เราเริ่มต้นทำสิ่งนี้ พูดตามตรงเลยว่ามีการโต้เถียงกันภายในองค์กร และมีความกังวลว่าสิ่งที่เราทำจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับคู่แข่ง Peter (Ma) ยืนกรานอย่างแข็งขันว่าเราต้องส่งเสริมตลาดโดยรวมด้วย เราไม่ได้ต้องการทำให้บริษัทของเรามีผลการดำเนินงานที่ยอดเยี่ยมเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ที่ McKinsey บริษัทเดิมของฉัน มีการแบ่งหมวดหมู่อย่างชัดเจนมากในอดีต ไม่ว่าจะเป็นแบ่งตามหน้าที่ตามแนวดิ่งและตามแนวราบ แต่ทุกวันนี้เส้นแบ่งขอบเขตไม่ชัดเจน เทคโนโลยีได้รุกคืบเข้ามาในทุกภาคส่วนของธุรกิจ และกำลังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เทคโนโลยีเคยเป็นหมวดธุรกิจประเภทหนึ่ง แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องกับทุกสิ่งทุกอย่าง ท่านประธาน Ma ก่อตั้ง Ping An ด้วยเงินลงทุนจากรัฐวิสาหกิจอย่าง China Merchants Group ในช่วงกลางทศวรรษ 1980 ปัจจุบันภาครัฐยังมีอิทธิพลในการบริหารงานอยู่หรือไม่ Peter เคยเป็นผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคลที่ China Merchants แต่บริษัทของเราไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจ เราไม่มีตัวแทนจากรัฐบาลอยู่ในคณะกรรมการบริษัทเลย เราเป็นบริษัทจดทะเบียนเต็มรูปแบบ เรื่อง: Shu-Ching Jean Chen เรียบเรียง: ชูแอตต์, ริศา
คลิกอ่านฉบับเต็มของ Ping An Insurance และ Jessica Tan ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ กรกฎาคม 2561 ในรูปแบบ e-Magazine